“อำนาจ” และ “สังคมเครือข่าย” ข้อพิจารณาอย่างย่อและเร็วๆ
สมัชชา นิลปัทม์
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรดานักอนาคตศาสตร์และนักเทคโนโลยีนิยมทั้งหลาย[1] มีจุดร่วมประการหนึ่งก็คือการยอมรับว่า ภายหลังจากการถือกำเนิดขึ้นระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ได้เชื่อมโลกทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกันเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่ได้ผสมผสานเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาสู่การก่อรูปในมิติ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองแบบใหม่ๆ ที่พลิกโฉมหน้าตาของมันให้แตกต่างกับโลกที่เราคุ้นเคยราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ
การอ้างอิงถึงการเป็น “หมู่บ้านโลก” (Global village) ตามข้อเสนออันล้ำหน้าและมาก่อนกาลของ มาร์แชล แม็คลูฮัน (Marshall McLuhan) ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20ก่อนจะเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งในช่วงต้นศตตวรรษที่ 21 เครือข่ายของการสื่อสารที่โยงใยถึงกันทั่วโลก ก่อให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ตามคำทำนายอันแหลมคมนี้ อันก่อให้เกิด “พื้นที่เสมือน” (Virtual Space) และ “ชุมชนเสมือน” (Virtual Community) คู่ขนานไปกับ “โลกจริง” โดยในที่นี้ยังมีเรียกพื้นที่ชุมชนเสมือนนี้อย่างย่อว่าเป็น พื้นที่ - โลก “ออนไลน์” (On line) และพื้นที่ในโลกจริงที่อยู่นอกพื้นที่เสมือนนี้ว่า พื้นที่ - โลก “ออฟไลน์” (Off line)
การเกิดขึ้นของ “สังคมเครือข่าย” (Network Society)[2] นี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างเดิมในแทบทุกมิติ ตามเกณฑ์อย่างง่ายในการแบ่งก็คือมิติของ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดกระแสของการศึกษาในทางวิชาการจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ในทางสังคมวิทยาเช่นกันมีการศึกษาการก่อรูป กำเนิด การดำรงอยู่และผลกระทบจากเทคโนโลยีและสังคมเครือข่าย โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากโลกจริงที่มีอย่างไร รวมถึงการตั้งคำถามต่อ “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” ของผู้คนในสังคมนี้อีกด้วย ภายใต้เงื่อนไขของการอธิบายประเด็นดังกล่าวอย่างจำกัด จึงขอหยิบยกการพิจารณาประเด็น “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” อย่างย่อโดยอาศัยคำอธิบายจากนักสังคมวิทยาเชื้อสายสเปนคือ “มานูเอล คาสเทล” (Manuel Castells) มาเป็นกรอบทำความเข้าใจในประเด็นนี้
ในมิติทางอำนาจ คาสเทล อธิบายว่า “อำนาจ” นั้นจะสำแดงได้หลายทิศทาง แตกต่างไปจากแนวคิดแบบคลาสสิคทางรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาเดิม โดยเสนอว่าในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาตินั้น การสื่อสารและข้อมูลข่าวสารนั้น ทำหน้าที่ทั้งสนับสนุนและต่อต้านอำนาจ แต่ “อำนาจ” ในโลกของ “สังคมเครือข่าย” (Network Society) นั้นมีข้อพิจารณาอยู่ 4 ประการ[3]คือ 1) อำนาจของเครือข่าย (Networking Power) : ขึ้นอยู่กับตัวแสดงและองค์กรรวมอยู่ในเครือข่ายนี้ ได้สถาปนา “แกน” ของเครือข่ายสังคมโลกเหนือสังคมและปัจเจกที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายอันนี้ 2) อำนาจเป็นผลมาจาก “มาตรฐาน” ที่กำหนดขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ภายในเครือข่ายนี้ ซึ่งในกรณีนี้ “อำนาจ” หาได้เกิดจากการ “แยกตัวออก” (exclusion) แต่เป็นผลมาจากการสะสมจากกฎของการ “รวมกันเข้า” (inclusion) 3) อำนาจของเครือข่าย เกิดจากอำนาจของตัวแสดงทางสังคมที่มีอยู่เหนือตัวแสดงอื่นๆ ในเครือข่าย รูปลักษณ์และกระบวนการของอำนาจเครือข่ายมีลักษณะอย่างจำเพาะอยู่ในแต่ละเครือข่าย 4) เครือข่าย – การสร้างอำนาจ : อำนาจนั้นมาจากการวางโปรแกรมเครือข่ายเฉพาะที่มีความสนใจอย่างจำเพาะและค่านิยมบางอย่างของโปรแกรมเมอร์ เป็นอำนาจของการสลับสับเปลี่ยนเครือข่าย ตามยุทธศาสตร์ที่สอดรับกับแนวร่วมระหว่างตัวแสดงที่มีพลังในการชักจูงครอบงำกับเครือข่ายที่หลากหลาย
ข้อสังเกตของคาสเทล ต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบสังคมเครือข่ายแบบใหม่นี้ จะมีรูปแบบการจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ แตกต่างจากรูปแบบทางสังคมแบบเดิมกล่าวคือ มีอำนาจที่แท้จริงนี้ดำรงอยู่และแฝงฝังอยู่ภายในเครือข่าย โดยมีความสัมพันธ์แบบแนวระนาบ (Horizontal) ที่เชื่อมโยงไปสู่ความเท่าเทียมกันของสมาชิกในโลกสังคมเครือข่ายนี้ ข้อเสนอของคาสเทลมีผู้ตอบรับจากนักคิด นักวิจารณ์หลายคนโดยระยะหลังมีผู้ กล่าวถึงเรื่องราวประเภทนี้ว่า “โลก” ของเรานั้นไม่ได้ “กลม” เสียแล้ว จากหนังสือ The world is flat ของ โธมัส ฟรีแมน เป็นต้น
ข้อเสนอของคาสเทล เป็นได้จริงหรือไม่ เมื่อลองสำรวจดูอย่างเร็วๆ ก็พบว่ามีข้อเสนอที่สำคัญจาก เอริค ชมิท (Eric Schmidt) และ จาเร็ต โคเฮน (Jared Cohen) แห่งกูเกิล กล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อ The New Digital Age (2013) โดยเฉพาะในบทที่ 4 ที่ว่าด้วย “อนาคตของการปฏิวัติ” อย่างสรุปว่า แม้แนวโน้มของการของลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐ (Uprising) ในปัจจุบันจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น จากพื้นที่ๆ เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็นที่รองรับจากระบบคราวซอสซิ่ง แต่ก็พบว่าความยั่งยืนของการปฏิวัตินั้นกลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่ามาก เพราะว่าในโลกแบบ “ออฟไลน์” นั้นเรียกร้องศักยภาพของการบริหารจัดการทางการเมืองต่างๆ อีกทั้งเรียกร้องประสบการณ์ทางการเมืองที่จะต้องฝันฝ่าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็พบว่ามีความล้มเหลวของการปฏิวัติที่เมื่อเปลี่ยนแปลงและโค่นล้มอำนาจเดิมไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะ “พิทักษ์” การปฏิวัติเอาไว้ได้
การปฏิวัติแบบเดิมในโลก “ออฟไลน์” นั้นมีธรรมชาติของความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “แกน” (Node) และไล่ลำดับจาก บนสู่ล่าง ในขณะที่แบบ “ออนไลน์” ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปแบบไร้แกน ในอดีตแกนนำของการปฏิวัตินั้นเป็น “เอกสิทธิ์” ของคนกลุ่มน้อยที่ถูกการ “จัดตั้ง” และรับเข้ามาสู่ขบวน (Recruit) ในแบบที่เป็นความลับ ได้รับการอบรมอย่างพิเศษจากต่างประเทศ ในขณะที่การปฏิวัติสมัยใหม่กลับอาศัยการใช้แพลตฟอร์มที่เราคุ้นเคยกันดี มาระดมผู้คนโดยได้สลายอภิสิทธิ์ของแกนนำเหล่านี้ออกไป ทั้งนี้โลกแบบใหม่ยังลดความลังเลในการเข้าร่วมขบวนในพื้นที่ออนไลน์ เช่น บทบาทของผู้หญิงในอาหรับสปริงเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเป็นอย่างมาก รวมถึงการระดมเข้าสู่การเคลื่อนไหวในพื้นที่ “ออฟไลน์” ด้วย ครอบคลุมถึงระบบสนับสนุนทางการเงินออนไลน์ก็เอื้ออย่างมากในการที่จะระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ด้วย
นอกจากนี้มันยังช่วยให้มีการประท้วงแบบ Part-time สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องอุทิศเวลาของตนเข้าร่วมในการประท้วงไปเสียทั้งหมด อีกทั้งยังแรงสนับสนุนอิสระของผู้ที่เห็นอกเห็นใจการเคลื่อนไหว อาจเป็น “แนวร่วม” ในอีกซีกโลกหนึ่งทำงานผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นอิสระและหากมีข้อข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น ทวิตเตอร์ @jan25voices เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสนับสนุนข้อมูลการปฏิวัติในอิยิปต์ โดยเขาเป็นเพียงคนธรรมดาจากอีกซีกโลกหนึ่งที่อยากมีส่วนร่วม อุทิศตัวเพื่อคัดกรองข่าวสารที่น่าเชื่อถือสนับสนุนในการเคลื่อนไหวและเป็น “แนวร่วม” อิสระโดยที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับต้นทางของการปฏิวัติเลยและเป็นผู้มีใจในการที่จะช่วยรักษาโมเมนตัมของการต่อสู้นี้ให้คงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามความกระตือรือล้นในโลก “ออนไลน์” จะยังไม่เป็นผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงหากยังไม่ผสานกับการเคลื่อนในโลก “ออฟไลน์” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากตัวอย่างข้างต้นจึงพอที่จะเป็นข้อสังเกตว่าข้อเสนอของ “มานูเอล คาสเทล” ในประเด็นของความสัมพันธ์ทางอำนาจในโลก “สังคมเครือข่าย” (Network Society) มีลักษณะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากโลกทางกายภาพอย่างสิ้นเชิง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีรูปแบบใหม่อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าปรากฏการณ์ ในโลกของเครือข่ายเช่นนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดได้อีกในอนาคต
เอกสารประกอบการเขียน
บรรยายพิเศษเรื่อง Communication, Power and the State in the Network Society http://www.sms.cam.ac.uk/media/1189139 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559)
ชมิด, เอริค. ดิจิตัลเปลี่ยนโลก. กรุงเทพฯ. โพสต์บุ๊ค (2557)
[1] ในที่นี้ ครอบคลุมถึงหลายคนเช่น อัลวิน ทอฟเอลร์, มาแชล แม็คลูฮัน, มานูเอล คาสเทล, โธมัส ฟรีแมน , เอริค ชมิท, จาเร็ต โคเฮน, เคลย์ เชอร์กีย์, ซัลมาล คาน และอื่นๆ
[2] เป็นคำที่ถูกเสนอขึ้นโดย เกิ๊ร์ก ซิมเมล (Georg Simmel) มาตั้งแต่ปี 1980 นักสังคมวิทยาที่สนใจศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบของความทันสมัย และทุนนิยมอุสาหกรรมโดยเสนอว่าเครือข่ายสังคม (Network Society) ว่าเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของระบบดิจิตอลและเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทาง สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
[3] ดูในคำบรรยายพิเศษของเขาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อปี 2011 ในhttp://www.sms.cam.ac.uk/media/1189139