ชายแดนใต้หรือปาตานี นับเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงยึดเยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนาน แต่ก็เป็นพื้นที่มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมที่มีความคึกคักไม่น้อย การจัดงานบรรยายหรือเวทีเสวนาสาธารณะที่น่าสนใจได้ถูกจัดขึ้นเกือบจะทุกสัปดาห์ก็ว่าได้ โดยตลอดปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา มีหลากหลายเวทีที่น่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลออกมาเป็น 12 ประเด็นเด่นๆ ดังต่อไปนี้
00000
1. ประเด็นด้านศาสนาอิสลาม
ศาสนายังคงเป็นประเด็นที่คนในพื้นที่ให้ความสนใจมาเป็นอันดับต้นๆ เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้เข้าร่วมในเวทีสาธารณะในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เริ่มต้นปี 2558 เพียงไม่กี่วัน มีงานจัดโยร์ (Jor) หรืองานรวมตัวประจำปีของญะมาอะห์ดะวะห์ตับลีฆ ที่มัรกัสยะลา โดยมีอูลามาอฺ(ผู้รู้)ระดับโลกหลายท่านมาบรรยาย และมีผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่เข้าร่วมมากกว่า 70,000 คน
แต่เวทีที่ผู้คนพูดถึงมากที่สุดเห็นจะเป็นการมาบรรยายของอุสตาซอัซฮัร อิดรุส นักบรรยายศาสนาชื่อดังจากประเทศมาเลเซียในช่วงกลางเดือนกันยายน ซึ่งงานบรรยายในครั้งนั้นทำให้รถติดบนถนนเอเชียหลายชั่วโมงและติดกันอยู่ถนนมากกว่า 10 กิโลเมตร โดยที่มีการคาดการณ์ว่าประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้มาร่วมงานในครั้งนั้นเรือนแสนคน นอกจากนั้นยังมีงานอีกมายมากที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาสนาอิสลาม เช่น งานอีเว้นท์ของไวท์แชลแนลที่จัดเวทีทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ในทุกครั้ง งานพบปะมุสลีมะฮฺ หรืองานบรรยายของอุสตาซ ซัมซูซามาน (อุสตาซ บูเดาะ) เป็นต้น จากประเทศมาเลเซียเช่นกัน ซึ่งแต่ละเวทีมีผู้เข้าร่วมเป็นหมื่นคนขึ้นไป
ก่อนสิ้นปี 2558 ก็มีงานบรรยายของ ดร.บิลาล ฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นนักบรรยายศาสนาระดับโลก และยังมีอีกหลากหลายเวทีที่มีนักวิชาการชื่อดังจากในพื้นที่ชายแดนใต้ พื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย รวมทั้งนักวิชาการชื่อดังจำนวนมากจากต่างประเทศมาบรรยายหรือร่วมเสวนาทั้งในประเด็นอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษา อาทิเช่น ศ.ดร.ยะซิร อูดะห์ ศ.ดร.มูฮัมหมัด กามาล ฮัสซัน ศ.ดร.ชัยค์ อุมัร อุบัยด์ หัสนะฮฺ ศ. ดาโต๊ะ ดร.ออสมาน บาการ์ เป็นต้น
2. ประเด็นด้านกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี
แน่นอนว่ากระบวนการสันติภาพย่อมต้องมาพร้อมกับองค์ความรู้ ในช่วงปีที่ผ่านมามีเวทีสาธารณะหลายเวทีที่ได้กระจายองค์ความรู้ด้านกระบวนการสันติภาพออกไปสู่สังคมทั้งจากองค์กรวิชาการและภาคประชาสังคม เริ่มต้นปี 58 มาเกือบสองเดือนมีงานใหญ่ครบรอบ 2 ปี การลงนามพูดคุยเพื่อสันติภาพ วันที่ 28 กุมภาฯ ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ “ดุลยปาฐก” หัวข้อ “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ อีกทั้งยังมีเวทีสะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพ และกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนมีงานเสวนาวิสัยทัศน์ปาตานี/ชายแดนใต้ 2020 โดยมีปาฐกถาพิเศษจาก ศ.ดร. กามารุซซามาน อัสกันดาร์ และยังมีการกล่าวสุนทรพจน์จากคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์และศาสนาในหัวข้อ “ทิศทางสังคมปาตานี/ชายแดนใต้” รวม 12 คน
