แถลงการณ์
เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ( Permatamas )
วันที่ 23 มิถุนายน 2559
“เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการยืนยันการเป็นพื้นที่กลางและยินดีสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพสร้างพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและถกแถลงเพื่อหาทางออกทั้งในประเดนสิทธิมนุษยชนและโรงไฟฟ้าถ่านหินในเร็ววัน”
สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ( permatamas ) ได้มีการจัดเสวนาสาธารณะ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ในวันนี้ 21 มิถุนายน 2559 แต่มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนสถานที่จัดการเสวนา และทางมหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ”ยืนยันการเป็นพื้นที่กลางเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” นั้น ทางเครือข่ายฯ ขอแสดงความชื่นชมและเห็นด้วยกับจุดยืนของทางมหาวิทยาลัยในการเป็นพื้นที่กลางสำหรับทุกฝ่ายในการร่วมกันแสวงหาทางออกอย่างสร้างสรรค์เพื่อสันติภาพชายแดนใต้
บทสรุปประการสำคัญของวงเสวนาที่จัดไปแล้วนั้น มีความชัดเจนว่า สังคมชายแดนใต้/ปาตานีที่ยังเป็นพื้นที่ขัดแย้งในหลายประเด็นโดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและความรุนแรง รวมทั้งประเด็นความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนั้น ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาบานปลายและขัดแย้งร้าวลึก เกิดจากที่ผ่านมาเสียงของภาคประชาชนต่อประเด็นปัญหาต่างๆนั้นไม่ได้ถูกใส่ใจจากผู้มีอำนาจเท่าที่ควร และการขาดซึ่งองค์กรที่มาทำหน้าที่เป็นกลไกที่ทุกฝ่ายยอมรับในการสร้างพื้นที่กลางให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งความเป็น “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมารับภาระหน้าที่นี้
เครือข่าย permatamas จึงคาดหวังกับการเกิดขึ้นจริงของพื้นที่กลางตามที่ทางมหาวิทยาลัยได้แถลงไว้ โดยมีทางมหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทอย่างกระตือรือร้น (pro-active) ในการเป็นกลไกการจัดการ อำนายความสะดวก และเป็นเป็นกลไกผลักดันการสร้างฉันทามติและแสวงหาคำตอบที่ดีที่สุดไปทีละประเด็นได้ มหาวิทยาลัยสามารถสร้างให้เกิดกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง การถกแถลงอย่างสร้างสรรค์ด้วยข้อมูลและหลักวิชาการ รวมทั้งการแสวงหาทางออกด้วยความเข้าใจ ทั้งในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และประเด็นอื่นๆ อันจะทำให้เงื่อนปมแห่งความรุนแรงที่มัดแน่นค่อยๆคลายไปทีละปม และหนทางแห่งสันติวิธีค่อยๆเกิดเป็นความหวังของผู้คน
และเพื่อให้จุดยืน “ในการเป็นพื้นที่กลาง” ดังกล่าวของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตามที่ได้แถลงไว้ ได้เกิดเป็นรูปธรรมสร้างสรรค์และเป็นส่วนสำคัญแห่งความหวังของสังคมชายแดนใต้ในการหนุนเสริมสันติภาพของชายแดนใต้ได้จริง ทางเครือข่าย permatamas และนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการสร้างรูปธรรม ”การเป็นพื้นที่กลาง” ให้เกิดขึ้นจริง จะขออนุญาตนัดหมายเข้าพบเพื่อหารือกับท่านอธิการบดีในเร็ววันนี้
สังคมชายแดนใต้/ปาตานีรอคอยการมีพื้นที่กลางที่มีการจัดการอย่างไม่มีอคติมานานกว่า 12 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบ ทางเครือข่ายฯยืนยันว่า จะยินดีร่วมมือและหนุนเสริมกับทางมหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ในการสร้างพื้นที่กลางให้เป็นรูปธรรมแห่งความหวังในการสร้างสันติภาพชายแดนใต้อย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เป็นจริงในเร็ววัน
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง
นายดิเรก เหมนคร
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้
ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas)