โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกาวัตต์บนเนื้อที่ 2,960 ไร่แห่งตำบลปากบางเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งห่างจากชายแดนจังหวักปัตตานีไม่ถึง 10 กิโลมตร กำลังมีประเด็นที่อ่อนไหวที่เพิ่งปรากฏต่อสาธารณะหลังจากเวที ค.3 ที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างมาก เพราะเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 ก.ค.2558 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง (อบต.ปากบาง) อ.เทพา จ.สงขลา นั้น เป็นเวทีที่ฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ออกคำสั่งห้ามเข้าร่วมเวที และผลสรุปเวที ค.3 ผ่าน เป็นการผ่านโดยไม่รับฟังความคิดเห็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
แต่หลังจากทีมวิชาการและประชาชนในพื้นที่ ได้ทบทวนเอกสารรายงานในรายงานค3.พบว่า ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,960 ไร่ ซ้อนทับมัสยิด 2 แห่ง กุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง คือ มัสยิดมุตนาเอ็นน๊ะ และมัสยิดบ้านคลองปะดู่ โรงเรียนปอเนาะ 1 แห่ง คือ ปอเนาะตะเยาะซูตีบอ และต้องย้ายชุมชนกว่า 200 ครอบครัว ซึ่ง กฟผ.ไม่เคยบอกชาวบ้าน
หากดูแบบแผนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามาซ้อนทับแผนที่จริง จะพบว่ามัสยิดมุตนาเอ็นน๊ะและกุโบร์ รวมทั้งโรงเรียนปอเนาะตะเยาะซูตีบออันเก่าแก่และมีชื่อเสียง ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่บ่อเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เป็นร้อยไร่ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ลึกเข้ามาในรั้วโครงการราว 400 เมตร โจทย์ที่ยากสำหรับ กฟผ.เจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาคือ จะย้ายมัสยิด กุโบร์และปอเนาะได้หรือไม่ หากย้ายโดยให้เงินจัดซื้อที่ดินใหม่และสร้างให้ใหม่นอกพื้นที่โครงการ จะเป็นไปได้หรือไม่ แต่หากไม่ย้ายเก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะก่อสร้าง เพราะในโครงการต้องมีการถมดินให้สูงกว่าถนน 4 เลน ราว2 เมตร นั่นหมายความว่าในพื้นที่โครงการต้องถมดินไม่ต่ำกว่า 5-8 เมตร ซึ่งหากไม่ย้าย จะทำให้มัสยิด กุโบร์และปอเน๊าะ แทบจะจมอยู่ใต้ดิน
นี่คือโจทย์ยากที่อ่อนไหวสำหรับพื้นที่เทพา และอาจอ่อนไหวสำหรับสันติภาพชายแดนใต้ เพราะการพัฒนาใดๆที่ไม่เข้าใจบริบทพื้นที่และไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ย่อมสร้างเงื่อนไขขึ้นในความรู้สึกของประชาชน