พื้นที่สามัญชน: เสียงชาวบ้านกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ
24 ก.ค. 2559 องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน 43 องค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรม “ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประชาชน” พื้นที่แสดงออกของสามัญชน เปิดเวทีฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายประเด็น เริ่มเวทีแรกเมื่อเวลา 10.00 น. กับเวที “เสียงชาวบ้านกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ” จาก 9 กลุ่มเครือข่าย ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
000
สมชาย กระจ่างแสง เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ กล่าวถึงสวัสดิการรัฐ 2 เรื่องคือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุที่ให้ทุกคนอย่างเสมอภาค แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้กลับเป็นการเอาคำว่า “สิทธิเสมอกัน” ออกไป
จากรัฐธรรมนูญปี 2550 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
“มาตรา 51 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์”
แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 47 และ มาตรา 48 ระบุว่า
“มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ
บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”
“มาตรา 48 สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ทั้ง 2 เรื่องใน 2 มาตราที่ว่าด้วยสิทธิของประชาชน คือมาตราที่เอาสิทธิของประชาชนออกไป โดยมีการทำระบบรองรับนั่นคือการเปิดลงทะเบียนคนจนซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว และยังเป็นการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชน
“พวกเราไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่เลือกปฏิบัติและลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์” ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกล่าว
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ‘ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ’ เป็นคำขวัญในการต่อสู้ของ ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ตั้งแต่ปี 2518 และรัฐธรรมนูญควรบัญญัติให้หลักประกันในการมีที่ดินของเกษตรกรและต้องเขียนป้องกันไม่ให้ที่ดินตกเป็นสินค้าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
อุบลยังกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อกังวลของเกษตร คือ
1.เรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ในร่างรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ในมาตราที่ 72 ในแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างกว้างๆ ว่ารัฐพึ่งกระจายการถือครองที่ดิน เขียนไว้แค่นี้ คือทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ จึงนับเป็นเรื่องสิ้นหวังที่จะกระจายที่ดินให้ได้จริง
ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 72 ระบุว่า
“มาตรา 72 รัฐพึงดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน ดังต่อไปนี้
(1) วางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพ ของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(2) จัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมือง อย่างมีประสิทธิภาพ รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการ ของประชาชนในพื้นที่
(3) จัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกิน ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
(4) จัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของ ประชาชน รวมทั้งการประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอื่น
(5) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนา และสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อย่างยั่งยืน”
2. เรื่องสิทธิเกษตรกร สิทธิเลือกอาชีพ ครอบครองเมล็ดพันธุ์ แต่ที่ผ่านมาถูกแทรกแซงโดยนโยบายรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดเขตเพาะปลูกซึ่งทำให้เกษตรกรไม่มีโอกาสเลือกทั้งที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติไม่ได้คุ้มครองสิทธิการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และเลือกอาชีพเอาไว้
3.ร่างรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิการทำสัญญาไว้ แต่แค่นั้นไม่เพียงพอ เพราะบริษัทด้านเกษตรที่มีทั้งบริษัทไทยและข้ามชาติไม่ใช้สัญญา แต่ใช้ความสัมพันธ์ทางการผลิต
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกษตรกรอยู่ในฐานะที่ถูกรุมจาก 3 ฝ่าย คือ ทุน รัฐ และผู้บริโภค
“เกษตรกรต้องการรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองการประกอบอาชีพ โดยที่ดินไม่หลุดมือ” ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกล่าว
ไพฑูรย์ สร้อยสด สมัชชาคนจน กล่าวว่า หลังการเข้ามาของ คสช. คนจนกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยยกตัวอย่าง คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 ฉบับที่ 66/2557 และแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่แม้จะบอกว่าการดำเนินการต้องไม่กระทบผู้ยากไร้ แต่คนจนอย่างเราโดนก่อน อย่างกรณีไล่รื้อชุมชนบ้านเก้าบาตร จ.บุรีรัมย์ กรณีการตัดฟันต้นยางของเกษตรกรสวนยางที่ จ.สกลนคร หรือกรณีเขื่อนโป่งขุนเพชรที่ยืนเยื้อมานานซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วในรัฐบาลปัจจุบัน
คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ http://www.law.moi.go.th/pdf/order64.pdf
คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน http://www.law.moi.go.th/pdf/order66.pdf
ประเด็นต่อมาที่ส่งผลต่อกัน คือเรื่องราคาสินค้าเกษตร ราคายางตกต่ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล และในส่วนแรงงานก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกันในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่สามารถเรียกร้องการคุ้มครองจากรัฐได้ เนื่องจากมีการระงับการใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมบางมาตรา ส่งผลกระทบทำให้คนงานบางส่วนไม่ได้รับการคุ้มครอง
อีกทั้งยังมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่กดคนจนไม่ให้ลุกขึ้นมาส่งเสียงได้
“ร่างรัฐธรรมนูญที่เนื้อหามุ่งจำกัดสิทธิมากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน สมัชชาคนจนคงไม่สามารถรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้” ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าว
จำนง หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า จนคนเมืองนั้นตื่นรอบแรกคือตอนรัฐประหาร ตื่นอีกครั้งตอนประชามติ เพราะมีการจำกัดสิทธิของพี่น้องคนจนทั่วประเทศ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการประชามติสร้างความสะใจแค่ในบางมาตราที่จำกัดสิทธินักการเมือง แต่การที่ประชาชนไม่สามารถร่วมกำหนดนโยบายได้ก็เป็นปัญหา
ที่ผ่านมา 8 กลุ่มประเด็นปัญหาในเครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นปัญหาที่ถูกรุมเร้าจากนโยบายของรัฐ และร่างรัฐธรรมนูญนี้หากผ่านประชามติจะยิ่งสร้างความห่างชั้นของคนจน-คนรวย เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพ เรื่องสวัสดิการด้านการศึกษา
จำนง ยังได้อ่านแถลงการณ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะส่งผลต่อความยากจนและเหลื่อมล้ำมากขึ้นในอนาคต คนจนต้องการความเสมอภาค ความหวังคือระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เสียงของคนเท่ากันไม่ว่ารวยหรือจน และคนจนมีสิทธิร่วมกำหนดชีวิตตัวเองให้สามารถลืมตาอ้าปากในระบบทุนนิยมได้
แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะให้มีการเลือกตั้ง แต่กลับทำให้เสียงของประชาชนไร้ค่า ไม่สามารถเลือก ส.ว.และนายก ไม่มีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญให้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาจัดทำยุทธศาสตร์ของชาติ
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้คนจนไร้อำนาจ เราจึงยืนยันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้” ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค
สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย กล่าวถึงความกังวลต่อร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ใน 4 ประเด็น คือ 1.เขตศักยภาพแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ (Mining Zone) ซึ่งเกรงว่าจะมีการบังคับเอาที่ดินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินไปใช้เพื่อการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งที่แร่เป็นทรัพยากรของประชาชนทุกคน แต่คนในพื้นที่กลับไม่มีส่วนร่วม
2.การลดขั้นตอนการทำเหมืองแร่ ตัดการมีส่วนร่วมในการทำประชาคมออกทั้งหมด 3.การรวมอำนาจของรัฐไปอยู่ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในการตัดสินอนุมัติอนุญาต และ 4.การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กลายเป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ของกระบวนการที่หมดความสำคัญ
“เรายังเชื่อมั่นว่าแร่เป็นของพวกเรา แร่เป็นของประชาชน” ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย
นอกจากนั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย ยังเผยแพร่แถลงการณ์ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ระบุจุดยืน 4 ข้อ คือ 1.หลังประชามติไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะมีหรือไม่มีการเลือกตั้งก็ตาม จะผลักดันให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
