เบญจมาศ บุญฤทธิ์
"ไต่สวนการตายกรณีตากใบ" คืออะไร ? หลายคนไม่รู้ว่า ยังมีคดีตากใบอีกหนึ่งคดีที่ยังมิได้สิ้นสุดลง และคดีนี้มีความสำคัญมาก ทั้งในแง่ "ความยุติธรรม" และการชำระ "ความจริง" ที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
เมื่อเอ่ยถึง "คดีตากใบ" คนทั่วไปจะนึกถึงสองสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ทำหลังเข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ นั่นคือการ "ถอนฟ้องชาวบ้านตากใบ" และ "จ่ายเงินชดเชยญาติผู้ตาย" โดยในคราวนั้น เราเชื่อกันว่าการถอนฟ้องชาวบ้านตากใบและการตกลงจ่ายเงินชดเชยแก่ญาติผู้ตาย จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมกลับคืนมาสู่จังหวัดชายแดนใต้
การถอนฟ้องชาวบ้านและการตกลงจ่ายเงินชดเชยให้แก่ญาติผู้ตายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ 2 คดีตากใบสิ้นสุดลง
คดีแรกเป็นคดีอาญาซึ่งอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ร่วมประท้วง 59 คนในหลายข้อหา อาทิ ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย, ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ, ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่
ส่วนคดีที่สองเป็นคดีแพ่งที่ญาติผู้เสียชีวิตในระหว่างถูกขนย้ายจาก สภอ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ฟ้องร้องค่าเสียหายจากหลายหน่วยงานรัฐ
หลายคนไม่รู้ว่า ยังมีคดีตากใบอีกหนึ่งคดีที่ยังมิได้สิ้นสุดลง และคดีนี้มีความสำคัญมาก ทั้งในแง่ "ความยุติธรรม" และการชำระ "ความจริง" ที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ นั่นคือ "การไต่สวนการตาย"
การไต่สวนการตาย1 หรือคดีชันสูตร (คดี ช.) จะเกิดขึ้นในคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งหมายถึง คดีที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย (เช่นกรณีที่มีการต่อสู้กันระหว่างผู้กระทำผิดกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ได้ยิงผู้กระทำผิดนั้นตาย หรือตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (ซึ่งหมายความรวมถึงกรณีการถูกจับกุม คุมขัง หรือการจำคุกในเรือนจำในทุกๆ กรณี) เนื่องจากคดีเหล่านี้กฎหมายถือว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ไม่ใช่การตายโดยสาเหตุทั่วไป และเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพ โดยให้อัยการ พนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ปลัดอำเภอขึ้นไปหรือเทียบเท่า ร่วมกับพนักงานสอบสวน และแพทย์ ทำการชันสูตรพลิกศพ จากนั้นพนักงานสอบสวนจะทำสำนวนส่งให้อัยการ จากนั้นอัยการจะเป็นผู้ทำคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลไต่สวนการตายและทำคำสั่งว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
ในการไต่สวนการตาย ศาลจะปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนที่ศาล และจะมีการส่งสำเนาคำร้องของอัยการและกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภรรยา2 ผู้บุพการี3 ผู้สืบสันดาย4 ผู้แทนโดยชอบธรรม5 ผู้อนุบาล6 หรือญาติของผู้ตาย7 ตามลำดับ อย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 15 วัน จากนั้นอัยการก็จะนำพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตายเข้ามาสืบ
เมื่อศาลปิดประกาศกำหนดวันไต่สวนแล้ว จนถึงช่วงเวลาก่อนที่การไต่สวนคำร้องของอัยการจะเสร็จสิ้น สามี ภรรยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นขอต่อศาลเข้ามาในคดีในฐานะผู้คัดค้านได้ตลอดเวลาเพื่อที่จะซักถามพยานที่อัยการนำสืบ และนำพยานหลักฐานต่างๆ เข้าสืบ โดยบุคคลเหล่านี้มีสิทธิตั้งทนายความเข้าดำเนินคดีแทนได้ แต่หากไม่มีการตั้งทนายเข้ามาศาลก็จะตั้งทนายความขึ้นเองเพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
ทั้งนี้ ในการไต่สวนกฎหมายให้อำนาจศาลเรียกพยานหลักฐานอื่นๆ มาสืบเพิ่มเติมได้ รวมทั้งศาลอาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นประกอบการพิจารณาก็ได้
ขณะเดียวกันบุคคลที่เป็นญาติผู้ตายข้างต้นก็มีสิทธิที่จะขอให้ศาลเรียกผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเรียกมาก็ได้
เมื่อมีการนำสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วศาลก็จะมีคำสั่ง และให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังอัยการ เพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป โดยคำสั่งของในเรื่องนี้ถือเป็นที่สุด ไม่อาจอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปได้อีก แต่จะไม่กระทบถึงสิทธิในการฟ้องร้องหรือการพิจารณาของศาล หากอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีแพ่งหรืออาญาเกี่ยวกับการตายนั้น
