Skip to main content

 

 

ในวันที่ ‘ยี’ หนุ่มนราธิวาสพร้อมเพื่อนๆ จากจังหวัดชายแดนใต้พากันขึ้นเหนือเป็นครั้งแรก เพื่อสมทบกับชาวบ้านอีกนับร้อยคนจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศปฎิบัติภารกิจร่วมกันสร้างตลิ่งริมแม่น้ำโขงให้กับชาวบ้านปากอิง จังหวัดเชียงราย เขารู้สึกถึง ‘เงียบ’ ที่เป็นความเงียบอันแตกต่างจากความเงียบที่บ้านของเขา

“มันเป็นความรู้สึกที่ไม่เคยเป็นมาหลายปีแล้ว มันไม่ต้องกังวล แม้ขามาเราจะขับรถหลงกันจนมืด แต่เราก็ไม่ต้องกลัวกับความมืดของที่นี่”  ยีเล่าให้เพื่อนๆจากเครือข่ายต่างๆ ฟัง แม้สำเนียงภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรงนัก เพราะเขาคิดและพูดมลายูมาตั้งแต่เกิดเช่นเดียวกับชาวมุสลิมมลายูทั่วไป แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ในวงสนทนา ตรงกันข้ามเขากลับสร้างความเฮฮาได้มากกว่าใครอื่น

“กลางเดือมมิถุนายนนี้พวกเราจะจัดงานน่ะครับ เชิญทุกคนไปด้วย ใครไปแล้วได้กลับมา รับรองอยู่ยาว” เขาปล่อยมุขกระจาย สร้างบรรยากาศครื้นเครงต่อเนื่อง “รับรองเราจะดูแลความปลอดภัยให้เป็นอย่างดี”

ในวันนั้นรอบตัวยีโอบล้อมด้วยความอบอุ่นจากมวลมิตร 

เป็นมวลมิตรซึ่งหลากหลายที่มา บางคนมาจากสุดแดนอีสาน บางคนอยู่บนดอยสูง บางคนเป็นชาวเกาะในอันดามัน บางคนอยู่ใกล้เมืองหลวง ฯลฯ แต่ทั้งหมดถูกโยงใยไว้ด้วย ‘มิตรภาพ’

หลังเสร็จสิ้นงานลงแรงสร้างตลิ่ง ยีและเพื่อนๆก็ต้องกลับสู่ความเงียบและความมืดในกลิ่นไอและบรรยากาศเดิมๆ 

เสียงปืนเสียงระเบิดยังดังสนั่นอยู่ในสนามความขัดแย้ง

วันนี้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในขั้นวิกฤต แม้หลายฝ่ายที่มีอำนาจพยายามควานหาทางออก โดยงัดเอายุทธศาสตร์และยุทธวิธีสารพัดมาใช้ เม็ดเงินนับแสนล้านถูกถมลงพื้นที่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แม้ทุกฝ่ายที่เข้าไปแก้ปัญหาพยายามท่องสูตร ‘เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา’ แต่เอาเข้าจริงๆกลับแกะเกลากันได้แค่เปลือก เพราะแทนที่จะเคารพและเชื่อมั่นในวิถีของชุมชน กลับพยายามโยกซ้ายโยกขวาเพื่อดึงชาวบ้านมาเป็นพวก

จริงๆ แล้วข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงต่างระบุตรงกันว่า มีผู้ที่ก่อความไม่สงบและใช้ความรุนแรงอยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมดในชุมชนชายแดนใต้ เพียงแต่คนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ระหว่างเขาควาย โดยมีความกลัวเป็นตัวกดทับไว้ ดังนั้นการเข้าใจและเข้าถึงจึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนพอสมควร

การปล่อยให้หมู่บ้านต้องตกอยู่ในความเงียบและความมืด ในบรรยากาศสุดแสนวังเวงว้าเหว่ย่อมไม่เป็นผลดีแน่ เพราะไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

ขณะเดียวกันการสนับสนุนชาวบ้านได้ขับเคลื่อนชุมชนของตัวเองก็จะต้องเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ และมีความใจกว้างพอ มิใช่ทำงานแบบฉาบฉวยเพียงเพื่อต้องการดึงพวกเขามาเป็นพวก หรือทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

การขับเคลื่อนชุมชนต้องตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาคมหมู่บ้าน

หากฝ่ายที่เข้าไปแก้ปัญหายังทำงานด้วยความ ‘หยาบ’ นอกจากไม่สามารถเยียวยาสถานการณ์ให้ดีขึ้นแล้ว กลับยิ่งทำให้เกิดอุปสรรคทับซ้อนเข้าไปอีก

ยกตัวอย่างกรณีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างและพรุบาเจาะ หรือเรียกสั้นๆว่าโครงการเขื่อนสายบุรี ซึ่งกรมชลประทานเป็นเจ้าของเรื่อง โดยพยายามติดคำว่า ‘พัฒนา’ ไว้ในชื่อโครงการเพื่อให้ดูดี แต่หากโครงการนี้ผุดขึ้นจริงจะทำลายวิถีชีวิตของชุมชนราบเรียบเป็นหน้ากลอง 

สุดท้ายกลายเป็นการเพิ่มเงื่อนไขและเพิ่มความเข้มของสีแดงมากขึ้น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ากังวลใจมากเกี่ยวกับงบประมาณก้อนใหม่ที่รัฐบาลเตรียมทุ่มลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกมหาศาล

เป็นข้อกังวลถึงความรอบคอบและข้อกังขาในความโปร่งใสของคนบางกลุ่ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างปัญหาซ้อนปัญหา

วิถีของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้มีศาสนาเป็นหลักนำในการดำรงชีวิตอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทั้งหลายแหล่ก็ไม่ควรหนีหลักนี้

ขณะนี้ยีและชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมในหลายหมู่บ้านได้โยงใยกันเป็นเครือข่ายเพื่อทำงานพัฒนาตามแนวที่ชุมชนต้องการ นอกจากนี้ยังเชื่อมร้อยกับชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ทั่วทุกภาค ซึ่งหลายครั้งที่พวกเขามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนบทเรียนกัน

เมื่อใจถึงใจ ต่างคนต่างเคารพในวิถีของกันและกัน อุปสรรคอื่นๆก็ดูจะเป็นเรื่องเล็กไปหมด

ยามนี้เราจะทำอย่างไรให้ความรู้สึกในความเงียบและความมืดในบ้านเกิดของยีเป็นความรู้สึกเดียวกันกับเมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปภาคเหนือ

ทำอย่างไรให้ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้รับรู้ว่ายังมีคนในสังคมใหญ่พร้อมสนับสนุนและยืนเคียงข้างพวกเขาให้ก้าวเดินไปในแนวทางที่พวกเขาเป็นคนกำหนดขึ้นเอง หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้รอบด้านอย่างอบอุ่น

เสียงของคนส่วนใหญ่ควรจะดังที่สุดมิใช่หรือ 

 

ภาสกร จำลองราช : 7 มิถุนายน 2552