Skip to main content

 

ตุรกีหลังความพยายามรัฐประหารกับข้อถกเถียงที่ตามมา

 

ยาสมิน ซัตตาร์

 

 
ขอบคุณภาพจาก Coşkun Yıldız
 

นับตั้งแต่ภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ประเทศตุรกีกำลังเผชิญกับผลภายหลังจากรัฐประหารครั้งนี้ที่อาจทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองการปกครองในตุรกีเปลี่ยนไป หนึ่งสิ่งที่เห็นได้จากความพยายามรัฐประหารในครั้งนี้ คือ เสียงของประชาชนที่กลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังในการช่วยทำให้ความพยายามครั้งนี้ล้มเหลวลง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเหตุการณ์นี้ ก็มีผลสะท้อนที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ตลอดจนเป็นช่วงเวลาที่การสื่อสารในประเด็นตุรกีปรากฏมากขึ้น

หลังจากที่มีการระบุแน่ชัดจากทางการตุรกีที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดว่า ผู้ก่อการรัฐประหารในครั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการของนายกุลเลน ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มนี้มีความขัดแย้งกับรัฐบาลตุรกีมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องด้วยการถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ดำเนินการสร้างรัฐซ้อนรัฐหรือรัฐลึกภายในประเทศตุรกี หลายครั้งก็เชื่อมโยงกับการใช้อำนาจของเครือข่ายตนในการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์บางประการ แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มกุลเลนเองนั้นก็อ้างว่ามีหลักฐานการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเอง และในครั้งนี้กุลเลนก็ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ (ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลนั้นก็มีหลักฐานชี้ชัดประกอบ ซึ่งยื่นส่งให้ทางสหรัฐฯ พิจารณาส่งตัวกุเลนกลับมาให้ทางการตุรกี)

การตอบโต้ต่อกลุ่มกุลเลนหลังจากรัฐประหารครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการโค่นฐานและเครือข่ายของกลุ่มที่เกี่ยวข้องนี้ในประเทศทั้งหมด โดยในช่วงเวลานับตั้งแต่ภายหลังจากการรัฐประหารถึงตอนนี้ มีการเรียกตัว สอบสวน เข้ายึด ตลอดจนจับกุม ผู้ที่มีส่วนกับกลุ่มนี้ในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ มูลนิธิ มหาวิทยาลัย หรือ โรงเรียน การตอบโต้นี้เป็นไปพร้อมกับการประกาศภาวะฉุกเฉินสามเดือน ผลจากการตอบโต้ของรัฐบาลในครั้งนี้ นำมาซึ่งทั้งข้อวิพากษ์และข้อสนับสนุน ทั้งจากสังคมตุรกีและสังคมโลก

หากมองในมุมของการวิพากษ์นั้น แน่นอนว่า การปราบปรามอย่างเด็ดขาดนี้ เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับคุณค่าในเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนภายใต้ระบบประชาธิปไตย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่ใช้เสียงของประชาชนเพื่อเอาชนะกับการรัฐประหาร หากแต่การที่รัฐบาลตุรกีอาศัยโอกาสนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดการกลุ่มผู้เห็นต่างในประเทศ ก็ถูกมองว่าเป็นแนวทางที่ไม่ต่างจากการสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับประธานาธิบดีแอรโดอานเอง

ขณะที่ ถ้ามองในมุมกลุ่มผู้สนับสนุนภายในสังคมตุรกีหรือในอีกหลากหลายประเทศ ก็เห็นว่าเป็นวิถีทางการเมืองของตุรกีที่เป็นไป การตอบโต้ต่อกลุ่มคนที่คิดจะเปลี่ยนประเทศให้กลับไปสู่การปกครองภายใต้ความสัมพันธ์ของฝ่ายการเมืองและการทหารเช่นในอดีตยุค 1960-80 ของตุรกี เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวตุรกีส่วนใหญ่นั้นไม่ยอมรับ ขณะเดียวกัน ภายใต้ประเทศซึ่งมีกฎหมายในการจัดการกับผู้ที่ทำผิดก็เป็นเรื่องที่ฟังดูจะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมสำหรับสถานะการเป็นรัฐที่ต้องดูแลความมั่นคงของประเทศเอง ในอีกแง่หนึ่งแล้ว ก็อาจมองได้ว่า หากรัฐบาลชุดนี้ไม่ดำเนินการเช่นนี้แล้ว กลุ่มนี้ก็อาจยังคงจะใช้โอกาสเพื่อกระทำการในลักษณะนี้อีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เป็นโอกาสให้กลุ่มทางการเมืองจากพรรคต่างๆที่มีความต่างทางความเห็นทางการเมือง มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากมองว่าเป็น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศเป็นสำคัญ แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์เล็กๆ จากพรรคฝ่ายค้านที่ให้รัฐบาลให้ความยุติธรรมต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมองจากแหล่งข่าวภายในแล้วก็เห็นว่าหากเรียกสอบสวนแล้วไม่เกี่ยวข้องก็จะปล่อยตัวไป และประชาชนทั่วไปที่ยังคงรวมตัวกันแสดงจุดยืนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศก็ยังคงดำเนินกิจกรรมได้ต่อไป แม้อาจมองได้ว่า อาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่จะสร้างความชอบธรรมแก่การกระทำของรัฐบาลก็ตาม

สองมุมมองจากเหตุการณ์การตอบโต้ของตุรกีครั้งนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อความเข้าใจมิติของความเป็นประชาธิปไตย ที่จะเป็นไปตามคุณค่าในแบบตะวันตกหรือแบบสากลที่เป็นทียอมรับกันทั่วไป หรือจะเป็นไปตามคุณค่าในแบบที่แต่ละพื้นที่ให้คำนิยามในแบบตนเอง หากท้ายสุดแล้วตุรกีไม่ตอบโต้ลักษณะนี้แล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาชนตุรกีส่วนใหญ่จะไม่พอใจ เป็นไปได้หรือไม่ว่าประชาชนตุรกีเองแม้จะไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลที่มีข้อผิดพลาดแต่ก็คิดว่าการทำลายกลุ่มที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศก็น่าจะเป็นแนวทางที่รับได้ตามกรอบกฎหมายของประเทศได้มากกว่า หรือจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ท้ายสุดเสียงของประชาชนก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือการสถาปนาอำนาจของผู้นำเอง การปะทะกันระหว่างการให้คำนิยามความชอบธรรมในประเด็นต่างๆ ภายใต้กรอบประชาธิปไตยในสังคมแบบตะวันตก กับสังคมแบบอิสลาม ก็ยังคงเป็นคำถามใหญ่อยู่เช่นเดิม แต่อย่างไรก็ตามหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ มีการถกเถียงต่อว่าหากการใช้เครื่องมือทางการเมืองล้มเหลวลงในตุรกี จะเป็นข้ออ้างให้การเรียกร้องถูกผลักไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นแนวทางเดียวในการขับเคลื่อนหรือไม่ ซึ่งก็ยังคงต้องหาคำตอบต่อไป

ฉะนั้นแล้ว ความพยายามรัฐประหารและผลตอบโต้ที่ตามมาของตุรกีในครั้งนี้ อาจทำให้เห็นว่า การทำความเข้าใจการเมืองภายในของแต่ละประเทศนั้น จำเป็นที่ต้องอาศัยทั้งจุดยืนในแบบสากลรวมถึงวัฒนธรรมและเงื่อนไขทางการเมืองภายในของแต่ละประเทศเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบเพื่อที่จะเห็นมุมมองที่รอบด้านมากขึ้นนั่นเอง