Skip to main content

 

เพราะกำลังรบเราไม่เท่ากัน : การสู้รบที่ไม่สมดุลย์ก็เคารพหลักมนุษยธรรมได้

ภาค 1 : พลเรือนกำกวม

 

Chutimeow Suksabai

ขอบคุณภาพจาก conspiracy-cafe.blogspot.com

 

 

 

ในสมัยที่ผู้เขียนยังทำงานกับองค์กรเอกชนเล็ก ๆ ที่ดูเรื่องพม่า มีคำถามคำถามหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความเลวร้ายของการสู้รบภายในรัฐ นั่นคือ ถ้าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามของกองทัพพม่า เรารู้ว่าคนชาติพันธุ์เดียวกับเราถูกบังคับไปเป็นลูกหาบขนอาวุธ โดยที่เขาก็ไม่เต็มใจ เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เราควรจะฆ่าพวกเขาหรือไม่ หรือปล่อยให้เขาขนอาวุธมาฆ่าเรา แล้วสุดท้าย เขาก็จะถูกทหารพม่าฆ่าทิ้งเมื่อหมดประโยชน์

 

ในการสู้รบที่ฝ่ายต่อสู้มีกำลังเเละอาวุธไม่เท่ากัน (Asymmetrical warfare) เเละโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสู้รบในประเทศ เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าจะเลือกใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อฝ่ายตรงข้ามมากที่สุด และลดความเสียหายต่อฝ่ายตนเองให้มากที่สุด เมื่อต้องสู้รบกับฝ่ายที่มีกำลังเเละอาวุธมากกว่า ดังนั้นฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าต้องอาศัยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อใช้คนน้อยชนะคนมาก วิธีการที่ใช้วิธีหนึ่ง ซึ่งหวังผลได้ทั้งทางตรงเเละทางอ้อม คือ การ "จัดการ" พลเรือนที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ เช่น คนขนอาวุธ ลำเลียงกระสุน สายข่าวชาวบ้าน ฯลฯ

 

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ข้อสันนิษฐานที่ยอมรับร่วมกันก็คือกองกำลังปลดปล่อยปาตานียังไม่มีศักยภาพที่จะผลิตเเละซื้ออาวุธด้วยตนเองอาวุธที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการยึดอาวุธของทหารเเละพลเรือนที่เป็นเป้าโจมตี โดยเฉพาะพลเรือนที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังของรัฐ เช่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (อรบ.) เเละเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ ซึ่งเข้าสู่กระบวนการฝึกเเละได้รับใบอนุญาตกลาย ๆ ให้มีเเละพกพาอาวุธต่าง ๆ ได้ ผ่านโครงการสวัสดิการจัดหาอาวุธปืนป้องกันตัวราคาย่อมเยากว่าท้องตลาดของรัฐ หรือที่เป็นรู้จักกันในนาม "ปืนโครงการฯ"

 

ในส่วนของกองกำลังปลดปล่อยปาตานี พลเรือนที่ไม่ได้มีบทบาทในการสู้รบทางตรงได้แก่ สายข่าว ผู้ขนอาวุธ ผู้ให้ที่พักพิงคนเเละให้ที่ซ่อนอาวุธ คนดูต้นทาง ครอบครัวเเละเพื่อนของนักรบ เป็นต้น

 

ในทางปฏิบัติการติดอาวุธพลเรือน ไม่ว่าสนับสนุนให้พลเรือนสามารถป้องกันตัวเองได้ หรือเพื่อให้ช่วยเหลืองานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อพลเรือนและต่อการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีความพร่าเลือนเรื่องการคุ้มครองสิทธิของพลเรือนติดอาวุธ (Quasi-combatants) และพลเรือนที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางอ้อมในฐานะสายข่าว แหล่งข้อมูล หรือพยานของเจ้าหน้าที่ แม้ในทางทฤษฎีการสู้รบยังคงต้องระมัดระวังการโจมตีพลเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วมในการสู้รบโดยตรง (เช่น การโจมตีสายข่าวกองกำลังปลดปล่อยฯ ขณะไม่ได้อยู่ในการสู้รบ) การตีความของพลเรือนท่เกี่ยวข้องกับการสู้รบทางอ้อมมีหลายเฉด กันไป เเต่ ICRC ถือว่า ถ้าพลเรือนยังไม่ใช้อาวุธมาต่อสู้หรือทำลายเป้าหมายทางการทหาร ก็ยังถือว่าเป็นพลเรือน [https://www.icrc.org/customar…/…/docs/v1_cha_chapter1_rule6…]

 

การโจมตีหรือกดดันพลเรือนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับการสู้รบชั่วครั้งชั่วคราวเเละไม่ได้สู้รบโดยตรง ยังต้อง "ฝืน" ความรู้สึกเเละสามัญสำนึกเรื่องความได้เปรียบในการสู้รบอย่างมาก เพราะการโจมตีสายข่าวไม่ว่าจะสายทหารหรือสายกองกำลัง ได้ผลทั้งทางตรงเเละทางอ้อม เป็นทั้งการกำจัดและการป้องปรามไม่ให้ผู้อื่นให้ความร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม เเละสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว อีกนัยหนึ่งก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการโจมตี เพราะพลเรือนที่ถูกโจมตีให้การสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม

 

ตัวอย่างที่พบอีกประการคือการปฏิบัติกับพลเรือนที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ความเกี่ยวข้องกับการสู้รบโดยตรงได้ แต่ปรากฏว่าพลเรือนที่ถูกหมายหัวว่าสนับสนุนการสู้รบ (Quasi-combatants) ถูกโต้ตอบจาก "กระสุนจากมือที่มองไม่เห็น" ด้วยความรุนแรง เช่น การลอบสังหารจำเลยในคดีความมั่นคงฯ โดยส่วนตัวเเล้วก็อยากนับเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติที่ไม่ให้ความคุ้มครองพลเรือน

 

ตามกฎหมายจารีตประเพณีด้านมนุษยธรรม พลเรือนที่มีส่วนร่วมในการสู้รบโดยตรง ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองเยี่ยงพลเรือน ณ ขณะที่ตนได้เข้าร่วมการสู้รบนั้น (Additional Protocol I, Article 51(3)) ดังนั้นนอกบริบทการสู้รบโดยตรง แบบยิงกัน เห็นคนวางระเบิดกันซึ่งๆ หน้า พลเรือนก็ยังเป็นพลเรือน ถึงจะเป็นพลเรือนกำกวม แต่ก็ได้รับความคุ้มครองตามหลักกฎหมายมนุษยธรรม ส่วนตามกฎหมายอาญาในประเทศจะว่าอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่การตั้งศาลเตี้ยเเละตัดสินว่าใครเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการสู้รบ ในทางกลับกัน นักรบที่มิใช่ฝ่ายรัฐก็ไม่ควรใช้ข้ออ้างว่าพลเรือนที่ตายเป็นสายข่าวทหาร จะขี่มอเตอร์ไซค์เมียซ้อนท้ายไปตลาดอยู่ก็เป็นสายข่าวทหาร

 

ถึงแม้จะเลือกให้การยุทธต้องดำเนินต่อไป เราสามารถสร้างสนามรบที่พลเรือนอยู่ได้ ในเมื่อทุกฝ่ายต่างบอกว่า "เรารบเพื่อปกป้องพลเรือนผู้บริสุทธิ์" ก็ช่วยทำให้การปกป้องพลเรือนเป็นจริงด้วย