Skip to main content

 

Thesis Review III :

"จิตนาการปลายด้ามขวาน : อ่าน "ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ" ผ่านนวนิยายจังหวัดชายแดนภาคใต้"

 

สมัชชา นิลปัทม์

คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

        ปริทัศน์วรรณกรรมครั้งนี้ เป็นการอ่านงานที่ชื่อ "จิตนาการปลายด้ามขวาน : อ่าน "ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ" ผ่านนวนิยายจังหวัดชายแดนภาคใต้" ของ ศรัณย์ วงศ์ขจิตร ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2555 โดยมี ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

 

        ทำไมผมจึงหยิบเล่มนี้นี้มาศึกษา มีเหตุผลประกอบบางประการคือ 1) โดยส่วนตัวผมสนใจเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นไม่ว่าสาขาวิชาใดโดยเฉพาะด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ หากศึกษาเรื่องชายแดนใต้ก็จะเข้าติดตามอ่านดู (หลักๆ ในฐานะนักเรียนการสื่อสาร ก็จะดูว่าไปเกี่ยวข้องกับสื่ออะไร) 2) โดยส่วนตัวผมเป็นคนสนใจงานวรรณกรรมอยู่บ้าง ถ้าพบว่ามีวรรณกรรมที่มีฉากเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะติดตามอ่านแทบทุกเรื่อง 3) แปลกใจงานของคณะรัฐศาสตร์แต่กลับสนใจศึกษาวรรณกรรมเป็นวัตถุในการศึกษา 4) โดยส่วนตัวผมชอบงานของ อ.ชัยวัฒน์ ทั้งสไตล์การสอน การคอมเมนต์และปาฐกถา เมื่อสำรวจดูพบว่าอาจารย์เป็นที่ปรึกษาของงานชิ้นนี้ก็เลยอยากที่จะลองอ่านดู

       

        วรรณกรรมเกี่ยวกับการศึกษารัฐศาสตร์อย่างไร ผมยังไม่มีคำตอบที่แจ่มชัดนัก แต่มีข้อสังเกต 2 ประการคือ

1) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายวิชา ร.405 สัมนาการเมืองและนวนิยาย ในระดับปริญญาตรีโดย มีผู้สอนคือ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ 2) เมื่อลองรีวิวประเภทของการสื่อสารทางการเมืองก็พบว่า มีผู้เคยแบ่งกลุ่มการศึกษาขอบข่ายของการศึกษาการสื่อสารทางการเมืองว่าแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม การศึกษาวรรณกรรมกับการเมือง นั้นถูกจัดกลุ่มของการ "กล่อมเกลาทางการเมือง" หมายถึง การที่สังคมใช้สื่อต่างๆ ในการส่งผ่านความความรู้ ทัศนคติ วัฒนธรรมทางการเมือง ส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อรุ่น โดยมีเป้าหมายในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือการกล่อมเกลาโดยผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ใต้ปกครองเลื่อมใสศรัทธา รักษาอำนาจนำ – ครองความเป็นเจ้า โดยไม่ได้เน้นการโน้มน้าวอย่างตรงไปตรงไปมา แต่เป็นไปในลักษณะต้องใช้เวลากว่าจะบรรลุผล

 

        ที่มาของการศึกษาของศรัณย์นั้นแหกกรอบที่ครอบงำความคิดเราอยู่มาก งานของเขาตั้งคำถามอย่างท้าทายว่า "สำหรับสังคมไทยเหตุใดวิธีการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจรัฐและเกี่ยวพันกับเขตอำนาจอธิปไตยของไทยอย่าง เช่น การคิดถึง เขตปกครองตนเอง” (autonomy) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากหรืออย่างน้อยที่สุดยุ่งยากกว่าที่จะถูกพูดถึงอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ มิพักต้องกล่าวถึงการที่จะมีพรรคการเมืองสักพรรคหนึ่งที่อาจจะมาจากพื้นที่ชายแดนใต้เลือกที่จะชู การแบ่งแยกดินแดน เป็นนโยบายของพรรค" ต่อข้อสงสัยข้างต้น เป็นคำถามที่ท้าทายและหลุดกรอบความคิดความเชื่อมาก โดย เฉพาะมาตราที่ 1 ในรัฐธรรมนูญไทยว่าด้วยราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งเดียวที่จะแบ่งแยกมิได้

 

 

        ความรู้สึกเมื่ออ่านงานของศรัณย์ จะพบว่าค่อนข้างมีความซับซ้อนทั้งในข้อเสนอและการใช้ภาษา (ผมเคยพบการเขียนแบบนี้เหมือนกันในงานชื่อ “ฉีกแผ่นดิน"[1]  ของ ดันแคน แม็คคาโก (2555) เพื่อจะทำความเข้าใจงานชิ้นนี้ให้ชัดเจน จึงต้องอธิบายแกนกลางทางความคิดของนี้งานนี้ก่อนโดยผู้วิจัยอาศัยแนวคิด “ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ” ของ Edward Said (1978) และ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ของ ธงชัย วินิจจะกูล (2544) เป็นกรอบแนวทางในการศึกษาในครั้งนี้

 

        งานศึกษาเรื่อง จิตนาการปลายด้ามขวาน : อ่าน "ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ" ผ่านนวนิยายจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ศรัณย์ วงศ์ขจิตร มีคำถามนำวิจัยดังนี้คือ

        1. ภายใต้ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ "ขวานทอง" ในนวนิยาย สร้างและมอบอารมณ์ความรู้สึกต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เปรียบเทียบก่อนและหลังปี พ.ศ.2547

        2. และในนวนิยายจัดการหรือให้ภาพความสัมพันธ์ของผู้คนที่ปลายด้ามขวาน ในฐานะ "ความเป็นอื่น" ของความเป็นไทยเหล่านั้นอย่างไรบ้าง

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

        1. เพื่อศึกษาว่าก่อนและหลังปี พ.ศ. 2547 ในนวนิยายร่วมสมัยของไทยได้สร้างความรู้สึก ของไทยได้สร้างความรู้สึกต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เพื่อดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นบ้างหรือไม่

        2. และเพื่อศึกษาว่าในนวนิยายเรื่องต่างๆ นั้น ได้จัดการหรือให้ภาพความสัมพันธ์กับตัวละครที่มีอัตลักษณ์มลายูมุสลิมในฐานะ "ความเป็นอื่น" ของความเป็นไทย เพื่อดูว่าความเป็นไทยและความเป็นอื่นนั้นมีรูปแบบความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ อย่างไร

 

ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ

        ชื่อคอนเซ็ปแปลกที่ดูเหมือนจะเข้าใจได้ยากนี้ เป็นแนวคิดของ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (E.Said) เพื่อใช้อธิบายแนวคิดหลักอันสำคัญของเขาคือ  “Orientalism” ว่าเกิดขึ้นได้เพราะวางอยู่บนการคิดเชิงพื้นที่ (Spatial) หรือภูมิศาสตร์ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก (distinction) ความเป็นตะวันตกหรือยุโรป (the Occident) กับตะวันออก (the Orient) ขึ้นในจินตนาการ โดยสังเกตจากการที่มนุษย์อาศัยความรู้สึก "คุ้นเคย/ไม่คุ้นเคย" ในการแบ่งเขตแดนว่าตรงไหนใช่หรือไม่ใช่ ซาอิดกล่าวว่า ลักษณะเช่นนี้มีความเป็นสากลมาก เพราะเมื่อมนุษย์ลงหลักปักฐานที่ใดแล้วก็จะสร้างเขตแดน (Boundaries) เพื่อกำหนดว่าเป็นพื้นที่ๆ เราอาศัยว่าเป็น "พวกเรา" ภายใต้ความรู้สึกที่คุ้นเคย (familiar space) ในขณะที่เลยไปจากอาณาเขตที่กำหนดไว้ รวมถึงความรู้สึกภายในที่ไม่คุ้นเคยก็จะเป็น "พวกเขา" และถือว่าเป็น "คนอื่น" ทั้งยังมีลักษณะตามอำเภอใจ (arbitrary) โดยไม่ต้องการรับฟังจากฝ่ายอื่น เพราะรู้สึกเพียงพอแล้วสำหรับ "เรา" ที่สร้างเขตแดนขึ้นมาภายในของเราเอง ดินแดนของ "พวกเขา" จึงมีความตรงกันข้ามอย่างไม่สมมาตร กับ "พวกเรา"

ดินแดนเหล่านั้นแหละผู้คน ณ ที่แห่งนั้น จึงมีความด้อยกว่าเรา E.Said ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นยุโรปจึงต้องสร้าง "ตะวันออก" ขึ้นมาในฐานะผู้อ่อนแอ ล้าหลังกว่า ไม่อาจปกครองตัวเองได้ ฯลฯ เพื่อนิยามว่ายุโรปเข้มแข็งและเจริญกว่าจึงสมควรมาปกครอง

 

        "เขตแดน" จึงมิใช่แค่สัญลักษณ์ในทางกายภาพ (physical space) แต่ยังมีการสร้างภูมิศาสตร์ขึ้นในจินตนาการ (Imaginative geography) ขึ้นมาคู่กันผ่านปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะปฏิบัติทางวัฒนธรรม ซึ่งเคลื่อนไหว หยืดหยุนไปมาได้ สำหรับผู้ที่คิดจะแย่งชิงครอบครองดินแดนใด มิเพียงต้องต่อสู้ยึดครองดินแดนในทางกายภาพ แต่ยังต้องต่อสู้แย่งชิงจินตนาการถึงดินแดนนั้นด้วย[2]

 

        ศรัณย์ ย้ำว่า เพื่อทำความเข้าใจปัญหาชายแดนภาคใต้ ณ ตำแหน่งแห่งที่ปัจจุบันในอาณาเขตรัฐไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจด้วยว่า "รัฐไทย" มีภูมิศาสตร์ในจินตนาการต่อชายแดนใต้เช่นไรและมีที่มาอย่างไร

 

จินตกรรมขวานทอง : จินตกรรมหลัก, จินตกรรมภูมิศาสตร์แห่งชาติ, เอกภาพของชาติ

        มีข้อพิจารณาว่าด้วย "ดินแดน" ว่าเป็นประเด็นทาง "กายภาพ" หรือ "จินตภาพ" เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ชาติ" ข้อพิจารณาประเด็นแรกของ แอนโทนี ดี สมิท (A.D.Smith, 1999, อ้างในศรัณย์ 2555) ชี้ว่าแผ่นดินเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่ทุกคนคิดถึงร่วมกัน มีความเป็นรูปธรรมดำรงอยู่ข้ามกาลเวลา เป็นชุมชนทางชาติพันธุ์ โดยการก่อร่างชุมชนอาศัยแผ่นดินเป็นจุดเริ่มต้นของความทรงจำของชุมชน ความเป็นชาติจึงเชื่อมโยงกับการอ้างสิทธิเหนือดินแดน ด้วยเหตุนี้จึงอย่าแปลกใจถ้าผู้คนในชาติจะพร้อมสละชีพเพื่อชาติ

 

        ขณะที่อีกกระแสหนึ่งอย่าง เบเนดิค แอนเดอร์สัน (B.Anderson, 1996) ชี้ว่าชาติมีขอบเขตที่จำกัดและถูกจินตนาการขึ้นว่าเป็น "ชุมชนทางการเมืองที่ถูกจินตนาการขึ้น" โดยถูกทำให้มีคนที่รู้สึกว่ามีขอบเขตและอธิปไตยมาตั้งแต่กำเนิด แอนเดอร์สัน ชี้ว่า แม้ประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุด ผู้คนก็ยังไม่สามารถยังรู้จักพลเมืองของประเทศได้ทั้งหมด แต่ถึงกระนั้นทุกคนต่างมี "ภาพ" (Image) ของชาติได้ร่วมกันได้ ทั้งยังสร้างความรู้สึกให้เกิดเป็น "ชุมชน" (community) โดยทำให้รู้สึกเป็นภราดรภาพในแนวระนาบอย่างลึกซึ้ง (as deep, horizontal comradeship) จุดร่วมเช่นเดียวกับที่ สมิทกล่าวไว้ข้างต้นว่า พลังของความเป็นชาติเช่นนี้สามารถกระตุ้นให้คนนับล้านยอมตายเพื่อชาติเพื่อจินตนาการอันนั้น

 

        นิยามเรื่อง "ชาติ" และ "ชาตินิยม" ระหว่างสมิทกับแอนเดอร์สัน มีความแตกต่างกันอยู่บางประการ โดยสมิท ระบุว่า ชาตินิยมแม้จะเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ แต่ก็ยังมีเชื้อมูลมาจากยุคก่อน โดยกลุ่มคนหรือกลุ่มชาติพันธุ์เชื่อว่ามีร่วมกันหรือชุมชนทางชาติพันธุ์ (ethnic community) คือแผ่นดินที่คนบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นบ้านเกิดของกลุ่มตน จึงถูกเรียกว่า  “Primordialism” ขณะที่ความคิดของแอนเดอร์สันเป็นแบบ “Constructivism” โดยชาติแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมิได้ดำรงอยู่ก่อนสมัยใหม่ จินตนาการที่สำคัญก็คือจะต้องทำให้เกิดภาพของภูมิศาสตร์แห่งชาติก็คือต้องทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเกิดบนแผ่นดินเดียวกัน ที่มีความท้าทายต่อการ "เชื่อม" พลเมืองจากแต่ละภูมิภาค ต่างวัฒนธรรม ให้มีความรู้สึกว่าเกิดบนแผ่นดินเดียวกัน

 

        อย่างไรก็ตาม เมื่อมี "จินตกรรมภูมิศาสตร์แห่งชาติ" (national imagined geography) จึงต้องมีภูมิศาสตร์ในจินตนาการควบคู่ภูมิศาสตร์เชิงกายภาพ เมื่อมันทำงานผสานกันกันเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะสร้าง "ตัวตน" ของประเทศขึ้นมาด้วย โดยกรณีของรัฐชาติไทย – สยาม มักถูกจินตนาการให้เป็นรูปขวานโบราณ หรือ "ขวานทอง" โดยบรรจุอุดมการณ์เข้าไปในรูปสัญญะนั้นด้วย โดยเฉพาะปลายด้ามขวาน จึงสร้างจินตนาการต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเลี่ยงเสียมิได้

       

ชาตินิยม" ฉบับไม่เป็นทางการ

        ในงานเขียนเรื่อง Imagined Community ของแอนเดอสันที่กล่าวว่า รัฐมีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ต่อ "ชาตินิยมแบบทางการ" และสามารถบงการได้อย่างสมบูรณ์ แล้วพลังของชาตินิยมนั้นทำงานผ่านรัฐเท่านั้นล่ะหรือ ข้อวิจารณ์อันนี้ถูกแย้งโดยธงชัยว่า เป็นข้อสรุปที่ดูง่ายเกินไปและละเลยพลังสังคมอื่นๆ นอกเหนือจากภาครัฐ โดยเฉพาะในภาคประชาสังคม (civil society) เพราะอาจจะมีทั้งบทบาทที่สนับสนุนส่งเสริม ต่อต้าน ต่อรองกับจินตกรรมฉบับทางการก็ได้

        ข้อวิจารณ์อันนี้นำมาสู่เหตุผลของศรัณย์ในการที่จะเลือกศึกษา "สังคมไทย" มากกว่าพื้นที่ "รัฐไทย" ว่าปัจจุบันมีภูมิศาสตร์ทางจินตนาการเช่นไร ดังนั้นวัตถุการศึกษาที่เขาเลือกจึงควรเป็นสิ่งที่รัฐเข้ามายุ่มย่ามน้อยที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นคือ "นวนิยาย"

 

ทำไมต้องมองผ่าน "นวนิยาย"

        ศรัณย์อ้างอิงความคิดของ ซาอิด (1993) ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของ "วัฒนธรรม" กับ "จักรวรรดินิยม" กล่าวคือ หากจักรวรรดินิยมคือภาคปฏิบัติการ ทฤษฎี ทัศนคติและความพยายามในการปกครองดินแดนอันห่างไกลจากศูนย์กลางของยุโรป นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยผลักดันที่สำคัญคือ วัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในรูปของ รูปแบบทางวัฒนธรรม (Cultural form) (ซึ่งเป็นกลไกครอบงำทางความคิดก็คือ “สื่อ” นั่นเอง) ที่ซาอิดให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ คือ "นวนิยาย" ซึ่งบรรจุเรื่องราวแปลกๆ จากดินแดนอันห่างไกล ส่งผลให้เกิดโครงสร้างของทัศนคติและแหล่งอ้างอิงบางลักษณะขึ้น โครงสร้างเช่นนี้เอื้อให้เกิดความคิดที่จะครอบครองดินแดนของผู้อื่น การกระทำในนามของความศิวิไลซ์ เพื่อปลดปลดปล่อยผู้อื่นจากความล้าหลัง โดยที่ก่อนจะปลดปล่อยก็ต้องได้รับการปกครองเสียก่อน

 

        “นวนิยาย” ในที่นี่จึงมีฐานะเป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมได้ถูกใช้ผลิตสร้าง “โครงสร้างของทัศนคติและสิ่งอ้างอิง” (a structure of attitude and reference) ตามข้อเสนอต่อซาอิด เมื่อพิจารณาต่อกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ที่สามารถพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง “สยาม” ในฐานะเจ้าจักรวรรดินิยม และ “ปาตานี” ในฐานะอาณานิคมใต้ปกครองของสยาม[3]

 

        การอ่านนวนิยายอย่างแพร่หลายในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19-20ตามข้อเสนอของซาอิดจึงดูสมเหตุสมผล เนื่องจากผลผลิตทางวัฒนธรรมจากสื่ออื่นๆ ยังคงมีไม่มากนัก เช่นเดียวกับที่แอนเดอร์สันก็เสนอว่าทุนนิยมการพิมพ์และนวนิยายก็มีส่วนช่วยให้จินตนาการของชาติร่วมกันเป็นไปได้ ข้อท้าทายที่สำคัญก็คือ การเลือกศึกษา "นวนิยาย" ในการนำมาเป็นวัตถุศึกษาโดยเฉพาะเรื่องชายแดนภาคใต้ในบริบทศตวรรษที่ 21 ที่มีสื่อมวลชนเป็นแหล่งผลิตวัฒนธรรมใหญ่อยู่หลายชนิดจะยังสมเหตุสมผลอยู่หรือไม่

 

        ศรัณย์ยังยืนยันที่จะใช้ "นวนิยาย" เป็นวัตถุในการศึกษายังมีความสมเหตุสมผล เป้าหมายของเขายังคงวนเวียนอยู่ที่โจทย์ว่า "สังคมไทย" มีจินตนาการถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และเพื่อยืนยันหน่วยการศึกษาระดับพื้นที่ทางสังคม อันเป็นพื้นที่ที่รัฐเข้าไปยุ่มย่ามน้อยที่สุดกว่าสื่ออื่นตั้งแต่กระบวนการผลิตและเผยแพร่น้อยที่สุดก็จะยังคงเป็น "นวนิยาย"

 

การศึกษาและข้อค้นพบ

        การศึกษาของศรัณย์ใช้การอ่านและตีความนวนิยายโดยอิงกับแนวคิด“ศาสตร์การตีความ”(Hermeneutics) ของ Gadamer ที่เปิดโอกาสให้กับผู้วิจัยได้ถามคำถามและสนทนากับตัวบทเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งต่อตัวบทโดยนวนิยายที่เลือกมามี10เรื่องแบ่งเป็น 3 ยุค คือ 1.ยุคความรุนแรง 2510-2520 2.ยุคความรุนแรงอ่อนตัว 2520-2547 และ3.ยุคความรุนแรงผงาด 2547—ปัจจุบันดังนี้

 

        1. ยุคความรุนเเรงก่อตัวปี พ.ศ.2510-2520เป็นช่วงที่ไทยเผชิญกับปัญหาคอมมิวนิสต์ ทหารพยายามกดปัตตานีเป็น2เท่าเพื่อพัฒนาความมั่นคงของประเทศ นวนิยายที่ออกมาคือ 1) ‘ปุลากงและ 2) ผีเสื้อเละดอกไม้(เรื่องหลังรัฐนำไปเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา) โดยนวนิยายเหล่านี้เข้าไปช่วยสร้างความชอบธรรมว่าสิ่งที่รัฐไทยทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องเเล้ว

 

        2. ยุคความรุนเเรงอ่อนตัวพ.ศ.2520-2547มีการต่อสู้ทางการทหารเบาบางนวนิยายที่ศึกษาได้แก่ 3) ปอเนาะที่รักพูดถึงครูเเละตำรวจที่เข้าไปช่วยเหลือนวนิยายเรื่อง  4) ซือโก๊ะ เเซกอเสนอด้านที่ตรงกันข้ามคือมีการด่าตำรวจกล่าวคือ ถ้ารัฐไทยดำเนินนโยบายดีก็จะไม่เกิดปัญหา เเต่ก็จบด้วยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของประเทศไทย ส่วนเรื่อง 5) ‘หมู่บ้านในหุบเขา เเละ 6) ไฟใต้ มีจุดร่วมคือ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนคลี่คลายความขัดเเย้ง เเละความเป็นมลายูชัดเจนหายไปโดยพยายามบอกว่า พวกที่จะเเบ่งเเยกดินเเดนคือพวกที่หลงผิดเเต่สามารถกลับตัวกลับใจได้ คือการสยบต่ออำนาจรัฐไทย กดความเป็นมลายู อิสลามจึงเด่นขึ้นทำให้เรื่องสงครามทางศาสนารุนเเรงขึ้นมาในปีพ.ศ.2547

 

        3. ยุคความรุนเเรงผงาด พ.ศ.2547-ปัจจุบัน เป็นยุคที่คนในศาสนาถูกเป็นเป้ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีนวนิยายหลายเรื่องที่เขียนขึ้น ได้แก่ 7) ‘รัฐปัตตานี และ 8) ‘กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ’ มีจุดร่วมกันคือผู้เขียนเลือกใช้กลวิธีเล่าเรื่องบอกว่า ตนเป็นกลาง เเต่สุดท้ายก็วางความสำคัญของกรุงเทพฯ ว่ามลายูภูมิใจ หมายถึงความคิดที่สร้างจินตนาการการยอมรับว่า กรุงเทพฯ อยู่เหนือกว่า ส่วนเรื่อง 9) ‘พรมเเดน’ เเละ 10) ‘มากกว่ารัก...จากวีรบุรุษยะลา’ มีจุดร่วมคือ มีตัวละครหลักตระหนักว่าภารกิจของตนนั้น เพื่อ ‘ถวายในหลวง’ มองปัญหาว่ามุสลิมก่อการร้าย การทำให้ทันสมัย เเนวคิดว่าอารยธรรมต้องขัดกันอย่างเดียวคือหลังจากยุคสงครามเย็น ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศเสรีประชาธิปไตยกับประเทศคอมมิวนิสต์ได้สิ้นสุดลง โลกในยุคถัดมาจะขัดแย้งกันทาง "วัฒนธรรม"  หรือ "อารยธรรม"[4]แทนเเละพยายามจัดฉากเพื่อให้รัฐไทยดูดี

