ชื่อหรือคำว่า ‘มลายู’ ที่เราพบในหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในหลักฐานของจีน ในดินแดนเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อเมืองจามบี ที่อยู่แถวๆ สุมาตราฝั่งตะวันออก ในเซอญาเราะห์มลายู (ตำนานมลายู) ก็ไม่ได้หมายถึงประเทศในดินแดนประเทศมาเลเซียหรือประเทศไทยปัจจุบันนี้ แต่หมายถึงดินแดนที่อยู่ใกล้ๆ แม่น้ำ แถบภูเขาบูกิตสกุนตัง ซึ่งอยู่ในปาเล็มบังอีกทีหนึ่ง การจำกัดความหมายของคำว่ามลายูให้เหลือแคบๆ ปรากฏต่อมาแม้แต่ในหลักฐานของโปรตุเกสรุ่นแรกๆ หลังจากตีมะละกาได้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราวิเคราะห์จากเซอญาเราะห์มลายูก็ตาม วิเคราะห์จากหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ ชื่อมลายูจึงเป็นชื่อที่ค่อนข้างจำกัดในระยะแรก ในเซอญาเราะห์มลายูจึงมีความหมายค่อนข้างชัดว่าเป็นกลุ่มคนที่มากับ ‘ปรเมศวร’ คือที่ข้ามจากสุมาตรามาอยู่ที่มะละกา หมายเฉพาะคนกลุ่มนี้นะครับ
ที่ผมต้องย้ำเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ต้นก็เพื่อจะบอกว่า จริงๆ แล้วหลังจากมันเกิดมะละกาแล้ว ถามว่าประชากรของมะละกาเป็นใคร กล่าวอย่างกว้างๆ ในพื้นฐานเลย ผมคิดว่าเป็นคนสองจำพวก พวกหนึ่งในหลักฐานมลายูเองเรียกว่า ‘โอรังลาอุต’ คนที่อยู่ในทะเลนะครับ อีกพวกหนึ่งคือที่เรียกว่า ‘โอรังอัสรี’ ปัจจุบันเวลาเราพูดว่า โอรังอัสรี หรือคนพื้นเมือง เราจะไปนึกถึงพวกซาไก ไปนึกถึงพวกนิกิโต้ ซึ่งอยู่ที่นี่มาก่อนเป็นเวลานาน แต่โอรังอัสรีที่ใช้ในเซอญาเราะห์มลายูไม่จำเป็นต้องหมายถึงพวกซาไกเสมอไป อันที่จริงอาจหน้าตาเป็นอย่างเราแบบนี้ แต่ว่าเขาไม่ได้มากับปรเมศวรก็แล้วกัน เพราะดินแดนตรงนี้มันไม่ได้ว่างเปล่าเสียทีเดียว มันก็มีคนอื่นที่เขาอยู่มาก่อนหน้าปรเมศวรจะข้ามมาแล้วด้วยซ้ำไป ฝั่งตะวันตกตรงนั้นอาจไม่มีแต่ที่อื่นๆ ในแหลมมลายูมันมีคนอื่นอยู่มาแล้ว
นอกจากนั้น หลังจากเกิดมะละกาเข้ามาแล้ว ยังมีคนอพยพเข้ามามากมาย ทั้งจากอินเดีย จากจีนมาในภายหลัง จากตะวันออกกลาง จากมินังกาเบา ซึ่งก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพข้ามสุมาตรามาเข้ามามีบทบาทในคาบสมุทรแยะมาก อาจารย์ลออแมน (อับดุลเลาะห์ ลออแมน หรือนามปากกา อ.บางนรา) ที่เสียชีวิตไปแล้ว ท่านเคยบอกกับผมว่าจริงๆ แล้วพวกมินังกาเบายังกระจายไปในมาเลเซียปัจจุบันเข้ามาในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันอีกจำนวนไม่น้อย เพราะฉะนั้นจึงมีบทบาทค่อนข้างมาก และอย่างที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว คือว่าในเวลาต่อมาพวกบูกิตก็ยังเข้ามาอีก ถึงแม้ว่าเราเรียกว่าบูกิต แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเข้ามาตั้งหลักฐาน เข้ามามีอำนาจ ในที่สุดก็ถูกกลืนหายไปกับคนเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนผมเชื่อว่ามีคนไทยอยู่ด้วย ในที่สุดก็ถูกกลืนอีกเหมือนกัน ก็แล้วแต่ใครจะไปอยู่ที่ไหนที่มีคนหมู่มากมากกว่าก็จะถูกกลืนไป
