Skip to main content

 

แถลงการณ์ ฉบับที่ 2

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้

เนื่องในโอกาส วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

“ เรื่อง  ข้อเสนอว่าด้วยพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง”

วันพุธ ที่ 25 พฤศจิกายน 2558  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จังหวัดยะลา

ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย   ทำให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวันหลงเหลือน้อยลงสำหรับเด็ก ผู้หญิงและประชาชนกลุ่มเปราะบาง  ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า  นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในปี 2547 ถึงปี 2557 มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากเหตุการณ์  81 คน บาดเจ็บเล็กน้อย ถึงสาหัส 445 คน ผู้หญิงเสียชีวิต 431 คน บาดเจ็บ 1,651 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงและการวางระเบิดในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกับพื้นที่สาธารณะ  เช่น ถนน ตลาดสด ตลาดนัด ร้านค้าในชุมชน ร้านสะดวกซื้อ สถานศึกษา (โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถมและมัธยม) วัด มัสยิด เส้นทางและสถานีรถไฟ สวนสาธารณะ โรงพยาบาล สวนยาง ทุ่งนา ฯลฯ 

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้  ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ 23 องค์กร มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อประเด็นความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว  การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เหล่านี้  นอกจากจะมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ทุกคน ทุกเพศวัยยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและค้ำประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอีกนานับประการ  รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงทุกศาสนาจำเป็นต้องใช้งานเพื่อตอบสนอง
ต่อภารกิจของแม่ ภรรยา ลูกสาว น้องสาว ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้  จึงได้จัดเวทีสานเสวนาแบบประชาหารือมาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้หญิงในกลุ่มองค์กรประชาสังคมผู้หญิงในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธและความรุนแรงโดย
มีผลสรุปดังนี้  “จากเวทีประชาหารือสานเสวนา พบว่า  ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะ อันได้แก่  ถนน  ตลาด โรงเรียน   มัสยิด วัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจาก สถานที่ดังกล่าว มีผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์  ทั้งในการเดินทางสัญจรไปมา เป็นแหล่งทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย จัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว  เป็นจุดนัดพบ พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ที่แสดงถึงอัตลักษณ์และให้คุณค่าต่อจิตวิญญาณของผู้หญิง  รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตรหลานด้วย” 

ดังนั้นคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงขอเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยและผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย รวมทั้งคนในชุมชนสังคมว่า

1.  ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบ ที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ  และขาดพื้นที่ปลอดภัย ในการใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงและทุกคนในครอบครัว

2.  ขอให้ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย  หาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธ ที่ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ  ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดและไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ  และ

3.  ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน เข้าร่วมกิจกรรมประชาหารือสานเสวนา เพื่อหาทางออกในวิถีทางสันติ พร้อมลงมือดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคนในชายแดนใต้ ร่วมกัน

ลงนามโดย 23 องค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้

1.   กลุ่มเซากูน่า

2.   กลุ่มด้วยใจ

3.   กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้

4.   กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี

5.   เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women)

6.   เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

7.   เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ

8.   เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้

9.   เครือข่ายชุมชนศรัทธา

10.  เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี

11.  เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก

12.  เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

13.  เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้

14.  ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส

15.  ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 

16.  มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า  

17.  สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)      

18.  สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา

19.  สภาประชาสังคมชายแดนใต้

20.  สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้                                          

21.  ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา

22.  ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า                            

23.  ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้