 

        ศรัณย์พบการทำงานที่ประสานกันระหว่างพื้นที่การทำงานของรัฐ กับพื้นที่การทำงานของสังคม โดยพบว่า

"ขณะที่รัฐเขียนนโยบาย สังคมก็เขียนนวนิยาย"[5] กล่าวคือ รัฐและสังคมทำงานสอดรับสนับสนุนว่า กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ปาตานีถูกผนวกโดยชอบธรรมความรู้สึกถึง เกียรติยศ เริ่มถูกใช้เป็น โครงสร้างของทัศนคติและแหล่งอ้างอิง ของสังคมไทยในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อหมดข้ออ้างอันชอบธรรมที่จะปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ลงไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเรื่องอื่นอีกจำนวนมากในสังคมไทย ที่สุดท้ายก็ต้องขอพึ่งพระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์เป็นดั่งที่พึ่งพิงสุดท้าย"

 

        กล่าวโดยสรุป วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการเสนอว่า นวนิยายทั้ง 10 เรื่อง ต่างยอมรับ “จินตกรรมขวานทอง”  ไม่มีนวนิยายเรื่องใดเลยที่ตั้งคำถามกับความชอบธรรมของจินตกรรมอันนี้ในที่นี้หมายถึง “ปาตานี” ว่าได้กลายมาเป็น “จังหวัดชายแดนใต้” ของรัฐไทย โดยมิตั้งคำถาม มิเพียงเท่านั้นยังยืนยันความชอบธรรมในการปกครองและความเหนือกว่าของ “สยาม/กรุงเทพฯ” ที่มีต่อ “ปาตานี/พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” อีกด้วย

 

        ข้อเสนอของศรัณย์ก็คือ วิธีนี้ไม่ได้เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อลดความรุนเเรง ในรัฐไม่จำเป็นต้องมีชาติ ชาติเดียวแต่สังคมไทยจะยอมรับก็ต้องมีนวนิยายออกมาเยอะๆ เพื่อต่อสู้ทางจินตนาการด้วย คนอ่านก็จะค่อยๆเปลี่ยนไปซึ่งไม่ได้เป็นการชี้นำ เเต่เป็นการนำความจริงมาสู้กัน[6]

 

บทสะท้อนต่องานของศรัณย์

        ความรู้สึกจากการอ่านงานครั้งนี้คือรู้สึกว่าเข้าใจยากแต่ประเด็นและข้อค้นพบนั้นน่าสนใจ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "สไตล์" การเขียน ซึ่งเป็นการเขียนงานภายใต้การควบคุมของ อ.ชัยวัฒน์ จริงๆ แล้ว งานของ อ.ชัยวัฒน์ นั้นอ่านได้ไม่ยากนัก แต่ในบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ก็จะพบการเขียนลักษณะที่มีภาษาหวือหวา สวิงสวาย เช่นนี้ เช่น งานของ เดชา ตั้งศรีฟ้า รวมถึงงานของ ศรัณย์เองด้วย

        ผมยังไม่แน่ใจนักว่า เราจะสามารถเรียกงานในรูปแบบนี้ของ ศรัณย์ จัดไว้ในกลุ่มของ Post-Colonial ได้หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วสังคมไทยเราอาจจะไม่ยอมรับคำๆ นี้ หากใครมาอ้างว่าเรายังเป็น จักรวรรดินิยมน้อยๆ หรือเจ้าอาณานิคมภายใน (Internal colonization) อย่างที่ธงชัยเสนอโดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ สยาม – ปาตานี ซึ่งต่อเนื่องมากตั้งแต่การก่อร่าง - สร้างชาติ ในยุคการสร้่างรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งอันที่จริงเค้าลางเหล่านี้ยังอยู่ในMode ของอาณานิคมอยู่เหมือนกันในฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐไทยที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน[7]

 

        ในแง่มุมการวิเคราะห์วรรณกรรมทั้ง 10เรื่อง (ครอบคลุมเกือบ 5ทศวรรษ) ยังช่วยฉายภาพให้เราเห็นว่า การสร้างสรรค์วรรณกรรมของไทย โดยเฉพาะเรื่องราวที่มีฉากและเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี     ยังคงวนเวียนอยู่กับการนำเสนอภาพตัวแทน "ภารกิจของความความเป็นไทย" (Thai burden) จากส่วนกลาง ในการอุทิศตนและทำหน้าที่เพื่อปลดปล่อยพื้นที่ชายขอบอันห่างไกลและล้าหลัง[8] ทั้งยังไม่สามารถที่จะหลุดไปจากกรอบการมองเรื่องเล่าหลัก (Grand narrative) ว่าด้วยความเป็น "รัฐเดี่ยว" อันมี รัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 รองรับออกไปได้ งานของศรัณย์ชี้ให้เห็นพัฒนาการอันนี้ตามยุคที่เขาได้แบ่งมาให้เห็นและท้าทายมาแล้วตั้งแต่ตอนต้น ซึ่งหากความคิดนี้ได้ครอบงำอย่าสมบูรณ์ในส่วนกลางแล้ว ในสื่อมวลชนกระแสหลักเองก็ไม่น่าที่จะมีความคิดเหล่านี้แตกต่างกันนัก[9]

        สำหรับแง่มุมที่สำคัญในฐานะนักเรียนการสื่อสารก็คือ สาระสำคัญของ "จินตนาการ" คือการสร้างให้เกิด "ภูมิศาสตร์แห่งชาติ" เพื่อสถาปนาความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ว่าพลเมืองทุกคนเกิดบนแผ่นดินเดียวกัน จากการอ่านงานของศรัณย์นั้น ยิ่งทำให้เราได้เห็นการทำงานและบทบาทของการสื่อสาร ในฐานะกลไกและหัวหอกสำคัญในการสร้างและถักทอสายสัมพันธ์ของคนในชาติ ในการสร้างความชอบธรรมต่อระบอบการเมืองการปกครอง แต่แทนที่จะใช้กลไกทางอำนาจที่แข็งกร้าว กลับทำให้เห็นการทำงานของ “soft power” ในพื้นที่ภาคสังคมที่ช่วยส่งเสริมให้การครองความเป็นเจ้า (Hegemony) สมบูรณ์ขึ้น ข้อสังเกตของชัยวัฒน์ที่ว่า "ขณะที่รัฐเขียนนโยบาย สังคมก็เขียนนวนิยาย"

 

        อย่างไรก็ตามบทสรุปในย่อหน้าสุดท้าย ของบทสุดท้าย ศรัณย์เสนอที่น่าสังเกตบางประการ เกี่ยวกับอำนาจและความชอบธรรมของสยามต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานีว่า

 

        "นวนิยายสองเรื่องสุดท้ายได้แก่พรมแดน และ “มากกว่ารัก...จากวีรบุรุษยะลา” เริ่มให้ตัวละครหลัก กล่าวอ้างว่า “ภารกิจ” ของเขาและเธอทำไปเพื่อถวายงานแด่องค์พระมหากษัตริย์อย่างเด่นชัดมากขึ้น ซึ่งนี่เองทำให้ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นเหมือนการฟ้องถึงอาการที่ Duncan McCargo ซึ่งได้ยืมวรรคทองจากบทกวี “The Second 200 Coming” ของ William Butler Yeats ที่ว่า “Things fall apart; the centre cannot hold” ในช่วงเริ่มต้นของการบรรยายของเขาในหัวข้อ “The Dynamism of Thai Politics: A Post-Colonial View” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวคือ ภูมิศาสตร์ในจินตนาการที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง เริ่มที่จะหมดข้ออ้างอันชอบธรรมที่จะทำการปกครอง “ปาตานี/พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ลงไปเรื่อยๆ (ดาริน อินทร์เหมือน, 2555, ดูในศรัณย์) เหมือนเรื่องๆ อื่น อีกจำนวนมากในสังคมไทย"

 

        ข้อสรุปท้ายสุดของศรัณย์เพียงหนึ่งย่อหน้านี้ ยังวางอยู่บนฐานความคิดหลักของการศึกษาทางรัฐศาสตร์คือการที่ยังไม่ลืมพิจารณาประเด็นว่าด้วย "อำนาจ" และ "ความชอบธรรม" ซึ่งชี้ให้ผู้อ่านเห็นจากพัฒนาการของนวนิยายในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นความบังเอิญหรืออย่างไรไม่อาจทราบได้ ประเด็นความชอบธรรมกลายเป็นจุดร่วมของมุมมองต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ซึ่งทำให้ผมคิดถึงงานของ Duncan McCargo[10] ทั้งๆ ที่มาของการศึกษานั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยศรัณย์นั้นศึกษา "อำนาจ" จากจุดศูนย์กลางของอำนาจ มองผ่านพื้นที่ทางสังคมคือตัวบทใน "นวนิยาย" ขณะที่ McCargo นั้นศึกษา "อำนาจ" ที่แผ่ซ่าน ทำงานอยู่ในระยะปลายสุดบนชายขอบของรัฐผ่านงานภาคสนาม แต่มีข้อสรุปว่าด้วยเรื่อง "ความชอบธรรม" อยู่คล้ายคลึงกันว่า

 

        " … ยากที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยจะคลี่คลายลงได้ … สงครามในภาคใต้นั้นไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยวิธีการทางการทหาร ถ้อยคำอันนุ่มนวลเกี่ยวกับ “ความยุติธรรม” และ “ความสมานฉันท์” ไม่อาจโน้มน้าวให้ประชาชนทั่วไปเชื่อใจได้เลย ..."

