Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 

ข่าวคราวชายแดนภาคใต้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความน่าสนใจอยู่ 2 ประเด็น

หนึ่งคือการหารือในที่ประชุม ครม.ประจำสัปดาห์ก่อน เรื่องการแต่งตั้งรัฐมนตรีรับผิดชอบสถานการณ์ชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ เรื่องนี้ระงับไปท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย

อีกประเด็นคือข่าวข้อเสนอการตั้งเขตปกครองพิเศษของแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบ เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีบอกว่ายังไม่รู้เรื่องแต่ก็พร้อมจะเจรจา

ทั้งสองประเด็นแม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็สอดร้อยเชื่อมโยงกันในประเด็น ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาของรัฐไทย

การตั้งรัฐมนตรีประจำชายแดนใต้มิใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เคยเสนอมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เพื่อสร้างเอกภาพระหว่างหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ

ปัญหาเอกภาพในการทำงาน ถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยตลอด แม้กระทั่งปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบมีทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ศอ.บต. กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ พตท. รวมทั้งการตั้งหน่วยงานส่วนหน้าต่างๆทั้งตำรวจ มหาดไทย กระทรวงศึกษา สำนักข่าวกรอง และอื่นๆอีกมากมาย

หลายหน่วยที่ต้องมาทำงานด้วยกัน ต่างฝ่ายต้องรอรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาของตัวเอง เพราะโครงสร้างขององค์กรพิเศษเหล่านี้มีความแข็งตัวไม่มีความยืดหยุ่น การตั้งรัฐมนตรีเพื่อควบคุมตัดสินใจขั้นสุดท้ายในพื้นที่ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างยืดหยุ่นคล่องตัว ลดข้อจำกัดจากปัญหาระเบียบ งบประมาณ และกรอบอัตราบุคลากร จึงเป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ โครงสร้างองค์กรเหล่านี้ ล้วนมีการยกหน่วยงานต่างๆ ทุกกระทรวงมาไว้ เรียกว่าหน่วยส่วนหน้า การตั้งรัฐมนตรีเข้ามาดูแลเพิ่มขึ้นมาอีก ก็คงคล้ายกับรัฐบาลส่วนหน้า' เมื่อเป็นเช่นนี้ การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ต่างอะไรกับเขตปกครองพิเศษ' ไม่มีใครไม่ยอมรับว่า ชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ทั้งในด้านประชากร ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ภายใต้ลักษณะพิเศษที่ว่านี้ การบริหารและการปกครอง ควรดำเนินการอย่างไร

หากรัฐจะตัดสินใจดำเนินการ ปกครองแบบพิเศษ' ให้เหมาะสมกับความแตกต่างที่ว่าภายใต้การควบคุมของรัฐ ผ่านองค์กรทั้ง กอ.รมน. ศอ.บต. และพตท. ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกตกใจ ซ้ำยังได้ใจมวลชน ในฐานะเสนอหนทางให้ คนพื้นที่'เข้ามาร่วมจัดการเพื่อสร้างสันติสุข

แต่หากเรื่องนี้ถูกฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเสนอ ผลลัพธ์ย่อมต่างไป เพราะนี่คือ การท้าทายเชิงยุทธศาสตร์'

รับก็เสียหน้า เพราะสะท้อนว่านโยบายการเมืองนำการทหาร โดยยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ไม่อาจเป็นจริงได้ หากไม่ผ่านรูปแบบ เขตปกครองพิเศษ'

หากไม่รับก็จะกลายเป็นข้อโจมตีถึงความไม่จริงใจในการหาทางออก
เพื่อสร้างสันติสุข

เกมนี้จึงต้องคิดหาทางออกกันอย่างรอบคอบถี่ถ้วน !