ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ทั้งในยามปกติและในยามวิกฤต สิ่งที่เราลืมไปก็คือว่า “ความเป็นจริงทางสังคม” ซึ่งเป็นสนามแห่งการสังเกตการณ์ของนักสังคมศาสตร์มีความหมายพิเศษและมีโครงสร้างที่สัมพันธ์สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน การกระทำและการคิดของคนที่อยู่ในสังคมนั้นๆ ความหมายในนี้ก็คือว่า สามัญสำนึกและกระบวนการสร้างสามัญสำนึกทำให้คนเราเลือกเอาไว้ล่วงหน้าแล้วโดยไม่รู้ตัวที่จะหยิบยกเรื่องราวใดๆ และตีความสิ่งที่เป็นโลกแห่งประสบการณ์ของเราว่ามันเป็นความจริงในชีวิตประจำวัน วัตถุที่เราเห็นและคิดนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นตัวช่วยเข้าใจความจริงทางสังคม แต่ที่แท้แล้วมันถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาจากสามัญสำนึกของพวกเราเอง และเราก็จะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้นด้วย ดังนั้น แนวความคิดในทางสังคมที่เราเชื่อจึงมักจะเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างมาในชั้นที่สอง หรืออาจจะเรียกอีกแบบหนึ่งว่าเป็นการประดิษฐ์สร้างจากสิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างอีกทีหนึ่งโดยผู้คนที่เป็นตัวแสดงอยู่ในสังคมนั้นๆ
ประเด็นที่น่าคิดตามมาด้วยก็คือว่า ในการคิดและวิเคราะห์ปัญหาทางสังคมการเมืองของเรานั้น ความซับซ้อนของมันมีมากเสียจนกระทั่งว่า เราจะมองปัญหาโดยอาศัยหลักคิดในเรื่องอัตวิสัยและวัตถุวิสัยอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ มีข้อเสนอก็คือ ควรใช้วิธีคิดในแง่สัมพันธภาพ (relational mode of thinking) ในลักษณะแบบเดียวกับการคิดของนักคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ยุคใหม่ซึ่งระบุว่าความเป็นจริงไม่ใช่อยู่ที่ “เนื้อหา” แต่อยู่ที่ “ความสัมพันธ์” เมื่อเป็นเช่นนั้น “ความเป็นจริงทางสังคม” ก็คือกลุ่มของความสัมพันธ์ที่มองไม่เห็น เป็นความสัมพันธ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นพื้นที่ของฐานะตำแหน่งแหล่งที่แบบต่างๆ ที่อยู่ภายนอกตัวบุคคลอันเป็นตัวแสดงบทบาทต่อกันและกัน และฐานะตำแหน่งแหล่งที่เหล่านี้ถูกกำหนดนิยามตามลักษณะความใกล้ชิด ระยะห่างระหว่างกันและกัน และโดยฐานะตำแหน่งที่มีความเปลี่ยนแปลงของสัมพันธภาพโดยเปรียบเทียบระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสูงกว่า ต่ำกว่า หรืออยู่ระหว่างกลาง นี่ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าภูมิลักษณ์ในทางสังคม
ทุนทางสัญลักษณ์
อย่างไรก็ดี คนเราสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากระยะห่างในทางวัตถุวิสัยได้โดยการสะสมความได้เปรียบจากความใกล้ชิดและความห่างทางสังคม เพราะระยะห่างและการยอมรับระยะห่างดังกล่าวจะถูกทำให้มีความชอบธรรมได้ด้วยการลดภาพด้านลบของความแตกต่างด้วยการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ เช่นชนชั้นสูงใช้วิธีการวางตัวนอบน้อมมีเมตตาเพื่อเอาชนะใจคนชั้นล่างทำให้การเกิดภาพของการไม่ถือตัว ประเด็นสำคัญก็คือมีการครอบครองตำแหน่งแหล่งที่ในพื้นที่ทางสังคมและเกิดระยะห่างของความสัมพันธ์ในตำแหน่งแหล่งที่ รวมทั้งการสร้างความชอบธรรมในการครอบครองฐานะตำแหน่งแหล่งที่นั้นๆในเวทีหรือสนามสังคม ความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกเรียกว่าความสัมพันธ์ในทางวัตถุวิสัย (ซึ่งไม่ใช่การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบธรรมดาทั่วไป) ดังนั้น ความสัมพันธ์ในทางวัตถุวิสัยนี้มีความสำคัญมากในการวิเคราะห์อำนาจในพื้นที่ทางสังคม ความสัมพันธ์ในทางวัตถุวิสัยในที่นี้ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างฐานะตำแหน่งแหล่งที่อันถูกครอบครองภายใต้การแจกแจงกระจายทรัพยากรซึ่งอาจจะมีประสิทธิผลคล้ายกับการถือไพ่แต้มหนึ่งในเกมส์การเล่นไพ่ ในการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงการครอบครองทรัพยากรและสินค้าอันมีจำกัดในสังคม ซึ่งทรัพยากรแห่งอำนาจที่ว่านี้มีอยู่หลายอย่าง กล่าวคือ ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคมและทุนทางสัญลักษณ์
ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “ทุนทางสัญลักษณ์” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทุนชนิดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจะต้องแสดงออกและครองครองเพื่อให้เกิด “ความสำเหนียกเข้าใจและจะได้รับการยอมรับว่ามีความชอบธรรม” นอกจากนี้ ตัวแสดงในทางสังคมจะถูกจำแนกแจกแจงไปตามพื้นที่ทางสังคมในสองมิติ มิติแรกคือตามขนาดของทุนที่ตัวเองครอบครอง และมิติที่สองเป็นไปตามโครงสร้างของทุนที่ตัวเองครอบครอง ซึ่งก็คือค่าน้ำหนักเปรียบเทียบของทุนชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางวัฒนธรรม จากบรรดาทุนทั้งหมดที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
กล่าวในอีกแง่หนึ่ง พื้นที่ทางสังคมเกิดจากความสัมพันธ์ของคนที่แยกกระจายไปตามทรัพยากรหรือทุนที่ตัวเองครอบครองอยู่อันเป็นไปตามลักษณะการกระจายของทรัพยากรและทุนซึ่งทำให้บังเกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิด ความผูกพัน นิสัยความเคยชินและสันดาน (habitus)
พื้นที่ทางสังคมและระบบแห่งสัญลักษณ์
จากพื้นฐานแนวคิดในการวิเคราะห์ดังกล่าว เราจึงมองว่า “โลกทางสังคมแสดงตัวออกมาเป็นความเป็นจริงที่ถูกจัดการในลักษณะที่มีโครงสร้างในระดับสูง” ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีกลไกง่ายๆอันหนึ่งคือพื้นที่ทางสังคม ซึ่งแสดงตัวออกมาในรูปของบุคคลหรือตัวแสดง (agent) ที่ประกอบไปด้วยคุณสมบัติอันแตกต่างกันไปซึ่งมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างกันและกันต่อผู้อื่น คุณสมบัติเหล่านี้เมื่อถูกมองโดยคนที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันที่อยู่ในฐานะตำแหน่งแหล่งที่แบบเดียวกันจะทำหน้าที่เป็นตัวสัญญาณ (sign) เพื่อชี้ให้เห็นการจำแนกแยกแยะหรือบอกความแตกต่าง สัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นนอกเหนือจากจิตสำนึกหรือความจงใจของคน กล่าวในอีกแง่หนึ่ง โดยผ่านการแจกแจงจัดสรรของคุณสมบัติตามโครงสร้างของสังคม โลกในทางภววิสัยได้แสดงตัวออกมาฐานะระบบแห่งสัญลักษณ์ (symbolic system) ซึ่งจะถูกจัดการไปตามตรรกะแห่งความแตกต่าง หรือความแตกต่างเชิงระยะทาง เพราะฉะนั้น พื้นที่ทางสังคมจึงมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็น “พื้นที่เชิงสัญลักษณ์” หรือพื้นที่แห่งวิถีชีวิตและกลุ่มแห่งสถานภาพที่ถูกกำหนดโดยลีลาวิถีชีวิตต่างกันไป ความสัมพันธ์ทางสังคมบนฐานของการจัดสรรทรัพยากรและการครอบครองทรัพยากรนี้ทำให้เกิดสำนึกในตัวตนและการประเมินค่า สำนึกเหล่านี้คือตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมอีกทีหนึ่ง
