วิบากกรรมการศึกษาของเยาวชนมุสลิมในประเทศไทย
http://4.bp.blogspot.com/-3brtwFDGi9M/VSnGhSskNmI/AAAAAAAALXo/RLIUqPDWpVA/s1600/TonSonMosque001.jpg
(หนึ่ง)
มุสลิมให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะตามหลักปรัชญาการศึกษา นั้น อิสลามแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การศึกษาที่เป็นภาคบังคับ (ฟัรดูอีน) และการศึกษาที่ไม่บังคับ (ฟัรดูกิฟายะ) ซึ่งมุสลิมส่วนมากจะเติบโตมาใช้ในบรรยากาศของการใช้ มัสยิด (ตาดีกา) เป็นฐานในการศึกษา และการศึกษาในระดับสูงกว่าคือ ระบบปอเนาะ (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) ระดับอุดมศึกษา (ในและต่างประเทศ)
ปอเนาะจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของมุสลิม ซึ่งปอเนาะได้รับอิทธิพลมาจากการผสมผสานระหว่างสถาบันสอนศาสนาจากประเทศอียิปต์และเยเมน ประมาณ 500 ปี ที่ผ่านมา ปอเนาะหลังแรกได้ถูกสร้างขึ้นในบริเวณปากน้ำปัตตานี (กัวลาบือเกาะ) โดย บุตรของเชคอุสมาน ชาวเยเมน หรือ ต้นปี 1600 ปอเนาะได้ถูกสร้างขึ้น ที่ ต.สะนอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และ ประมาณ 374 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 1624 (พ.ศ. 2185) ปอเนาะได้ถูกสร้างขึ้นที่ ตาโละมาเนาะ จังหวัดนราธิวาส[1]
เป้าหมายของการศึกษาอิสลามตามระบบปอเนาะ คือ รู้จักอัลลอฮฺ ฝึกฝนและขัดเกลาศีลธรรม เพื่อเข้าใจโลกนี้และโลกหน้า การศึกษาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและส่วนร่วม เพื่อทำอิบาดะต่ออัลลอฮฺ เพื่อเป็นลู่ทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง เพื่อไปสู่การเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ และเพื่อรับช่วงต่อในการเผยแพร่อิสลามให้ผู้อื่น[2]
ด้วยเหตุนี้ ปอเนาะได้กลายเป็นสถาบันหลักในการ อบรมบ่มเพาะมุสลิมอย่างเข้มข้น ในทางกลับกัน รัฐมองว่า ปอเนาะ คือหนึ่งใน ตัวถ่วงนโยบายการกลมกลืนชาติพันธ์ รัฐมองปอเนาะดังนี้ ***
1. เน้นการศึกษาศาสนามากกว่าอย่างอื่น จึงเกิดความไม่สมดุลกับโลกปัจจุบัน
2. การศึกษาในสถาบันปอเนาะไม่ได้ช่วยให้เกิดสำนึกร่วมหรือแนวคิดแห่งความรู้สึกว่าด้วยความเป็นไทย
3. ผู้เรียนปอเนาะไม่ค่อยนิยมใช้ภาษาไทย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการกีดกันนโยบายการกลมกลืนชาติพันธุ์
4. ปอเนาะไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยพัฒนาไปมากกว่าเดิม
5. ปอเนาะไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษา ทว่าเป็นสถาบันศาสนา
6. ปอเนาะจัดการตนเองในทุกรูปแบบ จนทำให้รัฐไม่สามารถเข้าถึงแห่ล่งข้อมูลและความเคลื่อนไหวของปอเนาะได้[3]
เมื่อเป็นเช่นนั้น ปี พ.ศ. 2500 (1957) หลังรัฐบาลทหารยึดอำนาจ ซึ่งนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ “จอมพลผ้าขะม้าแดง“ ท่านได้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ด้วยการดำเนินนโยบายการกลมกลืนทางชาติพันธุ์ ท่านจึงได้เข้าไปปรับปรุงการศึกษาของชาวมลายูมุสลิม ส่งผลให้ “ปอเนาะ” ต้องจดทะเบียน ในปี 2504 ใต้ พรบ. โรงเรียนราษฏร์ปี 2497 ส่งผลให้ตำราวิชาการทางศาสนาได้ถูกแทรกแซงโดยรัฐ ส่งผลให้ขบวนการภาคประชาชนได้สุกงอดและปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
รัฐจึงออกคำสั่ง พรบ. โรงเรียนราษฏร์ปี 2497 ส่งผลให้ปอเนาะมีการจดทะเบียนกับรัฐ ซึ่งแนวทางปฏิบัติ เริ่มต้นด้วยความสมัครใจ ให้ “ปอเนาะ” เป็น “โรงเรียนราษฏร์สอนอิสลาม” เมื่อปี 2504 เป็นต้นมา ปี 2504 มีนักศึกษามลายูมุสลิมจำนวน 22,817 คน ในจำนวนนั้นมีอยู่ 16,542 คน ที่ยังคงเรียนในสถาบันปอเนาะ ในขณะที่นักศึกษาจำนวน 6,329 คนได้ย้ายไปเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2504-2507 มีปอเนาะจดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 171 โรงและปี 2509 ปอเนาะมีสถานภาพเป็น “โรงเรียนราษฏร์สอนอิสลาม”
ในการปรับปรุงโรงเรียนขั้นที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ได้มีการปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานโรงเรียนปอเนาะอีกครั้งหนึ่ง โดยวิชาศาสนาให้สอนควบคู่ไปกับวิชาสามัญทั่วไปของชั้นประถม 5 6 และ 7 ตั้งแต่ปี 2508-2510 มีโรงเรียนปอเนาะลงทะเลีบยอีก 101 โรง ในปี 2524 มีโรงเรียนปอเนาะจดทะเบียน 349 โรง ในจำนวนนี้ 150 โรงถูกปิดลง เพราะไม่มีนักเรียนมาเรียน เปิดอยู่เพียง 199 โรง ในจำนวนนี้ สอนเฉพาะวิชาศาสนา 77 โรงและสอนควบคู่ศาสนาสามัญจำนวน 122 โรง
รัฐบาลถนอม กิตติขจร ได้เข้ามาปรับระบบและเร่งพัฒนานโยบายนี้ให้บรรลุผลให้แล้วเสร็จภายในปี 2514 ด้วยการวางเงื่อนไขดังนี้
1. ปอเนาะใดไม่ได้รับใบอนุญาต ทางการจะไม่ออกใบอนุญาตอีก เว้นแต่จะได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งผู้ขอใบอนุญาตจะต้องจบขั้นต่ำคือ มัธยม 6
2. โรงเรียนปอเนาะที่มีการปรับปรุงและจดทะเบียนตั้งแต่ 2511-2513 จะได้รับเงินอุดหนุน
3. การเปิดปอเนาะใหม่หลัง 2514 จะไม่ได้รับใบอนุญาต เว้นแต่มีการทำการสอนอยู่แล้วก่อนหน้านั้น
4. โรงเรียนที่มี 17 คนขึ้นไปที่ไม่ได้มีการจดทะเบียจะมีความผิดทางกฎหมาย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทางราชการ
5. ให้ยกเลิกภาษาที่เขียนด้วยรูมีและยาวี[4]
ปี 2525 รัฐมีคำสั่งผ่าน พรบ. โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปี 2525 ส่งผลให้ ปี 2526 “โรงเรียนราษฏร์สอนอิสลาม” เปลี่ยนสภาพเป็น “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” สาเหตุที่โรงเรียนต่าง ๆ ต้องจดทะเบียนเพื่อไม่ให้รัฐมองว่าเป็นกลุ่มแหกคอก หรือมีแนวคิดตรงข้ามกับนโยบายของรัฐ รัฐให้อิสระในการจัดการเรียนการสอนศาสนาในรูปแบบเดิม รัฐให้เงินสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนและจัดซื้ออุปกรณ์[5] สถานการณ์ทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มตรึงเครียดอีกครั้ง หลังเหตุการณ์การปล้นปืนเมื่อ 4 มกราคม 2547 รัฐจึงเกิดความระแวงจึงมีคำสั่งให้ปอเนาะจดทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง 28 เมษายน 2547 กระทรวงจึงออกคำสั่งกฎระเบียบว่าด้วยสถาบันปอเนาะปี 2547 ส่งผลให้ปอเนาะจดทะเบียนในเดือนพฤษภาคมจำนวน 214 แห่ง ในเดือนกรกฎาคม 249 แห่ง และในเดือนพฤศจิกายน 255 แห่ง[6]
-สอง-
http://cache3.asset-cache.net/gc/451887850-thai-muslim-students-offer-prayers-at-the-gettyimages.jpg?v=1&c=IWSAsset&k=2&d=GkZZ8bf5zL1ZiijUmxa7QUoMil2MXBSrVtLurLanLYj4iS%2FdeXIvW7hMvkEILDkvLEK7YfdtK7Bt1UKwrseMxg%3D%3D
เมื่อปอเนาะ "ถูกควบคุมกำเนินทางวิชาการ" ส่งผลให้เยาวชนมุสลิมไทยต้องเดินทางออกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่ง นักศึกษาไทยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกือบ 10,000 คน ซึ่งมากที่สุดในประเทศอียิปต์และอินโดนีเซีย นักศึกษาไทยมุสลิมในประเทศอียิปต์มากเป็นอันดับหนึ่ง คือ กว่า 2500 คน และ อินโดนีเซียกว่า 1,000 คน ซึ่งมีอัตตราเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
· สาเหตุที่นักศึกษาไทยมุสลิมเลือกเรียนต่างประเทศ
1. ทุกคนอยากไปศึกษาแหล่งอารยะธรรมอิสลามที่กลายเป็นรากของหลักการศาสนาและสายธารแห่งองค์ความรู้ โลกอาหรับนับเป็นจุดรอยต่อแห่งประวัติศาสตร์การศึกษาของอิสลามอันโด่งดัง เช่น มหาวิทยาลัยนิซอมิยะฮฺ ซึ่งก่อตั้งโดย ท่านนิซอมุลมุลตูซี รัฐบุรุษแห่งราชวงศ์ซาลจูก เมื่อปี ค.ศ. 1065 มหาวิทยาลัยในสังกัดนี้มีประมาณ 7 วิทยาเขตด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นใน เมืองบัสเราะฮฺ โมซุล อเลปโป ซึ่งสาขาหลักที่กรุงบักดัร[7]
ประเทศอียิปต์ (Egypt) มีมหาวิทยาลัย Al-Azhar ซึ่งก่อตั้งในสมัย ค.ศ. 970 โดยราชวงศ์ฟาติมิยะฮฺ เป็นแหล่งรวมอารยธรรมอิสลามและแขนงวิชาการอิสลามสาขาต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นยุคทองของอิสลามและรุ่นบุกเบิกการศึกษา แผ่นดินผืนนี้ได้กลายเป็นแหล่งความรู้ทีสำคัญที่สุดสำหรับอิสลาม ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia) เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาใน “ดินแดนนูซานตารา” ซึ่งหนังสือกีตาบยาวีทั้งหมด มาจากแผ่นดินผืนนี้ อู่อารยะธรรมของอิสลามเดินผ่านถนนสายนี้ก่อนจะเข้าสู่ “ปัตตานีดารุสลาม”[8]
ด้วยเหตุนี้ คำพูดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม สมช. ได้กล่าวว่า “หลังจากนี้ทางภาครัฐจะพยายามสนับสนุนให้มุสลิมได้ไปเรียนต่างประเทศ นอกเหนือจากประเทศอียิปต์และอินโดนีเซีย” ดูเหมือนว่ารัฐต้องการจะ “ตัดท่อน้ำเลี้ยงการศึกษาอิสลามของสังคมมุสลิมในประเทศไทย”
การห้ามมุสลิมไปศึกษาในพื้นที่ 2 แห่งนี้นั้น จึงเป็นนโยบายการศึกษาที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทย อาจเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความชังและการปฏิเสธรัฐ หนำซ้ำการนำเสนอนโยบายทางการศึกษาแบบนี้กับสังคมมุสลิมอาจส่งผลไปสู่ “ความตรึงเครียดของความรุนแรงระลอกใหม่” ได้ รัฐสมควรที่จะทบทวนแนวคิดดังกล่าวให้รอบคอบ มุสลิมต้องการเดินทางไปศึกษาแนวคิดอิสลามเพื่อการปฏิบัติและพัฒนาองค์ความรู้ ไม่ต่างจากชาวพุทธที่ต้องการการเดินทางมา “ศึกษาพระธรรม” ณ แผ่นดินพุทธภูมิที่ประเทศอินเดีย
2. ได้เข้าถึงภาษา ที่ 2 หรือ 3 อย่างจริงจัง หากรัฐบาลไทยมีสถาบันการศึกษาทีมีคุณภาพทัดเทียมกับโลกอาหรับหรือประเทศมุสลิมส่วนอื่น ๆ แน่นอน มุสลิมบางส่วนก็ต้องการเรียนในบ้านเกิดของตัวเองอยู่แล้ว กระนั้นความไม่เสถียรของระบบการศึกษาและนโยบายการศึกษา ทำให้ นักศึกษาทั้งไทยพุทธและมุสลิมต้องเดินทางออกสู่ต่างแดนเพื่อศึกษาหาความรู้
3. พัฒนาองค์ความรู้และเปิดโลกทัศน์ บทเรียนจากอินเดียบอกให้ทราบว่า รัฐจะต้องทุ่มเทกับการศึกษา ครั้งหลังจากการแบ่งแยกอาณานิคมจากอังกฤษของอินเดีย เมาลานา อาซัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สนทนากับนายกรัฐมนตรีอย่างน่าชื่นชม คือ
“หากรัฐทุ่มงบประมาณเพียง 5 % สำหรับการศึกษาของเยาวชน สิ่งที่รัฐจะได้กลับมาคือ เยาวชนเป็นได้แค่เพียงพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมที่เชื่องคนหนึ่ง แต่หากรัฐยอมจ่ายเงินเพื่อการศึกษา 30 % แน่นอนรัฐจะได้นักวิทยาศาสตร์ร่นใหม่เพื่อผลิตชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม”
