ข้อเขียนนี้เป็นการสรุปเนื้อหาสาระสำคัญที่ได้จากเวทีถอดบทเรียน ‘การถอดบทเรียน 11 ปี พัฒนาการและบทบาทของประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้’ และการจัดทำ Roadmap สภาประชาสังคมชายแดนใต้ โดยการสนับสนุนจากสภาสังคมประชาสังคมชายแดนใต้และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI ซึ่ง การถอดบทเรียนดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการและจะมีการสื่อสารออกเป็นตอนๆ ในตอนแรกนี้ เป็นการสรุปสาระสำคัญการจากการประชุมหารือประเมินบทบาทของภาคประชาสังคมระหว่างแกนหลักของสภาประชาสังคมชายแดนใต้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
บริบทที่เปลี่ยนแปลงสู่การขับเคลื่อนที่แหลมคม
จาก 11 ปีที่ผ่านมานับว่า การประเมินการทำงานของภาคประชาสังคมที่ผ่านมามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานประชาสังคมในอนาคตทั้งในระดับพื้นที่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนความเข้าใจต่อนอกพื้นสามจังหวัดชายแดนใต้แต่สิ่งที่ทำให้ภาคประชาสังคมต้องคิดในเรื่องนี้ให้มากขึ้นคือ บริบทของการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งการที่ภาคประชาสังคมสามารถเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้จำเป็นต้องรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและสามารถวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้มีความแหลมคม และสามารถที่จะเห็นช่องทางต่างๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วงชิงโอกาสต่างๆ ของประชาชน ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ในความเป็นจริงแล้วประเด็นของการสร้างสันติภาพ เป็นประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี 2556 นับตั้งแต่มีการเปิดฉากการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า (ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ) หรือ General Consensus on the Peace Dialogue Process ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างตัวแทนของ ปาร์ตี้ A โดยพลโท ภารดร พัฒนถาบุตร สมช.เลขาธิการไทย และตัวแทนของ ปาร์ตี้ B คือนาย ฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนของขบวนการปลดปล่อยปาตานี โดยที่ผ่านมาภาคประชาสังคมต่างๆ มีการปรับตัว เพื่อที่จะเรียนรู้ให้เท่าทันกระบวนการพูดคุยสันติภาพดังกล่าวตลอดเวลา โดยมีการพยายามทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยในพื้นที่ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อีกทั้งพยายามเรียนรู้และรับเอาประสบการณ์ความขัดแย้งและสันติภาพจากประเทศในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
นอกจากนี้เราจะเห็นการปรับตัวของฝ่ายคู่ขัดแย้งในการขยายพื้นที่ของภาคประชาสังคมที่มากขึ้น ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของทหารหรือตำรวจ ก็ได้เปิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของภาคประชาสังคมบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคประชาสังคมควรจะเน้นย้ำในจุดยืนของตนเองคือ ประชาสังคมคือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐไม่ใช้อาวุธ ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการเชื่อมต่อผู้คนในพื้นที่ทุกระดับ โดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ เป็นตัวประสานและเชื่อมต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่จนสามารถขยายประสบการณ์และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานในพื้นที่สู่นอกพื้นที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ภาคประชาสังคมสามารถที่จะผลักดันไปสู่ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่สามารถสร้างความชอบธรรมของผู้คนในพื้นที่
แก้ไขจุดอ่อนและหาประเด็นร่วม
แม้จะมีข้อจุดเด่นคืออยู่ในพื้นที่พหุวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการทำงานของภาคประชาสังคม ในพื้นที่จังหวัดชายใต้ข้ามกลุ่มต่างๆ ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานภายในกลุ่มศาสนาเดียวกันแต่สิ่งที่จะทำให้ประชาสังคมแก้ไขจุดอ่อนได้คือ การทำงานเชื่อมต่อที่เดินไปด้วยความรู้ อีกทั้งต้องประเมินให้ได้ว่า ภาคประชาสังคมกำลังอยู่ในสถานการณ์ไหนและเพื่อที่จะทราบว่าอะไร คือ ประเด็นที่สามารถทำงานร่วมกันได้ และต้องสามารถเชื่อมไปสู่ผู้คนระดับต่างๆ เช่น ประเด็นเรื่องความยุติธรรม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ภาคประชาสังคมต้องเร่งดำเนินการในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ วิเคราะห์ตัวเอง เพื่อเข้ามาทำงานในพื้นที่สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยงานความรู้เพื่อสร้างอิทธิพลเหนือคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายให้มากขึ้น
การเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องการทบทวนสิ่งที่อยู่ระหว่างหนทางของการทำงานของภาคประชาสังคม ต่างๆ ที่มีทั้งการเติบโต การชะลอตัว การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานของภาคประชาสังคมตลอด 11ปี และ 3 ปีในกระบวนการสันติภาพ ภาคประชาสังคมจะมีบทบาทอย่างไรบ้างในการที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งในตอนต่อไปจะขอสรุปเนื้อหา ที่ได้จากเวทีการถอดบทเรียนการทำงานของภาคประชาสังคมต่างๆ ได้แก่ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายองค์กรสมาชิกของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และ เครือข่ายเยาวชน สู่การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในอนาคต