Skip to main content

เก็บตกคำบรรยายในหัวข้อ “ความงามและไม่งามในนามสุนทรียศาสตร์ ทัศนะของอิสลามและกรณีศึกษาในสังคมมุสลิม” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อับดุลเลาะห์ อับรู แห่งวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างการนำเสนอบทความวิชาการให้หัวข้อ ‘สุนทรียภาพและศิลปะร่วมสมัยจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ในงาน ตันหยงบุหงา...อุทยานศิลปวัฒนธรรมมาลายู-ปาตานี ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา

         
          ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน
         
          ความงามเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะบางครั้ง คนหนึ่งมองแล้วมันงามในขณะที่อีกคนหนึ่งมองแล้วไม่งาม ความงามเป็นเรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะผูกขาดว่างามและไม่งามมันยาก เพราะเป็นเรื่องของการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นด้วยหู ตา มือ แต่ทั้งหมดจะบอกว่างามหรือไม่งามไม่ได้ มันอยู่ที่จิตใจเรา ที่จะบอกว่างามหรือไม่งาม หลังจากที่เราไตร่ตรอง ใช้สติปัญญาในการพิจารณามัน สอดรับกับอารมณ์กับความรู้สึกและการรับรู้
 
          นักปราชญ์ในอดีตมักจะทะเลาะในเรื่องของความงาม บางทีเราจะได้ยินว่า ‘ความงาม’ งามยังมีคุณค่า แต่คงมีหลายคนนึกว่า ‘งามอย่างมีคุณค่า’ ไม่ใช่เรื่องการแก้ผ้าบนเวที บางคนอาจจะไม่มองว่านั้นคืองามยังมีคุณค่า ถ้าไปพ่วงท้ายด้วยการไม่แต่งอะไรเลยหรือแต่งไม่มากนัก แล้วไปบอกว่านั้นคืองามอย่างมีคุณค่า
 
          ดังนั้น ความงามในสายตาของบางคน บางครั้งมันมีลำดับของบุคคลซึ่งมองถึงความงาม บางคนมองว่ามันงามบนสิ่งของ บางคนมองว่างาม เพราะมันสะท้อนถึงประโยชน์ในชีวิตของตัวเอง ถึงบอกว่ามันงาม แต่บางคนบอกว่ามันงามในความหมายที่สูงกว่าในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์ ความงามอยู่ในจิตใจทั้งสิ้น แต่อยู่ที่เราว่าจะตีคุณค่าว่างามหรือไม่งามอย่างไร?
 
          ความงามซึ่งมีความหมายสูงกว่าสุนทรียศาสตร์ในระดับพื้นฐาน เราจะเข้าใจว่าความงามนั้น เบื้องต้น เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน บางทีความงามของดอกไม้จากสายตาของคนดู มันอาจอธิบายว่าอย่างนี้ แต่สำหรับคนตาบอดใช้มือสัมผัส มันก็กลายเป็นความงามอีกแบบหนึ่ง ในความคิดของคนตาบอด ผมเคยถามคนตาบอดให้สัมผัสกับดอกมะลิ แล้วให้เขาบอกว่ามันงามหรือไม่งาม เมื่อคนตาบอด จับ ได้กลิ่น คนตาบอดบอกว่า มันช่างงามเหลือเกิน แต่เมื่อให้อธิบายความงามของดอกมะลิ คนตาบอดไม่สามารถบอกสีสันของดอกมะลิได้ แต่ความงามที่เราสัมผัสได้ว่าคนตาบอดอธิบายความงามอย่างไร?
 
