Skip to main content

ตอน 2 : เปิดฉากต่อรองในหนทาง "สันติวิธี"

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

           

          การชุมนุมในครั้งนี้ยุติลงโดยใช้เวลาชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ที่มัสยิดกลางปัตตานี ภายหลังการยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งอาจแยกแยะเป็นระดับนโยบายถึงครึ่งหนึ่ง ได้แก่ เรียกร้องให้ถอนกำลังทหารและอาสาสมัครทหารพรานออกจากพื้นที่ให้หมด ยกเลิกกฎหมายเคอร์ฟิว ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัด ไม่ครอบงำสื่อทุกชนิด รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย

          ในขณะที่ข้อเรียกร้องเชิงปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่การเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอย่างเด็ดขาดและเที่ยงธรรม ต้องปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์โดยเร็วและโดยไม่มีเงื่อนไข ต้องไม่จับตัวผู้บริสุทธิ์อีก เป็นต้น

          น่าสนใจว่า ในบรรดาข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการของพวกเขา ยังมีประเด็นที่ข้องเกี่ยวกับสื่อมวลชนและบทบาทของรัฐในการชี้แจงข้อมูลข่าวสาร ทั้งการเรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและไม่ครอบงำสื่อ ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องต่อสื่อทุกชนิดให้รายงานความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา

          อย่างไรก็ตาม การสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 4 มิถุนายน ก็ไม่ได้สัมพันธ์กับการนำข้อเรียกร้องของพวกเขาไปก่อรูปธรรมแต่อย่างใด แม้ว่ากระบวนการเจรจาจะดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 3 ของการชุมนุม จนได้ข้อสรุปกว้างๆ ว่า การชุมนุมจะสลายตัวต่อเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 ชุด ที่มีองค์ประกอบมาจากฝ่ายประชาชนและฝ่ายทางการ เพื่อตรวจสอบกรณีต่างๆ ที่เป็นที่สงสัยข้องใจของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ลงนามแต่งตั้ง

ตลอดจนทางการจะไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม บนหลักการที่ว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวเป็นสิทธิของประชาชนและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

          การชุมนุมเริ่มสลายตัวในช่วงสายของวันที่ 5 ของการชุมนุม ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการลงนามในบันทึกการเจรจาดังกล่าวแต่อย่างใด การลงนามในบันทึกดังกล่าวจนเป็นที่มาของคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม จำนวน 49 คน ในเวลาต่อมา ก็ดำเนินการในระหว่างการเคลื่อนขบวนนั่นเอง

          ผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญ นอกจากเป็นเจ้าหน้าที่อำนาจระดับรองของเขตจังหวัดแล้ว ยังมี "คนกลาง" ที่มาจากกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่จำนวนหนึ่ง ที่กระตือรือร้นจนได้ข้อสรุปดังกล่าว

          ตูแวดานียา ตูแวแมแง แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม อธิบายในภายหลังว่า พวกเขาตระหนักดีว่าข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ คงจะไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ และถึงแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าว เขายอมรับว่าคงคาดหวังอะไรไม่ได้มากนัก

          "เพราะแม้แต่ กอส. ที่มีอดีตนายกฯ เป็นประธานก็ไม่เห็นมีการนำข้อเสนอมาพิจารณา"

          แต่ถึงกระนั้น ตัวแทนนักศึกษาที่มีเขาและ มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ เลขาธิการเครือข่ายฯ เป็นกรรมการชุดดังกล่าว ก็ยังจะต้องเข้าร่วมประชุมต่อจากนี้ไปทุกครั้ง

          ในขณะเดียวกัน ก็ยืนยันว่าหากมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอีก พวกเขาพร้อมที่จะนัดชุมนุมขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน

          อับดุลเลาะ อับรู อาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี อธิบายว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามุสลิมครั้งนี้เกิดขึ้นบนฐานความรู้ของอิสลาม แม้ว่าจะพวกเขาจะเป็นนักศึกษาที่ร่ำเรียนมาในสายสามัญ แต่พื้นฐานของพวกเขาก็มีความรู้ด้านศาสนาในระดับหนึ่งที่สามารถนำความรู้ในสายสามัญมาปรับใช้ได้ ความรู้ในสายสามัญที่ถ่ายทอดผ่านระบบการศึกษาของประเทศไทยได้สร้างให้เยาวชนกลุ่มนี้กล้าที่จะแสดงออกและเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรม

          "ถึงจุดนี้น่าจะต้องขอบคุณระบบการศึกษาของไทย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเองก็ไม่ควรกล่าวโทษการแสดงออกของนักศึกษาอย่างนี้" เขาระบุพร้อมกับวิจารณ์ความเห็นของผู้ใหญ่หลายคนในสังคมไทยที่ออกมาชี้ว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวครั้งนี้เป็น "โจร" ทั้งๆ ที่พวกเขายืนยันว่ามีสิทธิและหน้าที่ในความเป็นพลเมืองของประเทศเพียงพอสำหรับการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรม

          อับดุลเลาะ ที่คลุกคลีกับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษามาตลอดหลายปี ระบุว่า สถาบันการศึกษาในระบบภายในประเทศจะเป็นสถานที่เปิดทางความคิดและประสบการณ์ให้กับเด็กหนุ่มสาวจากพื้นที่ เหมือนในกรณีการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่เมื่อปี 2518 ที่มีจุดคล้ายคลึงกันตรงที่มีนักศึกษาเป็นแกนในการเคลื่อนไหว ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากกระแสความคิด 14 ตุลา ที่กรุงเทพ ประกอบกับประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การชุมนุมในครั้งนั้นจึงมีนักเคลื่อนไหวเข้าร่วมหลากหลาย ทั้งที่เป็นคนไทยพุทธและนักศึกษาหัวเอียงซ้าย

          "เมื่อตอนนั้น นักศึกษาที่มีพื้นเพในชายแดนใต้ได้เรียนรู้ประสบการณ์โดยตรง"

          สำหรับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เขาเห็นว่า แรงบันดาลใจในการเรียกร้องของนักศึกษาน่าจะมาจากกระแสการเรียกร้องความเป็นธรรมและใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญวางกรอบ กิจกรรมเช่นนี้ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่านักศึกษาสามารถทำได้เป็นอย่างดี มีวินัยในการชุมนุม โดยเฉพาะการแบ่งแยกชายหญิงชัดเจน มีการละหมาดและการอบรมเตือนสติผู้ชุมนุมโดยตลอด ที่สำคัญคือพวกเขาไม่ดูดายความเดือดร้อนของชาวบ้าน

          นอกจากนี้ เขายังวิเคราะห์ถึงอิทธิพลทางความคิดในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อยู่ 2 - 3 ประการ ได้แก่ อิทธิพลจากผลกระทบของสถานการณ์ในต่างประเทศนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 11 กันยา เป็นต้นมา ที่โลกมุสลิมตกเป็นผู้ถูกกระทำในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบอสเนีย แคชเมียร์ โรฮิงยา อิรัก ซูดาน ฯลฯ คนในรุ่นนี้จึงล้วนแต่ได้รับการซึมซับว่ามุสลิมถูกกระทำจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าและยังผลักดันเป็นประเด็นการปลุกการต่อสู้ของมุสลิมทั่วโลก แน่นอนว่ารวมทั้งมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ของไทยด้วยเช่นกัน

          อีกปัจจัย คือ เหตุการณ์ที่ชาวบ้านได้รับความไม่เป็นธรรม แม้ในปัจจุบันจะมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่จริง แต่เหตุรุนแรงทุกวันนี้ยังคงก่อคำถามทำนองว่าใครเป็นคนทำหรือใครเป็นผิดถูกอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์ที่ อ.ยะหา ซึ่งเป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ค่อนข้างชัดเจน เพราะมีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นพยานบอกเล่าได้ ไม่ต่างกับกรณีสะพานกอตอเมื่อปี 2518 แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้ได้ถูกพิพากษาจากชาวบ้านไปแล้ว และนำมาสู่การชุมนุมในครั้งนี้

          "ผู้ปกครองเองก็ต้องเข้าใจผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง ไม่ใช่เรียกร้องให้ผู้ที่ถูกปกครองเข้าใจผู้ปกครองเสมอ เราจะต้องเข้าใจว่าประชาชนต้องการอะไร"

          อับดุลเลาะ เตือนว่า ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ต่างอยู่ในความสนใจของนักศึกษาปัญญาชนที่อยู่ในระบบการศึกษาของทางการและต้องการจะใช้สามัญสำนึกเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แต่หากประณามพวกเขาเหล่านี้ว่าเป็นพวกเดียวกับกลุ่มโจร น่ากังวลว่าจะเป็นการผลักปัญญาชนเหล่านี้ไปในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นอันตราย

          สำหรับเขา ความน่ากลัวอยู่ที่ว่า ปัญญาชนเหล่านี้รู้วิธีในการเล่นกับรัฐ ไม่กลัวกับอำนาจรัฐ และสามารถใช้ความรู้ในระบบสามัญของพวกเขาไปปรับใช้ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล ประกอบกับความเป็นคนหนุ่มสาว

          "หากทางการไม่เตรียมรับมือให้ดี เราอาจเสียเขาไป"

          อย่างไรก็ตาม บทสรุปของการชุมนุมในครั้งนี้ยังน่ายินดีไม่น้อยที่ปราศจากความรุนแรงจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ หรือกลุ่มฝ่ายที่ถูกนิยามว่าเป็น "มือที่สาม"

          การที่กลุ่มผู้ชุมนุมย้ำว่าพวกเขายึดหลัก "สันติประชาธรรม" เป็นกรอบในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างเคร่งครัด นั่นคือ การไม่ใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด ไร้การยั่วยุ ไร้อาวุธ จึงเป็นที่มาของการวางกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดของการชุมนุมครั้งนี้

          จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติในพื้นที่ทางการเมืองของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีนักศึกษาเป็นแกนกลาง

          ในขณะเดียวกัน การรับมือของทางการก็มีพัฒนาการไม่น้อย การเจรจาถูกนำมาเป็นทางเลือกในการคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ เมื่อ 2 ปีก่อนถือเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดของประชาชนในพื้นที่และเป็นชนวนสำคัญของการสะสมบ่มเพาะผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐไทยจำนวนมหาศาล

          แม้ว่าความเข้าใจของทางการจะมองว่าการชุมนุมในลักษณะเช่นนี้ ในพื้นที่และช่วงเวลาดังกล่าวนี้สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศมากน้อยเพียงใด