ปลายเดือนกันยายนมีเวทีวิชาการนานาชาติสาธารณะ เรื่องไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน “สังคมมุสลิม ความรู้และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษจาก 3 อธิการบดีที่อยู่ในเขตพื้นที่ความขัดแย้ง คือ อาเจะห์ มินดาเนา และปาตานี และยังมีการอภิปรายสะท้อนความเห็นจากปาฐกถาโดยนักวิชาการนอกพื้นที่ความขัดแย้ง ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน และสิงค์โปร์ ทั้งยังมีการนำเสนอบทความวิชาการและเวทีเสวนาอีกมากมาย และตลอดปี 2558 ที่ผ่านมามีเวทีที่เกี่ยวข้องประเด็นดังกล่าวนี้ถูกจัดขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดทั้งปี เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคงมักจะจัดสัมมนาหรือตั้งโต๊ะชีแจงเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข เวทีสาธารณะเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่จัดโดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ หรือในช่วงปลายปีหลายเวทีจะมีการพูดถึงในประเด็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นต้น
3. ประเด็นด้านประวัติศาสตร์
นับได้ว่าเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ของพื้นที่ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกหยิบยกมาเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่และขยายความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาออกไปแก่พื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมมีเวทีเสวนา ปาตานี/ปัตตานี: “ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์และความขัดแย้ง” กลางเดือนกันยายนมีการสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ปีที่ 2 “ประวัติศาสตร์สยาม-ปาตานี: ข้อมูลใหม่ ในความสัมพันธ์กับนครเมกกะฮ" มีนักวิชาการในพื้นที่และต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยน โดยมี ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี”
ปลายเดือนตุลาคมมีงานสัมมนาทางวิชาการระดับชาติเรื่อง “ชายแดนใต้กับพรมแดนความรู้ใหม่และอนาคตที่ท้าทาย” โดยมี รศ.ดร. ชุลีพร วิรุณหะ นำเสนอในประเด็น “ชายแดนใต้ในบริบทภูมิภาค (regional context): การขยายพรมแดนวิจัยทางประวัติศาสตร์” ที่พยายามพูดถึงปาตานีที่มากกว่าความสัมพันธ์เพียงแค่กับสยาม
ครั้นเมื่อครบเหตุการณ์สำคัญๆ ก็จะมีวงเสวนาเกิดขึ้น เช่น งานเสวนาเกี่ยวกับ 11 ปีตากใบ หรือ 61 ปี การสูญหายของหะยีสุหลง และอีกมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านประวัติศาสตร์ยังคงเป็นหนึ่งในองค์ความรู้สำคัญสำหรับพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อร่วมกันเข้าใจประวัติศาสตร์ในมุมมองที่ต่างกันออกไปได้มากขึ้น
4. ประเด็นด้านอาเซียน
เนื่องจากสิ้นปี 2558 จะเริ่มเข้าสู่การเป็นประชาคมด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เรื่องราวของการทำความเข้าใจภูมิภาคอาเซียนก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและได้รับความสนใจจากประชาชนไม่น้อย หลายงานมักจะเชิญ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษ อย่างต้นเดือนสิงหาคมในงานประชุมวิชาการระดับชาติ หัวข้อ “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียน” หรือปลายเดือนตุลาคมในงานสัมมนาทางวิชาการระดับชาติเรื่อง “ชายแดนใต้กับพรมแดนความรู้ใหม่และอนาคตที่ท้าทาย” ในงานสัมมนาดังกล่าวนี้ยังมีวงเสวนาที่เกี่ยวกับข้อท้าทายชายแดนใต้กับอาเซียนอีกด้วย
ในขณะที่ปลายเดือนพฤษภาคมมีงานเสวนาผู้นำศาสนาจังหวัดปัตตานี “สันติภาพปาตานีสู่ประชาคมอาเซียน” ครั้งที่ 2 และมีครั้งที่ 3 และ 4 ในจังหวัดอื่นๆ นอกจากนั้นในโรงเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างก็มีการจัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับอาเซียนตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเช่นกัน
5. ประเด็นด้านภาษาและวัฒนธรรม
แน่นอนว่าภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลายูปาตานียังคงเป็นประเด็นที่มีการรณรงค์และสานต่อในภาคสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เวทีที่เห็นในปี 2558 ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ก็เห็นจะต้องพูดถึงงานมหกรรมวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2558 ภายใต้ชื่องาน 100 ปี ตำบลละหาร ขุนละหาร ประชาเชษฐ์ การจัดงานครั้งนั้นมีการแสดงหลากหลายมากมาย เช่น มีขบวนแห่วัฒนธรรมมลายูแห่ช้าง ม้า มีการแสดงปัญจะซีลัต ตารีอินนา มะโย่ง การแสดงยิงธนูแบบโบราณ การแข่งว่าววงเดือน และมีซุ้มศิลปวัฒนธรรมต่างๆ จาก 7 หัวเมือง เป็นต้น
