ก่อนเกิดตลาดใต้โหนด
หลังจากที่ คุณ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (นักเขียนรางวัลซีไรท์ ปี 2539) เสียชีวิตลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549 เหลือเพียงผลงานเขียนที่ให้คนรุ่นหลังได้ระลึก ได้อ่านและได้ศึกษากลวิธีการเขียนจากเขา
จากการไปของคุณกนกพงศ์ไม่นานนัก ทำให้ ญาติ พี่น้อง พ้องเพื่อนและสมาคมนักเขียนได้สร้างบ้านนักเขียน โรงเรียนศิลปะและจัดกิจกรรมต่างๆ ที่บ้านของเขาในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บ้านหลังนี้จะเปิดทุกวัน ให้นักอ่านและผู้สัญจรได้แวะเข้าเยี่ยม สัมผัสกลิ่นไอดิน และ อาบแสงแดดในสวน เพราะ บ้านหลังนี้ ตั้งอยู่ใกล้สวน ถูกตกแต่งให้สบายใจเวลานั่ง และ อบอุ่นใจเมื่อได้หลับตา ซึ่งภายในร้านจำหน่ายเครื่องดืม หนังสือ และยังมีมุมศิลปะให้เดินชมได้อีกด้วย
ก่อนบ้านนักเขียนแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ จนถึงทุกวันนี้ บ้านหลังนี้เคยเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านไม่กล้าเข้ามา เพราะเป็นสถานที่ รวมตัวของผู้ชายไว้ผมยาว และเป็นนักดนตรี
นับเป็นอุปสรรคแรกที่พวกเขาต้องเจอในการที่จะดึงชาวบ้านให้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยกัน แต่ พวกเขาได้พลิกกลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วมกิจกรรม คือ พวกเขาได้ดึงเด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนศิลปะ หรือ การเขียนถือเป็นจุดเล็กๆจากเด็กๆ ที่ทำให้ผู้ปกครองเข้ามาสนใจทีละคน สองคนจนทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเป็นที่เชื่อใจของคนในพื้นที่มากขึ้น หลังจากนั้น จึงทำให้เกิดกิจกรรมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ จัดบูธเป็นต้น
เกิดการก่อตั้งตลาด
แนวคิดของการจัดตลาดนี้ เกิดเพราะ มีพื้นที่ว่างในบริเวณใกล้กับบ้านนักเขียน จึงเกิดแนวคิดที่จักทำตลาดขึ้น ซึ่งช่วงแรกๆ ก็จะเป็นการจ้างแม่ค้า ให้เก็บผักข้างบ้านมาขายและให้ค่าน้ำมันแม่ค้า ในช่วงแรกๆ ไม่มีใครกล้าที่จะลงทุนมาขายของในตลาด เพราะตลาดเพิ่งเปิด
แต่เวลาผ่านไปไม่นาน ก็ได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านให้เชิญกลุ่มแม่บ้านในชุมชน เข้ามาดูงาน ที่ตลาดว่าเป็นอย่างไร สามารถขายของได้หรือไม่ หลังจากนั้นการดู งานของกลุ่มแม่บ้านเสร็จ ทำให้เกิดการจองร้านเพื่อจะขายสินค้าในตลาดทีละร้าน สองร้าน จนทำให้ปัจจุบันมีตลาดประมาณ หนึ่งร้อยกว่าร้าน และจะเปิด ทุกวันอาทิตย์ตอนเช้าจนถึงช่วงบ่ายสอง
ปัจจุบันตลาดใต้โหนด
กลิ่นหอมของขนมหลากหลายชนิด กลิ่นหอมของหอหมก กลิ่นหอมของหยาดน้ำค้างที่กระทบดินให้กลิ่นของมันโชยมาเตะจมูก ภาพร้านเล็กๆที่ประดับไว้ในสวนทำให้ต้องก้าวยาวๆสัมผัสมากยิ่งขึ้น บวกกับเสียงเพลงเพื่อชีวิตเบาๆที่ลอยผ่านสายลมสัมผัสใบหูให้เพลินในการเดินเล่นตลาด ทั้งยังทำให้หวนระลึกถึงสมัยเด็กๆที่ตามหลังคุณยายเข้าสวน เป็นความรู้สึกที่อบอุ่นภายในจิตใจ ยิ่งเห็นแม่ค้าที่มีหลายช่วงวัยที่ยืนยิ้มให้ลูกค้า ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตลาดแห่งนี้มีเสน่ห์ในตัวมันมากขึ้น
อาจารย์จุฑาภรณ์ โสตถิโยธิน พี่สาวของคุณ กนกพงศ์ กล่าวว่า “ เปิดพื้นที่ว่างให้ผู้หญิงขายของ ไม่ว่าจะเป็นผักพื้นบ้าน ขนมพื้นบ้าน และต้องการให้ผู้หญิงมีอาชีพมากกว่าการเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้หญิง แต่เงื่อนไขของการนำสินค้ามาขาย จะต้องเป็นสินค้าที่ทำเอง ปลูกเอง เพราะตลาดจะเน้นเกี่ยวกับ พืช ผัก ปลอดสารเคมี” นอกจากจะมีสินค้าอุปโภค์ บริโภคแล้ว ก็ยังมีคุณลุงที่นั่งซีซอ ในซุ้มเล็กๆให้ชื่นชม มีการแสดงดนตรีให้ได้ชม แต่ที่ไฮไลท์สำหรับข้าพเจ้าคือ การตกแต่งร้านและการห่อหุ้มอาหารที่ขาย จะเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ใบตอง ใบบอน ส่วนน้ำดื่ม ก็จะบรรจุในกระบอกไม้ไผ่ นับว่าอยู่ในเงื่อนไขของตลาด “เป็นตลาดที่ปลอดสารเคมี ปลอดเรื่องโฟม และต้องสะอาด” อีกทั้ง ข้าพเจ้าเอง สังเกตว่า เกือบทุกมุมจะมีการแยกขยะได้ชัดเจน ถือเป็นการรักษาความสะอาดของตลาดภายในตัว
ปัจจุบันตลาดใต้โหนดเป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก จากคนในพื้นที่ และ นอกพื้นที่ ที่เข้ามาเที่ยวเยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดชลบุรี ตรัง สตูล ปัตตานี สงขลา และอีกหลายจังหวัดที่ทราบข่าวเกี่ยวกับตลาด แล้วพร้อมที่จะมาดื่มด่ำ ความเป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน หรือวิถีชีวิตแบบ Slow life นี่เอง
รูปภาพจากตลาดเพียงบางส่วน