4. ทุนการศึกษา ที่รัฐบาลไม่ได้เน้นหนัก ในทางกลับกัน การศึกษาต่างประเทศนั้น ค่าเล่าเรียนใช้จ่ายในราคาที่ค่อนข้างน้อยและ บางมหาวิทยาลัย ค่าเล่าเรียนฟรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศมุสลิมเกือบจะทั้งหมด มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษาของมุสลิมให้กับประเทศเพื่อนบ้าน[9]
-บทส่งท้าย-
https://media.licdn.com/mpr/mpr/AAEAAQAAAAAAAAY1AAAAJDY0MjFlZmNkLWRiMzAtNGQ3NC1iYjBkLWY0NjIxMGYzODY3Mw.jpg
ประเด็นสรุป ที่รัฐควรตระหนัก
- ณ วันนี้ รัฐมีศัตรูรอบด้านมากพอ และประเทสไทยกลายเป็นประเทศที่อยู่ใน “สภาวะหมอกควันแห่งสงคราม” ด้วยประการทั้งปวง “รัฐจึงไม่ควรเพิ่มศัตรูให้กับตนเอง เพราะไม่เป็นสิ่งที่ฉลาดเท่าไหร่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่รัฐต้องเลือกมาตัดท่อน้ำเลี้ยงมวลชนของตัวเอง ในทางกลับกัน รัฐควรเอาชนะใจพลเมืองแล้วนำให้เขามาอยู่ในฝั่งของตน” ในทางกลับกัน รัฐควรมองตัวเองว่า 12 ปี ที่ผ่านมา กับงบประมาณที่หมดไปกว่า 261,954.95 ล้านบาท บวกกับการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของพลเมืองกว่า 18,654 คน รัฐจะหาทางเยียวยาพวกเขาอย่างไร แล้วรัฐจะดึงใจมวลชนส่วนที่คิดว่ารัฐใช้ความรุนแรงกับพวกเขากลับมาอย่างไร[10]
- รัฐต้องรีบกู้สถานการณ์และใช้นโยบายเพื่อดึงใจมวลชนใต้สถานการณ์ “การแข่งขันและแย่งชิงอำนาจในเชิงสัญลักษณ์” เพราะรัฐกำลังกลายเป็นรัฐที่หย่อนยานในการบริหาร และเสื่อมสมรรถภาพในการจัดการ ซึ่งสังเกตได้จากเหตุการณ์รายวันที่เกิดขึ้นในรอบ 12 ปี กว่า 15,530 ครั้ง[11] ในขณะเดียวกัน รัฐไม่ควรเปิดศึกหลายด้านพร้อมกัน “ปัญญาชนอยู่ต่างประเทศควรเป็นจิกซอร์ชิ้นสำคัญให้กับรัฐในการก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่พยายามสร้างเงื่อนไขความรุนแรงจนเป็นที่มาของการฉีกแผ่นดินรอบใหม่”
- ปัญหาที่รัฐควรจัดการ ณ ตอนนี้ คือ ทำยังไงให้ ก.พ. รับรองการศึกษาในประเทศดังกล่าว เช่น อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย เพราะ หากจบมาแล้ว ก.พ.ไม่รับรองวุฒิการศึกษา ก็ไม่สามารถทำงานหรือเรียนต่อได้
- รัฐต้องหาทางในการเชื่อมต่อระบบการศึกษา เช่น ระบบการศึกษาแบบอิสลาม ในระดับสูง รัฐต้องตรวจสอบและรับรองการศึกษาเหล่านั้น เพื่อเปิดโอกาสการศึกษาต่อ ไม่ใช่ตัดตอนการศึกษา จน นักศึกษามุสลิมที่จบศาสนา ไม่สามารถศึกษาต่อที่ไหน ได้ เพราะ ก.พ. ไม่รับรอง
- ประเด็นก่อการร้ายที่รัฐ เป็นห่วง อาจจะมีหรืออาจจะไม่ดี รัฐทำได้แค่เพียงการตรวจสอบ ซึ่งเป็นปกติของรัฐที่ต้องมุ่งเน้นถึงความปลอดภัยของอำนาจเป็นหลัก กระนั้นก็ไม่ควรสกัดการศึกษาของมุสลิมในต่างประเทศ โดยเฉพาะ อียิปต์และอินโดนีเซีย เพราะ ประเทศเหล่านี้ คือ อู่อารยะธรรมแห่งอิสลาม การตัดประเทศนี้ออกไป เท่ากับ เป็นการตัดคลังวิชาการอิสลามไปกว่า 50 %
บทสรุปตามหลักตำราพิชัยสงครามของขงเบ้ง
“ปราชญเมธีเป็นผู้บังคับบัญชา ทรุชนคนพาลเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ทุกเหล่าทัพสุขสมานสามัคคี พลทหารมีความยำเกรงน้อมรับคำบัญชา ปฏิสัมพันธ์กันด้วยการประลองยุทธ์ ชื่นชมกันที่คุณธรรมบารมี ตักเตือนกันด้วยบำเหน็จอาญา นี่คือลางแห่งชัยชนะ แต่หากพลทหารเกียจคร้านทะนงตน ทุกกองพลมีแต่ความหวาดวิตก เหล่าทหารไร้สัจจะจริยา ผู้คนไม่ยำเกรงต่อกฎหมายอาญา มีใจกลัวเกรงแสนยานุภาพศัตรู สนทนาแต่เรื่องผลประโยชน์โภชนา กำกับกันแต่เรื่องเคราะห์ภัยวาสนา มัวเมากันแต่เรื่องพิศดารปาฏิหาริย์ นี่คือลางแห่งความพ่ายแพ้”[12]
