เสียงเงียบแห่งความหมายจากแววตา
ภาพ ข้อความ โดยสุวรา แก้วนุ้ย
อาจารย์นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ. ปัตตานี
#เรื่องราวนี้เปรียบได้กับบทเรียนรู้ที่ 1 ในคืนที่ 5 ของการละหมาดตะละเวียห์ รอมฎอน 1437 ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ผู้เขียนให้ชื่อเรื่องนี้ว่า "เสียงเงียบแห่งความหมายจากแววตา"
สายตาคู่หนึ่งของหนุ่มน้อยวัยเรียนรู้เฝ้ามองฉันอยู่ตลอดการละหมาดตะละเวียห์ในคืนนี้ ในแววตาดูมีความสงสัย มีคำถามมากมาย อาจเป็นเพราะฉันดูไม่เหมือนกับผู้หญิงที่ปรากฎตรงหน้าเขา ณ มัสยิดกลางปัตตานีแห่งนี้ แต่งกายก็แตกต่าง พฤติกรรมก็แตกต่าง ไม่ละหมาดเฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ อีกอาการที่เห็นคือ เขาสะกิดถามหญิงสาวข้างกายซึ่งฉันไม่อาจแน่ใจได้ว่าคือแม่ แต่ที่แน่ใจคือคงเป็นครอบครัวของเขา และชี้มาทางฉัน
เด็กน้อยคงได้รับการอธิบาย เพราะหญิงสาวผู้นั้นได้ยิ้มอย่างเป็นมิตรให้ฉัน เมื่อเห็นอาการเช่นนั้นภายในของฉันอยากเปล่งเสียงออกมาว่า "พี่มารอเพื่อนจ้า" แต่คิดว่าไม่ทำดีกว่าเพราะเขากำลังอยู่ในความสงบหากเราสื่อสารไปตอนนี้คงผิดเวลา ฉันเลยมีเพียงรอยยิ้มหวานๆที่ส่งให้เพื่อให้รู้ว่าฉันมีมิตรไมตรีและยินดีเป็นเพื่อนเธอ ดูเหมือนจะได้ผลเพราะได้รับยิ้มอบอุ่นตอบรับกลับมา
เมื่อลองครุ่นคิดพิจารณาปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ฉันก็มีคำถามมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็น...
-เราต่างศาสนาเราจะอยู่ร่วมกันได้ หรือไม่?
-เราต่างภาษาเราจะเป็นเพื่อนกันได้ หรือไม่?
-เราต่างวัฒนธรรมเราจะเข้าใจกันได้ หรือไม่?
-เราจะเรียนรู้ความต่างเหล่านี้ได้ หรือไม่?
หากหาคำตอบในความต่างที่เรามี สำหรับฉันเรื่องเหล่านี้มันน่าจะเป็นอุปสรรคในการทำความรู้จัก หรือทำความเข้าใจกันอยู่บ้าง และหาใช่ความต่างที่เป็นเหตุผลของความรุนแรงแต่อาจเป็นเพราะการนำความต่างไปสร้างความถ่างทางสังคมและความรู้สึกเชิงลบให้กว้างขึ้น
แต่อย่างไร หากเราเปิดใจเพื่อทำให้ความคิดเราเปิดกว้าง เราก็น่าจะทำให้ความรู้สึกห่างเหิน ไม่ไว้ใจ ไม่คุ้นเคยแคบลงได้ และแม้เราจะมีความต่าง แต่เหมือนทุกอย่างจะลงตัว ด้วยความรักและจริงใจที่มีได้