วันที่อาทิตย์ ที่ 24 กรกฎาคม 2559 เวลา 8.30 นาที เป็นเวลานัดหมายของเยาวชนธารโตวัฑฒนวิทย์ที่ต้องมาลงทะเบียนในการทำกิจกรรมลงชุมชนวาดแผนที่เดินดิน โดยจุดนัดหมายคือ บริเวณอาคารเรียนในโรงเรียนธารโตวัฑฒนวิทย์
ก่อนที่จะลงชุมชนได้อธิบายเกี่ยวกับการทักทายเวลาลงชุมชน โดยวิธีการ คือ 1. การแนะนำตัว แนะนำโครงการ 2. ลงชุมชนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อะไร 3. พูดคุยเพื่อสานสัมพันธ์ 4.กางแผนที่เดินดิน และให้โจทย์ในการสอบถามข้อมูล คือ 1.จุดไหนในชุมชนที่ต้องการให้ปรับปรุง 2. จุดไหนที่ควรส่งเสริม 3.จุดเด่นของชุมชน 4.บ้านหลังไหนที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคุกธารโต โดยใช้แผนที่เดินดินที่วาดคร่าวๆในห้องเรียนให้ชาวบ้านที่เราเข้าไปคุยสามารถเพิ่มเติมข้อมูลในแผนที่เดินดินได้เลย
หลังจากนั้นแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน โดยมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มอีกสองคน โดยแผนการเดินลงชุมชนจะมีโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งกลุ่มที่1 จะเดินไปทางฝั่งขวา กลุ่มที่ 2 จะเดินไปทางฝั่งซ้าย และจะให้เวลาในการลงชุมชน 1 ชั่วโมง ตั้งแต่ 9.00-10.00 น.
ความคืบหน้าในการลงชุมชนของกลุ่มที่ 1 เริ่มต้นออกจากโรงเรียนผ่านป้ายบอกทางไปเบตง จะพบร้านค้าของฟาร์มโดยเป็นฟาร์มโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถบ้านธารโต แต่การแนะนำตัวแก่แม่ค้านี้ พี่เลี้ยงจะเป็นคนทำเป็นตัวอย่างก่อนให้เยาวชนได้ดูถึงวิธีการต่างๆ แต่แม่ค้า ไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูล
ถัดจากร้านค้าจะเป็นป้อมของฟาร์มฯ จะมีลุงรักษาความปลอดภัยอยู่ในป้อม เยาวชนก็จะเข้าไปสวัสดี ทักทาย แนะนำตัว แล้วถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่ลุงยามก็ตอบมาว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ลุงแนะนำให้เข้าไปในฟาร์มเพราะจะมีคนในพื้นที่ทำงานที่นี่กันเยอะ แต่ก่อนที่ก้าวไปในฟาร์มฯนั้น เยาวชนกางแผนที่เดินดินตรงป้อมเพื่อใส่รายละเอียดของสถานที่ที่พบเห็นระหว่างทาง ได้แก่ ป้ายบอกทาง ฟาร์มฯ ไปรษณีย์ เซ่เว่น เป็นต้น
ข้อมูลชุดแรกเราได้จาก ลุง สุรพล อายุ 53ปี(หลานของผู้คุมนักโทษ) พร้อมกับยายเลียง อายุ 71 ปี ทั้งสองทำงานในฟาร์ม ขณะนั้นกำลังบรรจุเห็ดใส่ถุง และบริเวรณดังกล่าวนั้นมีคนงานประมาณ 5 คน ทุกคนต่างยิ้มแย้ม ส่งสายตาด้วยความสงสัยแต่มือยังไม่ละจากหน้าที่ตรงหน้า เมื่อเยาวชนเข้าไปทักทาย แนะนำตัวแล้ว โจทย์แรกเริ่มถูกถามโดยน้องมายด์เยาวชนโรงเรียนธารโตวัฑฒนวิทย์ว่า เรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคุกธารโตเป็นอย่างไรค่ะ สิ้นคำถาม คำตอบจึงถูกเอ่ยจากปากคุณลุงว่า” คุกธารโตเป็นคุกเปิด ไม่มีรั้วกั้น โดยนักโทษที่เข้ามาอยู่เป็นนักโทษคดีรุนแรง ซึ่งนักโทษมีประมาณ 50-100 คน โดยแบ่งจากคุกตะรุเต่าที่สตูลมาอยู่ที่นี่ อีกทั้งนักโทษไม่กล้าหนีไปไหน เพราะ มันเป็นป่าทึบ ถ้าหนีก็ต้องโดนเสือกิน และบนภูเขาโน้น(พร้อมนิ้วที่ถูกออกไป)มีต้นไทรต้นหนึ่งที่เป็นลานประหารนักโทษ โดยนำนักโทษมัดกับต้นไทรแล้วปล่อยไว้ตรงนั้น พอมาอีกวัน นักโทษนั้นก็จะเสียชีวิตแล้ว” และยายเลียงกล่าวเพิ่มเติมว่า “การตายของนักโทษบางส่วนตายเพราะไข้ป่า”
จากนั้น เยาวชนก็ได้กางแผนที่เดินดินเพื่อให้ลุงและยายได้เพิ่มเติมสถานที่ต่างๆในชุมชน รวมถึงร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีให้เห็น
“ขอบคุณนะค่ะคุณลุง ขอบคุณนะครับคุณยาย และขอบคุณทุกคนค่ะ” เดี่ยวพวกหนูไปก่อนนะค่ะ
หลังจากนั้นได้ข้ามไปใน สำนักงานหมวดทางหลวง ตามคำแนะนำของเยาวชนที่บอกว่า “ในสำนักงานนี้จะมีคนที่มีอายุหลายคน เขาอาจจะรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็ได้”จึงตัดสินใจเข้าไปในสำนักงานแต่เหมือนฟ้าเต็มใจ ได้เจอกับคุณลุง ถนงศักดิ์ เพชรมณี อายุ 54 ปี แต่ลุงไม่สามารถบอกได้ว่า ประวัติศาสตร์คุกธารโตเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่คนดั่งเดิมที่นี่ แต่ลุงได้แนะนำว่า “ ระบบน้ำของหมู่บ้านมักจะมีปัญหา น้ำไม่ค่อยไหลประมาณ หนึ่งสัปดาห์บ้าง สองสัปดาห์บ้าง “ นับว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างหนึ่งในหมู่บ้านเกี่ยวกับสาธารนูปโภค
10.00 เยาวชนกลุ่มที่ 1 ได้เสร็จภารกิจตามเวลาที่กำหนด จึงเดินกลับโรงเรียน ด้วยความเหนื่อยล้าในการเดิน จนทำให้บางคนต้องคอตก จึงเป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยงในการสร้างเสียงหัวเราะ เสียงปลอบใจ ระหว่างเดินกลับไปโรงเรียน
ความคืบหน้าของกลุ่มที่ 2 เริ่มจากโรงเรียนเช่นกัน แต่ความโชคดีของกลุ่มคือได้เจอบ้านหลังแรกของข้าราชครูผู้หญิงที่เกษียนแล้ว อายุประมาณ 64ปี เยาวชนจึงเดินเข้าไปเยี่ยม พร้อมทักทายพูดคุยกัน และถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คุกธารโตว่าเป็นอย่างไร แต่ท่านได้เล่าว่า คนที่สามารถให้ข้อมูลได้ คือ ผอ.ที่ประจำการในโรงเรียนบ้านนิคมสร้างตนเองในปัจจุบัน และ ครูชัยที่ทำงานร่วมกันกับผอ. แต่ว่าครูชัยเสียชีวิตแล้ว
ก่อนที่ครูชัยจะเสียชีวิตเขาเสียสติมาก่อน เพราะเขาไปเจอกระโหลกศีรษะของคน ใกล้บริเวณบ้านพักครูของตัวเอง แล้วนำกระโหลกนั้นมาทำเป็นที่เขี่ยบุหรี่ หลังจากกนั้น เขาก็ได้เสียสติไปเลย และ เกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตในที่สุด
หลังจากนั้น ครูผู้หญิงก็ได้ชวนเยาวชนเดินดู ร่องรอยของคุกที่ยังเหลืออยู่ คือ ซากเตาเคี่ยวน้ำตาลซึ่งโดนน้ำท่วมครั้งใหญ่สอง สาม ปีที่ผ่านมา
ครูได้แนะนำต่ออีกว่าให้ถามผอ.ตอนนี้ท่านอยู่บ้านพักในโรงเรียน แต่เยาวชนได้เสนอว่า ก่อนที่จะไปบ้านผอ.ลองไปบ้านตาแก้วก่อน (โดยจะห่างจากบ้านครูผู้หญิงไม่ไกลมากนัก) เพื่อว่าเขาจะรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพราะเขาอายุเยอะแล้ว
หลังจากที่กล่าวขอบคุณ ครู จึงเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อไปเยี่ยมตาแก้ว ตามคำเสนอของเยาวชน เมื่อไปเจอตาแก้วแล้ว ตาแก้วก็ไม่สามารถบอกอะไรได้เหมือนกัน เพราะไม่ใช่คนในพื้นที่ดั่งเดิม
เหลือช้อยสุดท้ายคือ บ้านพักของผอ.ที่จะสามารถถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งผอ.ได้แนะนำว่า “หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธารโต ในหนังสือ จับตาย ของมนัส จรรยงค์ เพราะในเล่มนั้นจะมีทุกอย่างที่เกี่ยวกับคุกธารโตอย่างละเอียด”
10.30 นาที ทั้งสองกลุ่มได้พร้อมกันที่โรงเรียน และได้ให้เวลาพักเหนื่อย 10 นาทีแล้วเริ่มวาดแผนที่เดินดินโดยนำข้อมูลทั้งสองกลุ่มที่ลงชุมชนนำมาวาดในแผ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการวาดสถานที่ บ้านของผู้ใหญ่บ้าน บ้านของชาวบ้าน ตรอก/ซอยต่างๆในชุมชน สถานที่เชือดไก่ในหมู่บ้าน พร้อมเขียนอธิบายความสำคัญสถานที่ที่ได้ข้อมูล และเพิ่มสีสันอย่างสวยงาม
12.20 แผนที่เดินดินได้เสร็จสมบูรณ์ด้านข้อมูล รอการเพิ่มเติมจากชาวบ้านในวันประชุมชาวบ้านที่กำลังจะถึงนี้ เมื่อเสร็จจากการเติมแล้ว นำมาวาดให้สมบูรณ์ สวยงามอีกครั้งในกระดาษแผ่นใหญ่และห่อหุ้มด้วยพลาสติกให้ทนทานพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในชุมชนต่อไป ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์นั้น ทางโครงการได้เชิญวิทยากรในชุมชนที่ทราบเรื่องเกี่ยวกับคุกธารโตมาให้ความรู้พร้อมเพิ่มเติมร่องรอย “คุกธารโต” ในแผนที่เดินดิน
ปัจจุบันพื้นที่คุกธารโตเป็นที่ตั้งถิ่นหลายหมู่บ้าน โดยจากการบอกเล่าของ ชาวบ้าน พบว่า สมัยก่อน พื้นที่คุกธารโตไม่มีการตั้งถิ่นฐานแต่อย่างใด เป็นป่าดงดิบ แต่แล้วเมื่อยกเลิกคุกธารโต จึงมีชาวบ้านจากจังหวัดอื่นเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ ชาวบ้านจากอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านตำบลปุยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เข้ามาตั้งถิ่นฐานและจะตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า หมู่บ้านมายอ หมู่บ้านปุยุด แต่อยู่ในอำเภอธารโต จนถึงปัจจุบัน