เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 มีเวทีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มัสยิดบ้านท่าด่าน ใกล้กับโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา ผมไปร่วมเวทีและได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมดูสภาพปอเนาะญ๊ฮาดที่ถูกทิ้งร้างมา 11 ปีนับตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันนี้ศาลชั้นต้นตัดสินยึดที่ดินโรงเรียนมาเป็นของรัฐ ลูกชายเจ้าของโรงเรียนยอมรับคำพิพากษาไม่ขออุทธรณ์แล้ว เพราะเหนื่อยมากในการสู้คดีที่ผ่านมา และยอมย้ายออกจากที่ดินบรรพบุรุษของตน จนเกิดปรากฏการณ์ที่พี่น้องมุสลิมจำนวนมากมาเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวแวมะนออย่างต่อเนี่องทุกวัน ผมพบว่าที่นี่มีบทเรียนสำคัญหลายประการ
บทเรียนสำคัญที่ชัดมากๆคือ ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐไทย รัฐไทยราชการไทยได้ตัดสินคดีด้วยกฏหมายและเหตุผลแบบรัฐไทยที่เป็นคนนอก แต่ประชาชนในพื่นที่เขาตัดสินปรากฏการณ์นี้จากความรู้สึกของความเป็นคนใน ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์การมองคนละชุดความคิดกัน พี่น้องที่นี่และมุสลิมในชายแดนใต้ เขามองว่า ปอเนาะคือสถาบันในชุมชน เป็นมากกว่าโรงเรียน เป็นที่พึ่งของคนส่วนใหญ่ในชุมชน เป็นที่หล่อหลอมศรัทธาตามหลักศาสนา เป็นโรงเรียนของลูกๆ เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชน สร้างขึ้นมาจากความศรัทธาและการระดมทุนของชุมชน ที่ดินของปอเนาะก็เป็นดินวากัฟที่เจ้าของได้อุทิศให้เป็นที่ดินส่วนรวมเพื่อศาสนาไปแล้ว ไม่ใช่ที่ดินส่วนตัวอีกแล้วแม้จะมีโฉนดก็ตาม การยึดที่ดินปอเนาะจึงมีความหมายที่รุนแรงต่อคนในพื้นที่ มีความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นการติดสินที่ไม่เข้าบริบทของชุมชน
สำหรับอำเภอเทพา ในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3,000 ไร่ มีปอเนาะตะเยาะซูตีบอ หรือโรงเรียนอิติซอมวิทยา ตั้งอยู่ในพื้นที่เช่นกัน เป็นปอเนาะเก่าแก่มีชื่อเสียงของเทพา แต่มาวันนี้กลับพบกับวิกฤตแห่งศรัทธา เพราะแนวโน้มที่ กฟผ.ยินดีซื้อปอเนาะเพื่อให้ย้ายออกไปอาจสำเร็จ มีการแอบเจรจาหลายครั้งที่เหมือนยังไม่ลงตัวในเรื่องราคา โดยที่ชุมชนไม่ได้ร่วมรับรู้ร่วมตัดสินใจ ทั้งๆที่ทุกปีที่ผ่านมาชาวบ้านต่างเข้มแข็งระดมทุนให้กับปอเนาะของเขาทุกปี ปอเนาะจึงเป็นสถาบันของชุมชนไม่ใช่ของเจ้าของโรงเรียนเท่านั้น เช่นนี้การตัดสินใจย้ายไม่ย้ายใครควรจะเป็นคนตัดสิน เป็นคำถามที่ยังสับสน แต่หากปอเนาะไม่ย้ายออกก็จะตั้งอยู่ใกล้กับกองถ่านหินมาก รับมลพิษเต็มๆ ส่วนชุมชนรอบปอเนาะต้องถูกย้ายออกหมดหลายร้อยหลังคาเรือน เช่นนี้แล้วจะมีเด็กมาเรียนอีกไหม ส่วนวัด มัสยิดและกุโบร์นั้น ฝ่าย กฟผ.ยืนยันว่าไม่มีการย้ายออกไป แต่ก็เชื่อว่าจะเหลือเพียงอาคารที่อนุรักษ์ไว้ จะเป็นมัสยิดที่ไม่มีเสียงอาซาน ไม่มีการละหมาด ไม่มีเสียงการอ่านอัลกุรอ่านอีกต่อไปในอนาคตหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ประเด็นความรู้สึกไม่เป็นธรรมก็ได้เกิดขึ้นเช่นกันที่เทพา
พื้นที่เทพากับปอเนาะญีฮาจจึงมีความเหมือนกันของความรู้สึกไม่เป็นธรรม ความรู้สึกของการถูกบังคับอย่างไม่เป็นธรรมที่ระบบเหตุผลไม่สามารถลดข้อคับข้องใจของชุมชนได้