รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
เหตุการณ์การบุกเข้าไปในโรงพยาบาลเจาะไอร้องเมื่อคืนมีหลายๆ ประเด็นให้ขบคิด จากข่าวสารที่เผยแพร่ออกมาดูเหมือนว่าเป้าของการโจมตีอยู่ที่ค่ายทหารที่อยู่ติดกัน ไม่ได้มุ่งที่จะบุกโรงพยาบาล ไม่มีการทำร้ายใครในโรงพยาบาลแต่ได้ทำลายเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงถูกมัดมือไพล่หลังและควบคุมตัวอยู่พักหนึ่ง เจ้าหน้าที่ทหารตัดสินใจได้ดีที่ไม่ยิงกลับไปในเขตโรงพยาบาล ในเหตุการณ์นี้มีทหารบาดเจ็บ 7 นาย (สาหัสหนึ่งนาย)
ดูเหมือนยุทธวิธีของฝ่ายขบวนการยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังมุ่งโจมตีเป้าหมายทางการทหารของฝ่ายตรงข้าม แต่สมรภูมิรบขยายเข้าไปสู่พื้นที่ของโรงพยาบาลซึ่งอยู่ติดกัน ตาม International Humanitarian Law (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้ในสถานการณ์ของการสู้รบด้วยอาวุธทั้งในและระหว่างประเทศ โรงพยาบาลจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายพึงหลีกเลี่ยงปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่โรงพยาบาล
แล้วจะทำอะไรได้ในสถานการณ์เช่นนี้? เบื้องต้นกอ.รมน. ควรจะพิจารณาที่ตั้งของฐานทหารทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงแต่โรงพยาบาล แต่ฐานทหารยังเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของวัดและโรงเรียนของรัฐอันเป็นผลโดยตรงของนโยบายรัฐ อาจจะถึงเวลาที่จะทบทวนว่ายุทธวิธีเช่นนี้เป็นผลดีหรือผลเสียต่อความปลอดภัยของพลเรือนมากกว่ากัน
มีการพูดถึง IHL มากขึ้นในบริบทของภาคใต้ มีองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้กับฝ่ายขบวนการอย่างเงียบๆ ฝ่ายไทยเองไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องนี้ เพราะจะหมายถึงว่าเป็นการยอมรับว่าสถานการณ์ในภาคใต้เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธภายในประเทศ (Non-international armed conflict) ฝ่ายไทยเกรงว่าการยอมรับเช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่เปิดทางให้สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์และทำให้ไทยไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ในมือตนเองและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะ "เสียดินแดน" ความเข้าใจเช่นนี้ดูจะมองการเมืองระหว่างประเทศหยาบและตายตัวมากเกินไป จริงๆ แล้วการเมืองระหว่าง
ประเทศมีพลวัตรมากกว่านั้น และในบางกรณีการใช้ IHL ไม่จำเป็นที่จะทำให้ฝ่ายรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้งกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอไป ในสถานการณ์เช่นนี้ หากทั้งสองฝ่ายแสดงความตั้งใจที่จะเคารพ IHL ก็อาจจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความคุ้มครองพลเรือนได้ดีขึ้นในสภาวะที่สงครามยังคงไม่จบในเร็ววัน