“อย่ารังแกความขัดแย้งด้วยความรุนแรง เพราะความขัดแย้งคือขุมทรัพย์ล้ำค่าของสันติภาพ ไม่ใช่ปัญหาของสันติภาพ” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเกลียวความขัดแย้งสองชั้นกับเส้นทางสันติภาพ ว่าการอธิบายความคัดแย้ง และการแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้งมีหลายสำนัก และที่ผ่านมาสังคมเราพูดถึงความขัดแย้งด้วยความงงๆ
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งคำถามว่า ความขัดแย้งเป็นแมวได้ไหม? เวลาพูดเรื่องความปรองดอง ความขัดแย้งหากยุ่งด้วยความรุนแรง หรือการกดทับ โอกาสของความปรองดองจะต่ำ แต่หากไม่ยุ่งด้วยความรุนแรงโอกาสความปรองดองจะดีขึ้น หากคิดว่าความขัดแย้งเป็นคน หรือเป็นชีวิต จะสัมพันธ์กับ transformation ที่สามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีและทางที่เลวร้ายได้
มองย้อน ม.ค. 47 - ก.ค. 59 ปัจจัยที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลง แบ่งเป็น 4 ข้อ คือ
1.เหตุการณ์ทรงพลังแปลงเปลี่ยนภายใน เช่น เหตุการณ์ 6 ต.ค.19
2.เหตุการณ์ทรงพลังแปลงเปลี่ยนภายนอก เช่น เหตุการณ์ 9-11
3.เหตุการณ์ทรงพลังแปลงเปลี่ยนจากมหาชนตามกำหนดการ เช่น การลงประชามติแยกอังกฤษจากอียู หรือการประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย
4.เหตุการณ์ทรงพลังแปลงเปลี่ยนจากเหตุการณ์ขนาดใหญ่ ที่เปลี่ยน landscape ความขัดแย้ง เช่น สึนามิ เหตุการณ์ที่ฮิโรชิมา
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในภาคใต้ เหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 เป็น transformers-event ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง landscape ความขัดแย้งในภาคใต้ที่ 'ไม่เอื้อต่อเส้นทางสันติภาพ' ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุ่นแรงต่อเนื่องมา และเกิดคำถามว่า ผู้ก่อความรุนแรงนั้นอาจไม่ได้เป็นแค่ผู้ก่อการแต่อาจเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วย
"ผู้ก่อการมีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดขึ้น ไม่ได้มีมาอย่างลอย ๆ"
ส่วน 3 เหตุการณ์ทรงพลังเปลี่ยนแปลงเอื้อสันติในปัตตานี คือ 1.การกำเนิด คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ประมาณปี 2548 ซึ่งถูกวิจารณ์ในหลายด้าน เนื่องจากก่อตั้งในสมัยทักษิณ ชินวัตรเป็นนายก และมีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และ กอส.มีหน้าที่นำเสนอนโยบายและแนวทางแก้ปัญหา แต่คนไม่รู้ว่า กอส.ทำอะไร
กอส. ก่อตั้งและทำงานภายใต้บริบทของความรุนแรงที่ยังคงอยู่ แม้มีหลายฝ่ายมาร่วมกัน แต่พลังในการเปลี่ยนเส้นทางความขัดแย้งไม่เพียงพอ แต่ข้อดีคือความพยายามในการรักษาชีวิตคน และข้อเสนอในด้านบวกต่างๆ
2.หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คำขอโทษของ สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2549 ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้ขั้นต้นก่อให้เกิดความเงียบเกิดขึ้น เพราะการขอโทษต่อเหตุการณ์ความผิดพลาดถูกยอมรับแล้วโดยรัฐ โดยผู้มีอำนาจ โดยผู้นำทางการทหารเอง
3.สันติสนทนา แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในปัจจุบัน แต่เป็นเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่เอื้อสันติ
เกลียวความขัดแย้งสองชั้น สรุปแล้วว่าไม่มีความขัดแย้งที่อยู่โดดเดียว ปัตตานีสัมพันธ์กับความขัดแย้งในประเทศ และความขัดแย้งของเราได้กลายร่างเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ซึ่งตัวอย่างที่ผ่านมาไม่มีที่ไหนต่ำกว่า 10 ปี และมีตัวแปรอย่างน้อย 53 ตัวแปร กลายเป็นกับดัก “ม้าหมุน” ของความขัดแย้งที่วนกันไป
สรุปบทเรียน เส้นทางสันติภาพปัตตานี พันอยู่ในเกลียวความขัดแย้ง 2 ชั้น ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝ่ายผู้ก่อการ และระหว่างปัตตานีปาตานีกับกรุงเทพ/ประเทศไทย อันตรายคือความขัดแย้งยืดเยื้อมีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพและกลายเป็นกับดักขังคู่ขัดแย้งไว้จนคิดว่าไม่มีทางออก ออกไม่ได้
ส่วนเหตุการณ์ทรงพลังแปลงเปลี่ยน (transforming events) ทำให้เส้นทางสันติภาพปัตตานีเป็นไปทั้งทางบวกและทางลบได้ สำหรับอนาคตเป็นสิ่งที่ต้องเลือก แต่ปัญหาคือใครคือคนเลือก
“อย่ารังแกความขัดแย้งด้วยความรุนแรง เพราะความขัดแย้งคือขุมทรัพย์ล้ำค่าของสันติภาพ ไม่ใช่ปัญหาของสันติภาพ” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวปิดท้าย
เผยแพร่ครั้งที่เพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)