Skip to main content

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... 12 ปีที่ผ่านมา ณ ปลายด้ามขวานแห่งสยามประเทศ ได้เกิดการต่อสู้ของผู้ใหญ่ขึ้นในพื้นที่ เพราะปัญหาที่สั่งสมในตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มันเป็นเรื่องซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ อีกหลายอย่าง ปัญหานี้ได้ลุกลาม และส่งผลต่อชีวิต ทรัพย์สิน ของคนทุกคนในพื้นที่ รวมทั้งมีผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความอ่อนแอที่สุด และะเป็นกลุ่มที่ทุกคนคอยมอบความรักและฟูมฟักเขาเหล่านั้น

การต่อสู้ที่ผ่านมามีมากกว่า 15,000 เหตุการณ์ (มกราคม 2547 – ธันวาคม 2558) ทำให้มีคนตายแล้วกว่า 6,500 คน และมีคนที่ได้รับบาดเจ็บเกือบ 12,000 คน 12 ปีของาการต่อสู้ ทำให้เด็กและเยาวชน เสียชีวิต 84 คน และได้รับบาดเจ็บ 460 คน โดยปีที่เด็กเสียชีวิต และบาดเจ็บสูงสุด คือ ปี 2550 โดยเด็กต้องตายจากเหตุการณ์ปีนี้ จำนวน 21 คน และ บาดเจ็บ 55 คน ส่วนปีที่ผ่านมามีเด็กตาย 3 คน บาดเจ็บ 15 คน

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ความเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย (คนพิการ) การตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกดำเนินคดีและคุมขัง การถูกพลัดพรากจากครอบครัวในกรณีที่คนในครอบครัวถูกกล่าวหาว่าเห็นต่างจากรัฐ และการต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัว โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรง จะมีผลกระทบทางจิตใจที่อาจจะนำไปสู่ภาวะความซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาอีกด้วย ซึ่งในพื้นที่ยังไม่มีกระบวนการเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เยาวชน ให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดความรุนแรง

"ฉันเกี่ยวอะไร และทำไมต้องเป็นพวกฉันที่ต้องตายและเจ็บ" เสียงเหล่านี้ถูกส่งผ่านจากเด็กในพื้นที่ ทำให้ผู้ใหญ่ ต้องลุกขึ้นมาหาทางช่วยกันทำอะไรสักอย่าง คงนิ่งเฉยไม่ได้ !!!

ดังนั้นเครือข่ายผู้ใหญ่ใจดีอีกจำนวนมากจึงมาร่วมมือกันทำ ทางโครงการพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ มาคุยกัน ตั้งวงสนทนา หารือกันเพื่อให้ได้ข้อเสนอ ข้อตกลงที่ทุกคนช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชนเป็นจริง และไม่ทำกันแค่ชุมชนเล็กๆ แต่เราต้องขยายผลต่อให้ทุกที่ในบ้านเราปลอดภัย และไม่ใช่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ต้องปลอดภัยสำหรับทุกคนด้วย

พอเริ่มทำงาน เราต้องทำความเข้าใจถึงเป้าหมายงานกับคนในชุมชน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ ยอมรับ และมาร่วมมือกันทำงาน และเวลาออกแบบงาน ก็ต้องมาจากการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชน และเด็กๆ ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ รับรู้ และช่วยกันทำงานนี้ด้วย

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดของฝ่ายต่างๆ ในชุมชน และเริ่มมองอนาคตข้างหน้าร่วมกัน เกิดการสานสายสัมพันธ์ครั้งใหม่ขึ้นผ่านความต้องการในการพัฒนาพื้นที่ปลอดภัย และเกิดการวางแผนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด การกล้าก้าวเดินออกจากพื้นที่ส่วนตัว สู่พื้นที่ในชุมชน สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนที่เกิดจากภายในชุมชนเอง

เรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ควรเก็บไว้เราควรมีการขยายความรู้จากพื้นที่ที่มีประสบการณ์ ไปยังพื้นที่อื่นๆ ผ่านการสร้างช่องทางในการสื่อสารระหว่างคนทำงาน (ทั้งใน และนอกพื้นที่) ที่สำคัญเราต้องสร้าง “ความเป็นเจ้าของร่วมกัน” โดยไม่มุ่งเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม ที่จะพัฒนาให้เด็กจังหวัดชายแดนใต้ของเรามีมีความสุขกาย สุขใจ และเติบโตไปเป็นเด็กที่มีคุณภาพในอนาคต

เมื่อทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เมื่อทุกคนร่วมกันสร้างสังคมดีงาม เมื่อผู้ใหญ่ที่ต่อสู้กันหันกลับมาฟังเสียงของเด็ก เสียงของทุกคน เมื่อนั้นบ้านของเราจะกลับมามีความสุขดังเดิม

ของขวัญวันเด็กปีนี้ที่อยากได้และขอเป็นผู้ช่วยสร้างคืออยากขอพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กชายแดนใต้

 

 

ภาพและข้อความโดย สุวรา แก้วนุ้ย (พี่เดียว)
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี

หมายเหตุ -- อ้างอิงข้อมูลจากคณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้. ฐานข้อมูล DSID: การวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบปี 2558