Skip to main content

ฟารีดา ปันจอร์

อาจารย์นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี

 

ในห้วงเวลาของความขัดแย้งรุนแรงและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากหลายฝ่าย ท่ามกลางบรรยากาศของการสนับสนุนของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ยังมีประเด็นหลายอย่างที่เราอาจต้องทบทวน ว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทุกฝ่าย มีองค์ความรู้หรือกรณีศึกษาไหนบ้างที่กล่าวถึงการเชื่อมงานด้านสิทธิมนุษยชนกับกระบวนการสันติภาพเข้าด้วยกัน จากการศึกษาอย่างคร่าวๆ พบว่ามีงานวิจัยที่น่าสนใจและมีกรณีศึกษาในหลายประเทศในอดีต เช่นความขัดแย้งในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อาฟริกา  อเมริกากลาง  และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้เข้ามาเติมเต็มและเพิ่มพูนความเข้าใจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ งานชิ้นนี้เป็นการสรุปความจากเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องจาก หนังสือ Peace Agreement and Human Rights ปี 2000 โดย Christine Bell อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ University of Edinburgh และ Negotiating Justice? Human Rights and Peace Agreement   ปี 2006 โดย The International Council on Human Rights Policy ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

 

ความเป็นมาต่อข้อถกเถียงสำคัญ

การปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่มีสันติภาพซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังที่เรารับรู้กับว่า ประสบการณ์ของสงครามโลกครั้งที่สอง กฎหมายสิทธิมนุษยชนกำเนิดขึ้น โดยเป็นผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในรัฐและ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ  กฎบัตรของสหประชาชาติ ปี 1945  ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม ได้อ้างถึงแนวความคิดเรื่องของสิทธิมนุษยชน และมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชนในปี 1948 ทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพที่มีความยุติธรรมนั้นมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสิทธิมนุษยชนควรได้รับการปกป้องโดยหลักของกฎหมาย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ประเด็นแห่งมาตรฐานสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ถูกท้าทายและเป็นที่โต้แย้งว่า กฎหมายระหว่างประเทศได้ต่อต้านนัยยะของการสร้างสันติภาพในเชิงปฏิบัติ ดังเช่น ในยูโกสลาเวีย สงครามที่ยืดเยื้อทำให้ผู้คนต้องล้มตาย แม้แต่ในยามครามสงบ พวกเขายังคงแสดงหาความยุติธรรม ในช่วงเวลานั้น นักสิทธิมนุษยชน  ผู้ก่อความรุนแรง หรือนักเจราจาสันติภาพ  ถูกกล่าวหาว่ากำลังให้รางวัลแก่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การต่อต้านแนวทางสิทธิมนุษยชนที่มีมากขึ้น และมีความยากที่จะเชื่อมต่อระหว่างความยุติธรรมและสันติภาพ ทำให้เกิดคำถามว่า เราจะจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการเจรจา หรือ  หลังการเจรจาสันติภาพอย่างไร  อีกทั้งความต้องการในการยึดถือการเจรจาและการยืนยันหลักกฎหมาย ได้สร้างความตึงเครียดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสงครามและต่อการดำรงอยู่ของสันติภาพในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงว่ามีความต่างกันระหว่างแนวทางของนักสิทธิมนุษยชนและผู้ที่ใช้แนวทางของกระบวนการสันติภาพ กล่าวคือ แนวทางของสิทธิมนุษยชนนั้นใช้วิธีแบบปรปักษ์ในการแก้ไขปัญหา เพื่อที่จะให้เกิดความยุติธรรม แต่ฝ่ายหลังเน้นวิถีทางของความร่วมมือและสร้างความสมานฉันท์ อีกนัยหนึ่ง ฝ่ายแรกเน้นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและต้องการจบความรุนแรงอย่างรวดเร็ว ส่วนฝ่ายหลังต้องการหยิบยกปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดเสถียรภาพและต้องการเห็นประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นเงื่อนไขของสันติภาพ

