โดย คำนึง ชำนาญกิจ และโซรยา จามจุรี
หลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรผู้หญิงผนึกกำลังกันในนามคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้(paw) รณรงค์เรียกร้องเพื่อขอให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัย โดยเฉพาะตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน ศาสนสถาน เพราะเป็นพื้นที่ของพลเรือนที่มีทั้งผู้หญิง และประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่ตลอดระยะเวลาของการเรียกร้อง เหตุรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้น แม้แต่ในบริเวณศาสนสถาน หรือใกล้ศาสนสถาน ซึ่งที่จริงแล้วควรจะเป็นพื้นที่สันติ(peace space) และปลอดภัยมากที่สุด เมื่อเร็วๆนี้ สมาชิกเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้(civic women)ร่วมกับคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) ซึ่งมีทั้งพุทธและมุสลิม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบริเวณศาสนสถาน “มัสยิด” ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างไร
ครอบครัวแรกที่อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นครอบครัวของ“อิสน๊ะ โตะตาหยง” เธอสูญเสียสามีเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2559 คือ อับดุลเราะแม โตะตาหยง ขณะที่เธอกับสามีเดินทางไปละหมาดตารอเวียะห์ในช่วงเดือนรอมฏอน ที่มัสยิดกลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ 5 กิโลเมตร เธอไม่คิดว่าในคืนนั้นจะเป็นคืนที่อัลลอฮ์จะเอาสามีเธอกลับคืนสู่พระองค์ เธอบอกว่ารู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว สามีเธอต้องจากไปด้วยแรงระเบิด M79 ที่มีการยิงเข้ามาตกหน้ามัสยิด โดยผู้ก่อเหตุยิงมา 2 ลูก ลูกแรกข้ามหลังคามัสยิดไปตกลงบนหลังคาบ้านชาวบ้าน แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ เพราะไม่มีใครอยู่ในบ้าน ต่อมาก็ยิงลูกที่สอง ตกหน้ามัสยิดริมถนนและโดนสามีของเธอ ขณะที่เขากำลังเดินเข้าประตูมัสยิด ส่วนตัวเธอปลอดภัย เพราะเข้าประตูฝ่ายผู้หญิงไปอยู่ด้านในมัสยิดแล้ว
เราเห็นเธอเข้มแข็งมาก ไม่มีน้ำตาสักหยดยามหวนรำลึกถึงเหตุการณ์และความสูญเสีย เลยถามว่าเยียวยาจิตใจอย่างไร เธอบอกว่าตอนที่ไปดูสามีที่โรงพยาบาล เห็นเขาครั้งแรกเธอทำใจไว้แล้ว เพราะเขาอาการหนักมาก
“ คือตอนที่โดน เขากำลังจะไปละหมาดและมีน้ำละหมาดแล้ว และก็เป็นเดือนบวชด้วย ก๊ะเลยทำใจไม่ให้เสียใจคือเขาไปดีแล้ว อาแบเคยคุยกับก๊ะบ่อยครั้งว่า การตายเป็นแค่การย้ายที่อยู่เท่านั้นเอง”
ครอบครัวอิสน๊ะ มีลูก 4 คน สามคนเรียนจบหมดแล้ว เหลือแต่คนเล็กที่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ครอบครัวเธอ เป็นครอบครัวใหญ่ วันที่เราไปเยี่ยม เห็นมีหลานเล็กๆหลายคนวิ่งเล่นกันสนุกสนาน ทำให้เธอไม่เหงาและไม่เครียด
“ไม่อยากให้เกิดขึ้นในบริเวณมัสยิด เพราะเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านจะไปทำศาสนากิจเพื่อสงบจิตใจ ตั้งแต่สมัยท่านนบีมูฮัมหมัดของเราก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่เขาก็จะมีกฎเกณฑ์ในการสู้รบ ในศาสนาอิสลามของเรา ไม่อนุญาตให้ทำร้ายผู้หญิง ผู้บริสุทธิ์ และเด็กหรือผู้ที่อ่อนแอกว่า และไม่ให้โจมตีสถานที่ที่ใช้ปฏิบัติศาสนากิจ” เธอให้ความเห็นที่เชื่อมโยงกับหลักศาสนาว่าทำไมในการสู้รบ จึงให้มีการละเว้นสถานที่ และผู้คนบางกลุ่ม ทำให้เรารู้ว่าเธอแม่นยำในเรื่องศาสนาอยู่มาก
ถามต่อว่าทางออกในการสร้างสันติภาพในมุมมองของเธอเห็นว่าเป็นอย่างไร? เธอบอกว่า “ไม่ว่าในชุมชนหรือสถานที่ใดจะสงบได้ ถ้ามีการพูดคุยกัน สมัยนบีก็ทำสัญญาสันติภาพ เมื่อพูดคุยกันและตกลงกันแล้ว ฝ่ายที่กำลังสู้รบกันนั้นถ้าได้พูดคุยกัน คิดว่าสงบคะ แต่ทุกคนจะต้องยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน”
ในวันเดียวกัน คณะของเราได้ไปเยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสียอีกครอบครัวหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงเดือนรอมฏอน ก่อนเกิดเหตุที่มัสยิดบันนังสตาหนึ่งวัน คือครอบครัวของน้องอร หรือรัชนู รักบุตร เธอต้องสูญเสียสามี คือ จ.ส.ต. อนุรักษ์ รักบุตร เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2559 จากเหตุระเบิดที่หน้าบริเวณมัสยิดกลางปัตตานี
