Skip to main content

 

 

ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยปัจจุบัน มีมิติที่เพิ่มขึ้นมากมาย แน่นอนว่าความซับซ้อนก็ซอยถี่มากขึ้นไปด้วย ไม่แปลกที่เรารู้สึกว่าโลกนี้อยู่ยากขึ้น เพราะความซับซ้อนมันผลิออกมาในหลายด้าน หลายประการ

 

"การวางนโยบายการต่างประเทศ" เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง ที่แต่ละประเทศต้องพินิจพิเคราะห์เป็นอย่างดี

 

ยิ่งสถานะประเทศมีบทบาทมากเท่าไรในเวทีโลก ขั้นตอนการพิจารณาและตัดสินใจกำหนดแบบแผนเรื่องนี้ยิ่งสำคัญ ยิ่งต้องใส่ใจ และพร้อมรับผลกระทบที่ได้ตัดสินใจไว้แล้ว

 

กระบวนการจัดการเหล่านี้ ต้องอาศัยความรู้เป็นองค์ประกอบหลายศาสตร์ แน่นอนว่าแต่ละศาสตร์ย่อมมีน้ำหนักแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ สถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น ความเป็นไปภายในประเทศที่เป็นอยู่ หรือแม้แต่ค่านิยม ทัศนคติของผู้นำหรือคณะผู้ถืออำนาจก็มีผลทั้งนั้น

 

ตัวอย่างเช่น นโยบายต่างประเทศของสิงค์โปร์ ย่อมแตกต่างกับ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากนโยบายต่างประเทศของจีน หรือไม่เหมือนกับนโยบายต่างประเทศของอียิปต์ อย่างแน่นอน แม้ว่าจะอยู่ในความเป็นไปของโลกช่วงเวลาเดียวกัน

 

แต่เป้าหมาย แรงกดดัน เหตุการณ์ที่ประสบ ย่อมแตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

และแน่นอนว่าประเทศทั้งหลายในโลกนี้ ก็ย่อมมีนโยบายต่างประเทศที่ไม่เหมือนกัน ตามความอธิบายคร่าวๆ ในข้างต้น

 

โดยพื้นฐานแล้ว นโยบายต่างประเทศ ของบรรดาประเทศที่แข็งแกร่งในแต่ละด้านนั้น มักจะมีความแน่นอน หรือ เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนในเวทีนานาชาติได้ยาก หรือ เชื่องช้า อันเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ของชาตินั้นๆ มีการเตรียมแผนไว้แน่นอน มีการวางเป้าหมายในอนาคต หรือ พล็อตเกมที่น่าจะเป็นอันทำให้ประเทศมีความได้เปรียบในด้านที่ตนเองมีความถนัด

 

หากนโยบายต่างประเทศชาติใด มีการเปลี่ยนแปลงไปมา ไม่แน่นอน ย่อมเกิดความเสี่ยงสูงต่อภัยความมั่นคงของชาติ

 

๑. โดยเฉพาะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เผชิญหน้าก่อนด้านอื่นๆ

 

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ย่อมบั่นทอนความมั่นคงด้านอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นธรรมดา โดมิโนทางเศรษฐกิจจึงสำคัญที่แทบจะเรียกว่าเป็น "ความมั่นคงของชาติ" ที่สำคัญไม่แพ้ด้านใดๆ เลย

 

ฉะนั้น...นโยบายต่างประเทศใดที่ไม่กล่าวถึง "เศรษฐกิจ" ย่อมเป็นความบกพร่องที่มีช่องโหว่อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติได้อย่างง่ายดาย

 

๒. ความมั่นคงทางกองกำลัง/กองทัพ

ก็นับเป็นจุดเด่นที่ได้รับการจับตามองจากทุกๆ ฝ่าย ในนโยบายต่างประเทศ

 

ยิ่งประเทศที่มีบทบาทสูงในเวทีนานาชาติ หัวข้อนี้ก็ถือเป็นจุดสำคัญที่ต้องอ่านแล้ว อ่านอีก และใช่ว่าอ่านแล้วจะจบไปไม่ ยังต้องถามแล้ว ถามอีก ดูแล้ว ดูอีก เพราะตามธรรมชาติของความระแวงแล้ว มักก่อให้เกิดสภาวะ "เปราะบาง" ทางความรู้สึกได้ตลอดเวลา

 

ความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้นของกองทัพประเทศใด ย่อมก่อให้เกิดคำถามและความสงสัยต่อประเทศที่อยู่ข้างเคียง หรือประเทศที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยเป็นธรรมดา

