ประสบการณ์ภาคสนามจากงานวิจัย: บทสะท้อนมุมมองประชาชนชายแดนใต้ เริ่มคุ้นเคยกับสันติภาพ และหนุนเสริมด้วยความหวังว่าสันติวิธีคือแนวทางแก้ปัญหาชายแดนใต้
บันทึกจากประสบการณ์ภาคสนามเชื่อมโยงกับงานวิจัย
สุวรา แก้วนุ้ย
อาจารย์นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี
คำว่า "กระบวนการสันติภาพ" หรือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข" คงเป็นคำคุ้นเคยของนักวิชาการด้านสันติวิธี ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ/ ฝ่ายความมั่นคง และกลุ่มนำของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ
แต่....คำว่า "กระบวนการสันติภาพ" หรือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข" หาใช่เป็นคำที่คุ้นเคยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี เนื่องจากคำนี้เพิ่งมีการปรากฎตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา และการขยายฐานการรับรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคำเหล่านี้ ก็อาจยังไม่กว้างขวางไปจนรับรู้ได้ในทุกอณูของพื้นที่
แต่อย่างไรก็ดีช่วงสามปีที่ผ่านมาของการปรากฎตัวของการจัดการปัญหาด้วยสันติวิธี ที่เรานิยามไว้ว่าคือ กระบวนการสันติภาพนี้ ได้ถูกส่งต่อไปถึงคนในพื้นที่่จริง จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ประมาณครึ่งนึง (ร้อยละ 45.7) เคยได้ยินข่าวการพูดคุยสันติภาพ/ สันติสุข แต่...เมื่อถามถึงหัวหน้าคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายในปัจจุบัน ว่าคือใคร มีเพียงส่วนน้อยที่ทราบหรือรู้จัก (ร้อยละ 2) ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานสันติภาพยังคงต้องเดินหน้าขยายฐานความรู้ และข้อมูลเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักและเข้าใจอย่างแท้จริง
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เห็นว่าอาจจะมีบางข้อมูล บางเรื่องราวของกระบวนการสันติภาพ ที่ชาวบ้านยังไม่รับรู้ แต่หากมองต่อในมุมของการสนับสนุนการใช้การพูดคุย/ เจรจา เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ (ร้อยละ 56.4) ให้การสนับสนุนการสนับสนุนแนวทางนี้ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้/ ปาตานี และในมุมกลับสำหรับผู้ที่ตอบว่าไม่สนับสนุนแนวทางนี้มีเพียงร้อยละ 4 หรืออาจเปรียบเทียบง่ายๆ คือ จากชาวบ้าน 100 คน มีเพียง4 คนที่จะไม่สนับสนุนการใช้การพูดคุย/ การเจราจาในการแก้ปัญหา
เมื่อสอบถามถึงความหวังต่อการเกิดข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่นี้ พบว่าคำตอบที่ชัดเจนของชาวบ้านคือ ชาวบ้านรู้สึกมีความหวังว่าอีก 5 ปี ข้างหน้าพื้นที่แห่งนี้จะสามารถเกิดข้อตกลงสันติภาพได้ นี่อาจเป็นเพียงเสียงเล็กๆ ที่หลุดลอดออกมา แต่มันคือเสียงที่ยิ่งใหญ่หากทุกฝ่ายตั้งใจฟังอย่างแท้จริง และร่วมกันลงมือทำ
การขยายฐานความรู้ ฐานของผู้คนที่จะช่วยกันผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปนั้น อาจจะยังมีหนทางอีกพอควร ซึ่งจะสั้นหรือยาว จะขรุขระหรือราบรื่น สิ้นหวังหรือสวยงามนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คงต้องเป็นการร่วมด้วยช่วยกันจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เพื่อทำให้สันติภาพยังมีลมหายใจ และเดินหน้าต่อไปได้