Skip to main content

 

บทเรียนรอมฎอน : การก่อการร้ายกับดอกผลสำหรับผู้ทำดี

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ)

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

ภาพจาก http://en.sindonews.com/

 

        ด้วย พระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์พระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

        ตลอดเดือนรอมฎอนเหตุการการก่อการร้ายไม่ว่าที่ตุรกี  บังคลาเทศ   อิรัค ซาอุดิอารเบีย  มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการระเบิดใกล้มัสยิดนะบะวีย์หากมุสลิมทำ นักวิชาการอิสลามไม่เพียงพอต่อการออกมาประณามการกระทำอย่างเดียวแต่ควรกลับร่วมมือจากนักวิชาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองว่าอะไรคือรากเหง้าการก่อการร้ายที่ใช้ผู้บริสุทธิ์  ตลาดและสำคัญสุดมัสยิดนะบะวีย์และจะมีวิธีอย่างไรในการใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ปัญหาเพราะการใช้วิธีตอบโต้ด้วยกำลังอาวุธจะไม่เป็นผลดีระยะยาวและไม่สิ้นสุดและจะขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้น

        มุสลิมเองนอกจากมีความขัดแย้งกับตะวันตกและพันธมิตรแต่ในระหว่างมุสลิมเองมีนิกายต่างๆ โดยเฉพาะซุนนีย์ –ชีอะห์ที่ควรใช้แนวทางการเมืองมากกว่าการออกฟัตวาทำสงครามกัน

        สำหรับมุสลิมที่ดีที่มีอยู่มากกว่าเขาจะได้รับดอกผลจากรอมฏอนครั้งนี้ดั่งที่ ดร.วิสุทธ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยสำนักจุฬาราชมนตรีส่วนหน้า (ภาคใต้) กล่าวในช่อง NBT ว่า

“รอมฎอนเปรียบดังโรงเรียนของมนุษยชาติในการฝึกคนให้เป็นคน ขณะที่อีดิลฟิฏริเป็นดั่งการมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการฝึกจากโรงเรียนแห่งนี้ รอมฎอนฝึกให้เราตั้งมั่นในความศรัทธาต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าและยำเกรงต่อพระองค์ โดยการลงมือปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทำให้ใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น เช่น การงดอาหารทางกายเพื่อเปิดพื้นที่ให้อาหารใจเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การตื่นมาละหมาดยามดึกสงัด เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงส่งกว่าความอยากหรือความใคร่ต่าง ๆ การใช้เวลาอ่านและศึกษาอัลกุรอานมากขึ้น ไปจนถึงการเอียะติกาฟ(พำนัก)ในสิบวันสุดท้ายของเดือน ซึ่งเป็นการเติมพลังศรัทธาให้กล้าแกร่งจนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ บนเส้นทางแห่งความดีได้

        สิ่งที่รอมฎอนฝึกฝนให้เราปฏิบัตินี้ถือเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอันชีวิตจะขาดเสียมิได้ จึงไม่สมควรให้หยุดชะงักเมื่อรอมฎอนผ่านพ้น แต่ต้องติดตัวเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กล่าวคือ ความศรัทธาต่ออัลลอฮฺเป็นบ่อเกิดของความร่มเย็นในชีวิต จึงต้องผลิตซ้ำอยู่เสมอ การบริโภคที่พอดีและไม่ฟุ่มเฟือย จะช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่พอเพียงและมีกำลังช่วยเหลือผู้อื่นได้ หรือการให้เวลากับการศึกษาอัลกุรอานมากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนปัญญาและการรู้แจ้ง ซึ่งจะช่วยให้เราเดินไปบนเส้นทางชีวิตที่เที่ยงตรงได้

        จึงขอให้อีดิลฟิฏรฺนี้ เป็นการรับประกาศนียบัตรแห่งความดีของท่านทั้งหลายเพราะ ประกาศนียบัตรนี้ที่จะช่วยให้เราใช้สิ่งที่ได้จากรอมฎอนเพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งความดีงามให้ดำรงอยู่คู่สังคมตลอดไป