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการไต่สวนการตาย คือ การไต่สวนการตายมีขึ้นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และด้วยสาเหตุอะไรเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดหรือข้อกล่าวหาของผู้ตายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคดีที่อัยการขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับสาเหตุการตายของผู้ตายให้เป็นที่แน่ชัดเท่านั้น แต่มิได้ฟ้องผู้ใดว่ากระทำผิดทางอาญา
นอกจากนี้ บรรดาผู้ใกล้ชิดและญาติของผู้ตายซึ่งได้แก่บุคคลที่กล่าวข้างต้นนั้นมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาไต่สวนการตายนี้ได้ในฐานะผู้คัดค้านคำร้องของอัยการ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ผู้ที่เข้ามาได้ช่วยปกป้องรักษาประโยชน์และความเป็นธรรมให้แก่ผู้ตาย โดยเฉพาะสาเหตุของการตาย หากไม่มีการคัดค้านมีการไต่สวนไปฝ่ายเดียวและศาลมีคำสั่งว่าการตายของผู้ตายเกิดขึ้นด้วยอุบัติเหตุหรือโดยสาเหตุใดๆ ที่มิใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงย่อมยุติตามนี้
เมื่อศาลมีคำสั่ง คำสั่งของศาลจะเป็นที่สุด บรรดาญาติของผู้ตายจะขอเข้ามาคัดค้าน อุทธรณ์ หรือฎีกาว่าความตายของผู้ตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานไม่ได้อีกแล้ว
และแม้คำสั่งของศาลจะไม่กระทบต่อสิทธิในการฟ้องคดี หากบรรดาญาติของผู้ตายต้องการจะฟ้องเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตาย แต่หากขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลคำสั่งดังกล่าวอาจมีผลไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ จนยากแก่การที่จะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้
คดีไต่สวนการตายผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการขนย้าย 78 รายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 "หมายเลขคดีดำ ช. 2/2548 ศาลจังหวัดปัตตานี" เป็นการไต่สวนระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี และนายมาหามะ เล๊าะบากอ กับพวกรวม 78 คน ผู้ตาย
โดยก่อนที่กระบวนการไต่สวนจะเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2548 อัยการผู้ร้องยื่นคำร้องขอโอนคดีเพื่อพิจารณาที่ศาลจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยให้เหตุผลว่าการพิจารณาที่ศาลจังหวัดปัตตานีอาจมีการขัดขวางต่อการพิจารณาและน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายแรงอื่นขึ้นได้ แต่ทนายฝ่ายญาติผู้ตายผู้คัดค้านคัดค้านการโอนคดีเพราะไม่สะดวกในการเดินทางของทนายความญาติผู้ตาย วันที่ 20 ตุลาคม 2548 ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งสมควรให้โอนคดีไปที่ศาลจังหวัดสงขลา และให้ฝากบางประเด็นมาสืบพยานที่ศาลจังหวัดนนทบุรี
โดยศาลจังหวัดนนทบุรีได้กำหนดวันสืบพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ 4 วัน คือวันที่ 3, 4, 5, 10 เมษายน และ 1 มิถุนายน 2550 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี
ส่วนที่ศาลจังหวัดสงขลา ได้กำหนดนัดหมายไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องในวันที่ 5, 6, 7, 8, 12, 15, 19, 22, 26, 27, 29 มิถุนายน 2550 และไต่สวนพยานฝ่ายผู้ตายในวันที่ 1, 2, 8, 9, 28, 29 30 สิงหาคม วันที่ 4, 5, 6, 11, 12, 13, 18, 19, 20, 25, 26, 27 กันยายน และวันที่ 2, 3, 4, 9, 10, 11, 16, 17, 18, 24, 25 ตุลาคม 2550
ในปี 2550 นี้ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่กระบวนการยุติธรรมจะตอบคำถามกับสังคมว่า "78 ศพตากใบ" ตายเพราะเหตุใด เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ตากใบเป็นเหมือนเช่นโศกนาฏกรรมอื่นๆ ของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งยังคงเป็นปริศนาในประวัติศาสตร์
เชิงอรรถ
[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
[2] กรณีของสามี ภรรยา ต้องเป็นสามี ภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือได้จดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น
[3] หมายถึงผู้สืบสายเลือดโดยตรงขึ้นไป ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย (โดยตรงเท่านั้น ไม่รวมสายข้างเคียง เช่น ป้า น้า หรืออา ) ซึ่งถือตามความเป็นจริง กรณีพ่อ อาจเป็นพ่อที่ไม่ได้จดทะเบียนสมสรกับแม่ก็ได้
[4] หมายถึงผู้สืบสายเลือดโดยตรงลงมา ได้แก่ ลูก หลาน เหลน เป็นต้น โดยถือตามความเป็นจริงเช่นเดียวกับกรณีผู้บุพการี
[5] หมายถึงผู้ที่ใช้อำนาจปกครองดูแลผู้เยาว์ ในกรณีที่ผู้ตายเป็นเด็ก ซึ่งก็หมายถึงพ่อ แม่ แต่กรณีของพ่อต้องเป็นพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายคือได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ หรือมีการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วเท่านั้น
[6] หมายถึงผู้ที่ดูแลบุคคลที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ เช่นคนพิการ ในกรณีที่ผู้ตายเป็นผู้ไร้ความสามารถ และศาลได้มีคำสั่งให้ตั้งผู้อนุบาลแล้ว
[7] มีความหมายอย่างกว้าง ทั้งพี่น้อง ลุงป้าน้าอา เป็นต้น