ในวันเยี่ยมบ้านนั้น เธอซึ่งตั้งท้องอยู่ 7 เดือน พร้อมลูกชายอีกสองคน ชวนเราพูดคุยกันในร้านค้าบริเวณบ้านพักตำรวจใน อ.เมือง จ.ปัตตานี เธอเริ่มต้นว่า “เขาทำหน้าที่ของเขาดีที่สุดแล้ว เขาไปเข้าเวรเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องมุสลิมที่จะมาละหมาด พี่นุบอกเสมอว่าไม่เคยนึกกลัวกับเหตุการณ์ในสามจังหวัด เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่ ที่นี่เป็นบ้านเกิด พี่นุเป็นคน ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี”
“หลายๆครอบครัวที่เดือดร้อน เมื่อต้องสูญเสียคนในครอบครัว ลูกต้องสูญเสียพ่อหรือแม่ ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะเป็นพุทธหรือมุสลิม เด็กๆเหล่านั้นเขาจะอยู่กันอย่างไร สำหรับอรคิดว่าเราต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน เพราะว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือพ่อ แต่อร ในฐานะที่เป็นแม่ ก็ต้องทำให้เหมือนพ่อของลูกตอนที่มีชีวิตอยู่คะ”
“ก็ต้องทำใจสู้ เพื่อลูกอีก 2 คน รวมทั้งที่อยู่ในท้องอีก 1 คน อรคิดว่าถ้าอรหมดกำลังใจแล้วลูกอีก 3 คนจะเดินไปไม่ได้ ก็ต้องพยายามทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น อรมีกำลังใจจากเพื่อนๆทั้งพุทธและมุสลิมที่โทรมาและไลน์มา พี่น้องพุทธและมุสลิมก็ไม่ทอดทิ้งกันนะคะ ทางมัสยิดกลางก็มีกระเช้ามามอบให้ ทางจุฬาราชมนตรีมอบเงินให้หนึ่งแสนด้วยคะมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรืออิสลาม เขาทำความดีละเว้นความชั่วทั้งนั้น เราอย่ามาเจาะจงว่าอิสลามไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะคะ อย่าเอาภาพมารวมหมดว่าอิสลามเป็นผู้ก่อการร้าย”
ในการเยียวยาจิตใจ เธอบอกว่าแม้ว่าจะทำใจยังไม่ได้ แต่ก็พยายามคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะร้องไห้เสียใจมากแค่ไหนมันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เราไม่สามารถย้อนอดีตได้ เราต้องเดินหน้าต่อไป ในวันข้างหน้าเราต้องอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลูกๆ 3 คน โดยเฉพาะลูกที่กำลังจะคลอด หากแม่เศร้า กลัวลูกในท้องจะได้ผลกระทบเมื่อคลอดออกมา
จากการมาเยี่ยมบ้านครั้งนี้ แกนนำเครือข่ายของเราที่ทำงานอยู่ที่เยียวยาอำเภอเมืองปัตตานี ที่ได้ร่วมเยี่ยมบ้านด้วยเล่าว่า ไม่เฉพาะน้องอรที่กังวลเรื่องลูกในท้อง เหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณมัสยิดกลางปัตตานี ยังทำให้แม่วัยรุ่นมุสลิมที่ตั้งท้อง 3 เดือนอีกคน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งนั้นด้วย รู้สึกกังวลและเครียดมากว่า แรงระเบิดในวันนั้นจะทำให้ลูกของเธอในท้องได้รับผลกระทบเมื่อคลอดออกมา
“ผู้หญิงคนนี้มารับเงินเยียวยาที่อำเภอ แล้วก็รีบกลับไปขายข้าวที่มาเลย์ น้องเค้ายังรู้สึกผวา เขากลัวลูกในท้องไม่ปลอดภัย แต่หากเด็กที่คลอดออกมาได้รับผลกระทบ ทางการจะไม่สามารถเยียวยาอะไรได้ เพราะไม่อยู่ในหลักเกณฑ์” แกนนำผู้หญิงเราเล่าในวงเยี่ยม
เป็นอีกเรื่องที่น่าเศร้าใจ ที่ไม่เป็นข่าว ที่เราได้ร่วมรับรู้ในวันนั้น
สำหรับสองครอบครัวผู้สูญเสีย ที่พวกเราได้ไปเยี่ยมในวันนั้น จะเห็นว่าแม้ต่างศาสนาและวัฒนธรรม แต่ก็ร่วมชายคาบ้านเดียวกันในชายแดนใต้ และมีชะตากรรมเดียวกันที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย รวมแม้กระทั้งชีวิตน้อยๆที่ยังไม่ทันได้ลืมตาดูโลก ที่ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าพ่อ และอาจจะได้รับผลกระทบตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยที่เราไม่อาจรู้ได้ในตอนนี้
และเนื่องจากผู้หญิงและเด็กๆซึ่งไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่สู้รบ แต่กลับต้องเป็นผู้ที่ต้องเผชิญและแบกรับผลกระทบจากสถานการณ์และการสู้รบ การเยียวยา พร้อมๆกับการเรียกร้องขอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยจากเหตุรุนแรง จึงยังคงต้องขับเคลื่อนควบคู่กันไป จนกว่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ และไม่มีชีวิตใดๆที่ต้องสูญเสียให้เราต้องเยียวยาอีกต่อไป