ตอน 1 : ตัวตน "ม็อบเปอมูดอ" ใน "พื้นที่การเมือง"
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้
การปรากฏตัวของการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนจำนวนหลายพันคนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญที่บ่งบอกถึงโฉมหน้าล่าสุดของสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกภาพหนึ่ง นอกเหนือจากเหตุร้ายรายวันที่ที่ตอกย้ำการความรุนแรงและการสูญเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ในแง่หนึ่ง ภาพการชุมนุมกดดันดังกล่าว เป็นหนึ่งในรูปแบบการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีของกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามหลักกฎหมาย และยังเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันนี้กว่า 30 ครั้งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา โดยแต่ละครั้งมีเงื่อนไขที่ระบุว่าชาวบ้านเป็นผู้ถูกกระทำในกรณีต่างๆ และยื่นเรียกร้องรายกรณีที่ยึดโยงอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเจ้าหน้าที่ซึ่ง "กระทำ" ต่อชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ร้ายที่กลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นผู้ลงมือ
ทว่าก็แตกต่างในรายละเอียดหลายประการ
หนึ่งในความแตกต่างสำคัญ คือ การปรากฏตัวของเยาวชน หรือ เปอมูดอ (Permuda) ที่เป็นนักศึกษา กลุ่มพลังสำคัญที่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นักศึกษายังมีภาพลักษณ์ของการเป็นปัญญาชนที่ได้รับความรู้ระบบ รู้เท่าทัน และยังเป็นหนุ่มสาวที่จะชี้นำช่องทางในการร้องเรียกความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้ แต่ถึงกระนั้น แนวความคิดนี้มิอาจสามารถมองภาพนักศึกษาเหมารวมได้ทั้งหมด
การชุมนุมในครั้งนี้นำโดยเครือข่ายนักศึกษาที่ใช้ ชื่อว่า "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน" อันประกอบด้วยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ถูกระบุไว้ในแถลงการณ์ ประกอบด้วยองค์กรนักศึกษา 9 องค์กร ได้แก่ สมาคมนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, องค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง, กลุ่มนักกิจกรรมรามคำแหงเพื่อสังคม, เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน, เครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม, องค์การนักศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี, สภานักศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี และเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสันติภาพ
องค์ประกอบเหล่านี้ ต้องการภาพของการเคลื่อนไหวที่ต้องการบ่งบอกว่าพวกเขามีเครือข่ายกว้างขวางทั้งที่กรุงเทพฯ และในพื้นที่ แม้ในภายหลังจะมีการแถลงข่าวจากตัวแทนของหลายองค์กรข้างต้นระบุว่า องค์กรของตนไม่ได้มีส่วนร่วมต่อ "กิจกรรม" ในครั้งนี้ของกลุ่มนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง และองค์การนักศึกษา ม.สงขลานคริทร์ ปัตตานี แต่ทว่าตัวแทนขององค์กรเหล่านี้ก็ยอมรับว่ามีนักศึกษาในสถาบันของตนเข้าร่วมด้วย
ระหว่างนี้ยังปรากฏเอกสารแถลงข่าวแจกไปยังสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน. ภาค 4) โดยมี พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ หัวหน้าศูนย์ฯ เซ็นกำกับระบุเครือข่ายนิสิตนักศึกษา 16 สถาบัน ปฏิเสธมีส่วนรู้เห็นกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้
ในขณะเดียวกัน ปรากฏเป็นข่าวในขณะนั้นว่าความเข้าใจต่อผู้ให้ความเห็นหลักๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐเองก็ "ให้ภาพ" กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาดว่าเป็นเครือข่ายเดียวกันกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่
การตัดสัญญาณโทรศัพท์ตลอดระยะเวลาการชุมนุมเป็นมาตรการรับมือการชุมนุมใหญ่ในครั้งนี้ของทางเจ้าหน้าที่ นอกจากจะเป็นหนึ่งในมาตรการตัดการสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับนักศึกษาและชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุม ผลสัมฤทธิ์ของการชุมนุมอันตึงเครียดนี้ได้ตัดช่องทางการสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับบุคคลภายนอก รวมทั้งตัวกลางที่จะสื่อสารต่อไปยังสังคมวงกว้างอย่างสื่อมวลชน อย่างน้อยก็ในช่วงแรกของการชุมนุม
"เรารู้สึกว่าชาวบ้านเขาเรียกร้องก็หลายครั้งแล้ว แต่ไม่เป็นผล พลังของเขายังไม่พอ ทางรัฐก็มักจะมองว่าชาวบ้านกลุ่มนั้นเป็นแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เราจึงคิดกันว่าครั้งนี้นักศึกษาคงต้องช่วยชาวบ้าน" ตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน เผยถึงเหตุผลในการลุกเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนักศึกษาที่เขาระบุว่ามาจากรั้วรามคำแหงเป็นหลัก รวมทั้งนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยในพื้นที่อีกบางส่วน
นักศึกษารายนี้เป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กลุ่มพีเอ็นวายเอส (PNYS - Pattani Narathiwas Yala Songkhla Satul) ซึ่งจัดตั้งกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2521 เพื่อเชื่อมร้อยนักศึกษาเชื้อสายมลายูพลัดถิ่นที่มาร่ำเรียนในรั้วรามคำแหง มีการจัดระบบดูแลสมาชิกอย่างเป็นระบบมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องในพื้นที่กลุ่มพีเอ็นวายเอสได้แต่สงวนท่าทีทางการเมืองมาโดยตลอด ปีที่แล้วตูแวดานียายังดำรงตำแหน่งรองนายก อศมร.