          ในสรรพสิ่งที่มันมีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประติมากร จิตรกร จะนำมาเขียนในรูปภาพ วรรณกรรมหรือในรูปแบบใดก็ตาม ถ้าคนที่ไปสัมผัสกับมัน สามารถที่จะมองความงามออกมาแล้วขยายความงามนั้นออกไปสู่ชีวิตๆ หนึ่งนั้นเป็นความงามระดับที่ 2 ที่เขาจะสัมผัสได้ แต่ในทัศนะของอิสลามนั้นเป็นความงามเชิง ‘กายภาพ’ ไม่ใช่ความงามในจิตวิญญาณที่แท้จริงของความงามที่แท้จริง ยังไม่ใช่สุนทรียภาพในมิติของอิสลาม
 
          อัลลอฮฺ (ซ.บ.)* ได้ระบุให้มนุษย์ขอพรด้วยพระนามของพระองค์ พระนามซึ่งกำหนดไว้ในพระคัมภีร์ความว่า “และอัลลอฮฺนั้นมีบรรดาพระนามอันสวยงาม” (อัลอะอฺรอฟ, 7: 180) นั่นคือพระนามอันทรงสุนทรี พระนามที่มีความงาม ซึ่งมี 99 พระนาม ดังนั้นใน 99 พระนาม ถ้าเราสังเกตจากภาพที่ปรากฏ คนๆ นั้น จะเขียนภาพออกมา แต่ไม่สามารถจะเห็นคุณค่าของภาพนั้นได้ จะเห็นเพียงมูลค่าของมัน จึงไม่แปลกว่าทำไม! โมนาลีซ่า ราคาถึงเป็นพันล้าน หมื่นล้าน แต่คุณค่าของโมนาลีซ่าต่อชีวิตคน ที่มีต่อสังคม ที่มีต่อมวลมนุษย์ บางครั้งเราก็เข้าไปไม่ถึง เขาถึงบอกว่านั้นคือความงามที่สัมผัสได้ในแต่ละระดับ แต่ละขั้น
 
          ความงามที่อิสลามต้องการ คือ ความงามที่สามารถจะไปสะท้อนให้เห็นถึงพระนามของอัลลอฮฺและก็อธิบายว่านั้นคือความงาม เพราะพระนามของอัลลอฮฺ 1 พระนาม คือ ‘ผู้ทรงงดงาม’ ‘ผู้ทรงสุนทรี’ การไปมองถึงความงามซึ่งมันมีอยู่ ในสรรพสิ่งกลับไปสู่มนุษย์ ผลประโยชน์กลับไปสู่มนุษย์ นั้นคือ ความงามระดับที่ 3 ที่อิสลามต้องการ
 
          ผมยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่ง เกิดเรื่องสำคัญมากที่อัฟกานิสถาน รัฐบาลฏอลิบันภายใต้อุมัร เชค มูลัส อุมัร อาลีลฺ มุรมีนีน ตามที่คนปากีสถานเรียก สั่งให้ระเบิดพระพุทธรูปยืนที่ใหญ่โตที่บามียันในอัฟกานิสถาน ทุกคนรอดูจังหวะที่เขาจะระเบิด เพราะเป็นความต้องการที่อยากเปิดเผยในเรื่องนี้ เมื่อพระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดระเบิด ทุกคนต่างกระหน่ำรัฐบาลฎอลิบันทันทีว่า เป็นรัฐบาลที่หยาบมาก ในเรื่องของศิลปะแห่งชาติ ไม่รู้สึกถึงอารมณ์ของมนุษยชาติ แต่ทุกคนลืมไปว่าในอัฟกานิสถาน มีศิลปกรรมในลักษณะนี้มากมาย ที่ไม่ได้ถูกระเบิด ไม่ได้ถูกทำลาย แต่ทำไมทำลายเช่นนั้น
 
          นั่นคือการพิจารณาถึงสุนทรียภาวะ บางครั้งถ้ามองไม่หมด เราก็ไม่ทราบว่าการตบหน้ามหาอำนาจด้วยการใช้ศิลปกรรมบางอย่างมันจะกระเทือนจิตใจคน เพื่อมุ่งดูว่าชีวิตของคนในอัฟกานิสถานนั้นมันลำบาก ไม่มีอะไรจะกินมากน้อยแค่ไหนนี้คือสิ่งที่เราไม่ค่อยได้คิด การใช้สุนทรียภาวะในอีกอารมณ์หนึ่ง เช่น ความงามที่ซ่อนอยู่ในบทเพลงกับการเรียงร้อยถ้อยคำที่มันไพเราะ แต่ได้รับการปฏิเสธ แท้จริงแล้วบทเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะเป็นสุนทรียภาวะหนึ่ง
 
          ภาษาวรรณกรรมที่เขียนด้วยท่วงทำนองสัมผัส จังหวะ อย่างงดงาม ก็ถือเป็นสุนทรีภาวะหนึ่งแต่ไม่มีคนร้อง สิ่งใดที่เป็นตัวกำหนดว่ามันงามหรือไม่งาม เป็นเพราะว่าเนื้อหาในบทเพลงนั้นขัดกับความงามในมิติของอิสลาม เช่น ประเด็นที่มีปัญหา “เพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” คำว่า “ให้สมญานามว่าลูกสงขลานครินทร์ยิ่งใหญ่” ไม่ผ่าน เพราะเป็นการอุปมา อุปไมย หมายถึงลูกของมหาวิทยาลัย และคำว่า “และได้ร่มเย็นทุกชีวิน เพราะพระราชบิดา” มีปัญหาเช่นกัน เพราะชีวิตที่จะร่มเย็นเพราะมนุษย์ไม่ได้ มนุษย์ทั้งหมดล้วนได้รับความกรุณาปราณีจากพระผู้เป็นเจ้าให้อากาศหายใจ ให้อาหาร ให้ปัจจัยยังชีพ ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง หากนำสิ่งอื่นมาเทียบเคียงพระองค์ก็จะได้รับการปฏิเสธ อย่างที่ได้ฟังข้างต้นว่ายังมีวัฒนธรรมบางอย่างซึ่งถือว่างามตาได้รับการปฏิเสธ และยังบทเพลงอีกมากที่มีปัญหาในลักษณะอย่างนี้
 
          คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มักได้รับคำถามเกี่ยวกับสุนทรียภาพ ที่ปรากฏในงานวรรณกรรม เช่น มีการจัดอบรมของแพทย์ในอำเภอหนึ่ง โดยได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องการจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ อาศรมแห่งหนึ่ง ที่เรียกว่า “กฤษณะมุรติ” สอง ไปทำสมาธิ สาม อาหารไม่ต้องเป็นกังวล เพราะเป็นมังสวิรัติ แต่ผลสรุป คือ ไม่มีพี่น้องมุสลิมไปสักคน นี่คือปัญหา
 
          ความงามของนิเวศ ความงามของระบบ ความงามของอาหารมังสวิรัติ ความงามทำให้จิตใจสงบ ทำไมคนอีกคนหนึ่งมองไม่งามที่เป็นเรื่องงาม นี่คือบริบททางสังคมที่ยังขัดแย้งและไม่มีใครเข้าไปดูว่าควรจะแก้ไขอย่างไร การจัดวางสัญลักษณ์ทางขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ณ พื้นที่ที่มีปัญหากลายเป็นเรื่องไม่งาม ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องงาม มัสยิดบาบรีที่อโยธยาในอินเดีย มีฮินดูหัวรุนแรงขึ้นไปทำลายมัสยิดหลายร้อยปี เพราะกล่าวหาว่ามัสยิดนี้ไปสร้างทับสถานที่ประสูติของพระราม ความงามหนึ่งถูกทดแทนไปด้วยอีกความงามหนึ่ง ในนามของสุนทรีศาสตร์มันได้ประโยชน์อะไรกับชีวิต สังคมและอารมณ์ของมนุษย์
 
          การวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มบุคคลซึ่งถือว่าเป็นผู้ร้ายในมัสยิดกรือเซะ ด้วยเหตุผลว่ามันกำลังจะพลบค่ำ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นท่ามกลางความงาม 4 ประเภท หนึ่ง มนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ด้วยรูปทรงที่งามยิ่ง ซึ่งปรากฏในคัมภีร์อัลกรุอานที่ความว่า “อัลลอฮฺสร้างมนุษย์ด้วยรูปทรงที่งามยิ่ง” (อัตตีน, 95: 4) บางครั้งเราเป็นคนกำหนดว่ามนุษย์งดงามที่สุด เพราะแพะ วัว ควาย บอกไม่ได้ เทียบไม่ได้ มีแต่มนุษย์ที่ใช้ความคิด พิจารณาว่าสิ่งนั้นงามและมนุษย์งามที่สุด
 
          แต่มันมีสิ่งที่งามกว่ามนุษย์ นั่นคือ สิ่งที่สะท้อนจากจิตใจของมนุษย์ ถ้าเราสะท้อนจิตใจของเราในงานศิลปะของเรา โดยไม่มีเป้าหมาย เพื่อความงาม เพื่อมนุษย์ ศิลปะนั้นเป็นศิลปะที่มีแต่มูลค่าทั้งสิ้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในมัสยิดกรือเซะ ท่ามกลางความงาม 4 ประเภท หนึ่ง มนุษย์งาม สอง เวลางาม สาม มัสยิดงาม และสี่ ดวงอาทิตย์ที่กำลังจะอัสดง นี่คือนวัตกรรมของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) นี่คืองานประติมากรรมของพระผู้เป็นเจ้า
 
          งามแต่ความเลวร้ายมันก็เกิด การเปื้อนเลือด ยิงถล่ม การฆ่ากัน ความตายท่ามกลางความงามในกรุงเทพฯ ราชประสงค์ หรือที่ไหนก็แล้วแต่ มันเกิดความรุนแรงท่ามกลางความงาม เรามองความงามลักษณะนี้ไม่ออก มองไม่ถึงที่ของมัน ถ้าเรามองถึงที่ของมัน ความขัดแย้งมันก็จะไม่บานปลาย
 
          สุนทรียศาสตร์ ต้องเรียนรู้ คิด กระจาย ขยาย เพื่อก่อเกิดแก่บุคคลที่สัมผัสและมันจะต้องเป็นลักษณะของอะไรบางอย่างที่งามแท้ ดีแท้ และก็จริงแท้ ถ้าไม่มีอยู่อย่างนี้ภาวะความงามมันก็จะกลายเป็นเปลือกดวงตาเท่านั้น ที่มองว่ามันงาม
 
          ค่านิยมในการศึกษา แวดวงในการศึกษามีปัญหามากมาย ทำไม! คนมุสลิมถึงไม่ยอมส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ผมเคยถามพ่อแม่ของบุคคลหลายๆ คนรวมถึงพ่อแม่ของผม เขาบอกว่าการที่เราเรียน ‘บัดนั้น พระยาภิเภทยักษี เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรี...’ มันไม่เป็นความจริง สิ่งที่เราได้ ก็คือ วรรณศาสตร์ เราได้ความงาม แต่ความจริงในความงามมันไม่มี ฉะนั้นความงามในความจริงแท้ในองค์ความรู้ที่ให้กับบุตรหลานนั้น มันไปขัดแย้งกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้ากำหนดให้เรียนจริง รู้จริง และเป็นสัจธรรม เพื่อที่จะไม่ให้ลืม
 
          ดังนั้น ในอิสลามจึงกำหนดให้ “อิกเราะอ์” หรือ “จงอ่าน” ซึ่งผ่านกระบวนการของการศึกษา ดังที่อัลกุรอานระบุไว้ความว่า “จงอ่านด้วยพระนามของพระผู้เป็นอภิบาลผู้ทรงสร้าง” (อัลอะลัก, 96: 1) ฉะนั้นความงามในการศึกษาในมิติของอิสลามเป็นอย่างไร ถ้าเรามองไม่เห็นความงามเราก็จะไม่ถึงความงามนั้น และสิ่งที่ยากที่สุด คือ การเห็นความงามในสังคม ถ้าไม่เห็นความงามในสังคมที่สื่อผ่านวิถีชีวิตมันยากที่จะไปปกครองคนได้ แต่ความงามที่สามารถจะไปปกครองคนได้นั้น เราสามารถที่จะพิจารณาความงามที่ปรากฏต่อหน้าและสามารถอธิบายวิถีของมนุษย์ซึ่งแวดล้อมความงามที่ปรากฏต่อหน้า
 
          เมื่อสุนทรียภาวะเป็นศาสตร์ หมายถึง ศิลปะ นวัตกรรมของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อมนุษย์ สิ่งอื่นใดล้วนแต่เป็นศิลปะ เป็นนวัตกรรมทั้งสิ้น เมื่อกลายเป็นศิลปะ เป็นนวัตกรรมและเป็นวิถี มันก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิต ถ้าหากเราไม่เข้าใจชีวิต ซึ่งหมายถึงศิลปะ เราก็ไม่สามารถจะเข้าไปจัดการชีวิตที่มันเป็นศิลปะชั้นสูง และเราก็จะไม่มีทางที่จริงแท้แน่นอน
 
          งานศิลปะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มีเป้ามายที่จะสื่อความงามตามลำดับที่ได้กล่าวข้างต้น นั่นคือ ความงามที่เป็นเจตนาของผู้เขียน มีความงามระดับที่ 1 แต่ถ้าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสิ่งที่ทำขึ้นมา มีเจตนาระดับที่ 2 ภาพของเขาก็จะมีในระดับที่ 2 แสดงว่าไม่ใช่งามอย่างเดียวแต่งามที่แฝงด้วยคุณค่า ไม่ใช่มีเจตนาเพื่อสร้างความงาม เพื่อจะให้มีมูลค่า เพราะถ้ามันมีคุณค่ามีความงามมูลค่าก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง
 
          ในอิสลามไม่มีการปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้าง สังเกตจากซูเราะห์ที่อ่านข้างต้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ในรูปทรงที่งามยิ่ง” ไม่มีสิ่งใดที่บังเกิดในโลกนี้ที่จะงามเท่ากับมนุษย์ สิ่งนี้บางครั้งเราเป็นคนมอง เพราะเรามีสติปัญญา สัตว์ประเภทอื่นๆ ไม่มีสติปัญญาที่จะมองไปเทียบเช่นนั้น แต่เราต้องยอมรับว่าขณะนี้มนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา ในอิสลามยังมีสิ่งบังเกิดอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์มีสติปัญญา เช่น ญิน มาลาอิกะฮฺ สิ่งนี้เป็นอีกมิติหนึ่งของการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า
 
          สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ อัลลอฮฺได้พูดถึงเรื่องการสร้างอดัม เวลาพูดถึงเรื่องนี้ มันจะมีในวรรณกรรมไทยที่พูดถึงเรื่องของธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ มีผู้ไปวิเคราะห์ในเรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ ของการสร้างอดัม เพราะในคัมภีร์อัลกรุอาน พระผู้เป็นเจ้าพูดถึงเรื่องการสร้างอดัมจากดินและมนุษย์จะต้องกลับไปสู่พระองค์ การกลับกลายไปสู่ดิน
 
          ดังนั้น การสร้างอดัมจากดินมีลักษณะ 3 - 4 ประเภทที่ปรากฏในอัลกรุอาน ซึ่งน่าสนใจ นั่นคือ ดิน ที่มีลักษณะเปียก ดินที่มีลักษณะกลวง ซึ่งหมายถึงลม เมื่อเป็นรูปร่างอดัมขึ้นมา ก็ต้องอาศัยความแกร่งและอุณหภูมิ การสร้างอดัม มีส่วนผสมของธาตุทั้ง 4 แต่ก็ไม่ได้ยกมา
 