เมื่อย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์พบว่า มีการเปิดตัวหนังสือ “ป้ายชื่อส่วนราชการภาษามลายูอักษรยาวี” เป็นต้นแบบสู่มาตรฐานอาเซียน จัดโดยคณะกรรมการราษฎรบัณฑิตด้านภาษาและวัฒนธรรมมลายูถิ่นในพื้นที่ชายแดนใต้ ขณะที่ต้นเดือนสิงหาคมมีการเปิดตัวชมรมโฆษกภาษามลายูชายแดนใต้ เครือข่ายสื่อสารสันติภาพจากชุมชน
ส่วนกลางเดือนสิงหาคมมีการเปิดตัว DMDI ไทยแลนด์ (DUNIA MELAYU DUNIA ISLAM) โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธาน และกลางเดือนพฤศจิกายนมีวงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2558 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาการศึกษา วัฒนธรรม และภาษามลายู
นอกจากนั้นยังมีเวทีพบปะเครือข่ายภาษามลายูหลายครั้งในปี 2558 และยังมีเวทีเกี่ยวกับการพัฒนาฟอนต์ภาษามลายูอักษรยาวีหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมและเวทีสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวภาษาและวัฒนธรรมถูกจัดขึ้นตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน
6. ประเด็นด้านการสื่อสาร
นับได้ว่าการสื่อสารเป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งสำหรับพื้นที่ขัดแย้ง ด้วยพื้นที่สาธารณะเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร แน่นอนว่าการสื่อสารย่อมถูกนำมาเป็นประเด็นถกเถียงด้วยเช่นกัน เวทีใหญ่หนึ่งในประเด็นนี้คือเวทีวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี “สันติ(ที่มองเห็น)ภาพ Visible/Visionary Peace” ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และตลอดทั้งปีก็มีหลายเวทีพูดถึงหรือให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสาร เช่น ประเด็นวิทยุชุมชน และสื่อทางเลือกต่างๆ เป็นต้น
มาจนถึงต้นเดือนธันวาคมมีเสวนาสาธารณะเรื่อง “การสื่อสารกับสันติภาพชายแดนใต้ โอกาส พื้นที่ใหม่และสิ่งท้าทาย” โดยมีปาฐกถาพิเศษจาก ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง “รู้คุณ(ค่า)สันติสนทนา…วิทยาการสื่อสารเงินตรา(มนตรา)” และช่วงปลายเดือนธันวาคมมีวงเสวนามีถึงประเด็น “ปฏิบัติการข่าวสาร-สื่อสงครามและสื่อสันติภาพ” ประเด็นการสื่อสารนับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองในปี 2559
7. ประเด็นด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
ชายแดนใต้/ปาตานีเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎหมายมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย การให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนมีงานเปิดตัวหนังสือการช่วยเหลือด้านกฎหมายในพื้นที่ความขัดแย้ง และมีวงเสวนาหัวข้อ “การให้ช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ความขัดแย้งต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ” โดยมีนักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมเสวนา
ต้นเดือนธันวาคมมีงาน “เข้าใจปาตานี : เข้าใจสิทธิมนุษยชน” โดยภายในงานมีการอภิปรายจากตัวแทนหลายๆ ฝ่าย หลากหลายหัวข้อ เช่น ความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในหลักการอิสลาม กลไกระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาการละเมิดสิทธิในพื้นที่ความขัดแย้ง หรือ การสะท้อนมุมมองและมาตรการการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในปาตานี เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน เช่น มีงานวันสิทธิเด็กปาตานี (A BEAUTIFUL CHILDREN RIGHTS DAY) หรือมีหลายเวทีพูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) หรือ TJ เป็นต้น
8. ประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปีที่ผ่านมา อีกประเด็นที่เห็นจะเป็นที่ให้ความสนใจในพื้นที่ก็คือเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นในเขต ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ห่างจากเขตแดนสงขลา-ปัตตานีเพียง 6 กิโลเมตร ทำให้มีกระแสต่อต้านจำนวนไม่น้อย โดยประเด็นนี้ก็ถูกนำมาถกเถียงและชี้แจงในเวทีสาธารณะหลายเวทีในช่วงปลายปี 2558 ขณะที่ย้อนไปเมื่อต้นปีก็มีเวทีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยบริเวณเทือกเขาบูโดที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติหลายเวทีเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การประมง การจัดเวทีของเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี เป็นต้น ที่น่าสนใจคือ ปลายเดือนธันวาคมมีเวทีเปิดตัวองค์กรเครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ หรือ PERMATAMAS ซึ่งประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามองในปี 2559 เช่นเดียวกัน
9. ประเด็นด้านสถานการณ์โลก
ปีที่ผ่านมานับได้ว่ามีสถานการณ์โลกที่น่าตื่นเต้นเคลื่อนไหวและน่าติดตามตลอดทั้งปี นอกจากประเด็นที่มีการพูดคุยกันในวงย่อยๆ แล้ว สองประเด็นที่เป็นที่น่าจับตามองเห็นจะเป็นประเด็นของไอซิสหรือดาอิช รวมถึงเหตุการณ์ในปารีสทั้งต้นปีที่มีการโจมตีสำนักพิมพ์ชาร์ลีเอ็บโด และปลายปีที่มีการโจมที่หลายแห่งทั่วปารีส กลายเป็นสองประเด็นที่มีการถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะและเวทีเสวนาในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีหลายเวทีเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้บทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านั้นมาสู่พื้นที่ชายแดนใต้ต่อไปนั่นเอง
ขณะเดียวกันประเด็นการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงโรฮิงญาก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงในเวทีสาธารณะไม่น้อย นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวของประเทศตุรกีที่เป็นที่น่าจับตามองก็มีการนำมาแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน หรือ กรณีในซีเรีย ปาเลสไตน์ อิรัค เยเมน อียิปต์ การประท้วงที่มาเลเซีย และอื่นๆ ก็มีการพูดถึงบนเวทีสาธารณะในพื้นที่ชายแดนใต้แทบทั้งสิ้น
10. ประเด็นด้านฮาลาล
ฮาลาลก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมากล่าวถึงในพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้ (Southern Border Halal International Fair, SHIF 2015) เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ภายในงานมีการเสวนาที่น่าสนใจจากนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นฮาลาลและประเด็นอื่นๆ โดยมีผู้นำศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าร่วมงานเกือบสามพันคน นอกจากนั้นยังมีงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล เช่น โครงการรับรองร้านอาหารฮาลาลผู้ประกอบการเป็นมุสลิมเข้าสู่ระบบการรับรองฮาลาลเพื่อเพิ่มมูลค่าและค่านิยมผ่านเครื่องหมายฮาลาลประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน มาบรรยาย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่มุ่งให้คนในพื้นที่เข้าใจมิติของฮาลาลด้วยองค์ความรู้ทั้งในด้านศาสนาและด้านวิทยาศาสตร์ที่นำเข้ามาประยุกต์ในกระบวนการตรวจสอบมากขึ้นต่อไป
11. ประเด็นผู้หญิง
ประเด็นที่ลืมไม่ได้ในรอบปีที่ผ่านมาเห็นจะเป็นการเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้หญิงโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพ โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมามีกิจกรรมและเวทีสาธารณะที่เกี่ยวข้องรวมถึงจัดโดยเครือข่ายผู้หญิงจำนวนมาก เช่น ปลายเดือนเมษายนเครือข่ายผู้หญิง 23 องค์กรเรียกร้อง “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล นอกจากนั้นยังมีการผลักดัน "พื้นที่กลางผู้หญิงสร้างสันติภาพ" ในช่วงปีที่ผ่านมาด้วย หรือช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประกาศนโยบายให้ผู้หญิงร่วมสร้างสันติภาพเพราะในกระบวนการสันติภาพ 31 ครั้งที่สำคัญๆ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงปี 2542 ถึง 2554 มีผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพน้อยมาก เป็นต้น และยังมีเวทีสาธารณะที่มีการพูดเกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิสตรีในอิสลาม บทบาทสตรีกับการสร้างสังคมสันติสุข เป็นต้น
นอกจากนั้นหลายเวทียังได้เชิญนักวิชาการหรือนักปฏิบัติการผู้หญิงจากต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้ด้วย เช่น ศ.ดร.เอก้า ศรีมุลยานี จากอาเจะห์ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพรมแดนในประเด็น “ผู้หญิงอาเจะห์ในกระบวนการสันติภาพ” หรือ เชีย วรรณา จากกัมพูชา ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพรมแดนในประเด็น “จากทุ่งสังหารสู่สตรีผู้สร้างสันติภาพในเขมร” หรือจะเป็น เดวี รูบียานติ คอลิฟะห์ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “เมื่อเสียงผู้หญิงถูกรับฟังและทำตาม” เรียนรู้กลยุทธ์การขับเคลื่อนจากอินโดนีเซีย เป็นต้น
12. ประเด็นเด็กและเยาวชน
ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมามีหลายเวทีที่พูดถึงในเรื่องของเยาวชน ซึ่งแน่นอนว่าเยาวชนในวันนี้จะโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ดังนั้นประเด็นเยาวชนจึงสำคัญไม่แพ้ไปกว่าประเด็นอื่นๆ เห็นได้จากหลายๆ เวทีหรือหลายๆ โครงการในรอบปีที่ผ่านมา เช่น กลางเดือนพฤษภาคมมีโครงการเสียงเด็กเพื่อสันติภาพ: เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายภาคประชาสังคมในการป้องกันคุ้มครองสิทธิเด็กในพื้นที่ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีหลายองค์กรที่มาร่วมถกวาระเด็กหรือเยาวชนในครั้งนั้น
ขณะที่กลางเดือนกรกฎาคมมีการเปิดตัว “สภาเพื่อการพัฒนาเยาวชนชายแดนภาคใต้ (Deep South Youth Congress)” ที่เป็นการรวบร่วมองค์กรเยาวชน หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน จำนวน 31 องค์กร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป้าหมายการเสริมสร้างความร่วมมือในการทำงานพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ ส่วนต้นเดือนสิงหาคมมีสัมมนาเครือข่ายเยาวชนชายแดนใต้ โครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งเครือข่ายเยาวชนผู้นำเพื่อหนุนกระบวนการสันติภาพปาตานี โดยมีเครือข่ายเยาวชนชายแดนใต้เข้าร่วมกว่า 200 คน และมีเวทีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเยาวชนตลอดปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
00000
12 ประเด็นข้างต้นเป็นการประมวลของผู้เขียนเอง แน่นอนว่าย่อมมีอีกหลายประเด็นที่ผู้เขียนอาจยังเข้าไปไม่ถึง แต่ทุกประเด็นล้วนแล้วเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกไปนั้น หลายเวทีก็เป็นพื้นที่สื่อสารข้อมูลที่สังคมให้ความสนใจและถูกนำไปถกเถียงกระทั่งกระจายเป็นองค์ความรู้สู่สังคมได้ ความรู้เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านใดก็ล้วนแล้วแต่จำเป็นสำหรับการพัฒนาพื้นที่ขัดแย้งให้มีสีสันและมีชีวิตชีวาด้วยการใช้ความรู้เป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกในสิ่งที่คิดและถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล
โดยเวทีต่างๆ จาก 12 ประเด็นข้างต้นที่ผู้เขียนกล่าวถึงมักจะจัดขึ้นในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.ปัตตานี) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นต้น หรือจัดขึ้นที่โรงแรม เช่น โรงแรมซี เอส ปัตตานี โรงแรมปาร์ควิว โรงแรมอิมพีเรียล นราธิวาส เป็นต้น หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ของ Track 2 น้อยมากที่จะไปจัดกันในชุมชน หรือพื้นที่ของ Track 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี
น่าสนใจว่าในปี 2559 เวทีสาธารณะที่ยังคงต่อแถวรอคิวในการเปิดพื้นที่ของความรู้แก่พื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีอีกไม่น้อย จะสามารถส่งต่อความรู้ให้กับผู้คนในพื้นที่โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่เพื่อหนุนเสริมให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี โดยเฉพาะสันติภาพเชิงบวกได้มากน้อยเพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไป