การจัดทำพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone): บทเรียนจากกรณีอาเจะห์และฟิลิปปินส์[1]
สุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์นักวิจัย
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
มุมมองต่อคำว่า พื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone)
การใช้คำว่าพื้นที่หรือเขตปลอดภัยใช้กันหลากหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น peace zones, safe zones, demilitarized zones, protected zones ขึ้นอยู่กับการนิยามในแต่ละบริบทตามเป้าหมายและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ สำหรับมุมมองในแต่ละพื้นที่มีดังนี้
แนวทางการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยในอาเจะห์ ดำเนินไปโดยใช้คำว่า “เขตสันติภาพ (peace zone)” ซึ่งการจัดทำเขตสันติภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงหยุดยิง เพื่อให้แน่ใจว่าในพื้นที่ที่มีการกำหนดข้อตกหยุดยิงเป็นพื้นที่ปลอดทหาร นอกจากนี้จะเน้นการทำงานเพื่อปูทางสำหรับการช่วยเหลือคุ้มครอง ด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูด้านต่างๆ ในพื้นที่
ในส่วนของประเทศฟิลิปปินส์ การดำเนินงานริเริ่มโดยภาคประชาสังคม (CSOs) และกลุ่มผู้นำศาสนา โดยมีการดำเนินโครงการที่นำปสู่การกำหนดพื้นที่ในระดับหมู่บ้านที่จะเข้าร่วมใน "เขตสันติภาพ" ในการประกาศพื้นที่ "เขตสันติภาพ" มีเป้าหมายหมายหลักเพื่อพยายามกดดันคู่ขัดแย้งให้หาทางออกทางการเมืองร่วมกันแทนการใช้ความรุนแรง
สำหรับการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี จะเน้นไปที่การลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย และเป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคม รวมถึงทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขด้วย
ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัย
1. การให้นิยามความหมายของคำว่าพื้นที่ปลอดภัย/ เขตปลอดภัย ช่วงเวลา สถานที่ พื้นที่ เป้าหมาย ต้องเป็นที่ชัดเจน โดยคู่ขัดแย้งต้องมององค์ประกอบเหล่านี้ไปในทางเดียวกัน
2. ทีมเจรจาที่เข้าไปเป็นตัวแทนของคาขัดแย้ง ต้องเป็นตัวแทนอย่างแท้จริง รวมถึงต้องเป็นตัวแทนที่ครอบคลุมทุกฝ่ายของความขัดแย้ง
3. แต่ละฝ่ายที่เข้าร่วมการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยสามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธได้ เนื่องจากข้อตกลงบางประการที่เกิดขึ้นจะมีความเชื่อมโยงไปยังกองกำลัง
4. ข้อตกลงในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว ต้องได้รับการสนับสนุนและการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มผลประโยชนางการเมือง และกลุ่มต่างๆ ที่สำคัญอย่างกว้างขวาง
5. Party A และ Party B ควรมีแรงจูงใจ หรือความต้องการที่เข้าร่วมการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยเหมือนกันหรือไปในทางเดียวกัน ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีวาระซ่อนเร้นในการเข้าร่วมการทำงานด้วยกันก็มีความยากที่จะเกิดผลสำเร็จ
6. ทุกฝ่ายต้องมีความไว้วางใจ และเชื่อมั่นต่อการการพัฒนาวาระในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวร่วมกัน
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัย
1. ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในกระบวนการทำงาน และมีการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับฝ่ายต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานได้
2. ทุกฝ่ายต้องมีความรู้สึกร่วมกับการเรื่องความปลอดภัยเหมือนกัน ทั้งในมุมมองของความหมาย การรักษาความปลอดภัย และวิสัยทัศน์อื่นๆ ในการทำงานเพื่อสันติภาพ
3. การพัฒนาศักยภาพ และการเสริมพลังของประชาชนในพื้นที่ โดย:
· การติดตามประเมินผล: วิธีการตรวจสอบการทำงานของประชาชนในเขตพื้นที่ปลอดภั
· กระบวนการและขั้นตอนในการสร้างและการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย
· การเตือนภัย / การตอบสนองเมื่อมีปัญหาในเขตพื้นที่
· การควบคุมข่าวลือต่างๆ
· หลักการสื่อสารกับทุกฝ่าย
· การตรวจสอบ ตรวจทานข้อมูลและการรายงาน
· หลักการรักษาความปลอดภัย
· หลักการป้องกันพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ
4. การจัดตั้งชุดการทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบการคุ้มครองพลเรือน (CPM) หรือการคุ้มครองพลเรือนปราศจากอาวุธ (UCP)
5. การออกกฎข้อบังคับ/ คำสั่งที่เป็นบทลงโทษ ต่อการใช้ความรุนแรงกับประชาชนในเขตพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย
6. วิธีการหลักในการเข้ามีส่วนร่วม คือ การร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ การช่วยประสานงาน และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพ้นที่
กิจกรรมของภาคประชาชนที่สนับสนุนงานพื้นที่ปลอดภัย
1. การติดตามตรวจสอบการดำเนินงานภายในเขตพื้นที่ปลอดภัย
2. การวางระบบเตือนภัย/ เตือนเหตุการณ์ล่วงหน้า
3. การดำเนินมาตรการสร้างความเชื่อมั่น ผ่านการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน การร่วมประสานงาน และการสร้างความร่วมมือระหว่างส่วนต่างๆ
4. การสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกระบวนการสันติภาพ เช่น การฝึกอบรมประเด็นสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
5. การทำงาน/ดำเนินการตอบสนองกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ:
· การดำเนินการในทันทีและการประสานงาน
· การประเมินสถานการณ์ที่เดขึ้น และสร้างช่องทางการติดต่อกับผู้นำของกองกำลังติดอาวุธ
· การเจรจาเพื่อการหยุดยิง
· การช่วยอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
· การช่วยในการอพยพผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
6. การเฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบและประเมินผลช่วงหลังความขัดแย้ง
7. การเป็นส่วนประสานงาน และสนับสนุนการดำเนินงานของโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและโครงการฟื้นฟูด้านต่างๆ ในพื้นที่
[1] สรุปข้อมูลจาก Delsy Ronnie วิทยากรของ Nonviolent Peaceforce ที่นำเสนอเรื่อง How to Build Effective Safety Zone: A Lesson Learned from Aceh and the Philippines ในการประชุมวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี