Skip to main content

พื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ในมุมมองประชาชน[1]

 

สุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์นักวิจัย

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ทำความเข้าใจพื้นฐานกับคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย”

 

พื้นที่ปลอดภัย ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Safety Zone หมายถึง พื้นที่ที่มีการปราศจากความรุนแรงในพื้นที่ขัดแย้ง (ความปลอดภัยที่อยู่ในพื้นที่สงคราม) ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ให้เรารู้สึกปลอดภัยทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมของผู้คนในที่นั้นๆ ให้เอื้อต่อการสร้างความปลอดภัยและความสบายใจในการดำเนินชีวิต และการแสดงความคิดเห็นด้วย

โดยพื้นที่ปลอดภัยนั้นมีความหมายกว้างและยืดหยุ่นมากกว่า “พื้นที่หยุดยิง” และมีขอบเขตการทำงานที่กว้าง เนื่องจากพื้นที่หยุดยิง ต้องมีการข้อตกลงชัดเจน และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่ปลอดภัย เมื่อพิจารณาเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ข้อสำคัญในการทำให้เกิดการดำเนินมาตรการ คือ การดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่าย และประชาชนในพื้นที่

 

ประสบการณ์พื้นที่ปลอดภัยจากนอกพื้นที่

 

ประสบการณ์ในการดำเนินมาตรการพื้นที่ปลอดภัยจากภายนอกพื้นที่ มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

·         การดำเนินมาตรการพื้นที่ปลอดภัยต้องมีความตกลงระหว่างฝ่ายที่มีความขัดแย้ง และเป็นเจตนาของทั้งทั้งสองฝ่าย (ตั้งใจให้เกิดขึ้น) โดยต้องกำหนดเป้าหมาย ขอบเขต และระยะเวลาที่แน่นอ

·         เป็นปฏิบัติการที่สามารถทำแบบเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ได้ แต่ต้องมาจากความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย

·         การดำเนินมาตรการพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ต้องมีข้อตกลงในการดำเนินงาน และมีทีมในการประเมินติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานว่าข้อตกลงเป็นไปตามที่คุยกันไว้หรือไม่ ซึ่งทีมในการประเมินอาจจะมาจากคู่ขัดแย้งหลักร่วมกับฝ่ายที่สาม ที่เป็นภาคประชาสังคม/ ประชาชนในพื้นที่

·         การปฏิบัติการในบางเงื่อนไขสามารถเกิดขึ้นจากความตั้งใจฝ่ายเดียวก็เป็นได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าหมาย การแสดงเจตจำนงค์ต่อสังคม

·         พื้นที่ปลอดภัย สามารถดำเนินการได้ในมิติต่างๆ ดังนี้

-           มิติที่เชื่อมโยงกับทางภูมิศาสตร์ คือ การกำหนดพื้นที่หรือขนาดของพื้นที่ในการดำเนินงาน เช่น การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยระดับตำบล อำเภอ  การกำหนดสถานที่ปลอดภัย อาทิ โรงเรียน วัด มัสยิด โรงพยาบาล ตลาด

-           มิติที่เชื่อมโยงกับบุคคลปลอดภัย เช่น แพทย์ พยาบาล เด็ก ผู้หญิง ผู้นำศาสนา

-           มิติที่เชื่อมโยงกับห้วงเวลาปลอดภัย เช่น ห้วงเวลาต่างๆ ที่สำคัญกับศาสนา

 

กระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากมุมมองคนใน

 

แนวคิดและความพยายามในการผลักดันการดำเนินมาตรการพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี ได้ปรากฎชัดเจนขึ้น ในปี 2554 โดยในปีนั้นได้มีการกำหนดพื้นที่หยุดยิง ใน อำเภอยี่งอ อำเภอบาเจาะ และอำเภอเจาะไอร้อง ระหว่างรัฐ กับกลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ (ในขณะนั้นคือ กลุ่ม PLML) ซึ่งคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ไม่ยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ลดลง

นอกจากนี้ ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ทางฝ่ายรัฐไทยและกลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ (ในขณะนั้นคือ กลุ่ม BRN) ได้มีข้อตกลงการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมาฏอน ซึ่งจากผลการประเมินติดตามผล พบว่า 3 สัปดาห์แรกของเดือนรอมาฎอน สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และลดลงมากสุดในรอบ 10 ปี แต่หลังจากนั้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนรอมาฏอนก็มีเหตุการณ์แทรกแซง ส่งผลให้เหตุการณ์กลับมารุนแรงเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น ในห้วงเดียวกันฝ่ายรัฐได้มีข้อเสนอให้มีการลดการกระทำความรุนแรงต่อพลเรือน ประชาชน ผู้บริสุทธิ์ พระ เขตเมือง เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อทำการประเมินผล พบว่า เหตุการณ์ในปีนั้นมีการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายการก่อเหตุจากกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ (soft target) ไปสู่กลุ่มเป้าหมายติดอาวุธ (hard target)

จากการดำเนินมาตรการพื้นที่ปลอดภัยที่ผ่านมาสามารถลดความรุนแรงได้บางส่วน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขมากขึ้น ทำให้ผลักดันวิถีเศรษฐกิจชุมชนที่มีการขยายตัวมากขึ้น (ตลาดนัด การท่องเที่ยวในพื้นที่) และการทำพื้นที่ปลอดภัยทำให้การทำสันติภาพเป็นเรื่องที่มีความมั่นคง ยั่งยืน