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เขาแจกแจงว่าเป็นเพียงในนามของกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะไม่ได้รับมติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมกลุ่มพีเอ็นวายเอสเป็นเรื่องเป็นราว นอกจากนี้ยังประสานกับนักศึกษาในสถาบันท้องถิ่นบางกลุ่ม ซึ่งก็ไม่ได้มาในนามองค์กรอีกจำนวนหนึ่ง
เมื่อจับต้นชนปลายแล้ว เหตุการณ์ที่ตูแวดานียาคิดว่าเป็นตัว "จุดชนวน" สำคัญ ให้ก่อเกิดการชุมนุม คือ เหตุการณ์สังหารชาวบ้านมลายูมุสลิม 4 คน ที่บ้านบาซาลาแป อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาหรือก่อนหน้านั้นการชุมนุมประมาณสัปดาห์กว่าๆ
เขาและเพื่อนนักศึกษาได้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสังหารยังมีการขืนใจหญิงสาววัย 21 ปี อีกด้วย โดยกลุ่มบุคคลชุดดำ หมวกไหมพรมและรองเท้าบูธที่เข้าใจว่าหนึ่งในกองกำลังทหารพรานที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
ข้อมูลของเหตุการณ์ที่ชาวบ้านมลายูมุสลิมถูกกระทำอยู่ในการรับรู้ของกลุ่มนักศึกษากลุ่มนี้ โดยหลั่งไหลมาเป็นข้อมูลเพื่อยื่นต่อทีมเจรจาของฝ่ายทางการให้มีการตรวจสอบถึง 21 กรณี อาทิเช่น การยิงถล่มศูนย์ศูนย์ดะวะห์ ที่ ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา การกราดยิงปอเนาะดรุณศาสน์ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา การกราดยิงชาวบ้านที่ด่านสกัด ชรบ. บ้านภักดี ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา
คำอธิบายของพวกเขายืนยันว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมที่ชาวบ้านซึ่งเป็นพลเมืองของรัฐ สมควรจะได้รับ
เดิมพวกเขาวางกิจกรรมในนามของ "โครงการศึกษาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ไว้ว่าจะมีกิจกรรมเสวนา ลงพื้นที่ปัญหา และระดมข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาให้ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบในตอนท้าย แต่ตูแวดานียา ระบุว่า สถานการณ์ได้พาไปจนก่อเกิดเป็นการชุมนุมใหญ่ เนื่องจากมีชาวบ้านจากหลายพื้นที่ได้เดินทางมาสมทบกิจกรรมดังกล่าว พร้อมข้อไม้ข้อมูลจำนวนมาก พวกเขาจึงตัดสินใจก่อชุมนุมขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
"ชาวบ้านเขาคาดหวังกับพวกเรามาก" เขาให้เหตุผล พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าเหตุที่ชาวบ้านหลั่งไหลมารวมตัวกันในเวลาอันสั้นน่าจะเป็นผลมาจากความอึดอัดของประชาชนในพื้นที่ซึ่งรู้สึกว่าพวกเขาถูกรังแก ประกอบกับการสื่อสารประเภทปากต่อปากว่านักศึกษาจะจัดชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานี เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2518 ที่นักศึกษาได้นำการชุมนุมเรียกร้องนาน 45 วัน ในประเด็นที่ชาวบ้านถูกทหารนาวิกโยธินสังหาร
มีการประเมินว่า การชุมนุมเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมชุมนุมสูงที่สุดเหยียบแสนคน
ถึงจุดนี้ ตูแวดานียา เปิดเผยว่า อันที่จริงแล้ว "กิจกรรม" ในครั้งนี้ก็ก่อเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสถานที่ปักหลักเป็นมัสยิดกลางปัตตานีเหมือนกัน ประเด็นที่ "จุดชนวน" ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ชุมนุมปี 18 เกิดจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่สังหารชาวบ้านเสียชีวิต 5 ศพที่สะพานกอตอ รอยต่อ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ทว่ามี สือแม บราเซาะ เด็กชายวัย 14 ปี หลงรอดชีวิตมาบอกเล่าเหตุการณ์ได้
ในขณะที่การชุมนุมในครั้งนี้ แม้จะมีหลายเหตุการณ์ที่พวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็น "ผู้ลงมือ" แต่เหตุจุดชนวนได้แก่การสังหารชาวบ้าน 4 คน ที่บ้านบาซาลาแป ต.ปะแต อ.ยะหา ที่สำคัญ มีผู้เหลือรอดมาเป็นพยานบอกเล่าเหตุการณ์เช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มแกนที่เคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงตัดสินใจใช้ชื่อว่า "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน" ล้อไปกับ "ศูนย์พิทักษ์ประชาชน" องค์กรประสานงานของนักศึกษาในการชุมนุมเมื่อปี 18
"มันเป็นกรณีที่คล้ายๆ กัน" แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมย้ำ
การฉวยใช้ประวัติศาสตร์มาอธิบายภารกิจของพวกเขาในครั้งนี้ น่าสนใจไม่น้อย แต่ถึงกระนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำอธิบายตัวเองอาจมีแตกต่างกับมุมมองของภาครัฐที่จับตาความเคลื่อนไหวทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นด้านการทหารหรือด้านการเมือง โดยมีกรอบวิเคราะห์และฐานข้อมูลยึดโยงอยู่ในบริบทของ "สงครามกองโจร"
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวกรองแห่งหนึ่งรายหนึ่ง เชื่อมั่นว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เชื่อมโยงกับ ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคนนอกขบวนการบางรายที่ไม่ได้รับรู้วาระซ่อนเร้นของกลุ่มผู้ชุมนุม นอกจากนี้รูปแบบหรือ Pattern ในการก่อ "ม็อบ" ยังคงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการชุมนุมของเด็กและผู้หญิงก่อนหน้านี้ กล่าวคือ หยิบยกประเด็นที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมมาปลุกกระแส และภายในที่ชุมนุมก็อาจจะมีคนที่ถูกจัดตั้งจากขบวนการเพียงบางส่วน ซึ่งท้ายที่สุดการชุมนุมก็เป็นเพียงหนึ่งในยุทธวิธีของฝ่ายตรงกันข้ามนั่นเอง
ในขณะที่ พล.ต.จำลอง คุณสงค์ เสนาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวแม้จะมีรูปแบบที่เป็นการชุมนุมโดยสันติ แต่เมื่อพิจารณาในสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่กรุงเทพและสถานการณ์ในพื้นที่ มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวอาจมีหลายส่วน แต่เคลื่อนไหวครั้งนี้ในลักษณะแนวร่วมมุมกลับ ที่สำคัญ การชุมนุมในช่วงเวลาและพื้นที่เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
"เป้าในการมองของเรายังอยู่ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นหลัก" เขากล่าวยอมรับและวิเคราะห์ว่า การชุมนุมในแต่ละครั้งรวมถึงครั้งนี้เป็นเสมือนงานที่ขบวนการฯ ต้องการสะสม โดยมีประเด็นที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม การรับมือของทางการต่อการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้มีในสองระดับคู่ขนานกันไปทั้งภายในประเทศและระดับสากล พล.ต.จำลอง ระบุว่า งานภายในประเทศหมายรวมถึงการคลี่คลายสถานการณ์ชุมนุมโดยสันติ เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงสกัดกั้นและตรวจสอบผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาพบว่าถูกหลอก เมื่อเข้าร่วมชุมนุมแล้วก็ออกกลับไม่ได้ เหมือนเหตุการณ์ที่หน้า สภ.อ.ตากใบ เมื่อ 2 ปีก่อน
ในขณะที่งานในระดับสากลคือการชี้แจงทำความเข้าใจข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุของการชุมนุมต่อตัวแทนประเทศต่างๆ
เสธ.รมน.ภาค 4 วิเคราะห์ว่า การก่อชุมนุมในลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ หากแต่มีการตั้งใจให้เกิด มีแผนงานเป็นระบบรองรับชัดเจน ส่วนตัวเขาเชื่อมั่นว่าการชุมนุมไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านรู้สึกเดือดร้อนเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ทว่ายังมีอะไรที่ลึกมากกว่านั้น
นัยสำคัญคือกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ต้องการความสำเร็จจากข้อเรียกร้องในครั้งนี้มากเท่ากับเป็นการสะสมงานเคลื่อนไหวของฝ่ายตนไปทีละเล็กละน้อย กระทั่งเมื่อรวบรวมประเด็นสาเหตุที่ถูกอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งหมดแล้ว ข้อเรียกร้องในท้ายสุดของพวกเขาก็จะเริ่มดูมีน้ำหนัก และด้วยเหตุนี้ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ เขาระบุว่า ทางการก็จำต้องชี้แจงแทบจะทุกเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นขึ้นมา
ส่วนการปรากฏตัวของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เขามองว่า เพียงเพื่อต้องการให้เห็นภาพของปัญญาชนออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ภาพว่ามีความเคลื่อนไหวในพื้นที่หลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิง เด็ก และล่าสุดคือนักศึกษา ซึ่งมีพื้นฐานที่ต่อต้านรัฐบาลอยู่แล้ว
ถึงอย่างไรก็ตาม เสธ.รมน.ภาค 4 ยังกล่าวด้วยว่า หากประเด็นข้อเรียกร้องมีมูลว่าชาวบ้านเดือดร้อนจริง ทางการก็พร้อมที่จะร่วมแก้ไข ทว่านั้นขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจของกลุ่มผู้ชุมนุม
และแน่นอนว่า แม้ทางกองทัพจะเข้าใจว่าเป็นยุทธวิธีของฝ่ายตรงกันข้าม