 

เช่น หากกองทัพเพื่อนบ้านของเราไม่ว่าประเทศใด เพิ่มศักยภาพทางการทหารขึ้นอย่างผิดหู ผิดตา ไม่ต้องระดับผู้นำหรอก แค่ประชาชนก็เริ่มตั้งคำถามกันแล้ว

 

(ไม่ผิด ที่ข่าวคราวของกองทัพไทย จะเป็นที่จับตามองของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำของไทย ก็เป็นเรื่องที่มีการไฮไลท์ในการข่าวของกองทัพประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน)

 

๓. ระดับความสัมพันธ์ต่อประเทศคู้ค้า พันธมิตร ศัตรู หรือ คู่แข่งขัน

นโยบายต่างประเทศถูกกำหนดขึ้นด้วยพื้นฐานทางความสัมพันธ์นี้ และเช่นกันที่นโยบายต่างประเทศ(จะ)ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(หรือกลุ่มประเทศ)ได้โดยไม่มีข้อห้ามใด

 

เช่นกรณีการปรับความสัมพันธ์ของตุรกีต่อรัสเซีย ส่งผลกระทบทางบวกกับประเทศที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย และส่งผลกระทบทางลบกับคู่แข่งขันของรัสเซียได้แทบจะทันที

 

กรณีการปรับความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาต่อเวียดนาม ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนามเกิดรอยร้าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ความพยายามในการสร้างความมั่นคงของประเทศใช่ขึ้นอยู่กับนโยบายภายในประเทศเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยความฉลาดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นสำคัญ

 

เราคงเห็นถึงความเข้มแข็งในการดำเนินนโยบายภายในประเทศ แต่ขาดความเฉลียวในนโยบายต่างประเทศ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนในประเทศนั้นๆ ดังเช่นในประเทศ "เกาหลีเหนือ" ที่สะสมความระแวงต่อนานาชาติไว้อย่างยาวนาน

 

หรือนโยบายต่างประเทศที่ไม่รัดกุมก็อาจเป็นตัวเร่งให้ประเทศเผชิญอันตรายมากขึ้นเมื่อการดำเนินนโยบายภายในของรัฐบาลประสบความล้มเหลว ดังที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซุเอลาในปัจจุบัน

 

สามประการข้างต้น ถือเป็นส่วนประกอบหลักของนโยบายต่างประเทศที่สมควรทราบไว้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการมองโลกปัจจุบันที่ซับซ้อนขึ้นดังที่เรียนไว้ในข้างต้นแล้ว

 

นอกจากบริบททาง "การเมืองภายใน" แล้วต่อไปบริบททางการต่างประเทศ จะมีมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยหลักต่อจาก "ทรัพยากร"

 

จะมีมิติทาง "เทคโนโลยี" ที่อาจมีความสำคัญในระดับที่สร้างความได้เปรียบ เสียเปรียบต่อนานาชาติได้มากขึ้น

 

จะมีมิติทางความร่วมมือในลักษณะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างได้ อันก่อให้เกิดความแปลกใจแก่ประชาชนของประเทศนั้นๆ ได้บ่อยครั้งขึ้น (กรณีนี้เริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่น ตุรกี ปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล เพื่อเปิดทางทางการค้าต่ออิสราเอล แลกกับ การเปิดทางเพื่อช่วยเหลือปาเลสไตน์ เป็นต้น)

 

จะมีมิติทางเสรีภาพ ความเชื่อ ศาสนา เข้ามาเป็นการเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง (หลังจากที่เคยมีมาแล้วในอดีต และยังคงใช้อยู่ในบางประเทศ)

 

ก็คงต้องศึกษา สังเกต ดูนะครับ ว่าความเป็นไปของโลก จะสอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของชาติใดมากที่สุด ?

 

หากนำมาเปรียบเทียบกับบ้านเรา ก็คงจะมองเห็นอะไรได้ชัดขึ้นอย่างมีเหตุมีผลนะครับ.

 

#PrinceAlessandro

30-08-2016

 

ปล. ด้วยความซับซ้อนที่ทวีขึ้นในบริบทโลกปัจจุบัน การคาดเดาถึงพฤติกรรมของรัฐหนึ่งรัฐใด โดยความรู้สึกว่ามันคงจะเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น หรือต้องอย่างนี้ อย่างนั้น อาจจะไม่ใช่ "ข้อสรุป" ที่วัดถึงความชอบธรรมของนโยบายต่างประเทศได้ถูกต้องหรือแม่นยำเหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้วละครับ.