บทนำ แนวคิดอิสลามการเมืองและสันติภาพของพรรคการเมืองมุสลิมในประเทศไทย[1]
อิมรอน ซาเหาะ
ความเป็นมาและความสำคัญ
หากเปรียบเทียบมนุษย์กับสัตว์โลกชนิดอื่นถือว่ามนุษย์มีความสามารถด้านกายภาพต่ำมาก เพราะมนุษย์ไม่สามารถบินได้เหมือนนก ไม่อาจหายใจในน้ำได้เหมือนปลา ไม่มีพิษเหมือนงู ไม่มีเขี้ยวและกรงเล็บเหมือนสิงโต ไม่โตและแรงเยอะเท่าช้าง ฯลฯ แต่สิ่งที่มนุษย์มีทดแทนร่างกายที่อ่อนแอคือความชาญฉลาดของสมอง แต่ความชาญฉลาดเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้มนุษย์อยู่รอดจากสัตว์ร้ายที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ ดังนั้นเพื่อที่มนุษย์จะสามารถดำรงเผ่าพันธุ์เอาไว้ให้ได้ มนุษย์จึงต้องอยู่ด้วยกันเป็นสังคม ซึ่งการจะอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมากและอยู่อย่างสงบสุขโดยไม่เกิดความวุ่นวายก็ต้องมีระบบคอยควบคุมให้อยู่กันได้อย่างเป็นระเบียบ การเมืองการปกครองจึงเกิดขึ้น
การเมืองการปกครองนอกจากจะเป็นการจัดระเบียบให้สังคมแล้วยังเป็นการแสวงหาอำนาจเพื่อจัดสรรผลประโยชน์อันมีจำกัดของสังคมหรือบ้านเมือง และการแสวงหาอำนาจทางการเมืองหรือการให้ได้มาซึ่งผู้ใช้อำนาจทางการเมืองของแต่ละสังคมย่อมมีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมหรือปรัชญาทางการเมืองที่สังคมนั้นๆ ยึดถือ บางสังคมหรือบางประเทศใช้วิธีการแสวงหาอำนาจทางการเมืองด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ในขณะที่บางสังคมใช้วิธีการแสวงหาอำนาจทางการเมืองด้วยการใช้กองกำลังทหาร หรือบางสังคมใช้วิธีการแสวงหาอำนาจทางการเมืองด้วยการสืบต่ออำนาจที่อาศัยความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีของสังคมเป็นสิ่งรับรองความชอบธรรมของการสืบต่ออำนาจ ทุกสังคมจำเป็นต้องมีผู้ใช้อำนาจทางการเมือง ไม่ว่าการได้มาซึ่งผู้ใช้อำนาจทางการเมืองจะใช้วิธีการใดก็ตาม เพราะผลประโยชน์หลายประการในสังคม มิอาจจัดสรรไปยังกลุ่มชนต่างๆ ในสังคมได้โดยปราศจากการใช้อำนาจทางการเมือง เช่นเดียวกับที่สันติภาพมิอาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากความร่วมมือจากผู้ที่กุมไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง
ในสังคมไทยที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า 80 ปีมาแล้ว โดยที่ปัจจุบันหากยกเว้นในช่วงของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร ถือว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองมากกว่าในอดีตและประชาชนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้มากพอสมควรในช่วงที่สภาวะทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นประชาชนก็ไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะจัดการกับผลประโยชน์เหล่านั้น เพราะสังคมไทยในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาของระบอบรัฐสภาและจะนำไปสู่การเลือกตั้งในที่สุด ประชาชนกระทำได้เพียงการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนของตนในการใช้อำนาจทางการเมืองที่เรียกว่า “นักการเมือง” หรือทำได้เพียงแค่เรียกร้องให้บรรดานักการเมืองผู้มีอำนาจดำเนินการจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่ตนด้วยวิธีการต่างๆ เท่านั้น
ดังนั้น ผลประโยชน์ต่างๆ ของสังคมไทยจะได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์นั้นๆ ว่าจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุจริตโปร่งใสและมีประสิทธิภาพหรือไม่มากน้อยเพียงใด ปัจจุบันนี้สังคมไทยประสบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมากมาย นั่นหมายความว่าผลประโยชน์ของสังคมถูกจัดสรรให้กับคนเพียงบางกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรมโดยนักการเมืองที่ไร้ศีลธรรม ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ประชาชนอีกหลายกลุ่มของสังคมได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ยาก ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่สามารถตอบโจทย์ถึงสันติภาพในภาพรวมของสังคมได้
คำว่า "การเมือง" ในสังคมไทยจึงถูกมองในแง่ลบจากพฤติกรรมอันเลวร้ายของนักการเมือง ทั้งการแสวงหาอำนาจทางการเมืองด้วยวิธีการสกปรกต่างๆ และการเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม หลายคนจึงหันหลังให้กับการเมือง ปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมไปถึงเกิดอาการเบื่อหน่ายต่อการเมือง โดยลืมนึกไปว่าการหลีกห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองคือการเปิดทางให้นักการเมืองที่ไร้คุณธรรมได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น และมุสลิมในประเทศไทยเองก็มองภาพของการเมืองในแง่ลบเช่นกัน ในขณะที่ใน “อิสลาม” การเมืองไม่ได้เป็นสิ่งชั่วร้าย ไม่ได้เป็นสิ่งฉ้อฉล การเมืองที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะเป็นการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ของสรรพสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหมด เป็นการนำพามนุษย์ไปสู่ความดีและออกห่างจากความชั่ว และหากว่าผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองใช้อำนาจที่มีอยู่ตามหลักการอันดีงาม สังคมก็จะเกิดความสงบสุข และมุสลิมทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง อันหมายถึงมุสลิมจะต้องเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมในการที่จะบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ (เลือกผู้นำ) และจะต้องตรวจสอบและถอดถอนผู้นำที่ปฏิบัติตนขัดกับหลักการอิสลาม
แนวคิดอิสลามการเมือง (Political Islam) ได้กลายเป็นแนวคิดที่นักวิชาการให้คำนิยามขึ้นมาใหม่เพื่อระบุชุดความคิดของอิสลามที่เข้ามามีอิทธิพลต่อมิติทางการเมือง ด้วยเหตุที่ว่าการเมืองได้มีผลต่อการดำเนินชีวิตที่รวมไปถึงเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจ เป็นอีกวิธีที่สามารถประสานความเป็นอิสลามไปพร้อมๆ กับความเป็นรัฐสมัยใหม่ผ่านการมองอิสลามในฐานะของอัตลักษณ์หนึ่ง (Political Identiy) ที่สามารถแสดงอย่างเสรีได้ ดังเช่น พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party หรือ AK Party) ในประเทศตุรกี ซึ่งมีแนวคิดการเมืองที่มีรากฐานของศาสนาอิสลามและใช้วิธีการเลือกตั้งเข้ามาสู่การเป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคอิสรภาพและเสรีภาพ (Freedom and Justice Party) ในประเทศอียิปต์ ที่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งก่อนที่จะถูกรัฐประหาร เป็นต้น
ในสังคมไทยที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามหรือที่เรียกว่า “มุสลิม” เป็นชนกลุ่มน้อย พบว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีมุสลิมเคลื่อนไหวในเส้นทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด ทั้งที่เคลื่อนไหวในรูปแบบพรรคการเมือง เป็นกลุ่ม หรือปัจเจกบุคคล ทั้งที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จจนได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง อย่างกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่ม “วาดะห์” ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกกลุ่มวาดะห์คนอื่นๆ อีกหลายท่านที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย เช่น ผลักดันในเรื่องการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย การต่อสู้ทางการเมืองกรณีฮิญาบ (ผ้าคลุมผมของผู้หญิงมุสลิม) สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เป็นต้น แต่กลับพบว่าสังคมไทยยังไม่เข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างอิสลามกับการเมือง รวมไปถึงมุสลิมเองก็ตามที่ยังคงมีแนวคิดว่าการเมืองควรแยกออกจากศาสนา หรือแม้ว่ามุสลิมจะสังกัดพรรคใหญ่ที่สามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาล หรือเคยดำรงตำแหน่งในระดับสูงก็ไม่สามารถนำหลักการอิสลามมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่มากนัก เพราะจะต้องดำเนินงานตามนโยบายของพรรคนั้นๆ ในขณะที่พรรคการเมืองมุสลิมที่สามารถนำหลักการอิสลามมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองหรือดำเนินนโยบายได้เองก็มักจะไม่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนของประชาชน หรืออาจเรียกได้ว่าล้มเหลวจนหลายพรรคต้องปิดตัวลง
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีพรรคการเมืองมุสลิมเกิดขึ้นมาใหม่ไม่ขาดช่วง เช่นปลายปี พ.ศ. 2556 พรรคการเมืองมุสลิมถูกก่อตั้งขึ้นมาใหม่ถึง 2 พรรคในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือ พรรคเพื่อสันติ ซึ่งก่อตั้งพรรคขึ้นเพื่อสร้างบุคลากรทางการเมืองที่มีคุณภาพและเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ภายใต้คุณธรรมและจริยธรรมของอิสลาม และอีกพรรคคือพรรคภราดรภาพซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการทำงานการเมืองแบบฮาลาลหรือแบบที่อิสลามอนุญาต สิ่งที่น่าสนใจคือทั้ง 2 พรรคก่อตั้งโดยอูลามาอ์ (ผู้รู้) ทางด้านศาสนาอิสลามที่ทำงานและเคลื่อนไหวทางสังคมมาเป็นเวลายาวนานก่อนที่จะก่อตั้งเป็นพรรคการเมือง นอกจากนั้นแล้วยังมีพรรคประชาธรรมที่เป็นพรรคการเมืองมุสลิมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันแม้หัวหน้าพรรคจะถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 ก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือทั้ง 3 พรรคมีนโยบายที่เหมือนกัน นั่นก็คือการสร้างสันติภาพและเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ พรรคการเมืองมุสลิมเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดไม่แยกศาสนาออกจากการเมืองและยึดมั่นถือมั่นในหลักการศาสนา ในทางการเมืองอุดมการณ์นี้จึงเชื่อว่าการเมืองต้องวางอยู่บนพื้นฐานหรือหลักการของศาสนา ซึ่งมีบทบัญญัติระบุไว้แล้วในคัมภีร์หรือตำราศาสนา โดยในอิสลามถือว่าเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงคือพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งได้วางหลักการต่างๆ อย่างสมบูรณ์ผ่านคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺ (แบบอย่าง) ของท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด ดังนั้นเสรีภาพในทัศนะของอิสลามจึงได้รับการประกันจากพระเจ้าไม่ใช่จากมนุษย์ด้วยกันเอง ทว่าพรรคการเมืองเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นมาในประเทศไทยซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เรามักจะเข้าใจกันด้วยถ้อยคำสั้นๆ ของอับราฮัม ลินคอร์น ที่กล่าวว่าระบอบประชาธิปไตยเป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” จึงถือว่าประชาชนเป็นใหญ่และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเจ้าของกฎหมาย จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยมีความแตกต่างกันระหว่างอุดมการณ์อิสลามการเมืองกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ดี ข้อดีของระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิและเสรีภาพต่อประชาชนในการเลือกผู้นำหรือผู้แทนเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองจึงเป็นสิทธิอันพึงมีของมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่เชื่อมั่นว่าการเมืองแบบอิสลามนั้นจะสามารถเคลื่อนไหวได้ในสังคมประชาธิปไตย และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนทั่วไปในสังคม ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางเลือกให้กับสังคมไทยที่กำลังมองหาทางออกจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน และต้องการที่จะเห็นการเมืองที่ขาวสะอาด ด้วยการประยุกต์ใช้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดสันติภาพในสังคมโดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยที่มุสลิมสามารถดำเนินชีวิตได้สะดวกกว่าสังคมแบบเผด็จการ เห็นได้จากการลุกฮือของชาวอาหรับในหลายประเทศที่ผ่านมาซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบอำนาจนิยมของรัฐสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือที่เรามักจะคุ้นหูเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “Arab Spring” จนนำไปสู่ข้อกังขาต่อบทสรุปในงานของฮันติงตัน เรื่อง “การปะทะกันทางอารยธรรม” (Clash of Civilizations) ที่สรุปว่าอิสลามกับประชาธิปไตยไม่สามารถไปด้วยกันได้