ความแตกต่างในแนวทางทั้งสองได้กระทบต่อเนื้อหาประเด็นสิทธิมนุษยชนในการเจรจาสันติภาพ ซึ่งมักเกิดคำถามว่าใครควรเข้าร่วม เมื่อไหร่  จะรับมือกับความผิดชอบอย่างไร และการเจรจาในขณะที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากควรเกิดขึ้นหรือไม่  ต่อประเด็นดังกล่าวนักสิทธิมนุษยชนอาจต้องหาความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระยะยาว และรวมเอาตัวบ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพ ‘spoiling’ เข้ามาเพื่อหาความรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชน  มีตัวอย่างที่หลากหลายของการนำเอาผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้ามาในกระบวนการสันติภาพ เช่นในบอสเนีย ไม่มีการนำตัวผู้นำเซอร์เบีย  อย่าง Karadžić และMladić  ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเข้ามาในการเจรจาสันติภาพ เช่น แต่ได้นำเอา Milošević and Tudjman เข้ามาในกระบวนการ ส่วนใน เซียร่าลีโอน และในอาฟิกาใต้ ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกนำเข้ามาร่วมในช่วงของการร่างข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งต่อมามีการสร้างกลไกความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้ในข้อตกลงสันติภาพ  โดยสรุป การหยุดความรุนแรงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเข้าใจเพียงว่าการเกิดกระบวนการสันติภาพ คือ การนำไปสู่การจับกุมพวกเขา

 

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและความขัดแย้งภายใน

หากพิจารณาในมุมมองที่เฉพาะเจาะจงลงมา คือในมุมมองของ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเชิงชาติพันธุ์นั้น มีสองแนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือ ความขัดแย้งที่ทีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องใช้มาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาปรับใช้  แนวทางที่สอง  หัวใจหลักของความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องของความชอบธรรม  (Sovereignty) ดินแดน (Territory) และการเข้าถึงการปกครอง ก็จะต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยหลักของการกำหนดใจตนเอง (Self-determination)  เช่น สิทธิของชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้สองแนวทางดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกัน เพราะพลวัตของการกดขี่โดยรัฐและการตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงนั้นทำให้เกิดวงจรของความรุนแรงที่ยาวนาน

ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องข้อตกลงสันติภาพจึงเกี่ยวข้องประเด็นนี้ ก็เพื่อที่จะลดความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บและการละเมิดสิทธิมนุษยชน  การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่วิถีประชาธิปไตย หรือ การเข้าถึงการบริหารจัดการทางการเมือง โดยเฉพาะการกำหนดใจตนเองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหลักของสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิพลเมือง สังคม เศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม กระนั้นความยากลำบากของ การคำนึงถึงองค์ประกอบของสิทธิมนุษยชนในข้อตกลงสันติภาพ ไม่ใช่แค่คำนึงถึงประเด็นต่างๆ ในทางปฏิบัติเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาในเรื่องของการผ่อนคลายกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยจะต้องเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเด็นสิทธิทางการพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การปกป้องสิทธิ ทั้งในเชิงทฤษฎีและในทางปฏิบัติ มีหลายเรื่องที่ท้าทายเช่น “การเมืองของการยอมรับทางวัฒนธรรม”  ดังที่ปรากฏอยู่ใน หลายๆสังคม แม้ในสังคมตะวันตก ซึ่งประเด็นภายในประเทศที่สามารถสร้างและปรับเปลี่ยนตัวกฎหมายระหว่างประเทศได้

อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิทางวัฒนธรรมในปี 1996 เรียกร้องให้รัฐคำนึงถึงการปกป้อง มากกว่าการบังคับให้เกิดสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งจะต้องใช้กลไกใหม่ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะ ประเทศโลกที่สามที่พูดถึงสิทธิในการพัฒนานั้นอาจไม่เข้ากับกรอบของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเสียทีเดียว ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1960 กระบวนการของการปลดปล่อยอาณานิคมและการกำหนดใจตนเองนั้น ได้ถูกกำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศปี 1996   ดังนั้น ประเด็นของ การเคารพสิทธิการกำหนดใจตนเอง ในสังคมหลายประเทศ ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นประเด็นทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ดังการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่าง ความต้องการมาตรการด้านสิทธิที่มีความเข้มแข็งและจริงจังและการจัดการต่อสถาบันทางการเมืองภายในประเทศ

ยกตัวที่ชัดเจน คือ การต่อสู้ของกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อยืนยันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สุดท้าย ก็จะต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นการคุ้มครองหรือการปกป้องสิทธิมนุษยชนกับการจัดการสถาบันภายในที่ทำให้เกิดการพัฒนามาตรการบางอย่างที่สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมือง ดังนั้นรัฐจึง ไม่ใช่ตัวแสดงเดียวที่จะทำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่จะต้องมีตัวแสดงในระดับระหว่างประเทศ สถาบัน กลุ่มที่ปฏิบัติการความรุนแรงและ ผู้นำทางการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องในวงจรด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น และยิ่งในปัจจุบันที่มีแนวโน้มของความเฉพาะเจาะจงในประเด็นสิทธิมนุษยชนเฉพาะด้านมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคำนึงคือ ข้อจำกัดของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นข้อถกเถียงเชิงปรัชญา ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิมนุษยชนและระเบียบโลกใหม่ก็ยังเป็นข้อคำถาม แต่โดยหลักแล้ว มันเป็นเรื่องยากที่จะแยกประเด็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนออกจากข้อตกลงสันติภาพ โดยต้องคำนึงถึงหลักใหญ่และเชื่อมโยงเรื่องสิทธิมนุษยชนสามประเด็นคือ สิทธิในการกำหนดใจตนเอง  การปกป้องสิทธิทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และการลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในอดีต

 

ข้อท้าท้ายที่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในกระบวนการสันติภาพ

ประเด็นความขัดแย้งถูกทำให้เป็นประเด็นภายนอกหรือไม่

เนื่องจากความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ มีระดับที่ต่างของการทำให้เป็นประเด็นระหว่างประเทศ ที่จากเดิมกระบวนการสันติภาพถูกขับเคลื่อนโดยชนชั้นนำทางการเมือง แต่ชุมชนระหว่างประเทศอาจมีส่วนสำคัญส่วนเดียวที่สามารถจะรวมเอาวาระเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาบนโต๊ะเจรจาได้

ดังเช่น ความขัดแย้งในในไอร์แลนด์เหนือ แม้ความขัดแย้งจะเป็นเรื่องภายใน แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้ชุมชนระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาสู่การบรรลุข้อตกลง ขณะที่อเมริกากลาง การเข้ามาเกี่ยวข้องของชุมชนระหว่างประเทศในกระบวนการสันติภาพต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามชุมชนระหว่างประเทศอาจสนับสนุนนำเอาพิมพ์เขียวสำเร็จรูป เพื่อสร้างแรงกดดันในการบังคับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่อไป

พลังภายในประเทศต่อการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและสิทธิมนุษยชน ค่อนข้างเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะการยืนยันสำหรับฝ่ายหนึ่งในการเข้ามาร่วมกระบวนการนั้น มีความสำคัญ เช่นในไอร์แลนด์เหนือ เช่น แม้มาตรการสิทธิมนุษยชนจะถูกการต่อต้านโดยคนส่วนใหญ่แต่เป็นที่ยอมรับจากคนส่วนน้อย ดังนั้นการมีมาตรการที่รวมอยู่ในข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งก็คือ การสร้างความเชื่อมั่น ให้กับคนกลุ่มน้อยและคนส่วนใหญ่ ข้อท้าทายสำคัญในประเด็นนี้คือ การใช้มาตรการสิทธิมนุษยชนในกระบวนการสันติภาพ ของฝ่ายต่างๆ อาจมีความแตกต่าง ในเรื่องของการปฏิบัติใช้ อาจทำให้ประเด็นยากๆ ถูกละเลยออกไป

