เมื่อผมพาครอบครัวไปเที่ยวชายหาดในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นหาดตะโละกะโปร์ หาดปะนาเระ หาดวาสุกรีในจังหวัดปัตตานี หรือ หาดนราทัศน์ในจังหวัดนราธิวาส ฯลฯ ในวันหยุด เกือบทุกครั้งผมก็อดรู้สึกเสียใจไม่ได้กับสภาพของชายหาดที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยขยะ ในช่วงเทศกาล เช่นช่วงวันรายอ การไปเที่ยวชายหาดเป็นประเพณีของคนในพื้นที่ และช่วงเทศกาลแบบนี้แหละเป็นช่วงที่ทุก ๆ ตารางวาของชายหาดปกปิดด้วยขยะ บางครั้ง เมื่อผมกำลังเล่นน้ำอย่างสนุกสนานกับลูกสาว เห็นวัตถุสีขาวลอยอยู่บนผิวน้ำ เมื่อผมเข้าใกล้กับวัตถุดังกล่าวเพื่อเห็นว่า วัตถุนั้นคืออะไร (กลัวว่าเป็นของที่อันตรายต่อลูก) ก็ทราบว่า นั่นคือแพนเพิร์สที่ได้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว คนในพื้นที่หลาย ๆ คนมักจะกล่าวถึงความรักที่มีต่อบ้านเกิด แต่การกระทำของคนหลายคน (ไม่ใช่บางคน) ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาพูด คำถามง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคุณรักบ้านเกิด ทิ้งขยะในบ้านเกิดของคุณทำไม เขาอาจจะคิดว่า “แค่ทิ้งขยะแค่นี้ก็คงจะไม่เป็นไร” แต่เมื่อสมาชิกในสังคมที่ขาดจิตสำนึกหลาย ๆ คนคิดในตำนองนี้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือการเปลี่ยนชายหาดเป็นทั้งขยะสาธารณะที่ไม่มีใครดูแล และทำลายความสวยงามของทะเลธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง แนวคิดแบบนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ทิ้งขยะลงในทะเลในปริมาณมากที่สุดในเอเชีย จริง ๆ แล้ว แนวคิด “นิดเดียวไม่เป็นไร” นั้นไม่จริง และเมื่อแนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดร่วมของคนในสังคมส่วนใหญ่ สามารถสร้างความเสียหายมหาศาล อีกตัวอย่างหนึ่ง คนไทยหลายคนยังชอบแซงคิวในขณะที่คนอื่นต้องเข้าแถว คนที่แซงคิวก็อาจจะคิดว่า “ถ้าเราทำคนเดียวก็คงจะไม่มีอะไร” แต่เมื่อมีคนที่คิดแบบนี้มีสักสี่ห้าคน คนอื่นก็จะรู้สึกว่า “คนอื่นก็แซงคิวอยู่ แล้วทำไมกูต้องเข้าแถวอีก” และในสุดท้าย ไม่มีใครเคารพสิทธิของคนที่เข้าแถวก่อน จนถึงคนที่เอาเปรียบคนอื่นนั่นและที่ได้เปรียบจริง ๆ ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ วัฒนธรรมเข้าแถวก็ไม่อาจจะสร้างขึ้นมาได้ในขณะที่แต่ละคนไม่สามารถนึกถึงผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมของตัวเอง (สำหรับวัฒนธรรมการเข้าแถว กรุณาดูบทความเก่าของผู้เขียน “ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว (ไม่แซงคิว)” จากลิงค์ต่อไปนี้: https://blogazine.pub/blogs/shintaro/post/4853) ในการสร้างวินัย สิ่งที่สำคัญคือ แต่ละคนเห็นว่า ทุก ๆ คนต้องมีส่วนร่วมโดยไม่มีข้อยกเว้นโดยอาศัยหลักการความเท่าเทียมกัน ดังนั้น ไม่ใช่ “นิดเดียวไม่เป็นไร” แต่ “นิดเดียวนั้นสามารถสร้างปัญหาได้” การที่คนหลายคนในสังคมยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของ “นิดเดียว” ก็จะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อาชญากรมการซื้อเสียงขายเสียงยังระบาดในการเลือกตั้งในทุกระดับ คนที่รับเงินก็คงจะอ้างว่า “แม้ว่ากูจะรับเงินและลงคะแนนเสียงตามเงินที่ได้รับ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งแน่” แต่เช่นเดียวกันกับเรื่องของขยะ ในเมื่อแนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดร่วมของสมาชิกในสังคม จะทำให้ระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญเพื่อรักษาความเป็นประชาธิปไตยในสังคมปัจจุบัน กลายเป็นระบบอัมพาด ในเวลาเดียวกัน แนวคิดแบบนี้ก็จะทำให้คนในสังคมไม่สามารถตระหนักถึงพลังของคะแนนเสียงแต่ละคะแนน จริง ๆ แล้ว การสะสมของแต่ละเสียงนี้แหละพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมตามหลักประชาธิปไตย แต่ในเมื่อคนในสังคมเชื่อว่า “นิดเดียวไม่เป็นไร” เขาก็จะเชื่อว่า “นิดเดียวนั้นไม่มีพลัง” ทั้ง ๆ ที่ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่พยายามจะสร้างพลังให้แก่เสียงทุกเสียงมีพลัง มีเพื่อนของผมหลาย ๆ คนมาถามว่า “คนญี่ปุ่นสร้างวินัยได้อย่างไร” บางคนคิดว่า เกิดจากระบบการศึกษา บางคนเชื่อว่า การสร้างวินัยเริ่มต้นจากการปลูกฝั่งวินัยในครอบครัว บางคนก็วิเคราะห์ว่า ความเกรงใจต่อผู้อื่นอย่างสูงมาก (หรือสูงเกินไป) ของคนญี่ปุ่นนั้นเป็นที่มาของวินัย คำตอบเหล่านี้ถูกต้องหมด แต่ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ถูกมองข้ามก็คือ การสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของ “นิดเดียว” นี่ไม่ได้หมายความว่า คนญี่ปุ่นไม่เคยใช้แนวคิด “นิดเดียวไม่เป็นไร” โดยเฉพาะในเรื่องที่ตัวเองรับผิดชอบได้ เช่น “กินเหล้านิดเดียวไม่เป็นไร ถ้าเราไม่ขับรถ” หรือ “ขับรถเกินจำกัดความเร็วนิดเดียว (สัก 5-6 กิโลเมตต่อชม.) ไม่เป็นไร” แต่เมื่อการกระทำของตนจะส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่มีคำว่า “นิดเดียวไม่เป็นไร” ก็ไม่สามารถใช้ได้อีก เพราะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น สังคมจะไม่ยอมรับแนวคิดที่ว่า “รับเงินสินบนนิดเดียวไม่เป็นไร” เพราะสินบนคือสินบน “ขายเสียงนิดเดียว” ก็ไม่ได้ เพราะคะแนนเสียงของเรามีศักดิ์ศรี และทุกคนตระหนักว่า การขายเสียงจะบ่อนทำลายระบบการเลือกตั้งที่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชน โดยสรุป ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า “นิดเดียวไม่เป็นไร” นั้นคือแนวคิดที่ไม่อาจนำไปสู่การสร้างสังคมที่สามารถรับรองคุณภาพชีวิต เพราะในสังคมแบบนี้ทำให้พวกที่คิดแต่เอาเปรียบผู้อื่นจะได้เปรียบ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกและผู้ที่อ่อนแอหรือมีอำนาจน้อยจะเสียเปรียบตลอด ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะสถาปนาสังคมประชาธิปไตยที่มีวินัย เราก็ต้องยกเลิกอาศัยแนวคิด “นิดเดียวไม่เป็นไร” แต่ต้องสอนให้เข้าใจว่า “นิดเดียวนั้นมีพลัง”