Skip to main content

เผยแพร่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553
 

แถลงการณ์ ฉบับที่ 3
คัดค้านข้อเสนอให้กองทัพประกาศกฎอัยการศึก
ด้วยขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กองทัพต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

          สืบเนื่องจากข้อเสนอของแกนนำพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ วันที่ 7 พฤษภาคม 2553 นำโดย พล.ตรี จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สนับสนุนให้ประกาศใช้กฏอัยการศึกตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) และยังย้ำว่าหากรัฐบาล และทหารไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จำเป็นที่ประชาชนจะต้องออกมาเคลื่อนไหวปกป้องบ้านเมืองนั้น[1]
 
          องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอแสดงเจตนาคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

          1. การที่ พล.ตรี จำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่เรียกร้องให้กองทัพ โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.พล 1 ประกาศกฎอัยการศึกโดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีเป็นการขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กองทัพ ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

          2. ข้อเสนอดังกล่าวของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจถูกตีความไปในทางที่เป็นการยุยงให้กองทัพก่อรัฐประหารเงียบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการต่อต้านกองทัพรุนแรงยิ่งขึ้น

          3. การประกาศกฎอัยการศึกเพื่อให้อำนาจเด็ดขาดแก่ของทัพ เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนเพื่อเข้าจัดการกับสถานการณ์ ถือเป็นการสนับสนุนให้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม อันจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ อันจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

          4. พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก มีบทบัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคลอย่างกว้างขวางและรุนแรง ซึ่งจะใช้บังคับได้ก็แต่ในกรณีจำเป็นอย่างยิ่งยวดเช่นภาวะสงคราม โดยที่ไม่มีหนทางอื่นใดแล้วที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้แล้วเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหตุจำเป็นเพียงพอที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด
 
          บทเรียนจากการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก เพื่อให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนในการเข้าจัดการกับสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่า 5 ปี ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียเลือดเนื้อได้ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างนำไปสู่การใช้อำนาจโดยมิชอบ การทรมาน เกิดภาวะเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดลอยนวลไม่ต้องรับโทษและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ประชาชนสูญเสียความไว้วางใจ และรัฐสูญเสียการสนับสนุนจากภาคประชาชน อันทำให้การปฏิบัติภาระกิจของรัฐในการรักษาความสงบในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ยังไม่บรรลุผลจนถึงปัจจุบัน
 
          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้จึงเห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับสถานการณ์ความขัดแย้งและการ ชุมนุมของกลุ่ม นปช. ย่อมไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ อีกทั้งหากพิจารณาจากแนวทางการปรองดองที่รัฐบาลได้เสนอไว้ ซึ่งจะสำเร็จลุล่วงได้ก็ด้วยความจริงใจและความไว้วางใจระหว่างทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคู่ขัดแย้ง และจะต้องเป็นการแก้ปัญหาโดยวิถีทางการเมือง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อให้กองทัพเข้ามามีอำนาจเด็ดขาดเหนือรัฐบาลพลเรือนนั้น ไม่สามารถสร้างความไว้วางใจได้ และขัดต่อหลักการและวิถีทางประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิ มนุษยชน (HRLA)
โครงการเข้าถึงความยุติธรรม และการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา (HRDF)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน (สสส.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อ สิทธิมนุษยชน (ครส.)
 

-----------
[1] http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9530000063147