Skip to main content

ไชยยงค์ มณีพิลึ

 
 
แม้จำนวนตัวเลขคนว่างงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่มีการระบุจำนวนที่แน่ชัดว่ามีอยู่มากน้อยเท่าไหร่ แต่ปัญหาความว่างงานของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกอ้างอิงจากทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. มาโดยตลอดว่า ปัญหาการว่างงาน คือ หนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่หนุนเสริมให้มีการก่อความไม่สงบ รวมทั้งปัญหาการเสพ การขาย ยาเสพติด ถูกระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากการ “ว่างงาน” ของคนในพื้นที่ และที่เห็นได้ชันเจน คือ จำนวน “คน” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนนับแสนคนและเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
 
จึงเป็นเรื่องที่สร้างความแปลกใจและความกังวลใจให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานความมั่นคงเป็นอย่างมาก เมื่ออยู่ๆ ตัวแทนของประเทศอินโดนีเซียได้มีการประชุมร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่แรงงาน เพื่อหารือในการนำคนงานจากประเทศอินโดนีเซียจำนวน 3,500 คน เข้ามาทำงานในจังหวังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เมื่อกล่าวถึงแรงงานจากประเทศอินโดนีเซียนั้น ส่วนใหญ่ขายแรงงานอยู่ในประเทศมาเซีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเราและเป็นแรงงานชั้นต่ำ เช่นเดียวกับแรงงานพม่า เขมร และ บังคลาเทศ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับประเทศมาเลเซีย และพยายามผลักดันให้ออกจากประเทศมาโดยตลอด
 
ในขณะที่ประเทศไทยนั้น แรงงานที่เข้ามาทั้งถูกต้องและผิดกฎหมาย เป็นแรงงานจาก พม่า กัมพูชา ลาว และอื่นๆ โดยในภาคใต้นั้น มีแรงงานอยู่ 3 ประเภท คือ แรงงานถูกต้อง แรงงานเถื่อน และ แรงงานทาส โดยเฉพาะแรงงานเถื่อน สร้างปัญหาอาชญากรรม และความมั่นคงมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเกิดลูกเกิดหลานของแรงงานเถื่อนที่เป็นชาวพม่า ที่แต่ละปีมีเด็กชาวพม่าเกิดในภาคใต้หลายพันคน แค่จังหวัดระนองเพียงจังหวัดเดียว มีแรงงานพม่าให้กำเนิดทารกถึงปีละ 3,000 คน จนเกิดขบวนการ “ว่าจ้าง” คนไทยในพื้นที่เป็น “พ่อเด็ก” เพื่อให้ได้ “สัญชาติ” ไทย และในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้า เราจะมีลูก “ต่างด้าว” ที่เกิดจากแรงงานต่างชาตินับแสนคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคงอย่างแน่นอน
 
โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เอกสารจากหน่วยงานความมั่นคง และ กอ.รมน. ระบุตรงกันว่า “อุสตาซ” หรือ ครูสอนศาสนาที่ทำหน้าที่ในการ “บิดเบือน” คำสอนทางศาสนา เพื่อปลุกระดมให้มีการแบ่งแยกดินแดนเกือบทั้งหมด ได้รับการศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย และแม้แต่ “แนวร่วม” ที่ปฏิบัติการก่อความไม่สงบ ก็ผ่านการฝึกอบรมจากที่เดียวกัน ในระยะหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงจึงมีการจับตามองผู้ที่เดินทางจากประเทศนี้เป็นพิเศษ
 
การนำเข้าแรงงานจากประเทศอินโดนีเซียล๊อตแรกจำนวน 3,500 คน จึงมีคำถามว่า เป็นการ “สุ่มเสี่ยง” เกินไปหรือไม่ และจะป้องกันอย่างไร หากมีคนในขบวนการก่อความไม่สงบจาก “เจไอ” แฝงตัวเข้ามา รวมทั้งเมื่อมีแรงงานถูกต้อง ต่อไปต้องมีแรงงานเถื่อนติดตามมาด้วย และแรงงานอินโดนีเซีย ดีกว่า ถูกกว่า แรงงานจากพม่า กัมพูชา หรือ ลาว ตรงไหน จึงได้มีการพยายามนำเข้า ทั้งที่ไทยไม่เคยนำเข้าแรงงานจากประเทศนี้มาก่อน และถ้าแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนจริง ทำไม่จึงไม่นำเข้าแรงงานจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาวเพิ่มขึ้น และถ้าแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนจริง ทำไมคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงยัง “ว่างงาน” เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีคำตอบให้กับสังคม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และชัดเจน
 
แน่นอน การให้ความช่วยเหลือนักลงทุน นักธุรกิจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้ความช่วยเหลือ เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการส่งเสริมการลงทุน แต่การช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องไม่ “ละเลย” ในเรื่องของการทำลายความมั่นคง และการช่วยเหลือต้องอยู่ในกรอบที่ชัดเจน ไม่ใช่การ “อุ้มชู” โดยการละเลยต่องานด้านความมั่นคง และสุดท้าย นักลงทุน นักธุรกิจ ต้องมี “ธรรมาภิบาล” ที่จะไม่เห็นแต่ “กำไร” โดยไม่มองปัญหาที่ติดตามมาในอนาคตที่รัฐและคนในพื้นที่ต้องแบกรับ “วิบากกรรม” ที่บรรดานักลงทุนเป็นผู้ทิ้งเอาไว้
 
ดังนั้น ก่อนที่จะติดสินใจนำแรงงานจากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาในภาคใต้ตอนล่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ กอ.รมน. และ ศอ.บต. คิดกันให้ดี คิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะดำเนินการ