สุ่มตัวอย่างพิสูจน์สภาพฮาลาลของผลิตภัณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ชายแดนใต้
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
หน้าที่หลักประการหนึ่งของรัฐบาลทุกชุดคือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดหารายได้เพื่อใช้ในการดำเนินงานดังกล่าว โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการสู่ตลาดต่างประเทศ จากการท่องเที่ยว จากธุรกิจการค้าภายในประเทศและด้านอื่นๆ นับเป็นรายได้สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก ประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น การส่งออกการท่องเที่ยว การค้าภายในประเทศ ตลอดจนการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่าอาหาร ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลต่างมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อชีวิตที่ช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญและตระหนักเกี่ยวกับอาหารฮาลาลเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากอาหารที่มุสลิมบริโภคนั้นจะต้อง “ฮาลาลและตอยยีบัน” คือจะต้องสะอาดและถูกหลักอนามัยตามหลักศาสนาอิสลามอันจะส่งผลต่อความปลอดภัยทางจิตวิญญาณของผู้บริโภค สำหรับประเทศไทยมีประชากรมุสลิมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นอาหารฮาลาลจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของมุสลิมและมิใช่มุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วัตถุดิบในการประกอบอาหารในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากมายจนไม่เห็นร่องรอยของต้นกำเนิดของวัตถุดิบนั้น มองด้วยตาเปล่าหรือดูจากชื่อที่ปรากฏอยู่ไม่สามารถบอกได้ว่าวัตถุดิบนั้นผลิตมาจากต้นกำเนิดที่ฮาลาล(อนุมัติ)หรือไม่ เนื่องจากวัตถุดิบนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ดังนั้นจึงมีอยู่บ่อยครั้งที่มีการนำเอาวัตถุดิบที่หะรอม (สิ่งต้องห้าม) มาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลด้วยความเข้าใจผิดหรือไม่รู้ มุสลิมจึงบริโภคอาหารหะรอมโดยไม่รู้ตัว ด้วยเหตุผลนี้เอง กระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจวิเคราะห์สภาพฮาลาลของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งเข้ามาช่วยในการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับถึงที่มาที่ไปของกระบวนการผลิตและต้นกำเนิดของวัตถุดิบในการชี้บ่งว่าวัตถุดิบนั้นฮาลาลหรือไม่
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนกระทั่งปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) ได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า 7 กิจกรรมในแต่ละปี ซึ่งหนึ่งใน 7 กิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินกิจกรรม “การสุ่มตรวจพิสูจน์สภาพฮาลาลของผลิตภัณฑ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้กระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล” โดยในทุกๆ ปีงบประมาณศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) ดำเนินการลงพื้นที่ในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล เพื่อเก็บสินค้าที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นสินค้าในกลุ่มประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงอาหาร และอีกมากมาย โดยเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาลและผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาลแต่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคในพื้นที่บริโภคเป็นประจำเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสถานะฮาลาลของสินค้าที่จัดจำหน่ายในพื้นที่อันนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นต่อเครื่องหมายรับรองฮาลาลประเทศไทยบนผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่ออกสู่ตลาดมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงการแสดงให้เห็นศักยภาพในการรับรองฮาลาลจากองค์กรศาสนาอิสลามร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบบ HAL-Q ในการตัดสินรับรองการผลิตอาหารฮาลาลตามแนวทางศาสนารับรอง-วิทยาศาสตร์รองรับอีกด้วย
ดังนั้นการที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นในสินค้า อุปโภค บริโภค ที่ใช้ในชีวิตประจำของพื้นที่ว่าสินค้าเหล่านั้นปลอดภัยสะอาดและถูกหลักอนามัยตามหลักศาสนาอิสลามอันจะส่งผลต่อความปลอดภัยทางจิตวิญญาณของผู้บริโภค ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถดำเนินวิถีชีวิตตามหลักประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมของชุมชนและท้องถิ่นส่งผลให้ประชาชนมีความสะดวกสบายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดเงื่อนไขของการก่อความไม่สงบในพื้นที่ โดยใช้ประเด็นของการดำเนินชีวิตของชุมชนตามแบบอิสลาม