พรรคการเมืองมุสลิมทั้ง 3 พรรคที่เป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนถึงการไม่แยกศาสนาออกจากการเมือง และต้องการขับเคลื่อนการเมืองของมุสลิมในพื้นที่การเมืองแบบประชาธิปไตยหรือประยุกต์วิธีการของประชาธิปไตยมาใช้โดยที่ไม่ขัดกับหลักการอิสลาม อีกประเด็นที่สำคัญคือ ทั้ง 3 พรรคก่อตัวขึ้นมาจากนักกิจกกรรมเพื่อสังคมที่ทำงานด้านอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือหรือเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งต่างจากพรรคการเมืองมุสลิมในอดีตที่เป็นการรวมตัวกันของนักการเมือง และเมื่อไม่มีทุนสนับสนุน ไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือหัวหน้าพรรคถูกยิงเสียชีวิตก็มักจะปิดตัวลง ในขณะที่พรรคการเมืองมุสลิมในปัจจุบันแม้จะไม่ชนะการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคลาออก หรือแม้กระทั่งหัวหน้าพรรคจะถูกยิงเสียชีวิตก็ตาม สมาชิกที่เหลืออยู่ก็ยังคงเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์ของพรรคต่อไป
ด้วยเหตุนี้ การศึกษาในเชิงรายละเอียดของแนวคิดอิสลามการเมืองและสันติภาพของพรรคการเมืองมุสลิมในประเทศไทยที่ได้นำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งสันติภาพในทุกมิติมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและน่าสนใจยิ่ง เพราะท้ายสุดอาจได้อีกแนวทางเลือกหนึ่งสำหรับวิธีคิดบนพื้นที่ทางการเมืองของคนส่วนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากการเมืองกระแสหลักของสังคมไทย แม้จะเป็นแนวคิดของคนส่วนน้อยแต่ก็อาจส่งผลต่อการหนุนเสริมให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี และอาจส่งผลต่อการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไปได้ ดังที่เหมาเจ๋อตุงเคยกล่าวไว้ว่า “การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือดและสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของฮันนาห์ อาเรนท์ ที่กล่าวว่า “สงครามเป็นความต่อเนื่องของการเมืองโดยวิธีการอื่น” ดังนั้นจากแนวคิดของทั้งสองท่านข้างต้นที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านความรุนแรง ซึ่งท่านหนึ่งเชี่ยวชาญด้านปฏิบัติและอีกท่านเชี่ยวชาญด้านทฤษฎี จึงอาจสรุปได้ว่าหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาสงครามได้ นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับพื้นที่ของการต่อสู้ทางการเมือง และเมื่อไม่มีสงครามที่เป็นผลมาจากการมีพื้นที่ต่อสู้ทางการเมือง ย่อมเรียกได้ว่านั่นคือสันติภาพ แม้จะเป็นสันติภาพเชิงลบก็ตาม แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเมื่อการเมืองการปกครองหรือการบริหารบ้านเมืองเป็นไปตามแนวทางที่ดีย่อมเกิดสันติภาพเชิงบวกในสังคมตามมา กล่าวคือเป็นสภาพสังคมที่ผู้คนมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้รับความเคารพ ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ มีความยุติธรรม มีความสมดุลทางธรรมชาติ ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น
อ้างอิง (เฉพาะบทนำ)
กุฏุบ, ซัยยิด. 2527. อิสลามและสันติภาพสากล. แปลและเรียบเรียงโดย ภราดร มุสลิม. กรุงเทพฯ: สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม.
คริก, เบอร์นาร์ด. 2557. ประชาธิปไตย: ความรู้ฉบับพกพา. แปลโดย อธิป จิตตฤกษ์. กรุงเทพฯ: openworlds.
ดาณุภา ไชยธรรม. 2556. การเมืองการปกครอง เรื่องที่ทุกคนต้องรู้. กรุงเทพฯ: แพรธรรม.
ธงชัย วินิจจะกูล. 2556. ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
นัจมุดดีน อูมา. 2551. บทบาททางการเมืองของกลุ่มวะห์ดะห์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สายใยประชาธรรม.
บูฆอรี ยีหมะ. 2554. ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พรรคเพื่อสันติ. 2556. แนะนำพรรคเพื่อสันติ. เข้าถึงใน http://pheusanti.or.th/wp/?page_id=2443 (สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2556).