***หมายเหตุ*** สามารถรับชมบทสัมภาษณ์ได้ที่
ตอนที่ 1 นักศึกษามุสลิมไทยต่างประเทศกับการก่อการร้าย
https://www.youtube.com/watch?v=Amu59oC8_f4&feature=youtube_gdata_player
ตอนที่ 2 "หยุดฉีกประเทศ" ด้วยกระบวนการภาคประชาชน "ดับไฟใต้"
https://www.youtube.com/watch?v=yGpStnnez7k&feature=youtube_gdata_player
อ้างอิง
[1] อิบรอเฮ็ม ณรงศ์รักษาเขต. “การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 69-70
[2] รชตะ จันทร์น้อย. “เส้นทางของนักศึกษาไทยมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ในการศึกษาศาสนาในต่างประเทศ”. วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 91-93.
[3] อิบรอเฮ็ม ณรงศ์รักษาเขต. “การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 73-74
[4] อารีฟีน บินจิ, อับดุลลอฮฺ ลออแมน, ซูฮัยมีย์ อิสมาแอล. ปาตานี: ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. (สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้, 2556) หน้า 325-328.
[5]กาญจนา บุญยัง. “ปอเนาะ” รากเหง้าของปัยหาเยาวชย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ??? มุมมองจากคนนอกพื้นที่” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 337-338.
[6] อิบรอเฮ็ม ณรงศ์รักษาเขต. “การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 61-66.
[7] Gerhard Bowering, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought (New Jercy: Princeton University Press, 2013), pp. 393-395.
[8] รชตะ จันทร์น้อย. “เส้นทางของนักศึกษาไทยมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ในการศึกษาศาสนาในต่างประเทศ”. วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 98-101.
[9] สลีลา พุ่มเพ็ชร. เส้นทางการศึกษาต่อของชาวไทยมุสลิมที่สำเร็จการสึกษาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม. การประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ “สร้างสรรค์และพัฒนา เพื่อก้าวหน้าสู่ประชาคมอาเซียน” ครั้งที่ 2 18-19 มิถุนายน 2558 ณ วิทยาลัยนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา : ภาคโปสเตอร์: 187-188.
[10] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. 19 ประเด็นกับความแปรปรวนที่เป็นพิษซ บทวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ในวันที่สภาวะคงที่กำลังเปลี่ยนแปลง. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 28 เมษายน 2016. http://www.deepsouthwatch.org/node/8580
[11] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. 19 ประเด็นกับความแปรปรวนที่เป็นพิษซ บทวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ในวันที่สภาวะคงที่กำลังเปลี่ยนแปลง. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 28 เมษายน 2016. http://www.deepsouthwatch.org/node/8580
[12] ขงเบ้ง. แปลโดย อมร ทองสุก. ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง. (ปทุมธานี: ชุนหวัตร, 2555) หน้า 67.