 

        " … หากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถสถาปนาการปกครองที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสียแล้ว จำนวนเหล่านักรบจะยังเจริญงอกงามต่อไป ก็เพราะว่ารัฐไทยไร้ซึ่งความชอบธรรมที่เพียงพอ โดยหากต้องการเอาชนะพวกเขา สิ่งแรกที่ต้องสถาปนาคือความชอบธรรม"

 

        ประการสุดท้ายแรงบันดาลใจจากการอ่านงานชิ้นนี้ ผมเองก็ตั้งใจอยากที่จะลองประยุกต์มุมของศรัณย์มาศึกษา "เพลง"  ที่พูดถึงชายแดนใต้ ในห้วงสิบปีนี้บ้างเหมือนกันครับ ว่า "สังคมไทย" มองและมีจินตนาการต่อ "ชายแดนใต้/ปาตานี อย่างไร เพราะคุณลักษณะเพลงนั้นดู "สาธารณ์" กว่าแล้วก็ซึมลึกในชีวิตประจำวันมากกว่า "นวนิยาย" เสียอีก

 



[1]          DUNCAN McCARGO. (2008). Tearing Apart the Land : Islam and Legitimacy in Southern Thailand. Cornell University Press

[2]          ผมรู้สึกว่ามันคล้ายกับการอธิบายเรื่อง war of position และ hegemony ของ A.Gramsciอยู่เหมือนกัน ซึ่งคงเป็นธรรมชาติของรัฐและการใช้อำนาจของการปกครอง

[3]          รายละเอียดในแง่มุมความสัมพันธ์ สยาม-ปาตานี อาจต้องย้อนอ่านงานความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่ เช่น งานของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ชวลี ณ ถลาง, ปิยนาถ บุนนาค ฯลฯ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้

[4]          ตามวิธีคิดเรื่อง The clash of civilization ของ S.Huntington ซึ่งทรงอิทธิพลมากขึ้นหลังยุคสงครามเย็นและหลังเหตุการณ 9/11

[5]          ตามคำกล่าวของ ชัยวัฒน์ เมื่อครั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์กับศรัณย์

[6]          ข้อเสนออันนี้ทำให้ผมถึงงานอย่าง จตุรภาคเกาะบูรู (Tetralogi Buru) คือ แผ่นดินของชีวิต (Bumi Manusia) (1980) ผู้สืบทอด (Anak Semua Bangsa) (1980) รอยย่างก้าว (Jejak Langkah) (1985) และRumah Kaca (1988) (ยังไม่มีแปลเป็นภาษาไทย) ของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta toer, พ.ศ. 2468-พ.ศ.2549) นักเขียนชาวอินโดนีเซีย หรือ งานอย่าง "อันล่วงละเมิดมิได้"  (Touch Me Not ) ของ โฮเซ ริซัล นักเขียนและนักปฏิวัติในยุคเรียกร้องเอกราชจากสเปน  ซึ่งเป็นงานเขียนเพื่อสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในยุคปลดแอกจากอาณานิคม น่าเสียดายที่ผมไม่เคยเจอวรรณกรรมลักษณะแบบนี้ในกลุ่มนักเขียนชาวมลายูปาตานีเลย

[7]          ดูจากคำแถลงการของ BRN ในยูทูบ ยังคงเป็นภาษายุคอาณานิคมและอ้างว่าไทยคือเจ้าอาณานิคมที่พวกเขามีภารกิจที่ต้อง "ปลดแอก" Pengistiharan dari Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani ( B.R.N ) (แถลงการณ์บีอาร์เอ็น ฉบับที่ 4),  YouTube, 24 มิถุนายน 2556. https://www.youtube.com/watch?v=EC5hYrI5Grg. . เข้าถึงข้อมูลวันที่ 31 พฤศจิกายน 2558.

[8]          ดู พิเชษฐ แสงทอง. ใน "ผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ ภารกิจของ ความเป็นไทยในวรรณกรรมว่าด้วยมลายูมุสลิม", แขกในบ้านตัวเอง. กรุงเทพฯ, นาคร, 2550

[9]          ดูเพิ่มเติมใน สมัชชา นิลปัทม์. (2556). วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556.            วารสารนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 32(4):1-27;ตุลาคม-ธันวาคม 2556

[10]        ดูเพิ่มเติมใน สมัชชา นิลปัทม์. "ฉีกแผ่นดิน : อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย Tearing Apart the Land : Islam and Legitimacy in Southern Thailand " (บทวิจารณ์หนังสือ) วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ .19(1):247-255; มกราคม-มีนาคม 2556.