Skip to main content

 

ด้วยเกียรติแห่งเพศแม่ มุคตาร มายน์
บันทึกการต่อสู้ของลูกผู้หญิง ผู้เปลี่ยนการย่ำยีเป็นพลัง
In the name of Honour : A Memoir Mukhtar Mai             
                                                                                                                                                                                                                         รอฮานี จือนารา
 
 
“....เรื่องที่ตื่นตระหนกในสังคมที่ครอบงำด้วยระบบชนเผ่าล้าหลัง มิใช่การตัดสินของสภาชุมชนให้ส่งเธอผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ไปให้กลุ่มชายฉกรรจ์ย่ำยีในนามแห่งศักดิ์ศรี แต่เป็นเพราะเธอไม่ยอมก้มหน้ารับชะตากรรมอันน่าสะพรึงนั้น และจบชีวิตตนเองไปเสียอย่างจำนนดังเช่นที่เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีก คดีของเธอถูกนำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมอันสากล....”
 
หนังสือเล่มนี้เขียนและเรียบเรียงโดย “มารี เทเรสสา คูนี” นักเขียนฝรั่งเศสที่ทุ่มเทให้กับงานด้านสิทธิสตรีมาอย่างยาวนาน ได้ถ่ายทอดเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึก ความคิดความอ่าน ตลอดจนความทรงจำทั้งมวลของมุคตาร มายน์ และถูกแปลมาหลายภาษา และกำลังจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งภาษาไทย แปลโดยกาญจนา นรเศรษฐาภรณ์ เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2553 นับว่าเป็นหนังสือที่สามารถสะท้อนเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงที่ถูกกระทำอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก แต่เป็นตัวอย่างบทเรียนถึงการต่อต้าน และการไม่ยอมจำนนต่อสิ่งอยุติธรรม และลุกขึ้นปฏิวัติให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่แสงสว่าง
 
มุคตาร มายน์ ซึ่งมีความหมายว่า “พี่สาวคนโตที่เคารพ” เธอเป็นผู้หญิงชาวนาอายุ 30 ปี อาศัยอยู่ในปากีสถาน เธอเกิดและเติบโตในหมู่บ้านมีร์วาลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของเขตปกครองปัญจาบ ใกล้เขตแดนของประเทศอินเดีย เธอมีชีวิตเหมือนหญิงทั่วไป เรียนหนังสือท่องจำอัลกุรอานเท่านั้นโดยไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน และ ไม่สามารถอ่านออกเขียนภาษาอื่น ๆ ได้ และแต่งงานกับชายที่ผู้ใหญ่จัดการให้ แต่สามีของเธอไม่ค่อยแข็งแรง เธอจึงขออนุญาตหย่า เธอจึงเป็นหญิงหม้าย ที่ทุ่มเทชีวิตสอนอ่านอัลกุรอานให้แก่เด็กผู้หญิงในหมู่บ้าน เธอจึงถูกขนามนามว่า พี่สาวคนโตที่เคารพ
 
แต่...ชีวิตของเธอกลับต้องเผชิญกับสิ่งโหดร้าย เมื่อ “ชะกูร” น้องชายของเธออายุ 12 ปี ถูกใส่ร้ายว่าไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ “ซัลมา” หญิงชนชั้นสูงวรรณะมาสโตย อายุ 20 ปี  และถูกสภาชนเผ่าตัดสินลงโทษครอบครัวของเธอ โดยให้ผู้ชายจากตระกูลคู่อริร่วมกันข่มขืนเธอในทันที หลังจากนั้นเธอถูกบังคับให้เดินกลับบ้านในสภาพที่เสื้อผ้าขาดวิ่น ร่างเกือบเปลือยเปล่า ผ่านหน้าฝูงชนที่กำลังเย้ยหยันเหน็บแนม จริงแล้วเธอควรฆ่าตัวตายเหมือนหญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่พร้อมจะทำ หรือหนีไปจากหมู่บ้านนั้นเสีย เพื่อหนีความอับอายที่เกิดขึ้น ซึ่งในตอนแรกเธอก็คิดจะทำเช่นนั้น แต่หลังจากที่เธอคิดและไตร่ตรองว่าการตาย หรือจากไปโดยไม่เอาความผิดกับผู้กระทำผิดนั้นคงเป็นการกระทำที่ไม่ชาญฉลาด เธอจึงใช้ความขึ้งโกรธซึ่งมีมากเกินกว่าจะยอมรับได้ หรือยอมจำนนนั้น เธอและครอบครัวตัดสินใจไปแจ้งความกับตำรวจในหมู่บ้าน เพื่อเอาผิดกับผู้ที่กระทำกับเธอ
 
การต่อสู้ของเธอซึ่งไม่ง่ายนัก เพราะต้องเผชิญกับคู่อริที่มีชนชั้นวรรณะที่สูงกว่า และมีอำนาจมากกว่า อีกทั้งต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมเก่าแก่ และ ระบบโครงสร้างสังคมที่ไม่ยุติธรรมซึ่งถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจมากกว่า เช่น ตำรวจขอร้องให้เธออย่าพูดความจริง
 
“เธอต้องไม่พูดว่า เธอถูกข่มขืน!”
 
ครั้งหนึ่งเธอถูกเชิญให้ไปประชุมเสวนาต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเธอ ปรากฏว่าเธอถูกห้ามออกนอกประเทศ และหลายครั้งที่ถูกขู่ฆ่า แต่อุปสรรคที่สำคัญของเธอคือ เธอไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ เมื่อครั้งเธอต้องเซ็นชื่อ เธอต้องประทับลายนิ้วมือ ทั้งที่เธอไม่รู้ว่าเอกสารเหล่านั้นถูกเขียนอะไรไว้บ้าง เหล่านี้ทำให้วันนี้คดีของเธอยังไม่ตัดสิน ในขณะเดียวกันคดีของเธอก็ถูกเลื่อนหลายครั้ง
 
อย่างไรก็ตามอุปสรรคเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เธอย่อท้อ เพราะการต่อสู้ กับความถูกต้อง หรือการปฏิวัติเพื่อต่อต้านการทำร้ายร่างกายและจิตใจ หยุดความรุนแรงต่อเพศแม่ ทำให้คนรอบข้าง พ่อแม่ พี่น้อง คนในชุมชน กระทั่งคนทั่วโลก พร้อมจะสนับสนุนและให้กำลังใจเธอ ทั้งนี้เนื่องจากมุคตาร มายน์ มีจิตใจที่เข้มแข็ง และยืนหยัดบนสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นธรรมเป็นสำคัญ
 
เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้ จะเป็นบทเรียน กระตุ้น ให้ผู้ถูกกดขี่ทั้งหญิงและชาย ลุกขึ้น ต่อสู้กับความอยุติธรรม ไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม แค่คำว่า “ไม่ยอม” , “กล้า” ที่จะปฏิวัติและ พร้อมที่จะอดทน และเดินต่อไปอย่างไม่ท้อถอย
 
 นอกจากนี้สอนให้รู้ว่า  การต่อสู้จะสำเร็จได้นั้น ความไม่รู้ และประสบการณ์ไม่สำคัญ หากแต่ “เพื่อน” ซึ่งเธอมีเพื่อนที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายคอยชี้แนะ และเป็นกระจกให้เธอเพื่อปรับปรุงแก้ไข  มากกว่านั้น การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม จะไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย และเราสามารถสร้างสรรค์ความดีให้กับคนรอบข้าง ซึ่งเธอ เอาเงินช่วยเหลือทั้งหมด เปลี่ยนระบบโครงสร้างสังคม เป็นโรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงในหมู่บ้าน อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้สิทธิของตัวเอง เพื่อไม่ให้ ความอัปยศ อดสู เกิดขึ้นกับผู้หญิงรายอื่น ๆ อีกต่อไป