Skip to main content

"‪#‎ปอเนาะญิฮาดวิทยา" ญิฮาดแห่งสันติวิธี มีอยู่จริง !

 
พรินซ์ อเลสซานโดร

 

 

.

การใช้อำนาจที่ดี หนึ่งคือการมีเหตุผล

บนความยุติธรรมเท่าเทียมมาตรฐานเดียวแล้ว

.

สิ่งที่ไม่ควรละทิ้งใดๆเลย

คือการปลูก "มนุษยธรรม" ให้งอกงาม

.

อาจเป็นเพราะ "อำนาจ" คือสิ่งแหลมคม

ทิ่มแทงที่ใด ย่อมเกิดการปะทะ ท้าทาย

.

"มนุษยธรรม" ในการใช้อำนาจ จึงเปรียบเสมือนยาขม

ที่นอกจากจะรักษา "ผู้ใช้อำนาจ" แล้ว ยังค้ำจุ้น "ผู้ถูกใช้อำนาจ" ด้วย

.

เราจึงเห็น ผู้ใช้อำนาจที่เปี่ยมคุณธรรมหลายๆ ท่าน

ที่มีอำนาจคล้ายๆกับปุยนุ่น ประชาชนยอมรับ ประเทศชาติสงบสบาย

.

ไม่ใช่ว่า "ไม่มี" อำนาจใดเลย

แต่เพราะ "ภูมิคุ้มกัน" ทางอำนาจเข้มแข้งอยู่

"คำสั่ง" เลยกลายเป็น "ประกาศิต" ทุกคนยอมรับ น้อมปฏิบัติตาม

.

งานการกุศลที่ทุกคนรวมใจจัดขึ้นเพื่อสถาบัน "ปอเนาะญิฮาด" ในพื้นที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์"น่าใส่ใจ"ต่อ"ผู้ใช้อำนาจ"แสดงออกมาหลายจุด (ใคร่ขอเสนอเพียงสามจุดคร่าวๆ ให้แลมองเห็น)

.

ก่อนจะพิชิตสามจุดดังว่านี้

ใคร่ปูทางให้ทราบถึงธรรมชาติของการรวมตัวของประชาชนนี้

เห็นจะเกิดขึ้นได้ด้วยสามประการสาเหตุด้วยกัน

.

ไม่ A--> "รวมตัวด้วยใจ" เรียกว่าการชุมนุม (งานรื่นเริงหรืองานพิธีจะอยู่ในข้อนี้เช่นกัน)

ก็ B--> "มาด้วยการบังคับ" (ชื่อนี้ชัดเจนในคำเรียกอยู่แล้ว)

หรือ C--> "อุบัติภัยข้องใจหมู่" ที่เราคุ้นเคยเรียกว่า ประท้วง

.

เอาล่ะ ...ว่าต่อไปเลยนะครับ ,,

.

‪#‎จุดที่หนึ่งคือ แรงใจที่บรรดาประชาชนอันเป็น "ผู้ถูกใช้อำนาจ" ในขณะนี้ (รวมระยะเวลามากกว่าทศวรรษ) รวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น

.

ราวประหนึ่งว่าการเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้

เป็นเพราะใจเรียกร้อง ทำนองสมัคร

แม้นไม่รู้จักเจ้าของสถานที่ แต่ก็ต้องไป

(คำถามซ้อนในจุดนี้คือ "ทำไม ?")

.

ปรากฏการณ์ "ข้าวยำรวมใจ" เมื่อวันวาน ข้อ ๑ ดูจะแสดงสัญลักษณ์ออกมาได้เจนชัดที่สุด

.

ไม่แปลกที่ "ฐานอำนาจ" กำเนิดให้เห็น

ที่แม้นไม่ได้ทิ่มแทงใครให้ลำบากหรือตายจาก

แต่พลังนั้นกลับ "เขย่า" เก้าอี้ของคณะผู้ใช้อำนาจในพื้นที่

ให้สะเทือนหนักเช่นเดียวกัน

.

‪#‎จุดที่สอง คือพัฒนาการในการใช้อำนาจปัจเจก ที่รวมปัจเจกกลายเป็นกลุ่มชน แสดงออกซึ่งการยืนอยู่ตรงข้าม(ผลของ)อำนาจรัด (รัฐ) ในรูปแบบเชิงสันติวิธี อิ่มอกอิ่มใจด้วยการช่วยเหลือ และเข้มแข็งบนแนวทาง "อารยะขัดขืน" ในจานข้าวยำ

.

จุดนี้ อาจถือเป็น "บรรทัดฐาน" การแสดงออกเชิงอำนาจโฉมใหม่ ในพื้นที่แห่งความไม่สงบ ที่เดินมาถึงการแสดงออกโดยสงบ โดยเจ้าของพื้นที่เอง

.

‪#‎จุดที่สาม รูปแบบของการใช้อำนาจรัด (รัฐ) ("ควร"หรือ"จะ")ถูกทบทวน

การใช้กำลังบังคับ กลายเป็นสิ่งล้าสมัย และกลายเป็นฉนวนเหตุให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น

.

สังเกตเห็นจากข้อความแพร่ไปว่า หากใครไปงานนี้ เจ้าหน้าที่รัด(รัฐ) จะแสดงความไม่พอใจ และขัดขวางหรือทำให้การเดินทางล่าช้า (จริงไม่จริงไม่ทราบ แต่แสดงให้เห็นถึง "จุดยืน" ที่แสดงออกผ่านข้อความได้อย่างดี)

.

บังลังค์อำนาจแห่งกฏหมาย มิเคยเป็นความหวังของประชาชนส่วนใหญ่ อันเนื่องจากความจริงที่ว่า "กฏรัฐนั้นบิดไปมาได้ ตราบใดที่ผู้ใช้อำนาจไม่ใช้ความยุติธรรมเพียงพอ"

.

"ศรัทธาในศาสนา" จึงกลายเป็น"ความหวังหลัก" ที่ห่างชั้นกันไกลนักกับ "กฏหมายแผ่นดิน"

.

ประกอบกับการแสดงออกของรัฐ(ในพื้นที่นี้) มักจะใช้ "กำลัง" ให้เท่ากับ "ความยุติธรรม" เสมอ ทำให้ทางออกของการยอมรับในอำนาจแคบลงมากขึ้น

.

เมื่อการยอมรับน้อยลงเท่าใด การต่อต้านหรือขัดขืนจะทวีกำลังเพิ่มขึ้น

.

ตราบใดที่ยังตั้งทัศนคติที่ว่าการได้มาซึ่งอำนาจล้วนต้องใช้กำลังนั้น ทำให้ "มนุษยธรรม" ในการอยู่ร่วมกันลดน้อยลง มีผลโดยตรงต่อสันติภาพที่ถอยหลัง พังความไว้วางใจให้ห่างกันไกลขึ้น

.

สามจุดใหญ่ที่นำเสนอไปคร่าวๆนี้ พอจะฉายแสงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์และแนวคิดของการใช้อำนาจของทั้ง "ผู้ใช้" และ "ผู้ถูกใช้"

.

น่าสนใจที่พัฒนาการในการสะสางปัญหาระหว่างกัน จะดำเนินไปในรูปแบบเชิงสันติ ท่ามกลางการต่อสู้ทั้งในด้านอาวุธ นโยบาย หรือการแย่งชิงมวลชน

.

เหตุการณ์ "ข้าวยำรวมใจ" ยืนตรงประกาศก้องให้เห็นถึง "การรับรู้ของประชาชน" ที่มีพัฒนาการในการแสดงออกท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่

.

"สันติภาพ" คือสิ่งที่เพรียกหา

พลังแห่งปวงประชาคือสิ่งที่รัฐยึดไม่ได้

แม้นจะใช้ "กฏหมาย"ข้อไหน

ความถูกต้องแห่งศรัทธามิอาจกลืน

.

‪#‎PrinceAlessandro

20-03-2016