พรรคภราดรภาพ. 2556. ปนิธาน แนวนโยบาย พรรคภราดรภาพ (ภดภ). TMTV. เข้าถึงใน http://www.tmtv.asia/index3.html (สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2557).
พุทธทาสภิกขุ. 2549. การเมืองคืออะไร? หนทางรอดของมนุษย์คือธรรมิกสังคมนิยม และพุทธทาสลิขิตข้อคิดทางการเมือง. นครศรีธรรมราช: สุธีรัตนามูลนิธิ.
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา. 2556. ตอบโจทย์ประเทศไทย. กรุงเทพฯ: openbooks.
มนตรี แสนสุข. 2547. วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา. กรุงเทพฯ: อนิเมทกรุ๊ป.
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้. 2554. ดับ 'มุกตา กีละ' หัวหน้าพรรคประชาธรรม คนร้ายถูกสวนตาย 2. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เข้าถึงใน http://www.deepsouthwatch.org/dsj/2612 (สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2557).
วิทยากร เชียงกูล. 2557. ปฏิรูปประเทศไทย เศรษฐกิจ การเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บ้านพระอาทิตย์.
วิศาล ศรีมหาวโร. 2556. สังคมวิทยาการเมืองการปกครอง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โอดียนสโตร์.
ศราวุฒิ อารีย์. 2556. กระแสปฏิวัติอาหรับ: วิวัฒนาการทางการเมืองและย่างก้าวประชาธิปไตย. ใน เอเชียปริทัศน์. ปีที่ 34 ฉบับที่ 1: หน้า 1-23.
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. 2539. การเมือง: แนวคิดและการพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: เอสแอนด์จีกราฟฟิค.
สุชาติ เศรษฐมาลินี. 2550. ความรุนแรง สันติภาพ และความหลากหลายในโลกอิสลาม. กรุงเทพ: ศยาม.
สามารถ ทองเฝือ. 2556. จากอาหรับสปริงถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ใน เอเชียปริทัศน์. ปีที่ 34 ฉบับที่ 1: หน้า 69-91.
สามารถ ทองเฝือ. การเมืองภาคประชาชนในอิสลาม. เอกสารประกอบงานประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในส่วนภูมิภาคประจำปี 2550 (ภาคใต้) วันที่ 28-29 กันยายน 2550 ณ โรงแรมราชมังคลาพาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา.
อณัส อมาตยกุล. 2553. สร้างรัฐอิสลามด้วยสันติวิธี. กรุงเทพฯ: สำนักคิดคนขายเครา.
อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. 2556. เบื่อการเมือง: สาเหตุ?. ใน รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 34 ฉบับที่ 1: หน้า 108-138.
อัลเกาะเราะฎอวียฺ, ยูซุฟ. 2546. ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามกับการท้าทายของยุคสมัย. แปลและเรียบเรียงโดย มุฮัมมัด ศิรอญุดดีน. กรุงเทพฯ: อิสลามิค อะเคเดมี.
เอกราช มูเก็ม. 2555. เปิดปูมพรรคการเมืองแนวมุสลิม: ความท้าทายในระบบการเมืองไทย. สำนักข่าวอะลามี่. เข้าถึงใน http://www.thealami.com/main/content.php?page=news&category=2&id=382 (สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2557).
ฮาฟีส สาและ. 2555. สำรวจบริบทการศึกษาการเมืองอิสลาม. ใน สารศานติ สถาบันวิจัยและส่งเสริมการเมืองการปกครองอิสลาม. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1: หน้า 29-31.
Al-Qaradawi, Yusuf. 2004. State in Islam. 3rd Edition. Cairo: Al-falah foundation.
Arendt, Hannah. 1970. On Violence. Frorida: Houghton Miffin Harcourt Publishing Company.
Hirschkind, Charles. 2011. What is Political Islam?. in Frederic Volpi (Ed.), Political Islam: A Critical Reader (pp. 13-15). New York: Routledge.
หมายเหตุ : ผู้วิจัย/ผู้เขียน จะทยอยลงบทความทีละหัวข้อในโอกาสต่อไปครับ
ขอบคุณรูปภาพจาก Google
[1] บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เรื่อง แนวคิดอิสลามการเมืองและสันติภาพของพรรคการเมืองแนวทางอิสลามในประเทศไทย หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์