Skip to main content

 

ปัญหาที่มหาวิทยาลัยเอกชนไทยต้องตั้งรับ

 

โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

ขอบคุณภาพจาก http://www.moe.go.th/

 

ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2559 ผมมีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมเสนอความคิดเห็นไปว่ามีบางเรื่องที่มหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยเอกชนจำเป็นต้องรับรู้และต้องตั้งรับให้ได้ ส่วนจะหาทางรุกกลับอย่างไรค่อยไปว่ากัน บางเรื่องที่ว่านี้มีอยู่เรื่องหนึ่งที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของมหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้นี้คือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลง ด้วยหลายสาเหตุดังนี้

 

1. ประเทศไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงและการลดลงเป็นไปอย่างรุนแรง ถึงวันนี้แต่ละปีมีนักศึกษาเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยลง พื้นที่เรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐมีเหลือมากขึ้น อย่างเช่น ปีการศึกษา 2559 มีที่นั่งเหลือถึง 60,000 ที่ทั่วประเทศ เมื่อมหาวิทยาลัยของรัฐไม่ต้องการลดหลักสูตร ลดคน หรือลดงบประมาณจึงจำต้องหาหนทางรับนักศึกษาในทุกวิธีการ มหาวิทยาลัยของรัฐจึงต้องแย่งนักศึกษากัน

 

2. ประเทศไทยส่งเสริมค่านิยมการเรียนระดับปริญญาตรีมากเกินเหตุ ส่งผลให้อาชีวะที่สังคมต้องการอย่างมากอยู่ในภาวะขาดแคลน ฝ่ายนโยบายการศึกษาของชาติจำเป็นต้องหาทางส่งเสริมให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าสู่ระบบอาชีวะมากขึ้น โอกาสที่มหาวิทยาลัยจะถูกแย่งนักศึกษาจึงสูงขึ้น

 

3. คนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธระบบมหาวิทยาลัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบสำหรับความสำเร็จในอนาคตของคนเหล่านี้อีกต่อไป ตัวอย่างความสำเร็จของคนอย่างสตีพ จ็อบส์ บิล เกตส์ ที่ไม่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ ระบบการเรียนนอกมหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งของมหาวิทยาลัย

 

4. คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งแม้ยอมรับระบบมหาวิทยาลัยแต่มองว่าเวลาสี่ปีตามระบบหลักสูตรปกติในมหาวิทยาลัยหมายถึงการสูญเสียโอกาส คนกลุ่มนี้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้ยืดหยุ่นมากขึ้น หากมหาวิทยาลัยไม่ปรับปรุงหลักสูตร ไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอน คนกลุ่มนี้ย่อมเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะหายไปจากระบบมหาวิทยาลัย

 

แม้ทั้งหมดที่กล่าวถึงคือภาวะคุกคามมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันกลับกลายเป็นโอกาสสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนระดับคุณภาพในเขตสามจังหวัดภาคใต้ พร้อมกันไปด้วย จากเหตุผลที่ว่า

 

1. มหาวิทยาลัยเอกชนไม่พึงพิงงบประมาณของรัฐย่อมมีอิสระในการปรับตัวมากกว่า หากพัฒนามาตรฐานการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับ มหาวิทยาลัยเอกชนจะมั่นคงได้มากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ

 

2. ขณะที่ประชากรไทยลดลง กลับปรากฏว่าประชากรในจังหวัดที่มีมุสลิมเป็นประชากรหลักเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรวัยเรียนในจังหวัดเหล่านี้มีมากกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มเดียวกันในพื้นที่อื่นถึงสี่เท่า มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้นอกจากจะไม่ประสบปัญหาการลดลงของประชากรแล้ว ยังมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกต่างหาก จำนวนนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาจึงมีมากกว่าพื้นที่อื่น

 

3. รัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจและอาชีพ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Startups มากขึ้นเพราะเป็นอนาคตของประเทศไทย ความสำเร็จของ SME และ Startups ในอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลียหรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยเอกชน สิ่งนี้คือโอกาสหากมหาวิทยาลัยเอกชนประสงค์จะสร้างชุมชนผู้ประกอบการรอบมหาวิทยาลัย ทั้งนี้โดยจำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับพันธกิจใหม่นี้ให้ได้เสียก่อน

 

4. พัฒนาการด้านดิจิทัลและไอทีก้าวไปเร็วมาก ใช้ทุนน้อย ทั้งความเป็นพื้นที่ชนบทที่มหาวิทยาลัยเอกชนนิยมไปตั้งอยู่ไม่ได้ทำให้เสียเปรียบ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเอกชนในพื้นที่ห่างเมืองหากมีวิสัยทัศน์ย่อมสามารถสร้างชุมชนผู้ประกอบการด้านการพัฒนาดิจิทัลและด้านอื่นๆเช่นการพัฒนางานหัตถกรรมและอื่นๆได้ ทั้งมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ

 

โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว มหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีศักยภาพในการปรับตัวได้เร็วกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ จึงย่อมสามารถกุมความได้เปรียบไว้ได้ สำคัญคือมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีวิสัยทัศน์และความกล้ามากพอที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองหรือไม่เท่านั้น