2.ไม่รับร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... 3.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 7 ส.ค.นี้ ด้วยการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือโหวตโน และ 4.ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง
พฤ โอโดเชา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือและกลุ่มกะเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาของคนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขตป่า 15 จังหวัดชายแดน ที่ตกเป็นจำเลยสังคมมายาวนาน ทั้งที่เป็นชุมชนดั่งเดิมในพื้นที่แต่กลับถูกประกาศกฎหมายป่าไม้ทับซ้อนลงบนพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน กลายเป็นคนทำผิดกฎหมาย หลายหมู่บ้านถูกจับกุมไปเกือบทั้งหมู่บ้าน และยิ่งกระทบหนักเมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่า
ที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เอื้อให้กับสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมแต่สำหรับชนเผ่าก็ยังมีปัญหา แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่แน่ใจเรื่องข้อมูล ก่อนหน้านี้ เมื่อมีประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญส่วนตัวจะเดินทางไปร่วมหมด เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับพบว่ามีการไม่ให้ร่วมแสดงความเห็น ไม่ให้พูด
ล่าสุดมีสำนักข่าวโทรหาเพื่อชวนมาร่วมเวทีเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. ส่วนตัวยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่ได้อ่านข้อมูลในร่าง ทำให้มีคำถามว่าแล้วชาวบ้านบนดอยจะรู้เรื่องไหม ไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด เหมือนต้องแต่งงานกับผู้หญิงที่ไม่รู้จัก ถูกคลุมถุงชนแล้วต้องอยู่กับคนนั้นไปตลอด
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ คือ มาตรา 70 ที่บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 70 รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจ ได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย
สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า หลังรัฐประหารมีการปิดกั้นคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนในวงกว้าง ทั้งในกรณี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และผู้นำ สกต.เองก็ถูกเรียกปรับทัศนคติ นอกจากนั้นยังมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในชุมชนคลองไทรฯ สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในชุมชน และล่าสุดคือกรณีของคำสั่งที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ส.ป.ก.
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 36/2559http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order3...
คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะในแง่มุมของการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ยึดที่ดิน ส.ป.ก.จากทุนรายใหญ่มาจัดสรร แต่ยังกระทบกับประชาชนอีกนับพัน รวมทั้งสมาชิกของ สกต.ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินที่เข้าไปอาศัยในที่ดินรัฐเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดสรรที่ดิน และมีการเจรจาแก้ปัญหามาตลอด ซึ่งอาจต้องถูกขับไล่ออกจากพื้นที่
ตัวแทน สกต.ประกาศจุดยืน คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญนี้ลดทอนทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน 2.ทำให้พื้นที่ทางการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน 3.ระบอบราชการเป็นใหญ่ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะถูกควบคุมจากองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง ทำให้หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงไร้ความหมาย
4.การเข้าถึงทรัพยากรสังคมในทุกด้านถูกปิดกั้นและถูกใช้เพื่อผู้มีอำนาจ และ 5.ผลจากการพัฒนา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ จะถูกผูกขาดโดยผู้มีอำนาจ เพื่อผู้มีอำนาจ
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ หรือมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นแต่อย่างใด เมื่อไร้สิทธิเสรีภาพ ก็ไร้อำนาจการต่อรองทางการเมือง” ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
ตูแวนียา ตูแวแมแง เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) กล่าวว่า ปัญหาที่กระทบในระดับชุมชนรากหญ้า คือการเปลี่ยนแปลงผังเมืองจากพื้นที่เพื่อการเกษตรเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในภาวะที่มีการใช้กฎหมายพิเศษ ยังมีสถานการณ์เสียงปืนเสียงระเบิด และความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเกรงว่าจะเป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก
ตูแวนียา ยังกล่าวถึง 4 ข้อปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญขัดหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงทางการเมืองของประชาชน ไม่เคารพสิทธิชุมชน ทั้งนี้ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยและไร้การมีส่วนร่วม สันติภาพเกิดได้ยากในพื้นที่ รัฐธรรมนูญจึงถือเป็นตัวแปรสำคัญ
2.ร่างรัฐธรรมนูญส่งเสริมการเผยแพร่พุทธศาสนาเถรวาท ไม่เปิดรับศาสนาอื่น และพุทธนิกายอื่น ๆ 3.มีการลดทอนอำนาจทางการเมืองท้องถิ่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ปิดช่องทางการกระจายอำนาจ ปิดช่องทางเป็นพื้นที่จัดการตัวเอง ตรงนี้อาจทำให้การก่อเหตุในพื้นที่รุนแรงขึ้น 4.เปิดช่องทางให้รัฐละเมิดอำนาจของประชาชนโดยการใช้กฎหมายความมั่นคง
ตูแวนียา ระบุข้อเรียกร้องให้ คสช.ยุติบทบาท เปิดให้ประชาชนเลือกตั้ง สสร. และนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้ง
ส่วน มัธยม ชายเต็ม ตัวแทน Permatamas อีกคนหนึ่งกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนอยู่ ทำให้ชาวบ้านที่เทพาแสดงสิทธิเสรีภาพของตัวเองลำบาก มีทหารออกมาแสดงบทบาทในการควบคุม สิทธิชุมชน และการเคลื่อนไหวของชาวบ้านลำบากขึ้น
สุภาพร มาลัยลอย กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 และคำสั่ง คสช. กล่าวว่า หลังการรัฐประหารพบการออกคำสั่งและประกาศกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างชัดเจนคือ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และใช้ศาลทหารพิจารณาคดีลงโทษผู้ฝ่าฝืน อีกทั้งมีการตีความบังคับใช้อย่างกว้างขวางจนปัจจุบันแม้จะมี พ.ร.บ.ชุมชุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.ประชามติอยู่แล้ว ก็ยังมีการนำมาใช้อยู่
คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order3...
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce37-2...
ส่วนคำสั่งที่กระทบกับการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order3...
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order4...
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order9...
คำสั่งทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวมีผลเป็นการยกเลิกหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามกฎหมายในกิจการบางประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นอกจากนี้ยังมีประกาศอื่น ๆ ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน แต่มีปัญหาในการตรวจสอบและเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ออกคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2559 มีการยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการใช้อำนาจตาม มาตรา44 ออก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 เพราะเชื่อว่าผู้ได้รับผลกระทบย่อมมีสิทธิโดยชอบตามกฎหมายในการฟ้องร้องต่อศาล
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มีบทเฉพาะกาล 2 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ คสช. รวมทั้งการออกประกาศและคำสั่ง คือ
บทเฉพาะกาล มาตรา 265 มีผลให้ คสช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่หลังการเลือกตั้ง รวมทั้งยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 หัวหน้า คสช. และ คสช.ยังใช้มาตรา 44 ได้ต่อไป จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่
บทเฉพาะกาล มาตรา 279 มีผลให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหมดของ คสช. หรือของหัวหน้าคสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 รวมถึงประกาศ คำสั่ง ที่จะประกาศบังคับใช้ต่อไปในระหว่างดำรงตำแหน่งเพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ไม่มีความผิดใด ๆ และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป
การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมต้องกระทำเป็นพระราชบัญญัติ ยกเว้นประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
สรุปประกาศ คำสั่ง และอำนาจของ คสช.ยังมีอยู่ต่อ แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านแล้ว ดังนั้นไม่ต้องถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
สุภาพร ให้ความเห็นด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คสช.ควรทบทวนตัวเอง และควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยหยิบรัฐธรรมนูญที่เคยใช้และเป็นที่ยอมรับมาใช้ไปก่อนระหว่างมีการร่างใหม่ ส่วนคำสั่งและประกาศต่าง ๆ ควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณายกเลิก
เผยแพร่ครั้งที่ http://www.citizenthaipbs.net