Skip to main content

สถานการณ์เด็กกำพร้าจะพลิกความรุนแรงชายแดนใต้?

 

ฐิตินบ  โกมลนิมิ

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมนำเสนอ ‘สถานการณ์เด็กกำพร้าในพื้นที่ความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้’ มีหลายประเด็นน่าสนใจ อาทิ ข้อมูลสถานการณ์เด็กกำพร้านี้ในรอบ 12 ปีมีผลต่อประชากรชายแดนใต้ในอนาคตอย่างยิ่งจะใช้พลิกสถานการณ์ความรุนแรงได้อย่างไร สำหรับศาสนาอิสลาม ‘เด็กกำพร้าเป็นแสงสว่าง’ ทำย่างไรพวกเขาไม่กลายเป็นเชื้อประทุความรุนแรงในอนาคต มากกว่านั้น เด็กกำพร้าจากสถานการณ์นี้ได้กระจายตามภูมิลำเนาของพ่อแม่ที่เสียชีวิต หมายความว่าปัจจุบัน ‘เด็กกำพร้าจากไฟใต้’ จึงอยู่ทั่วประเทศไทย วันนี้จึงมีการการบูรณาการ (ฐาน)ข้อมูลของหลายหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาไม่ให้เด็กกำพร้าเหล่านั้นตกสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยา รวมทั้งคำถามที่ท้าทาย เด็กกำพร้าที่ไม่ได้การรับรองสามฝ่าย (จากทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง) ที่ถูกบอกว่าเป็นลูกของครอบครัวฝ่ายตรงข้ามรัฐใครดูแลเขาอยู่

 

ผศ.ดร.เมตตา กูนิง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) ในฐานหัวหน้าคณะทำงานพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (DSRD) ของศอ.บต. นั้น มีการจัดเก็บและบันทึกเหตุการณ์และผู้ประสบภัย (ผู้ได้รับผลกระทบฯ) บันทึกการเยียวยา รวมทั้งการบันทึกเอกสาร ‘การรับรองสามฝ่าย’ จากฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจด้วย โดยเอกสารผู้เกี่ยวข้องจะถูกสแกนเก็บเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิค เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งต่อเอกสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐกรณีผู้ได้รับผลกระทบฯ ย้ายออกจากพื้นที่เกิดเหตุก็ยังคงได้รับความช่วยเหลืออยู่อย่างต่อเนื่องตามสิทธิ จากฐานข้อมูลนี้จึงแยกผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ความรุนแรงไฟใต้ และที่ไม่ใช่ได้ชัดเจน

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 - 30 กันยายน 2558 พบว่า เมื่อจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงมากขึ้นสัมพันธ์ตรงกับจำนวนเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ มีผู้ประสบเหตุจากเหตุความไม่สงบ รวมทั้งสิ้น 20,493 คน บาดเจ็บจำนวน 12,031 คน บาดเจ็บสาหัสจำนวน 1,875 คน ผู้ประสบเหตุจากบาดเจ็บสาหัสกลายเป็นผู้พิการจากเหตุความไม่สงบจำนวน 584 คน ที่สำคัญ มีผู้ประสบเหตุเสียชีวิตจำนวน 6,003 คน ทำให้เกิด ‘ลูกกำพร้า’ (ในทุกกลุ่มอายุ) จากพ่อแม่เสียชีวิตในเหตุความไม่สงบเป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,806 คน

 

และเมื่อศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อดูภูมิลำเนาลูกกำพร้าทุกกลุ่มอายุดังกล่าว พบว่ากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และหนาแน่นอยู่ที่สามจังหวัดมากที่สุด: ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช เรียงตามจำนวน การพิจาณาในมิตินี้คำนึงถึงเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรง ‘นอกพื้นที่’ ที่เกิดเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ‘ไม่ควรตกหล่นสิทธิ’ ในการเยียวยาด้านต่าง ๆ ด้วย (ดังภาพประกอบแผนที่)

 

