มัสยิดกรือเซะและศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ความสัมพันธ์อันดีที่ไม่ถูกเล่าขาน
(ภาพโดย มาหะมะยากี แวซู)
เร็วๆนี้ ทางทีมงาน ปัตตานีรีทวีต ได้รับชมรายการ Itchy Feet
ภาษาอังกฤษติดเที่ยว : PATTANI ซึ่งออกอากาศไปเมื่อ 22 พ.ค. 59
ซึ่งช่วงหนึ่งของรายการมีการพูดถึงประวัติศาสตร์ของมัสยิดกรือเซะ และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยเล่าผ่านน้องนักเรียนในฐานะเจ้าถิ่น ซึ่งเนื้อที่ถูกเล่าเป็นเรื่องราวที่ทางทีมงานของเรา เคยปรึกษากัน ครั้งตอนทำหนังสือPattani Retweet พบว่าตำนานเล่าขานเหล่านั้นมีการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ทางประวัติศาสตร์อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกสร้างให้เป็นชนวนความขัดแย้งในสังคมที่ถูกฝังรากลึกมานาน
...
ในอีกมุมหนึ่ง ทางเรามองว่า รายการของทีวีไม่ว่าช่องไหนก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส
ควรทำหน้าที่สื่อกลางในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในวงกว้าง เนื้อหาของควรมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนการนำเสนอ เพื่อสร้างความรู้ใหม่ให้สังคม พาสังคมไปไกลจากแค่ความเชื่อ คำบอกเล่า ตำนานที่ถูกกล่าวขาน
...
ทางเราไม่มีเจตนาจะโทษน้องที่ออกมาเล่าเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเล่านี้ยังคงถูกบอกเล่าอยู่ในสังคม เพียงเพื่อสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยว
ในส่วนของตัวรายการเองก็ไม่ผิด เพียงแต่หากจะให้รอบคอบ รายการควรมีการศึกษารายละเอียดให้มากกว่านี้ อาจต้องมีการบรรยายเพิ่มเติมในข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความสมดุลของชุดข้อมูล
...
อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานของโครงการปัตตานีรีทวีตจึงอยากขอนำเสนอชุดข้อเท็จจริงอีกชุดที่มักไม่ค่อยถูกเล่า จากประวัติศาสตร์ในเรื่องของ
หมู่บ้านกรือเซะ มัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและความสัมพันธ์อันดีของชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายจีน
...
กรือเซะ (Krue Se) เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปทางตะวันออก 6 กิโลเมตร ในเขตปกครองของตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญ คือ มัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกกว่า 20 แห่ง เช่น คูเมือง ป้อมปราการ ที่หล่อปืนใหญ่ บ่อน้ำโบราณ เตาเผาเครื่องถ้วยชาม จุดขนถ่ายสินค้า จุดเรือจม นาเกลือโบราณ สุสานเจ้าเมือง สุสานชาวต่างประเทศ สุสานนักรบปัตตานี ฯลฯ
...
ในอดีต ชุมชนกรือเซะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างไกลในฐานะเป็นที่ตั้งของเมืองปัตตานีสมัยอยุธยา ในฐานะเมืองหลวงและมหานครของดินแดนมลายู รวมถึงในฐานะเมืองท่าที่มีชื่อเสียงและประตูการค้าสำคัญของเอเชียอาคเนย์ ทั้งยังถือเป็นสถานที่แวะพักเรือและที่พำนักของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ ชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน รวมทั้งชาวสยาม ชาวจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ชาวชวาและมลายู ชุมชนกรือเซะจึงเป็นที่รวมของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์
...
ความเจริญรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์ของปัตตานีมีมัสยิดกรือเซะเป็นส่วนหนึ่งเสมอมา มัสยิดกรือเซะ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2057 หรือเมื่อประมาณ 500 ปีที่ผ่านมา ในสมัยพญาอินทิราหรือสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ เจ้าเมืองปัตตานีในขณะนั้น มัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันออกกลางหลังแรกของเมืองปัตตานีและของเอเชียอาคเนย์ มีชื่อเดิมว่า “มัสยิดปินตูเกิรบัง” (Masjid Pintu Gerbang) ตามที่ตั้งของมัสยิดประจำเมืองปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าพระลานใกล้กับประตูพระราชวังด้านทิศตะวันตก
...
ในขณะเดียวกัน ชาวกรือเซะยกย่องในเกียรติประวัติของลิ้มโต๊ะเคี่ยมในฐานะวีรบุรุษผู้มากความรู้ความสามารถในวิทยาการแขนงต่างๆ ท่านเป็นเขยชาวจีนผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามภรรยา เฉกเช่นเดียวกับชาวจีนอีกหลายพันชีวิตที่เดินทางมายังปัตตานีในสมัยราชวงศ์เหม็ง หรือเมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังเหลือร่องรอยให้เห็นว่าชาวไทยมุสลิมแถบบ้านกรือเซะจะมีผิวขาวแบบคนจีน ซึ่งจะสวยและหล่อกว่าชาวไทยมุสลิมแถบอื่นเพราะได้เปรียบในเรื่องผิวนั่นเอง สำหรับชาวปัตตานีแล้ว ชาวจีนเป็นกลุ่มคนที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อเมืองปัตตานีและในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษของพวกเขา
...
ชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนศรัทธาและยอมรับในบุญบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ดังที่ปรากฏในประเพณีและความเชื่อในอดีตตราบจนปัจจุบัน เช่น การทำบุญศาลเจ้า การแก้บนเจ้าแม่ การลุยไฟเพื่อความเป็นสิริมงคล การขอความช่วยเหลือจากเจ้าแม่ทั้งในด้านความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน กิจการ และธุรกิจ รวมถึงการขอพรให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ด้วยเหตุนี้ สุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอและลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงดำรงอยู่ในชุมชนกรือเซะและได้รับการปฏิบัติอย่างสมเกียรติตลอดมา
...
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยที่ผ่านมา คือ การขาดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีและประวัติที่แท้จริงของมัสยิดกรือเซะ ยิ่งกว่านั้น การตอกย้ำคำบอกเล่าถึงตำนานคำสาป รวมทั้งการนำเรื่องคำสาปแช่งมาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวกลายเป็นหนทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา ดังนั้น การผูกโยงเรื่องมัสยิดกรือเซะสร้างไม่แล้วเสร็จเนื่องจากคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นหรือเป็นตำนานที่สร้างขึ้นมาก็ตาม สำหรับมุสลิมจะเชื่อถือศรัทธาเช่นนั้นไม่ได้ ดังนั้น การสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมัสยิดกรือเซะกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจึงควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมไม่ก้าวล่วงทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวจีนกับชาวมุสลิมที่มีมาเป็นเวลายาวนาน
...
เนื้อหาจากหนังสือ Pattani Retweet โดย อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัยของ ศ.ดร.ครองชัย หัตถา เรื่อง “มัสยิดกรือเซะ มรดกอารยธรรมปัตตานี” หน่วยวิจัยภูมิภาคศึกษา ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี)
...
สามารถติดต่อสั่งซื้อหนังสือได้ ที่ เพจ pattani retweet
หมายเหตุ : ชมรายการ Itchy Feet ภาษาอังกฤษติดเที่ยว : PATTANI (22 พ.ค. 59) ได้ ที่นี่