ประเด็นที่ผมจะพูดในทีนี้คือว่า ในที่สุดมันเกิดชื่อของชาติพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่ามลายูซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายมาก เวลาเราพูดถึงมลายูเราอย่าคิดว่ามันเป็นคนกลุ่มเดียวกัน อย่าคิดว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เบื้องหลังคำนี้มันก็เหมือนคำว่าไทย คำว่าจีน คำว่าอะไรก็แล้วแต่ในโลกนี้ จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนะครับ แต่แน่นอน ในปัจจุบันนี้ เราเอาคำว่ามลายูมาขาย จะขายในตลาดสินค้าหรือจะขายในตลาดการเมืองก็ตามแต่ คุณก็ต้องไปทำให้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นยี่ห้อ เป็น Steriotype (ลักษณะเหมารวม) เป็นแบบเฉพาะตายตัว มันจะได้ขายง่ายเท่านั้นเอง
แต่ในทางวิชาการเราต้องยอมรับก่อนว่า ชื่อมลายูเป็นชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อไหร่ที่เราพูดถึงชาติพันธุ์ มันประกอบด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายในตัวมันเอง มันประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติในตัวของมันเอง ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วมันมากลืนหายกันไปในสิ่งที่เรียกว่ามลายู เพราะเดิมทีเดียวคำนี้มันจำกัดใช้เฉพาะกลุ่มที่มากับปรเมศวรที่ข้ามมาจากสุมาตรา กลุ่มนี้ที่เข้ามาสร้างวัฒนธรรมที่เป็นคลาสสิก เป็นแบบอย่าง เป็นสิ่งที่คนแถบนี้ทั้งหมดถือว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่สูง ทุกคนก็อยากเป็นมลายู เดิมทีเดียวคุณอาจไม่ได้เป็น อย่างเช่นที่ปัตตานีเองคุณก็ทราบอยู่ว่าที่ยะรังมีเมืองเก่าแก่โบราณมากเมืองหนึ่ง คนตรงนั้นเรียกตัวเองก่อนหน้าที่ยังเป็นเมืองอยู่ อาจจะไม่ได้เรียกตัวเองว่ามลายู เรียกตัวเองว่าอะไรผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ว่าหลังจากมะละกามันมีอิทธิพลมากขึ้น คนเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน อพยพย้ายเมืองหลวงมาอยู่แถวกรือเซะ ที่ตรงยะรังก็มีเป็นเมืองอยู่ มีคนอยู่ แต่เปลี่ยนมารับวัฒนธรรม เปลี่ยนมาหมายตัวเองเป็นมลายู เปลี่ยนมารับวัฒนธรรมที่ถือกันในดินแดนแถบนี้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่สูงส่งที่สุด ทุกคนก็เปลี่ยนมาเป็นมลายูเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น แม้แต่ในปาตานีเอง ผมคิดว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมะละกา ก็คงประกอบด้วยคนหลายประเภท หลายจำพวกที่อพยพเข้ามา ถูกกลืนเข้ามา จนกระทั่งกลายเป็นมลายูของปาตานีในภายหลังนั่นเอง ฉะนั้นประเด็นแรกที่ผมอยากจะย้ำก็คือว่า เราไม่ควรจะมองวัฒนธรรมมลายูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เข้าใจว่ามันมีความสลับซับซ้อนอยู่ภายในของวัฒนธรรมมลายูค่อนข้างมาก
เมื่อมาดูตัวมลายูปาตานี ที่จริงแล้วไม่ใช่มลายูเดิมกว้างๆ เฉพาะท้องถิ่นแถบนี้ แต่หลังจากสมัยศรีวิชัยแล้ว ดินแดนแถบนี้แทบจะไม่เคยเข้ามาอยู่ในอาณาจักรเดียวกัน ในสมัยมะละกา มะละกาขายอำนาจมาค่อนข้างไกลและกว้างขวางมาก แต่ก็ไม่ถึงขนาดรวบรวมได้กว้างขวางเท่ากับศรีวิชัย มะละกามีอำนาจทั้งในฝั่งสุมาตราด้วย จนกระทั่งมาถึงปาหัง เปรัค หรือในที่ต่างๆ ตลอดมา แต่ว่าพอยิ่งไกลเข้ามาอิทธิพลของมะละกาก็ไม่มี เพราะมันต้องมาเผชิญหน้ากันกับอิทธิพลของพวกไทยจากนครศรีธรรมราชลงไปอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นมะละกาจึงมีอายุอยู่เพียงศตวรรษเดียว หลังจากนั้นมาเมื่อโปรตุเกสเข้ามาตีมะละกาแล้ว ดินแดนแถบนี้ก็ไม่เคยเข้าไปอยู่ในอาณาจักรเดียวกัน แต่ว่ามันมีพัฒนาการทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ในทางประวัติศาสตร์หรือทางการเมือง รัฐมลายูต่างๆ ในแถบนี้ทั้งหมดมันแข่งกันเองด้วยซ้ำไป แข่งกันเป็นผู้สืบมรดกของมะละกา แข่งกันว่าใครคือศูนย์กลางของวัฒนธรรมมลายูกันแน่ เพราะฉะนั้นมันจึงทะเลาะกันเองบ้าง แต่ในขณะเดียวกันมันก็แต่งงานกันเอง ค้าขายกันเองอยู่ด้วย แล้วก็แข่งกันเองอยู่ด้วยตลอดเวลาในดินแดนแถบนี้ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สามารถที่จะรวมอยู่ในอาณาจักรเดียวกันได้ ทำให้แต่ละแห่งมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างกันไป สิ่งเดียวที่มันรวมกันไว้คือยังใช้วัฒนธรรมและภาษามลายูอยู่เท่านั้นเอง คือทุกฝ่าย ทุกแคว้น ทุกรัฐมลายู ก็ยังนับถือวัฒนธรรมที่เรียกว่ามลายูเป็นอุดมคติ คือในความเป็นจริงมันไม่ได้เหมือนกัน แต่ว่ามันนับถืออุดมคติอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ผ่านศาสนาอิสลาม ผ่านการค้าการแต่งงานของผู้ปกครองต่างๆ และการอพยพโยกย้ายของพลเมือง
ผมควรกล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้ว ดินแดนมลายูหรือในคาบสมุทรมลายูมีการอพยพเคลื่อนย้ายภายในสูงมาก สูงมากกระทั่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ก็จะเห็นการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนมากทีเดียวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งผูกพันคนเหล่านี้ไว้ใต้ชื่อรวมๆ ว่าวัฒนธรรมมลายูได้ แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละรัฐ แต่ละแคว้นก็มีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจแตกต่างกันไป แต่ละแคว้นแต่ละรัฐมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส อังกฤษ อะไรก็แล้วแต่ไม่เหมือนกัน มีความสัมพันธ์กับพวกบูกิตไม่เหมือนกัน พวกบูกิตนั้นเข้ามามีอิทธิพลในยะโฮร์ แต่ไม่ได้ขยายมาทั่วทั้งคาบสมุทรมลายู เพราะฉะนั้นบางแคว้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของบูกิตค่อนข้างมาก แต่บางแคว้นก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของบูกิตน้อย หรือไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลเลย
สมัยหนึ่งพวกอาเจ๊ะห์ขยายอิทธิพลเข้ามา พยายามรบกับพวกยะโฮร์เพื่อที่จะมีอำนาจในคาบสมุทรมลายู เข้ามาคุมช่องแคบมะละกา แต่อาเจะห์ก็ไม่ได้มารบรุกรานทั่วไปหมด ก็รบรุกรานค่อนข้างมากในแถบยะโฮร์ปัจุบันนี้ สยามเองก็เหมือนกัน สยามเองนั้นก็พยายามจะแผ่อำนาจเข้าไปในคาบสมุทรมลายู จนบางครั้งเลยจากคาบสมุทรมลายูเข้าไปถึงสุมาตราด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาก็ตาม รัตนโกสินทร์ก็ตามกับรัฐมลายูต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่เหมือนกัน ไอ้ที่มันไกลหน่อยไม่เป็นประโยชน์กับสยามหรือกับอยุธยาเขาก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่นัก ในที่สุดก็ล้มไป แต่ในรัฐที่อยู่ใกล้เคียงมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับอยุธยามาก อยุธยาก็พยายามเข้าไปคุมมากกว่าเป็นต้น
เพราะฉะนั้นพัฒนาการในแต่ละรัฐของมลายูจึงมีความแตกต่างกันอย่างค่อนข้างมาก เหตุดังนั้นเมื่อเราพูดถึงวัฒนธรรมมลายู แล้วก็ใช้คำว่าวัฒนธรรมมลายูปาตานีด้วยแสดงว่าเราต้องยอมรับว่ามันมีความแตกต่างเฉพาะระหว่างวัฒนธรรมมลายูปาตานีกับวัฒนธรรมมาเลเซีย เรียกว่าอย่างนั้นแล้วกัน มันมีความแตกต่างกัน ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะในมาเลเซียเองก็ยอมรับว่ามันมีวัฒนธรรมมลายูเหนือกับวัฒนธรรมมลายูใต้ ซึ่งแตกต่างกันอีกเหมือนกัน เหนือนี่ค่อนข้างโบราณหน่อย ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมหน่อย ถ้าใต้ก็จะเปิดตัวเองกับการค้ากับการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เป็นต้น
ฉะนั้นความเป็นวัฒนธรรมมลายูปาตานีจึงมีความเฉพาะของมันเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะดึงเอาวัฒนธรรมมลายูปาตานีไปศึกษาโดยลืมวัฒนธรรมมลายูโดยรวม เพราะจริงๆ แล้ว ถามว่าเซอญาเราะห์มลายูมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนในมลายูปาตานีหรือไม่ ก็มี เป็นต้นว่าจะเข้าใจอะไรในเรื่องของวัฒนธรรมมลายูปาตานี เราสามารถที่จะใช้สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมมาเลเซียก็แล้วกัน ผมขอเรียกว่าอย่างนั้น ส่องสว่างให้วัฒนธรรมมลายูปาตานีได้ด้วย แต่แม้กระนั้นก็ขอย้ำว่ามันเป็นสองอย่างที่ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันนะครับ
ผมคิดว่าถ้าเราสับสนเรื่องนี้ ระหว่างความเป็นวัฒนธรรมมลายูปาตานีกับความเป็นวัฒนธรรมมาเลเซีย ผมคิดว่าอาจทำให้เราละเลยหลายอย่างด้วยกัน ที่มีความสำคัญที่จะทำให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมมลายูปาตานีหรือมลายูท้องถิ่น เช่นเป็นต้นว่าเราไม่สามารถจะพูดถึงวรรณกรรมมลายูปาตานีโดยไม่ลงสนามเพื่อจะเก็บ เพราะว่าจำนวนมากเหลือเกินที่วรรณกรรมมลายูมันเป็น ‘มุขปาฐะ’ มันออกด้วยปากคุณต้องไปเก็บมา ซึ่งมันเก็บไม่ได้มาก ผมมีตัวอย่างที่นึกออกทันที คือเพลงบอกของพวกปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นการพูดด้วยปากเปล่าเหมือนกัน ไม่มีบันทึกไว้ที่ไหน แต่เพลงบอกที่ดังๆ เพลงบอกเป็นที่จดจำกันมันมีจำนวนหนึ่ง แล้วก็มีคนไปเก็บเพลงบอกเหล่านี้จดเอาไว้ ก็ทำให้คุณเข้าถึงวรรณกรรมมุขปาฐะของสงขลา นครฯ อะไรต่างๆ เหล่านี้ได้ ผมคิดว่า ‘ปันตุน’ เด่นๆ ในมลายูปัตตานีคงมีเยอะเลย ที่คนจำได้ เพราะมันเด่น มันประทับใจ อะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้ต้องจดลงมา เราไม่สามารถที่จะไปเอาวรรณกรรมของมาเลเซียมาแทนของมลายูปัตตานีได้ การแสดงก็เหมือนกัน ภาษาก็เหมือนกัน มีความต่างกัน
แต่ในเมืองไทยเรามักศึกษาเรื่องของท้องถิ่นเหล่านี้โดยลักษณะค่อนข้างจะรวมศูนย์ค่อนข้างมาก ที่ว่ารวมศูนย์ก็คือว่า สร้างทัศนคติที่มองข้ามท้องถิ่น หรือไปมองท้องถิ่นจากส่วนกลาง เราจะชินนักวิชาการไทยจะชินกับเรื่องนี้ ศึกษานครศรีธรรมราช มองนครศรีธรรมราชจากสายตาของอยุธยาเหมือนกันนะครับ แล้วเราเอาเรื่องนี้มาใช้กับปาตานีเหมือนกัน แต่ก่อนเราพูดถึงปาตานี เราพูดถึงความสัมพันธ์ของปาตานีกับไทย ซึ่งกลายเป็นหัวข้อเดียวตลอดเวลา แต่นี่เราเริ่มมาสนใจวัฒนธรรมมลายูปาตานีโดยเฉพาะก็ยังเอานิสัยแบบการศึกษาท้องถิ่นแบบไทย คือไปเอามะละกาเป็นศูนย์กลางแล้วมองกลับมาที่ปาตานี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ปาตานีต้องเป็นตัวโฟกัสของมันเอง มากกว่าวิธีการที่เราใช้กันในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน
ประเด็นต่อมาที่อยากพูดถึงก็คือว่า เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรม ไม่ว่าเวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมมลายูปาตานีหรือวัฒนธรรมปักษ์ใต้ จะเป็นวัฒนธรรมอีสาน หรือวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ในประเทศไทย ผมรู้สึกว่าเราชอบมองวัฒนธรรมเหล่านี้ในฐานะที่มันสถิต มันหยุดนิ่งกับที่ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ซึ่งในแง่นี้ผมคิดว่ามันไม่มีวัฒนธรรมที่ไหนในโลกนี้ที่มันหยุดนิ่งกับที่ มันเปลี่ยนตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าวัฒนธรรมแล้ว มนุษย์เราใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เรียกว่ามลายูปัตตานี ผมคิดว่า อย่าเลียนแบบในสิ่งที่เคยทำกันมาในภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน คืออย่ามองมันเป็นรูปแบบตายตัว ผมคิดว่ามันมีการปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าเรามองมันตายตัวเราก็จะไม่รู้ว่าแล้วมันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับคนในปัจจุบันนี้
จำเป็นที่จะต้องมองว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นว่ามีพลวัตรในตัวของมันเอง มันสามารถปรับเปลี่ยนตัวของมันเองเพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ ในการเมือง ในสังคมได้ตลอดเวลาด้วย แน่นอนว่าไอ้ที่มันปรับเปลี่ยนไม่ได้แล้วมันตายไปแล้วมันมีอย่างแน่นอนในทุกภาคของโลกนี้ แต่ว่าไอ้ที่มันสามารถปรับเปลี่ยนได้มีความสำคัญค่อนข้างมาก
เนื่องจากเหตุที่วัฒนธรรมมลายูปาตานีมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมไทยที่ส่วนกลางอย่างมากเลย เหตุดังนั้นจะเรียกว่าโชคดีก็ได้ คือคุณสามารถที่จะมองวัฒนธรรมมลายูปาตานีได้อย่างมีพลวัตรมากกว่าที่จะมองวัฒนธรรมของภาคอีสาน เพราะมันไม่มีตัวครอบงำจากส่วนกลางที่บอกว่านี่คือวัฒนธรรมไทย
จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมมลายูปาตานีมันถูกคุกคามหรือถูกเผชิญหน้าจากสองทางด้วยกัน ทางแรกคือความทันสมัย ข้อนี้เป็นของปกติธรรมดา วัฒนธรรมทั้งหลายในโลกนี้เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงหรือความทันสมัยทั้งสิ้น ผมสนใจการศึกษาการปรับเปลี่ยนตัวเองของวัฒนธรรมมลายูปาตานีกับวัฒนธรรมกับการเผชิญหน้ากับความทันสมัย ผมคิดว่ามีการศึกษาเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป ผู้หญิงมลายูปาตานีสมัยหนึ่งอยู่แต่ในหมู่บ้าน สมัยนี้ในหมู่บ้านไม่มีงานให้คุณทำแล้ว คุณต้องออกมาทำงานข้างนอก เพราะฉะนั้นระบบการสมรสก็ตาม ระบบการนับเครือญาติก็ตามมันย่อมต้องเปลี่ยน แล้วมันเปลี่ยนอย่างไรที่จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังเป็นคนมลายูต่อไปได้ ผมว่าส่วนนี้มีความสำคัญที่จะต้องศึกษา
อีกอย่างหนึ่งที่วัฒนธรรมมลายูปาตานีต้องเผชิญอยู่ ผมคิดว่า...ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี การตีความศาสนาอิสลามแบบตะวันออกกลาง ขอเรียกกว้างๆ ว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน ข้อนี้ก็เป็นของใหม่เหมือนกัน เพิ่งเข้ามาประเทศไทยหลัง พ.ศ.2500 ด้วยซ้ำไป คือกลุ่มคนที่ไปศึกษาในตะวันออกกลางแล้วกลับเข้ามาเผยแพร่หลักปฏิบัติ เพราะหลักศาสนาอิสลามนั้นค่อนข้างเข้ามากำกับวิถีชีวิตคนค่อนข้างละเอียดมาก ฉะนั้นพอคุณมองศาสนาอีกลักษณะหนึ่งมันก็ไปกระทบการแต่งกายขึ้นมาหมดทุกอย่างมากทีเดียว
ทั้งหมดเหล่านี้มันทำลายโครงสร้างวัฒนธรรมแต่เดิม คิดง่ายๆ คนมีเกียรติยศของสังคมมลายูมุสลิมเมื่อร้อยปีที่แล้วกับปัจจุบันนี้เป็นคนละคนกันเลยหรืออาจเปลี่ยนสถานะเป็นตรงกันข้ามไปเลย เป็นต้นว่า ‘บอมอ’ ไม่ใช่ ‘บาบอ’ นะครับ บอมอ คล้ายๆ ‘หมอผี’ สมัยหนึ่งมีเกียรติยศค่อนข้างสูง พอการสอนศาสนาอิสลามเข้ามา บอมอเป็นคนนอกรีตด้วยซ้ำ ไปเป็นคนที่อาจถูกดูถูกด้วยซ้ำไปว่าคุณทำอะไรผิดหลักศาสนา เกียรติยศหายไป นักแต่งปันตุนสมัยหนึ่งมีเกียรติยศค่อนข้างมากเช่นเดียวกับเพลงบอกของภาคใต้ แต่ว่าปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว เป็นต้น เพราะฉะนั้นคุณจะพบกับความขัดแย้งในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นดิเกร์ฮูลูก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมะโย่งก็ตาม อะไรก็ตาม บางทีการเล่นก็จะถูกกลุ่มพวกสอนศาสนาตามคำสอนแบบใหม่ ตามการตีความแบบใหม่ขมวดคิ้วใส่ ไม่น่าพอใจเท่าไหร่ที่คุณจะทำ
มันพลิกกลับเลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่วัฒนธรรมมลายูปาตานีกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ คือเผชิญกับความทันสมัย ซึ่งแน่นอน ในโลกนี้ทุกแห่งต้องเผชิญหมด ความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่คุณจะปรับตัวเองอย่างไร กับอันที่สองคือการตีความศาสนาแบบตะวันออกกลาง ที่ครั้งหนึ่งไม่เคยมีอิทธิพลสูงขนาดนี้ในดินแดนแถบนี้ ด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่ามันมีความตึงเครียดอยู่ ถ้าพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมก็มีความตึงเครียดภายในสังคมมลายูปาตานีค่อนข้างสูง ไม่พูดถึงเรื่องรัฐ แม้แต่ภายในก็มีความตึงเครียดสูงมาก
อย่าเพิ่งคิดว่ามันพิสดารอะไรนะครับ ผมคิดว่าสังคมไทยทั้งสังคมกำลังเผชิญความตึงเครียดภายในสูงมาก เพราะสมมติคนอีสานไม่ได้เผชิญหน้ากับครูสอนศาสนาแบบใหม่ แต่ก็มีเหตุอื่นๆ ที่ทำให้โครงสร้างทางวัฒนธรรมของอีสานมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และคนก็ยังไม่รู้จะเผชิญการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนี้อย่างไร คนค่อนข้างมีความตึงเครียดภายในสูงเหมือนกัน
ในส่วนนี้ของวัฒนธรรมมลายูปาตานีถูกละเลยค่อนข้างมาก ไม่ค่อยมีงานวิชาการที่ศึกษาเรื่องความตึงเครียดภายในของสังคมมลายูปัตตานีมากนัก สรุปสั้นๆ ที่ผมพูดถึงคือมันมีความตึงเครียดภายในของความเป็นมลายูและความเป็นมุสลิม สมัยหนึ่งที่เราพูดถึงมลายูมุสลิมประหนึ่งมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างที่มาเลเซียที่ทราบดีว่าถ้าคุณเป็นมาเลเชี่ยนได้คุณต้องเป็นมุสลิมด้วย แต่ในตรงนี้ไม่ได้มีกฎหมายแบบนั้น คุณจะเป็นมุสลิมแค่ไหน คุณจะเป็นมลายูแค่ไหนจึงจะไม่ขัดแย้งกัน มันก็เป็นความตึงเครียดภายใน
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสังคมไทยทั้งสังคมกำลังปรับตัวเอง เพราะฉะนั้นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมาในสังคมไทยหรือการเปิดพื้นที่จึงมีความสำคัญ เพราะถ้าท้องถิ่นต่างๆ ไม่สร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาให้เข้มแข็งมันก็จะถูกครอบงำและเอาเปรียบจากส่วนกลางอย่างที่มันเป็นมาเป็นเวลานับร้อยปี มันมีความสำคัญ เพราะการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาเผชิญกับการคุกคามของส่วนกลาง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นรัฐอย่างเดียวนะครับ ส่วนกลางที่คุกคามท้องถิ่นอยู่ในเวลานี้ยังมี ‘ทุน’ ผมว่าทุนนั้นคุกคามได้น่ากลัวกว่าที่รัฐคุกคามด้วยซ้ำไป
ประเด็นสุดท้ายคือ เราสามารถมองวัฒนธรรมมลายูปาตานีได้อย่างมีพลวัตรได้อย่างไร ผมคิดว่า เราอย่ามองแต่มะโย่ง อย่ามองแต่ดิเกร์ฮูลู อย่ามองแต่ตัวภาษาหรือวรรณกรรม ผมคิดว่าเมื่อไหร่ที่คุณจะมองพลวัตรของวัฒนธรรมมลายูคุณต้องเอา ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง คุณต้องมองดิเกร์ฮูลูเพื่อเข้าถึงคนนะครับ อย่ามองดิเกร์ฮูลูเพื่อดิเกร์ฮูลูอย่างเดียว เพราะว่าดิเกร์ฮูลูมันสัมพันธ์กับชีวิตของคน หรือไม่สัมพันธ์ ทำไมมันไม่สัมพันธ์ก็แล้วแต่ แต่คนมันคือหัวใจสำคัญที่เราจะต้องศึกษา
ผมจะขอพูดซ้ำถึงทฤษฎีของอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมนิดนึงนะครับ อาจารย์ศรีศักดิ์บอกว่า มนุษย์เราทุกคนถูกแวดล้อมด้วยสามอย่างด้วยกัน อย่างแรกท่านเรียกว่าภูมิวัฒนธรรม คำว่าภูมิวัฒนธรรมไม่ได้แปลว่าภูมิประเทศ แต่หมายถึงความสัมพันธ์ของคนที่มีต่อภูมิประเทศ ไม่ใช่ภูเขาแต่คนใช้ภูเขาอย่างไร คิดถึงภูเขาอย่างไร คนมีความสัมพันธ์กับภูเขาอย่างไร อย่างนี้เรียกว่าภูมิวัฒนธรรม ภูเขา แม่น้ำ ทะเล อะไรก็แล้วแต่ ข้อนี้เป็นสิ่งแวดล้อมที่หนึ่งที่เวลาเราจะศึกษาคนต้องเข้าใจตรงนี้ อย่างที่สองต่อมาท่านเรียกว่านิเวศน์วัฒนธรรม คือ ในภูเขา แม่น้ำ ทะเล มีนิเวศน์ของมันด้วย แล้วมนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์นั้นอย่างไร อย่างสุดท้ายผมตั้งชื่อให้ท่านเองเพราะท่านไม่ได้พูดละเอียดคือสังคมวัฒนธรรม หลังจากสองอย่างนั้นแล้วคุณก็เริ่มประเพณี สร้างดิเกร์ฮูลู เริ่มสร้างอะไรก็แล้วแต่ขึ้นมาแวดล้อมตัวเองสำหรับเผชิญกับสองอย่างแรกนั้น
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะศึกษาวัฒนธรรมอย่างมีพลวัตรแล้วจะต้องมีศูนย์กลางศึกษาอยู่ที่คน และถ้าจะให้มีศูนย์กลางอยู่ที่คนได้ต้องใช้ทฤษฎีของอาจารย์ศรีศักดิ์ คือต้องเข้าใจว่าคนอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอะไร แต่ไม่ใช่ศึกษาสิ่งแวดล้อม แต่ศึกษาว่าคนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างไร
ทั้งสามอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ภูมิวัฒนธรรม นิเวศน์วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นสังคมวัฒนธรรมก็จะพบว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก ผมอยากจะย้ำเรื่องนี้เพราะไม่อยากให้เราพูดถึงคนมลายูเหมือนกับฟอสซิลที่มันอยู่นิ่งกับที่ มันไม่ใช่ เพราะคนมลายูก็เหมือนคนไทยหรือคนทั้งโลกนี้ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนตัวเองมีความสำคัญอย่างยิ่ง.
หมายเหตุ: คลิกดูกำหนดการงานตันหยงบุหงา...อุทยานศิลปวัฒนธรรมมลายู-ปาตานี วันที่ 25 - 27 มิถุนายน 2553