ระบบแห่งสัญลักษณ์ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าอำนาจเชิงสัญลักษณ์ องค์ประกอบที่สำคัญของอำนาจเชิงสัญลักษณ์ในจุดนี้ก็คือนิสัยสันดาน (habitus) หรือที่นักวิชาการบางคนแปลว่า “นิจภาพ” อันเป็นโครงสร้างจิตสำนึกที่ชี้นำแนวทางการกระทำของปัจเจกชน นิสัยสันดานเป็นตัวกำกับการรับรู้ การตัดสินใจ การเสนอทางเลือกว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ สิ่งนี้เป็นตัวช่วยสร้างระเบียบและเอกภาพให้กับการกระทำของกลุ่มคนที่อยู่ภายในโครงสร้างดังกล่าว โดยที่ปัจเจกชนที่กระทำสิ่งดังกล่าวก็ไม่รู้ตัวว่าการกระทำของตนตกอยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง เนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวซึมซับเข้าไปในตัวบุคคลผ่านการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าและผ่านการหล่อหลอมทางสังคมอันยาวนานจนกระทั่งคนเราไม่สามารถตระหนักรู้ตนเองในระดับจิตสำนึกได้อย่างชัดเจน
ในขณะเดียวกัน ความไม่ตระหนักรู้ในระดับจิตสำนึกก็ทำให้โครงสร้างดังกล่าวมีลักษณะหละหลวม ไม่ชัดเจนตายตัวและเปิดช่องให้การกระทำของปัจเจกบุคคลส่งผลกระทบต่อโครงสร้างได้ (จุดนี้ก็เปิดโอกาสให้เกิดการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์) ดังนั้น habitus จึงเป็นทั้งโครงสร้างที่กำหนดการกระทำและถูกกำหนดโดยโครงสร้างของการกระทำ สภาพเช่นนี้ทำให้ปัจเจกบุคคลในเงื่อนไขดังกล่าวมีฐานะเป็นนักกลยุทธ์ ทั้งๆ ที่คนเราตกอยู่ในกรอบของนิสัยสันดานที่ถูกสร้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสในการดิ้นรนต่อสู้กับกฎ ระเบียบ กติกา ต่างๆ โดยมีผลประโยชน์อันได้มาจากอำนาจเป็นเดิมพัน
การต่อสู้ทางสัญลักษณ์ในพื้นที่ทางสังคม
ในอีกด้านหนึ่ง ความสำเหนียกเข้าใจในโลกทางสังคม เป็นผลผลิตจากโครงสร้างที่เป็นทวิลักษณะ (double structuring) ซึ่งสะท้อนออกมาในสองด้านคือ ด้านหนึ่ง ในแง่วัตถุวิสัย ความรับรู้ถูกจัดการในทางสังคมเพราะคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวบุคคลหรือสถาบันแสดงตัวออกมาในลักษณะการผสมผสานซึ่งทำให้มีโอกาสความเป็นไปได้ในการพัฒนาตัวตนหรืออารมณ์ความรู้สึกในแบบที่ไม่เท่าเทียมกัน เหมือนกับสัตว์ที่มีขนนก มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีปีก มากกว่าสัตว์ที่มีขนธรรมดา เหมือนกับเรามีโอกาสมากกว่าที่จะพบคนที่เก่งทางภาษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยหรือพิพิธภัณฑสถานมากกว่าที่อื่น กล่าวในอีกด้านหนึ่ง สำนึกต่อโลกแห่งความเป็นจริง ยังถูกจัดให้เป็นระบบเพราะการมีแบบแผนโครงสร้างความสำนึกและความประทับใจ ที่ถูกกำหนดในตัวของภาษาอันแสดงออกให้เห็นในสภาพความสัมพันธ์ของอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ กลไกทั้งสองทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโลกแห่งสามัญสำนึก มันทำให้บังเกิดขีดต่ำสุดของการเห็นพ้องต้องกันในโลกทางสังคม
แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ วัตถุต่างๆ ในโลกทางสังคมจะถูกทำให้เกิดความสำเหนียกรู้และแสดงออกในวิถีทางที่แตกต่างกัน เพราะว่าวัตถุเหล่านี้มักจะประกอบไปด้วยความหมายคลุมเครือและมีระดับของความยืดหยุ่นพลิกแพลงทางภาษาเกิดขึ้น ปัจจัยทางภววิสัยแห่งความไม่แน่นอนคลุมเครือนี้มักจะถูกเสริมต่อให้แรงยิ่งขึ้นด้วยแนวคิดการแยกชั้นแยกประเภทเพราะคำเดียวกันอาจจะครอบคลุมการปฏิบัติหลายอย่างแตกต่างกันไปทำให้เกิดความหลากหลายของวิสัยทัศน์ที่มีต่อโลก ซึ่งในตัวมันเองจะเชื่อมโยงกับความหลากหลายของจุดยืนทัศนะ ในขณะเดียวกัน มันก็ได้ก่อให้เกิดพื้นฐานของ “การต่อสู้ทางสัญลักษณ์ เพื่อแย่งชิงอำนาจในการสร้างและก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ต่อโลกที่มีความชอบธรรม” พื้นที่ทางสังคมจึงกลายเป็นพื้นที่ของฐานะตำแหน่งแหล่งที่อันเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างกลาง เป็นที่ซึ่งความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติและฐานะตำแหน่งแหล่งที่มีระดับสูงสุดและผลที่ตามมาทำให้เกิดความเข้มข้นของกลยุทธ์การต่อสู้ในทางสัญลักษณ์ด้วย
การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้เกิดการสำเหนียกรู้เข้าใจต่อโลกทางสังคมอาจจะแสดงออกในสองรูปแบบ ในด้านวัตถุวิสัย คนเราอาจจะปฏิบัติการโดยการแสดงภาพความเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่ม โดยตั้งใจที่จะแสดงตนเพื่อโยนความเป็นจริงที่แน่นอนเข้าไปในความไม่แน่นอน ตัวอย่างเช่นการเคลื่อนไหวแสดงกำลังด้วยการเดินขบวนซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแสดงตัวตนของกลุ่ม แสดงให้เห็นขนาดการเคลื่อนไหวมวลชนของตน แสดงความเข้มแข็งและเอกภาพในกลุ่มของตน เพื่อให้เห็นชัดว่ามีการดำรงอยู่ของฝ่ายตน ในระดับของบุคคลนั้น นี่เป็นกลยุทธ์ในการแสดงออกของความเป็นอัตตาตัวตน เป็นการแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ของตำแหน่งแหล่งที่ของตนในพื้นที่ทางสังคม
แต่เมื่อมองในด้านอัตวิสัย คนเราอาจจะมีการปฏิบัติการ “โดยพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงความสำเหนียกรู้-ความเข้าใจของคนในการจำแนกแยกแยะ การแบ่งชั้น แบ่งประเภทและเปลี่ยนความรู้สึกประทับใจในโลกทางสังคม รวมทั้งการประดิษฐ์สร้างโครงสร้างแห่งการเรียนรู้และการประเมินค่า” ในการสำเหนียกรู้ระบบการจำแนกแยกแยะชนิดประเภทและชั้นที่ว่านั้น จะมีการตั้งชื่อ การสร้างคำซึ่งทำให้เกิดความเป็นจริงทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสุดยอดของการต่อสู้ในทางการเมืองซึ่งก็คือการต่อสู้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ของวิสัยทัศน์ในการมองโลกและนำมาใช้ในการจำแนกแยกประเภท จำพวก ชั้น หมู่ (เราเรียกกระบวนการนี้ว่าการสร้าง vision และ division) ในที่สุด การสร้างกลุ่มและการตั้งชื่อเป็นเครื่องมือและเดิมพันของการสร้างกลยุทธ์ที่ตัวแสดงทางสังคมนำเอามาใช้เพื่อการเจรจาต่อรองเพื่ออัตลักษณ์ของตนเอง ผลก็คือ ในการต่อสู้ทางชนชั้นในชีวิตประจำวัน เราอาจจะมีการพูดดูถูกเหยียดหยาม การซุบซิบนินทา การสร้างข่าวลือ การใส่ร้ายป้ายสี การกล่าวพาดพิงในทางร้าย ส่วนในระดับกลุ่ม ก็จะมีการใช้กลยุทธ์อันมุ่งที่จะยัดเยียดความเป็นจริงทางสังคมแบบใหม่ ด้วยการโยนทิ้งศัพท์ทางการเมืองแบบเก่าหรือรักษาวิสัยทัศน์แบบเก่าโดยรักษาคำเก่าเอาไว้ กลยุทธ์ที่เป็นแบบฉบับก็คือ การถอดประกอบเพื่อสร้างสิ่งเก่าให้เป็นของใหม่ให้เข้ากับความต้องการในปัจจุบัน
การแย่งชิงทัศนะผูกขาดที่มีความชอบธรรม
เมื่อมองดูทั้งในระดับบุคคลหรือระดับกลุ่ม การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เหล่านี้ เป็นตัวจัดการการต่อสู้ในชีวิตทางการเมือง มันมี “ตรรกะเหตุผลแบบพิเศษเฉพาะ” ซึ่งเป็นอิสระต่อโครงสร้างที่เป็นตัวกำหนดมันในตอนแรก ประเด็นที่ต้องเข้าใจก็คือ ทุนเชิงสัญลักษณ์นั้น ที่แท้แล้วก็คือทุนในทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม หรือทุนทางสังคมอื่นใดก็ตามซึ่งได้รับการยอมรับและมีอัตลักษณ์อันเป็นที่รับรู้ และเมื่อพิจารณาดูให้ลึกๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ได้รับการยอมรับโดยผ่านความรู้ในการแยกแยะประเภทและชั้นซึ่งถูกยัดเยียดโดยอำนาจ ดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในทางสัญลักษณ์จึงมักจะเป็นตัวการผลิตซ้ำและเป็นตัวเสริมความเข้มแข็งให้กับสัมพันธภาพทางอำนาจอันก่อให้เกิดโครงสร้างของพื้นที่ทางสังคมอีกทีหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การสร้างความชอบธรรมในโลกทางสังคมไม่ใช่เป็นผลมาจากการกระทำโดยตั้งใจเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อหรือหรือการยัดเยียดในทางสัญลักษณ์ แต่เป็นผลมาจากความเป็นจริงที่ว่าบรรดาตัวแสดงในทางสังคมนั่นเองที่นำเอาความเข้าใจและความรู้สึกดังกล่าวมาสู่ปฏิบัติการในโครงสร้างทางวัตถุวิสัยอีกทีหนึ่ง เรามีความเข้าใจและความรู้สึกตามที่โครงสร้างเหล่านั้นเป็นผู้ผลิตสร้าง และเราก็กลับนำเอาภาพของโครงสร้างอันนี้มาเป็นหลักฐานยืนยันว่ามันมีอยู่จริง
สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นวัตถุวิสัยจึงมักจะผลิตซ้ำตัวเองในความสัมพันธ์
ของอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ กล่าวในอีกแง่หนึ่ง คนเรายิ่งผลิตซ้ำความเชื่อของตนเองโดยไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการต่อสู้ปะทะกันในทางสัญลักษณ์ในพื้นที่ทางสังคม ยิ่งต่อสู้แย่งชิงกันก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อความรู้สึกที่ต่างกันยิ่งขึ้น ยิ่งผลิตหลักฐาน (นี่น่าเชื่อถือตามสามัญสำนึก)ไปยืนยันว่าอีกฝ่ายเป็นอื่นมากขึ้น ยิ่งแตกต่างกันก็ยิ่งใช้ความรุนแรงไปโหมใส่อีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้นอีก จนนำไปสู่หายนะของทั้งสองฝ่าย
ในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เพื่อผลิตสร้างสามัญสำนึกหรือเพื่อผูกขาดความชอบธรรมในการกำหนดนาม บุคคลที่เป็นตัวแสดงจะนำพาเอาทุนทางสัญลักษณ์ที่ตนเองได้ครอบครองจากการต่อสู้ก่อนหน้านั้นมาใช้ในการปฏิบัติการและอาจจะต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจค้ำประกันปฏิบัติการทางสัญลักษณ์จากสังคม หรือหาตัวการรับรองอย่างเป็นทางการ ดังนั้น รัฐหรือตัวแทนของรัฐมักจะแสดงบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งฐานะตำแหน่งอย่างเป็นทางการซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นแบบฉบับของการผูกขาดการใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ เหตุผลแห่งการดำรงอยู่ของรัฐก็คือการสร้างระบบการประมวลรหัสสัญญาณสาธารณะที่ใช้ปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน (เช่นให้ประกาศนียบัตรการศึกษา ปริญญาบัตร การรับรองคุณวุฒิ แต่งตั้งผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ เช่นนายแพทย์ ผู้พิพากษา ฯลฯ) คนที่ถูกแต่งตั้งเหล่านี้จะผลิตสร้างจุดยืนและทัศนะอันเป็นที่รับรองว่าเหนือกว่าจุดยืนทัศนะอื่นๆ รัฐจึงเป็นเหมือนกับธนาคารกลางค้ำประกันประกาศนียบัตร และหนังสือรับรองโดยทั่วไปของทั้งสังคม Max Weber จึงบอกว่ารัฐเป็นผู้ถือครองระบบผูกขาดการใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์อย่างมีความชอบธรรม
อำนาจแห่งการสถาปนาและอำนาจทางสัญลักษณ์
แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าที่ไหนในโลกในการต่อสู้เพื่อการผลิตและบังคับให้เกิดทัศนะอันมีความชอบธรรมของโลกในทางสังคม ผู้มีอำนาจในทางราชการไม่เคยสถาปนาอำนาจผูกขาดได้อย่างสัมบูรณ์ ในทุกสังคมมักจะมีความขัดแย้งระหว่างอำนาจเชิงสัญลักษณ์ในการยัดเยียดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการแบ่งแยกประเภท ชั้นและกลุ่มอย่างมีความชอบธรรมเกิดขึ้น ดังนั้น อำนาจเชิงสัญลักษณ์คืออำนาจในการสร้างโลก เป็นอำนาจที่ประกอบไปด้วยการแยกส่วนและการประกอบรวมเข้าไปใหม่ ในกระบวนการจำแนกแยกแยะ (การวิเคราะห์) และการประกอบใหม่ (การสังเคราะห์) การแบ่งช่วงชั้นทางสังคมจึงเป็นการจัดระบบความสำเหนียกเข้าใจของคนเราต่อโลกทางสังคมและภายในเงื่อนไขที่พอเหมาะมันยังสามารถที่จะจัดการกับโลกได้จริงๆ
เงื่อนไขอะไรที่ทำให้อำนาจเชิงสัญลักษณ์กลายเป็นอำนาจแห่งการสถาปนา สิ่งนั้นก็คือกระบวนการที่ทำให้สัญลักษณ์กลายเป็นอำนาจในการรักษาและเปลี่ยนหลักการใหญ่ที่สร้างความเป็นเอกภาพและบ่งชี้การแบ่งแยก นี่คือหลักการที่ทำให้เกิดการสมาคมและแยกตัวทางสังคม อันเป็นปฏิบัติการที่เป็นจริงในโลกทางสังคม รวมทั้งเป็นอำนาจในการรักษาหรือการเปลี่ยนแปลงการแยกชั้นแยกประเภทในเรื่องราวที่เกี่ยวกับเพศสภาวะ ความเป็นชาติ ภูมิภาค กลุ่มอายุและสถานภาพทางสังคม การใช้ถ้อยคำเพื่อตั้งนามหรืออธิบายพรรณนาความเรื่องราวของบุคคล กลุ่มและสถาบันต่างๆ คำตอบก็คือการที่จะเปลี่ยนโลก เราต้องเปลี่ยนวิธีการสร้างโลก เปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวกับโลกและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับปฏิบัติการที่กลุ่มต่างๆได้สร้างและทำการผลิตซ้ำ
แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าอำนาจในทางสัญลักษณ์จะมีพลังได้ยังต้องขึ้นอยู่กับสองเงื่อนไขก็คือ ประการแรก ในฐานะที่เป็นรูปแบบของวาทกรรมปฏิบัติการ อำนาจเชิงสัญลักษณ์จะต้องตั้งอยู่บนฐานของการครอบครองทุนทางสัญลักษณ์ก่อน นอกจากนี้ อำนาจที่จะยัดเยียดวิสัยทัศน์เข้าไปในจิตใจของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดเก่าหรือใหม่ หรือแนวคิดในการแยกชั้นแยกประเภทในทางสังคมยังต้องขึ้นอยู่กับความมีฐานะอำนาจในทางสังคมที่ได้มาในการต่อสู้ก่อนหน้านั้น ที่สำคัญก็คือทุนทางสัญลักษณ์จึงเป็นเรื่องของ “เครดิตความเชื่อถือ” มันเป็นอำนาจซึ่งได้มอบให้กับผู้ที่ได้รับการเชื่อถือยอมรับมากพอที่จะอยู่ในฐานะตำแหน่งที่จะก่อให้เกิดการยอมรับเชื่อถือได้ต่อไป ดังนั้น อำนาจในการสถาปนา จึงเป็นอำนาจในการสร้างกลุ่มใหม่ โดยผ่านการปลุกระดมทางสังคม หรือการทำให้มัน “ดำรงอยู่โดยการมีตัวแทน” ซึ่งพูดได้ในนามของกลุ่ม แต่ได้มาด้วยกระบวนการสร้างสถาบันในเวลาอันยาวนาน ในที่สุดกระบวนการนี้จะลงเอยด้วยการมีตัวแทนซึ่งได้รับอำนาจจากกลุ่มเพื่อที่จะสร้างกลุ่มตัวเองอีกทีหนึ่ง
ประการที่สอง ศักยภาพทางอำนาจของสัญลักษณ์ ยังต้องขึ้นอยู่กับระดับของการที่วิสัยทัศน์ซึ่งถูกเสนอขึ้นมานั้นมีฐานรากอยู่ในความเป็นจริงทางสังคม ประดิษฐ์กรรมของกลุ่มนั้นไม่ได้สร้างขึ้นลอยๆ มันมีโอกาสที่จะสำเร็จมากยิ่งขึ้นถ้ามันยิ่งมีพื้นฐานรองรับอยู่ในความเป็นจริงหรืออยู่ในความผูกพันระหว่างกันที่เป็นจริงระหว่างพวกตัวแสดงซึ่งถูกนำพามาให้อยู่ร่วมกัน อำนาจในทางสัญลักษณ์เป็นอำนาจในการสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากถ้อยคำ ดังนั้น อำนาจในทางสัญลักษณ์เป็นอำนาจในการสร้างความหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ หรือเผยให้เห็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะหมายความว่าอำนาจทางสัญลักษณ์ไม่ได้ทำอะไรเลยหรือ? อันที่จริงแล้ว ในฐานะที่เป็นกลุ่มที่เริ่มปรากฏตัวขึ้นในทันทีที่ถูกเลือกขึ้นมาและถูกกำหนดให้เป็นเช่นนั้น กลุ่มดังกล่าวก็ดำรงอยู่เช่นนั้นนั่นเองในห้วงขณะที่กลุ่มนั้นถูกทำให้มี “ความเด่น” ขึ้นตามหลักการอะไรบางอย่างโดยผ่านการใช้ความรู้และการทำให้ได้รับการยอมรับเชื่อถือ เราจึงมักจะเห็นว่าการต่อสู้เพื่อการแบ่งชั้นทางสังคมเป็นมิติพื้นฐานของการต่อสู้ทางชนชั้น อำนาจที่จะยัดเยียดและสั่งสอนวิสัยทัศน์ของการแบ่งแยกขั้วก็คืออำนาจที่จะทำให้คนเรามองเห็นอะไรบางอย่างได้อย่างเปิดเผยในสิ่งที่ซึ่งมีนัยซ่อนเร้นอยู่ก่อนแล้ว และนี่ก็คือสุดยอดของการใช้อำนาจทางการเมืองทางสัญลักษณ์
พื้นที่แห่งสันติภาพและการประนีประนอมหรือความเกลียดชัง?
การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์จะรุนแรงมากในการปะทะกันเพื่อแย่งชิงความชอบธรรมในการอธิบายความหมายเกี่ยวกับสังคมการเมืองที่คนแต่ละฝ่าย “รู้สึกว่า” ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมเป็นอย่างมาก ในสังคมที่มีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำ การปะทะกันด้วยการประณามด้วยอารมณ์ การใช้คำพูดเหยียดหยามดูหมิ่นและใส่ร้ายกันอย่างรุนแรงเพื่อสร้างความรู้สึกอคติเกลียดชังมักจะเกิดขึ้นง่ายในท่ามกลางความโกลาหลของสนามการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ ในที่สุดอำนาจสัญลักษณ์จะสร้างความเป็นจริงขึ้นมาอีกแบบ ความรุนแรงแบบสุดโต่งยิ่งเกิดขึ้นง่ายหากใช้ความรุนแรงมาทำลายฝ่ายตรงกันข้ามโดยละเลยการยอมรับซึ่งกันและกันในพื้นที่สาธารณะ ในช่วงเวลาของความสับสนในการสร้างเอกภาพทางวาทกรรมการเมือง สิ่งที่จะต้องเข้าใจก็คือ การประนีประนอมปรองดองจะเกิดขึ้นได้ในกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ทางสังคม ในกระบวนการนี้จะต้องทำให้เกิด “พื้นที่” ที่แห่งวาทกรรมในรูปคำพูด ถ้อยแถลง การกระทำทางการเมืองหลายอย่างของทุกฝ่ายอาจจะเกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนไปมาได้อย่างต่อเนื่อง ชุดของคำพูดคำอธิบายที่ก่อตัวขึ้น ในระยะแรกอาจจะสับสนกระจัดกระจาย วาทกรรมที่โต้แย้งกันนี้มันอาจจะเริ่มจากกฎเกณฑ์ของสิ่งหลายอย่างซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันและเกาะเกี่ยวต่อเนื่อง ทับซ้อนกัน จนกระทั่ง ในที่สุดก็จะบังเกิดวาทกรรมร่วมหรือพื้นที่ร่วมกัน อันเกิดจากชุดของการพูด คำอธิบาย การพรรณนาความ การวิเคราะห์ การสร้างความรู้สึกประทับใจและการวินิจฉัยตัดสินใจ “ร่วมกัน” บนพื้นที่สาธารณะเพื่อหาทางออกในการสร้างความเป็นจริงชุดใหม่ขึ้นมา และทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงความรุนแรง การปะทะกันอย่างรุนแรงจนนำไปสู่หายนะของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการนี้มีความเสี่ยงแฝงอยู่ไม่น้อยด้วย ข้อเสนอความปรองดองของรัฐบาลได้รับการตอบรับในเบื้องต้นจากกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นการก่อตัวของวาทกรรมแห่งพื้นที่ร่วมกันในสังคมการเมืองไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่หนทางเดินไปสู่การสร้างพื้นที่ร่วมกัน การสร้างความรู้สึกไว้ใจกันและความเชื่อในสันติ สังคมยังไม่ลงตัวนักในกระบวนการนี้ การแทรกตัวเข้ามาของวาทกรรมกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อหลากสียังสะท้อนให้เห็นว่ายังมีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงความชอบธรรมในทางการเมืองที่รุนแรงแฝงเร้นอยู่
อะไรจะเกิดขึ้นเรายังไม่รู้ ณ จุดนี้ของสถานการณ์ แต่สิ่งที่จะต้องคิดกันให้มากก็คือ เราจะต้องเอาชนะสามัญสำนึกของเราเอง แล้วเลือกว่าจะสร้างพื้นที่สังคมที่เป็นพื้นที่แห่งสันติภาพ บนความประนีประนอมปรองดองหรือจะสร้างพื้นที่ของความอคติเกลียดชังที่นำไปสู่ความพินาศย่อยยับของสังคมทั้งสังคม พื้นฐานของปรากฏการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในภาคใต้ และในกรุงเทพก็เป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดที่ว่า ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงความหายนะด้วยการสร้างพื้นที่ร่วมกันได้ด้วยการประนีประนอมปรองดองและการเจรจากันเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ในที่ซึ่ง “การมีสันติภาพ” คือถ้อยคำที่มีความหมายและความชอบธรรมมากที่สุดในความรู้สึกของทุกฝ่าย เราก็จะฝ่าข้ามปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ร่วมกันทั้งสังคม คำถามก็คือว่าทำอย่างไรเราจะอยู่บนพื้นที่เดียวกันของสามัญสำนึกใหม่เพื่อสร้างความดีงามร่วมกันได้
ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ในการเมืองของกรุงเทพ ตรงนี้อาจจะเป็นต้นแบบที่กลับนำมาใช้กับการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ที่ยึดเยื้อเรื้อรังมากว่าหกปีได้เช่นกัน แต่ถ้าแก้ปมของวาทกรรมแห่งความรุนแรงตรงนี้ไม่ได้ ความรุนแรงที่ภาคใต้ก็ไม่มีทางแก้ได้เช่นกัน และน่ากลัวว่าความรุนแรงแบบเดียวกันในขอบเขตและระดับความเข้มข้นที่สูงกว่า พร้อมด้วยความโกลาหลวุ่นวายที่มากกว่าจะลุกลามไปทั่วประเทศ ณ จุดนี้พวกเราจะเลือกหนทางใดกันแน่!
หมายเหตุ: บทความทางความคิดที่อ่านยากนี้ได้แรงบันดาลใจจากการมองสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเปรียบเทียบกับสิ่งเดียวกันที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ขอขอบคุณแรงดลใจจากนักคิดอย่าง Aristotle, Immanuel Kant, Pierre Bourdieu และ Michel Foucault ที่ช่วยให้เขียนบทความนี้จบลงได้