          ในอัลกรุอานจะพบว่ามีลักษณะของดิน มีลักษณะพร้อมการใช้ของดิน อยู่ 3-4 ประเภท ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา การสร้างนี้เป็นคุณสมบัติหนึ่งของพระเจ้า ดังนั้นในมิติของอิสลาม คุณสมบัติของพระผู้เป็นเจ้าหรือชื่อพระองค์นั้นจะสะท้อนในสรรพสิ่ง แต่ทั้งนี้หากมันอยู่ในสรรพสิ่ง สิ่งที่ถูกบังเกิด ไม่มีสติปัญญาที่จะไปขุดขึ้นมา ก็จะไม่เห็นคุณสมบัติของพระเจ้า แต่มนุษย์มีคุณสมบัติข้อนั้น  
 
หากมนุษย์ไม่สามารถจะเอาคุณสมบัติของพระเจ้ามาเปิดเผยให้มนุษย์รู้ แสดงว่ามนุษย์ยังไม่ถึงสุนทรียภาพในระดับที่ 3 สุนทรียภาพในระดับนี้ จำเป็นที่คนมุสลิมส่วนใหญ่ ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่สัมผัสกับเรื่องของความงามและมีความรู้มีความเข้าใจก็จะเห็นว่าสิ่งที่มุสลิมบอกว่างามหรือไม่งามคืออะไร ทั้งๆ ที่อาจารย์บอกว่างาม แต่อีกฝ่ายบอกว่าไม่งาม ความไม่งามนั้น ไม่ใช่งามตามตรงที่เราเห็น
 
          แต่ไม่งามเนื้อในของสิ่งที่เห็น การสร้างสมัยก่อน บุคคลซึ่งมีความสำคัญ ถูกปั้นขึ้นมา เพื่อรำลึก แต่นานๆ เข้า สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมากลายเป็นเรื่องรูปเคารพบูชา ดังนั้นการปั้นรูปด้วยเจตนา เพื่อที่จะบูชาถูกห้าม แต่การไปกั้นไม่ให้ปั้นรูป เกรงว่าจะมีการเคารพบูชา เพราะอีกร้อยปีรูปปั้นของอาจารย์ อาจจะถูกตีความว่าเป็นผู้มีบุญในอดีต ทั้งๆ ที่เป็นผู้ร้ายมาจากไหนก็ไม่ทราบ ก็อาจจะถูกเคารพบูชา
 
          ดังนั้น การปั้นรูปด้วยเจตนาอะไรลำดับที่หนึ่ง แต่ถ้าเราเป็นอาจารย์บอกว่าปั้นได้ ในความหมายที่ 1 น่าจะผ่าน แต่บุคคลซึ่งเป็นอาจารย์ปั้นไม่ได้ ในความหมายที่ 2 จะต้องสอนลูกศิษย์ บางครั้งการสอนลูกศิษย์ในลักษณะเช่นนี้ คนที่ไม่ใช่มุสลิมอาจจะไม่เข้าใจ นี่คือการระมัดระวังเพื่อที่จะรักษาความบริสุทธิ์ในพระนามของอัลลอฮฺ ที่สะท้อนในสรรพสิ่งและมนุษย์นำไปใช้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ปราชญ์อิสลามไม่ว่าจะเป็นในอดีตและปัจจุบันก็ให้ความสำคัญ เพื่อที่จะไม่ให้คนผิด บิดเบือน ผิดเพี้ยนหรือหลงทางไปจากคุณสมบัติของพระผู้เป็นเจ้า
 
 
หมายเหตุ
*ซ.บ. ย่อมาจาก ซุบฮานาฮุวาตะอาลา แปลว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์