กระบวนสันติภาพถูกผลักดันจากพลังภาคประชาสังคมหรือไม่

เป็นคำถามว่า กระบวนการสันติภาพจากข้างล่างสู่บนนั้น กระทบกับกระบวนการสันติภาพมากแต่ไหน เพราะในความขัดแย้งต่างๆ  ภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนต่อมาตรการสิทธิมนุษยชนในมุมการปฏิบัติการของภาคประชาสังคม และแม้กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นจากบนลงล่างที่ไม่รวมเอาภาคประชาสังคม หรือ นักสิทธิมนุษยชนเข้ามา แต่พวกเขาก็อาจใช่วิธีการหลากหลายมาใช้เช่น การติดตามประเมินผล และการปฏิรูปในเชิงสถาบัน เช่นใน เอลซัลวาดอร์ และกัวเตมาลา มีการผลักดันเอามาตรการสิทธิมนุษยชนใหม่ๆเข้ามาในกระบวนการสันติภาพ เช่น  การหยุดการบังคับให้สูญหายเข้ามาในกระบวนการสันติภาพ  (ซึ่งไม่ได้พบในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน)  ซึ่งเป็นพยายามที่มองจากประสบการณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคมและนักสิทธิมนุษยชนเอง ในขณะที่มาตรการด้านสิทธิมนุษยชนของ บอสเนีย เฮอร์เซโกวินา ไม่ได้มีการปฏิรูปอย่างเต็มรูปแบบและพร้อมจะมาใช้ในทางปฏิบัติให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่น ดังนั้นมาตรการด้านสิทธิมนุษยชนที่จะนำมาใช้ภายในประเทศจะต้องถูกทำให้เกิดความเป็นเจ้าของ เกิดบรรยากาศที่คู่ขัดแย้งมองว่า สิทธิมนุษยชนนั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร

ประเด็นใหญ่ทางการเมืองมีผลอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพ

การบริหารการเมืองและดินแดนมีบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์อย่างไรต่อ มาตรการสิทธิมนุษยชนในกระบวนการสันติภาพและคู่ขัดแย้งจะนำประเด็นนี้ไปใช้อย่างไร ประเด็นการแบ่งแยกดินแดนชัดมากเมื่อจะต้องนำประเด็นสิทธิมนุษยชนขึ้นมากล่าวอ้าง  ซึ่งอีกฝ่ายอาจอ้างในเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นมาตรการในการปกป้องอำนาจที่ละเมิดชนกลุ่มน้อย ดังนั้น มาตรการสิทธิมนุษยชนเรื่องของดินแดนในฐานะที่เป็นหัวใจของข้อตกลงก็จะถูกปรับใช้ อย่างกรณีของบอสเนีย ดังนั้นในบางครั้งประเด็นชองสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ว่าคู่ขัดแย้งจะเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไปในทางเดียวกัน และการกล่าวอ้างประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกลาง หรือ มีความชอบธรรม อย่างไรก็ตามในระหว่างความขัดแย้ง มาตรฐานของสิทธิมนุษยชนก็สามารถถูกนำเสนอจากคนที่ไม่ได้ถืออำนาจและมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือท้าทายอธิปไตยของรัฐและการที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงโดยอาวุธ หรือในขณะเดียวกันรัฐอาจเห็นว่าสิทธิมนุษยชน เป็นหนทางในการกล่าวอ้างเพื่อที่จะบรรลุถึงความชอบธรรมระหว่างประเทศ และเพื่อที่จะได้รับประโยชน์ทางการเมืองและการทหาร

