Skip to main content

ปรับปรุบแก้ไขล่าสุด เวลา 10.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2559

 

สถานการณ์ห้วงรอมฎอนปีที่ 13 ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

 

โดยสุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์นักวิจัย

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี

 

สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเดือนรอมฎอน ฮศ.1437 ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ถึง 5 กรกฎาคม 2559 นี้ เป็นการสรุปสถิติของการก่อเหตุความรุนแรงในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากคณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนภาคใต้ (DSID), ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี และ สรุปเหตุการณ์ประจำวันของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อมูลจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน

จากข้อมูลพบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน มีทั้งสิ้น 80 เหตุการณ์[1] (หากไม่นับรวมเหตุการณ์ก่อกวนสร้างสถานการณ์ จะมีเหตุการณ์ทั้งสิ้น 62 เหตุการณ์) มีผู้เสียชีวิต 32 ราย ได้รับบาดเจ็บ 61 ราย ประเภทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่า เกิดเหตุยิง 32 เหตุการณ์ เหตุระเบิด 22 เหตุการณ์ เหตุก่อกวนสร้างสถานการณ์ 18 เหตุการณ์ เหตุลอบวางเพลิง 3 เหตุการณ์ และเหตุอื่นๆ 5 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการก่อความไม่สงบและเป็นเหตุความมั่นคง

ในการจำแนกเหตุการณ์ช่วง 10 วัน พบว่า ใน 10 วันแรก เกิดเหตุการณ์ 15 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 24 ราย ในช่วง 10 วันที่สอง เกิดเหตุการณ์ 19 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 11 ราย และในช่วงสุดท้าย[2] เกิดเหตุการณ์ 46 เหตุการณ์ เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 26 ราย เมื่อเปรียบเทียบจำนวนวันที่เกิดเหตุและวันที่ไม่เกิดเหตุ พบว่า วันที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงมี 24 วัน และ วันที่ไม่ปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรงมี 5 วัน

 

แผนภาพที่ 1 สถิติการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2559 จำแนกตามช่วงวันในการก่อเหตุ

 

หากจำแนกเหตุการณ์ความรุนแรงรายจังหวัด พบว่า จังหวัดปัตตานีมีการก่อเหตุ และผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด จำนวน 43 เหตุการณ์ ได้รับบาดเจ็บ 33 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 14 ราย สำหรับพื้นที่จังหวัดยะลา พบว่ามีจำนวนการเกิดเหตุ การเสียชีวิต และการบาดเจ็บค่อนข้างน้อยกว่าทุกปี แต่ในมุมของสัดส่วนของผู้เสียชีวิตค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเหตุการณ์ที่เกิด ความหมายคือเกือบทุกเหตุการณ์ที่เกิด (1 เหตุการณ์) จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ราย และทุก2 เหตุการณ์จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน นั่นอาจหมายถึงนัยยะเชิงคุณภาพของการก่อเหตุที่มีจำนวนเหตุการณ์และผู้เสียชีวิตที่ใกล้เคียงกัน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าผู้ได้รับบาดเจ็บ (จากการเกิดเหตุทั้งหมด 9 เหตุการณ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย)

 

ตารางแสดงสถิติการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2559 จำแนกรายจังหวัด

 

จังหวัด

จำนวนเหตุการณ์

ผลกระทบ

เสียชีวิต(ราย)

บาดเจ็บ(ราย)

ปัตตานี

43

7

33

ยะลา

9

8

5

นราธิวาส

23

14

19

4 อำเภอในจังหวัดสงขลา

5

3

4

 

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มในพื้นที่โดยเฉพาะประชาชนทั่วไป ซึ่งหากจำแนกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ พบว่าในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและอาสาสมัครของรัฐทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายแข็ง หรือฮาร์ดทาร์เก็ต พบว่ามีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 35 ราย โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดได้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในส่วนของประชาชนทั่วไป ที่รวมถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มผู้หญิง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายอ่อนแอ พบว่าเสียชีวิตจากการเกิดเหตุถึง 27 ราย และได้รับบาดเจ็บ 26 ราย

โดยสรุป หากสังเกตตัวเลขของจำนวนเหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ ค่อนข้างมีทิศทางที่ขยับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งอาจส่งผลให้หลายคนกังวลแต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 12 ปีที่ผ่านมากลับพบว่า ผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บของเดือนรอมฎอนปีนี้ มีตัวเลขน้อยที่สุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากหลายส่วน ทั้งในการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้ที่มีความเห็นต่าง การปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง การปรับตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสันติภาพของกลุ่มผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ หรือแม้แต่การขับเคลื่อนการทำงานของภาคประชาสังคมที่คอยหนุนเสริมบรรยากาศและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดความรุนแรงในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้เกิดการส่งสัญญาณที่ให้โอกาสในการเดินหน้าของรอมฎอนสันติภาพในพื้นที่นี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายควรร่วมกันทำความเข้าใจ เพื่อแก้ปัญหา และหาทางลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนควรช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังการก่อเหตุในพื้นที่ และควรสร้างพื้นที่แห่งการสื่อสารเชิงบวก เพื่อลดอคติ ความกลัว และ ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การหนุนเสริมบรรยากาศของสันติภาพ สันติสุขในสังคมต่อไป



[1] ข้อมูลเหตุการณ์ที่สรุปในการนำเสนอครั้งแรกจำนวน 62 เหตุการณ์ ไม่นับรวมเหตุก่อกวนสร้างสถานการณ์ได้แก่ การพ่นสีสเปรย์บนถนน แผ่นป้าย การโปรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ขวางทางจราจร จำนวน 18 เหตุการณ์ ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

[2] เดือนรอมฎอนช่วงสุดท้ายปีนี้มี 9 วัน ทางผู้เขียนจึงปรับคำจาก 10 วันสุดท้ายในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นช่วงสุดท้าย