รัฐบาลเมียนมาเปิดการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่มารวมตัวกันมากที่สุด นางอองซาน ซูจี ขอให้ทุกร่วมมือกันสร้างประวัติศาสตร์สร้างสันติภาพในเมียนมา ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ลงนามหยุดยิง ขอดูผลการประชุมก่อนตัดสินใจลงนามหยุดยิง
ภาพประวติศาสตร์ที่ผู้นำรัฐบาลเมียนมา ผู้นำทหาร ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 18 กลุ่มที่สู้รบกับพม่ายาวนานเกือบ 70 ปี ได้ถ่ายภาพร่วมกันท่ามกลางสักขีพยาน เอกอัครราชทูตจากทั่วโลก และนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ
นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กล่าวเปิดการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 นับจากพรรค NLD ของเธอได้รับการเลือกตั้ง สิ่งแรกที่ตั้งใจทำคือการให้ประชาชนและประเทศชาติเกิดความสงบสุข ตามจิตวิญญาณปางโหลง จึงต้องขอบคุณรัฐบาลพลเอกเต็งเส่งที่ได้เริ่มต้นไว้จนทำให้มีการลงนามหยุดยิง NCA ได้ 8 กลุ่มแล้ว รัฐบาลนี้จึงคาดหวังว่าทุกกลุ่มจะตกลงหยุดยิงเพื่อยุติความขัดแย้งที่รอคอยมานาน จึงขอให้เชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายทางการเมืองร่วมกันได้ จึงขอให้ทุกคนรักและสามัคคีกันแม้จะต่างชนเผ่า ต่างชาติพันธุ์ ต่างความคิด แต่ถึงเวลาแล้วที่จะร่วมกันพลิกประวัติศาสตร์ เพื่อผู้คนที่ต้องสูญเสียชีวิตจากการสู้รบ ผู้หนีภัยสงครามทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในประเทศเดียวกัน
ท่าทีสำคัญต่อการส่งสัญญาณสันติภาพน่าจะมาจาก พลเอกมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ที่กล่าวย้ำว่า 68 ปี หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ประเทศเมียนมากลับต้องเผชิญการสู้รบ ทหารอยากเห็นประเทศสงบสุข ตามที่รัฐบาลชุดนี้ที่ตั้งใจให้เกิดประชาธิปไตย ซึ่งเดินหน้าได้ดีและคาดว่าจะใช้เวลาอีก 5 ปี ทหารยืนยันว่าจะเดินหน้าไปด้วยกัน จึงไม่อยากให้แบ่งแยกฝ่ายเพราะต่างอยู่ในประเทศเมียนมาที่ทุกคนเป็นพี่น้องกัน โดยเฉพาะการหยุดยิงยุติการสู้รบทหารก็พร้อมทำตามเงื่อนไข จึงไม่อยากให้ยื้อเวลาเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
ขณะที่ท่าทีกลุ่มชาติพันธิ์ติดอาวุธ 8 กลุ่มที่ลงนามหยุดยิง NCA นายพลมูตู เซพอ ประธานสหภาพกะเหรี่ยง KNU เป็นตัวแทนกล่าวสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์คาดหวังคือการทำให้สนธิสัญญาปางโหลงเป็นจริง เพื่อให้ทุกกลุ่มได้มีสิทธิเท่าเทียมในการปกครองรูปแบบสหพันธรัฐ
ส่วนกลุ่มที่ยังไม่หยุดยิง 9 กลุ่มที่ยังไม่หยุดยิง ให้ นายพล นอ บานสะ ประธาน UNFC จาก องค์การแห่งอิสระภาพคะฉิ่น KIO แสดงท่าทีให้นำสนธิสัญญาปางโหลงเดิมมาทำให้สำเร็จก็จะยุติการสู้รบได้
จากการพูดคุยกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เช่นกองกำลังคะฉิ่น ยอมรับว่าการมาเข้าร่วมประชุมปางโหลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันสร่างสันติภาพ แต่การตัดสินใจลงนามหยุดยิงหรือไม่ต้องรอดูเงื่อนไขจากผลการประชุมครั้งนี้
ขณะที่นายหงสา รองประธาน UNFC จากพรรครัฐมอญใหม่ ยอมรับว่าการที่ กลุ่มประหล่อง และโกก้าง ไม่เข้าร่วมประชุมและอยากถอนตัวจาก UNFC เป็นสิ่งที่ UNFC ห่วงใย และยังไม่ลงนามหยุดยิงจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าทุกกองกำลังติดอาวุธจะร่วมลงนามหยุดยิงได้ทั้งหมด การเจรจาทางการเมืองจึงจะเริ่มต้นได้
การลงนามหยุดยิง NCA จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องจับตาดูท่าทีของ 13 กลุ่ม ที่ยังไม่ลงนาม ซึ่งสถานการณ์ที่ยังมีการสู้รบกันทำให้ยังไม่มีใครกล้าตัดสินใจ
แต่บรรยากาศการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ที่นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ มาร่วมแถลงในพิธีเปิด ทำให้ตัวแทนจากหลายกลุ่ม เช่นผู้นำรัฐชิน มองว่าเป็นสิ่งที่ชาวเมียนมาต้องร่วมมือกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง
ตรงกับสิ่งที่นายบันคีมูน ได้กล่าวในถ้อยแถลงว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการนำจิตวิญญาณสัญญาปางโหลงที่นายพลอองซาน บิดานางอองซานซูจีได้ทำไว้ แต่วันนี้เป็นการพูดถึงอนาคตที่ทุกกลุ่มจะร่วมมือกันสร้าง สหพันธรัฐ federal union บนพื้นฐานความเท่าเที่ยม ประชาธิปไตบและการปกครองตนเอง UN พร้อมให้การสนับสนุนแต่ทุกภาคส่วนต้องทำให้สำเร็จเพราะสุดท้ายการใช้กำลังทหารไม่ใช่คำตอบ และต้องขอบคุณพลเอกเต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีที่เปิดประตูสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยทั่วโลกเกิดขึ้นยากเพราะผู้นำปฏิเสธ แต่เมียนมาแสดงให้เห็นว่าทำได้เหมือนที่รัฐบาลนางอองซาน ซูจี ได้สร้างประวัติศาสตร์ในว้นนี้
ทิศทางสันติภาพในเมียนมาหลังการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 จึงยังมีเงื่อนไขอยู่ที่กองทัพกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ยังไม่ลงนามหยุดยิง เพราะจะทำให้การเจรจาทางการเมืองเริ่มต้นได้ยาก
แต่ในด้านหนึ่งรัฐบาลกำลังเริ่มนำผู้หนีภัยการสู้รบที่อยู่ในค่ายอพยพในไทยกว่า 1 แสนคนกลับประเทศ เริ่มนำร่องจากกลุ่มผู้สมัครใจ 160 คน ภายในปีหน้า นายพิษณุ สุวรรณชฏ เอกอัครราชทูตไทยในเมียนมา เชื่อมั่นว่าจะมีทิศทางที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างสองประเทศ
การประชุมจะมีทั้งหมด 4 วันจนถึงวันที่ 3 ก.ย.เพื่อให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มทั้ง 76 คนได้กล่าวข้อเสนอ ซึ่งจะมีการทำบันทึกข้อสรุปไว้เป็นแนวทางในการพูดคุยทางการเมืองนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพ
กลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) หรือ NCA
1. แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students’ Democratic Front - ABSDF)
2. พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party -ALP)
3. กองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front -CNF)
4. กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army -DKBA)
5. สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA Peace Council หรือ KPC)
6. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU)
7. องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ Pa-O National Liberation Organization (PNLO)
8. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA)
สมาชิก UNFC (United Nationalities Federal Council) ที่ยังไม่ลงนามหยุดยิง
1.Kachin Independence Organization (KIO) องค์กรปลดปล่อยคะฉิ่น
2.New Mon State Party (NMSP) พรรครัฐมอญใหม่
3.Shan State Army-North (SSPP /SSA) กองกำลังรัฐฉานเหนือ
4.Karenni National Progressive Party (KNPP) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี่
5.Lahu Democratic Union (LDU) สหภาพประชาธิปไตยละหู่
6.Arakan National Council (ANC) สภาแห่งชาติอาระกัน
7.Wa National Organization (WNO) องค์กรแห่งชาติว้า
8.Ta-ang National Liberation Army (TNLA) กองทัพปลดปล่อยดาระอั้ง
9.Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA)/Kokang Army กองท้พปลดปล่อยโกก้าง
เปิดการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21
http://goo.gl/DYicBt
#ข่าว3มิติ