โดยสรุปบางกระบวนการสันติภาพไม่มีฝ่ายไหนยอมรับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน หรือแค่ยอมใช้การกล่าวอ้างการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งเหล่านี้กระทบต่อการการที่สิทธิมนุษยชนจะเข้าไปผลต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ ดังนั้นมุมมองของ สิทธิมนุษยชนในข้อตกลงสันติภาพ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและที่จะเกิดขึ้นจริงได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ  ได้แก่ ชนิดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในความขัดแย้ง,ระดับของการละเมิดที่ต่างกัน ทั้งจากการละเมิดโดยรัฐหรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่รัฐ,ความสัมพันธ์ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อรากของปัญหา วัฒนธรรม การเมืองและสังคมนั้นๆ,ระดับของความเชื่อมั่นคงผู้คนในการใช้กฎหมาย และศักยภาพของสถาบันต่างๆ ตำรวจหรือศาล ประเด็นทั้งหมดนี้คือประเด็นที่สำคัญต่อ  การติดตามและประเมินประเด็นสิทธิมนุษยชนในระหว่างความขัดแย้งเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการสันติภาพ และอาจต้องอาศัยกลไกใหม่ และการปฏิรูปสถาบัน แม้ประเด็นสันติภาพยังห่างไกล

คนกลางในกระบวนการสันติภาพ มีบทบาทอย่างไร

บทบาทของคนกลางในกระบวนสันติภาพ ขึ้นอยู่กับเขามองบทบาทตัวเองในแบบไหน ว่าเป็นตัวกลางที่ต้องทำตามหน้าที่ของตนหรือเป็นคนกลางแบบที่มีความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา ตัวกลางในกระบวนการสันติภาพที่มีลักษณะกระตือรือร้น คล่องแคล่วที่จะแก้ไขปัญหา จะทำให้ข้อตกลงสันติภาพนั้นเดินหน้ามากกว่าการตัวกลางที่แสดงบทบาทคับแคบและทำหน้าที่เหมือนประธานในกระบวนการสันติภาพเฉยๆ  บทบาทคนกลางในกระบวนการสันติภาพแบบทั่วๆไปตามมาตรฐานของสหประชาชาติมักจำเป็นอ้างอิงข้อยกเว้นด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เหล่านี้ ว่าไม่ควรนำเข้ามาสู่กระบวนการสันติภาพได้แก่  การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  อาชญากรสงคราม อาชญากรต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมในด้านเพศสภาพและชาติพันธุ์ หรือการนิรโทษกรรมก่อนที่จะมีการฟ้องร้อง แต่คนกลางที่มีความกระตือรือร้นต่อปัญหานั้นจะสามารถที่หยิบยกรากเหง้าของความขัดแย้งขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังว่าจะไม่หยิบยกประเด็นที่คู่ขัดแย้งเห็นไม่ตรงกัน เพราะนั่นอาจทำให้โอกาสของการหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการสันติภาพหายไป และทำให้เกิดกระบวนการสันติภาพที่เน้นการยุติความรุนแรงมากกว่าเห็นสันติภาพในเชิงบวก ดังนั้น จุดยืนของคนกลางก็มีความสำคัญเช่นกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการสันติภาพ

โดยสรุป การทำความเข้าใจความแตกต่างและข้อท้าทายของกลไกลสิทธิมนุษยชนกับกระบวนการสันติภาพเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก แต่สิ่งท้าท้ายสำคัญกว่า คือการทำความเข้าใจสภาพของประเด็นปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่มีความซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงซึ่งต้องการแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง  กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีอยู่หลายระดับจะสามารถช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนกับกระบวนการสันติภาพได้ ดังตัวอย่างจากหลายประเทศ ซึ่งจะขอยกกรณีสำคัญๆ เป็นตอนที่สองของเนื้อหาในหัวขอนี้

 

 

อ้างอิง

Bell,C. Peace Agreement and Human Rights.Oxford University Press, 2003.

The International Council on Human Rights Policy. Negotiating Justice? Human Rights and Peace Agreement  [Online]: Available from  www.ichrp.org/files/reports/22/128_report_en.pdf.