ที่น่าสนใจคือ “เด็กกำพร้าเป็นใครบ้าง” อยากให้ช่วยกันอ่าน ‘ปิรามิดลูก/เด็กกำร้าจากไฟใต้’ แบ่งกล่มุอายุตามหลักของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และวางอยู่บนหลักเกณฑ์อนุสัญญาสิทธิเด็ก (อายุ 0 - 18 ปี) ที่ยูนิเซฟดูแล รวมทั้งตามเกณฑ์การช่วยเหลือ ของพม. (อายุ 0 - ไม่เกิน 25 ปี) ตามลำดับ เราจะเห็นเด็กกำพร้าทั้งสองศาสนิก พุทธและมุสลิม ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงในกลุ่มอายุต่างๆ นี้คือฐานประชากรชายแดนใต้ในอนาคต ยิ่งความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ประชากรกำพร้าไร้การดูแลก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

 

ถามว่า “เด็กกำพร้าเหล่านี้ได้รับการเยียวยาทั้งหมดหรือยัง” คำตอบคือยัง เมื่อนำข้อมูลสองหน่วยงานมาเปรียบเทียบระหว่างสำนักการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 (สสว.12) กระทรวงพม. เพื่อเริ่มต้นตรวจสอบเด็กกำพร้าที่เข้าเกณฑ์ได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือน (อายุไม่เกิน 25 ปี) ตัวเลขที่มีการเหลื่อมกันจากสองระบบข้อมูล โดยจำนวนเด็กกำพร้าจาก ศอ.บต. จำนวน 9,806 คน และจากสสว. 12 พม. จำนวน 7,297 คน มีจำนวนและตัวตนเด็กกำพร้าที่สองหน่วยงานนี้ระบุตรงกันจำนวน 8,638 คน

 

มีคำอธิบายระหว่างทางอยู่มาก ทั้งนี้ ผศ.ดร.เมตตา สรุปผลการศึกษา การบูรณาการข้อมูลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบวว่า มีเด็กกำพร้าที่ตรงเกณฑ์ได้รับเบี้ยยังชีพทั้งสิ้นจำนวน 7,561 ราย (อายุไม่เกิน 25 ปีและมี ‘ใบรับรองสามฝ่าย’ แล้ว) ในจำนวนนี้ได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือนแล้ว 7,297 คน [ในจำนวนนี้ อยู่ระหว่างการช่วยเหลือจำนวน 6,664 คน และช่วยเหลือจนครบเกณฑ์แล้ว 633 คน] ขณะเดียวกัน ยัง ‘ตกหล่นสิทธิ ไม่ได้รับการเยียวยา’ อีกจำนวน 264 คน ดังนั้น ในห้วงระยะเวลาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐสามารถเยียวยา ‘เด็กกำพร้า’ ครอบคลุมได้มากถึงร้อยละ 96.5 นี่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ภาครัฐมาบูรณาการข้อมูลและการจัดการเพื่อเยียวยาเด็กกำพร้าร่วมกัน

 

กระนั้นเอ็นจีโอที่นั่งฟังข้อมูลนี้ ถามถึงสิ่งที่ไม่ปรากฎคือ เด็กกำพร้าที่ไม่ได้การรับรองสามฝ่ายใครเป็นคนดูแล ซึ่งตอบยาก แต่ ‘ฉมาพร หนูเพชร’ อาจารย์ คณะพยาบาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นตัวแทนคณะผู้ศึกษาวิจัย นำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพ “การเข้าถึงการเยียวยา การใช้ประโยชน์จากการเยียวยา และผลกระทบของการเยียวยาต่อเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้” พบว่า ในทางการศึกษา พบเด็กกำพร้าสองกลุ่มใหญ่คือ เด็กกำพร้าที่ได้รับการรับรองสามฝ่าย และไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’ ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษา พบว่า เด็กกำพร้าจากครอบครัวฝ่ายตรงข้ามรัฐไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ และไม่มีข้อมูลในระบบการเยียวยาภาครัฐไปโดยปริยาย

 

และจากการศึกษาเด็กกำพร้าเชิงคุณภาพจำนวน 36 คน พบว่า เด็กกำพร้าถึงแม้จะได้รับการเยียวยาแล้ว มีปัญหาที่ปรากฎเด่นชัดสะท้อนปรากฎการณ์ยอดภูเขาน้ำแข็งอย่างน้อย 4 ประเด็นสำคัญ คือ (1) เด็กมีเงินไปโรงเรียนแต่ไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกอยากเรียนรู้ (2) เด็กในกลุ่มตัวอย่าง 13% ต้องออกจากโรงเรียน เนื่องจากเรียนหนังสือไม่ได้ (3) เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงสูงในการเข้าสู่วงจรยาเสพติด และ (4) เด็กเข้าตลาดแรงงานก่อนวัยอันสมควร นั่นหมายความว่าภายใต้ปัญหาที่กล่าวมา เด็กกำพร้ายังคงขาดการดูแลเนื่องจากพ่อหรือแม่แต่งงานใหม่ หรือย้ายไปทำงานต่างพื้นที่ฝากให้ญาติดูแลแทน รวมทั้งปัญหาที่มองไม่เห็นอีกจำนวนมาก นักสงคมสงเคราะห์ นักพัฒนาชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนจะช่วยกันพัฒนาระบบและการเยียวยาที่มั่นใจว่าจะช่วยให้เด็กได้รับการดูแลที่ดีได้อย่างไร

 

แน่นอนว่า ในเวทีนำเสนอผลการศึกษาเหล่านี้มีการตั้งคำถามถึง ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กกำพร้าทั่วไป เด็กกำพร้าในสถานการณ์ไฟใต้ ที่แยกออกเป็นเด็กที่ได้รับการรรับรองและไม่ได้รับรองสามฝ่าย ซึ่งผศ.ปิยะ กิจถาวร อดีตรองเลขา ศอ.บต. กังวล “การเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการความขัดแย้งในอนาคต ลดการขยายความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มมากกว่าเงื่อนไขในอดีต งานเยียวยาเป็นน้ำเย็นในการดับไฟแห่งจิตใจ รัฐต้องก้าวข้ามเงื่อนไขทุกมิติให้ได้ อยากให้ตระหนักร่วมกันว่าเด็กกำพร้าเป็นจุดเปลี่ยนสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ สำหรับพี่น้อมุสลิม เด็กกำพร้าเป็นแสงสว่าง อย่าทำให้เขากลายเป็นเชื้อประทุความรุนแรงในอนาคต แง่นี้ ควรมีเจ้าภาพในการทำงานที่ชัดเจนเชิงนโยบายต่อไป โดยเฉพาะประเด็น ‘การรับรองสามฝ่าย’ ที่ฝ่ายนโยบายไม่กล้าตัดสินใจยกเลิกระบบนี้”

 

นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน ประธานสภาสังคมชายแดนใต้ และตัวแทนศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้ความสำคัญ “เสนอว่า ควรเปิดข้อมูลสถานการณ์เด็กกำพร้าชายแดนใต้ในกลุ่มภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่ทำงานด้านเด็กซึ่งมีมากกว่า 40 องค์กร ร่วมกันอีกครั้งในการออกแบบการทำงานในกลุ่มที่ไม่ใช้ภาครัฐ พูดกันให้ชัดว่า เด็กที่ไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’และ เด็กกำพร้าในครอบครัวของฝ่ายตรงข้ามรัฐจะร่วมกันดูแลอย่างไร” และที่สำคัญ “ศวชต. และฐานข้อมูลของศวชต. ยุบไม่ได้ เลิกทำไม่ได้ ต้องเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารระหว่างคนในภาครัฐและไม่ใช่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลนี้คณะทำงานพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขทั้งของรัฐบาลไทยและมาราปาตานีต้องทราบสถานการณ์เด็กกำพร้า เพราะเด็กเหล่านี้คือประชากรในอนาคตของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

 

มีข้อมูลน่าสนใจอีกมากที่กล่าวมานี้แค่ชี้เป้า โปรดไปติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกับคนที่ได้ชี้เป้าข้างบนเถิด