 

การปรับใช้แนวคิด IHL: ความเป็นไปได้ในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัย

 

สิ่งหนึ่งที่ช่วยหนุนเสริมการสร้างบรรยากาศในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) คือ การปฏิบัติตามหลักที่เชื่อมโยงกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL - International Humanitarian Law) ความขัดแย้งแต่สถานกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง (armed conflict) เท่านั้น ไม่ใช่ในสถานการณ์ที่เป็นความรุนแรงครั้งคราว และเป็นการจราจล หรือความตึงเครียดทางการเมือง ใช้เมื่อมีภาวะสงครามหรือสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธ (armed conflict)

หากมองสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี ยังเป็นเพียง “ปัญหาความความไม่สงบภายในประเทศ” จึงยังไม่เกิดสภาพการณ์บังคับใช้กฎหมายนี้ ได้ แต่หากมองความพยายามในพื้นที่ พบว่า สองปีที่ผ่านมา ระหว่างการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี มีข้อตกลงในการไม่ทำร้ายเป้าอ่อนและเปลี่ยนไปสังหารเป้าแข็งอย่างมียุทธศาสตร์และทำได้สำเร็จในห้วงเวลาหนึ่ง ถือเป็นการเคารพหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศประการหนึ่ง

สำหรับแนวทางในปฏิบัติของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้น มีการกระทำต้องห้ามต่อกัน ดังนี้

1)   การฆ่า การตัดอวัยวะของร่างกาย การปฏิบัติที่โหดร้าย และการทรมาน (Murder, Multilation, Cruel Treatment and Torture)

2)   การจับเป็นตัวประกัน (Taking of hostages)

3)   การปฏิบัติที่ทำให้เสียเกียรติและทำให้ด้อยค่า (Humiliating and Degrading Treatment) แม้ศพก็ห้ามกระทำหรือลบหลู่ด้วย

4)   การทำวิสามัญฆาตกรรม (Extrajudicial executions) การฆ่านอกกฎหมาย หรือการฆ่านอกระบบ

5)   การขัดขวางการส่งตัวและดูแลผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ (Block collection and care of the wounded and sick)

         

การบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้น สามารถใช้ได้ 2 แบบ กล่าวคือ ใช้เพื่อปกป้องคนหรือปกป้องสถานที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

คนที่ได้รับการคุ้มครอง
(People who special protection)

พื้นที่ได้รับการคุ้มครอง
(Protected Space)

•        บุคลากรทางการแพทย์

•        โรงพยาบาล / พื้นที่ทางการแพทย์

•        บุคลาการทางศาสนา

•        พื้นที่ทางศาสนา

•        นักข่าว  พลเรือน

•        ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

•        เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ไม่ควรรับการคัดเลือกและไม่ควรมีส่วนร่วมในการสู้รบ เช่น ไม่ควรมีทหารเด็กเกิดขึ้น

•        โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ห้ามละเมิดโดยเด็ดขาด

•        คนสูงอายุ คนชรา คนป่วย และคนพิการ

•        พื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่สาธารณะที่มีกลุ่มเป้าอ่อนใช้ชีวิตร่วมกัน อาทิ ตลาด กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องโดยปริยาย

•        การปกป้องที่เฉพาะเจาะจง, สุขภาพและความต้องการความช่วยเหลือของผู้หญิง เช่น ต่อการกระทำความรุนแรงทางเพศ

 

นอกจากนี้ความเป็นไปได้ในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ ปาตานี ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น

·         สถานภาพของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/ สันติสุข ของคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่าย ที่นำไปสู่การยอมรับให้การพูดคุยเจรจาสันติสุข/ สันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ

·         การลดการโจมตีเป้าหมายผู้บริสุทธิ์ โดยจำกัดขอบเขตการต่อสู้ไว้ที่พลรบ

·         ภาคประชาสังคมต้องเชื่อมโยงข้อเสนอจากพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย

 

ภาคประชาสังคมในพื้นที่สามารถทำอะไรเรื่องพื้นที่ปลอดภัยได้บ้าง ???

 

          ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี สามารถดำเนินงานเพื่อหนุนเสริมมาตรการพื้นที่ปลอดภัย ได้ดังนี้

·         การทำงานร่วมกับฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ - โดยการเรียกร้องคู่ขัดแย้งหลักยอมรับเรื่องพื้นที่ปลอดภัยอย่างจริงจัง และให้ทำความเข้าใจ รวมทั้งควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการในส่วนงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการในการติดตามประเมินผลการทำงาน เป็นต้น

·         การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมด้วยกัน – โดยกำหนดหลักการในการทำงานพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถดำเนินงานร่วมกับชุมชนได้

·         การทำงานร่วมกับทุกฝ่าย (กลุ่มอื่นๆ) – โดยเน้นการทำงานที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายด้วยใจที่เป็นธรรม โดยมีความตื่นตัว มีสติพร้อมในการระแวดระวังต่อการจัดการปัญหา

 



[1] เนื้อหาจากสรุปการประชุมเรื่อง พื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ในมุมมองประชาชน วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เวลา  08.00-16.00 น. ณ โรงแรมอิมพิเรียล จังหวัดนราธิวาส