การตั้งร้านทองสักร้านไม่ใช่เรื่องง่าย เศรษฐีมีเงินเท่านั้นจึงจะทำได้อย่างหวัง แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนมุสลิมจำนวนไม่น้อย กำลังอยากมีร้านทองเป็นของตนเอง และจำนวนไม่น้อยที่มีแล้ว กำลังรู้ซึ้งถึงการแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้ว่าหนักหนาเพียงใด และกำลังกระเสือกกระสนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ในตลาดอัญมณีสูงค่าดังกล่าว
เพราะธุรกิจที่ผูกโยงกับวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง ยังต้องต่อสู้กันในกระแสธารทุนนิยม ที่ต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน
ตลาดทองคำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ ใช่ว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพกรีดยางจะเป็นเศรษฐีมีเงินกันมากมาย แต่แง่มุมทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเอื้อให้เกิดผลเช่นนั้น
การขายดิบขายดีของกิจการร้านค้าทองคำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้มีผู้ค้าเกิดขึ้นมากมาย ทั้งคนจีนที่ยึดครองตลาดส่วนใหญ่มานาน และร้านทองมุสลิมที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง
วันที่ ‘ฮามีด๊ะ ซูสารอ’ เดินทางจากกรุงเทพมหานครกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในช่วงเทศกาลฮารีรายอเมื่อหลายปีก่อน นับว่าเป็นวันที่ประกายความคิดเรื่องการทำร้านทองในจังหวัดยะลาลุกโชน เธอมีหัวการค้าอยู่แล้วเพราะทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมานาน แต่เธอมองเห็นโอกาสจากการทำร้านทอง จนลงทุนเรียนต่อด้านอัญมณีศาสตร์ (Gemologist) โดยตรงจนจบ เพราะเชื่อมั่นว่านั่นคือโอกาสที่เธอจะได้กลับมาอยู่บ้านและทำธุรกิจหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัวได้อย่างไม่ลำบาก
หลังใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2522 เธอจึงกลับมาเปิดร้านทอง ‘ฮามีด๊ะ’ ตามชื่อตนเองที่จังหวัดยะลาเมื่อ 8 ปีก่อน
ช่วงแรกเธอตั้งใจลงมาเปิดโรงงานเสื้อผ้า เพราะเคยทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าประเภทนี้มาก่อน แต่เมื่อการเดินทางลงมาบ้านเกิดในช่วงเทศกาลรายอแล้วเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจทางด้านนี้ จึงเลือกเปิดร้านทองเป็นของตนเอง
“เราเห็นว่าคนมุสลิมชอบใส่ทอง แต่ไม่มีร้านทองเป็นของตนเอง ในเมืองยะลามีแต่ร้านของคนจีนทั้งนั้น มาเปิดใหม่ๆ ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย ต้องลงเรียนหลักสูตรด้านการจัดการอัญมณี แต่คนมุสลิมส่วนใหญ่เชื่อมั่นในคนจีนมากกว่า เพราะเป็นต้นตำหรับ แต่บางคนก็อยากอุดหนุนคนมุสลิม เพราะรู้ว่าร้านมุสลิมทำอย่างถูกต้องตามหลักการศาสนา” เธอเล่าถึงที่มาของร้านทอง
เธอยังบอกว่ายางพาราคือรากฐานชีวิตของคนชายแดนใต้ ถ้าราคายางดี มันส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด คนใช้จ่ายเยอะขึ้น แต่ขณะนี้ราคายางขึ้นลงเร็วมาก และยังมีปัจจัยธรรมชาติคือฝนฟ้าอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ เธอบอกว่าจึงไม่อยากให้มีเรื่องความรุนแรงเข้าไปทำร้ายพี่น้องชาวสวนยางอีก
เจ้าของร้านทองฮามีด๊ะพูดถึงพัฒนาการของร้านทองมุสลิมว่า โดยส่วนใหญ่คนที่เปิดเคยเป็นช่างกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นช่างทอง ช่างแหวน อย่างคนจีนสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น แต่คนมุสลิมเพิ่งได้เริ่มต้น จึงเริ่มด้วยการเป็นช่างมาจากกรุงเทพฯ
เธอให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในตัวเมืองมีร้านทองคนมุสลิมเพียง 4 ร้านเท่านั้น แต่ในตัวอำเภอรอบนอกมีร้านทองของคนมุสลิมกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างเยอะ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี
“พอเป็นช่างนานๆ ก็อยากทำของตัวเองบ้าง เขามีเงินนะ และรู้ด้วยว่าคนที่บ้านเกิดมีกำลังซื้อ จึงกลับมาเปิด โดยส่วนตัวก๊ะเองไม่เคยเป็นช่าง มาเรียนเอาทีหลัง แต่เราเป็นคนทำธุรกิจ จึงเข้าใจระบบการค้าขายมากกว่าคนที่เคยเป็นช่าง คนพวกนี้จะมีปัญหาในการบริหารจัดการ ร้านทองมุสลิมส่วนใหญ่ที่เปิดก็ขายคนในชุมชน ไม่ได้พัฒนาเรื่องการบริการเท่าไหร่ อาศัยว่ามีคนในชุมชนช่วยอุดหนุน จึงพออยู่รอดได้”
เจ้าของร้านทองฮามีด๊ะบอกว่าเพราะคนมุสลิมยังยึดติดกับความคิดเก่าว่า ถ้าทองต้องเป็นร้านคนจีน เพราะขายมานานน่าเชื่อถือกว่าร้านมุสลิม และร้านทองคนจีนสามารถต่อรองราคาได้มากกว่า เพราะยังมีทองคำมือสองขายอีกด้วย
“คนมุสลิมเขาเชื่อคนแก่ สังเกตง่ายๆ ว่าร้านไหน คนแก่ขาย เขาชอบเข้าร้านมากกว่าร้านคนหนุ่มสาว มันเป็นอย่างนี้จริงๆ คนจีนเขาขายมานานจึงได้รับความนิยมมากกว่า คงอีกนานกว่าร้านทองมุสลิมจะเป็นที่นิยมในสังคมมุสลิมด้วยกันเอง ไหนจะระบบการค้าขายที่แตกต่างกัน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องน่าหนักใจของร้านทองมุสลิม”
ร้านทองในชุมชนนอกเมืองที่กำลังผุดขึ้นมามากมายในระยะหลายปี หนึ่งในเจ้าของกิจการนั้นคือ ‘แบมะ’แห่ง ร้านทองมาดีนะห์ ซึ่งเปิดร้านอยู่บริเวณตลาดปาลัส อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
“ก่อนหน้านี้เคยเป็นช่างทองมาก่อน ไปทำอยู่ที่กรุงเทพฯ หลายปี พอมีประสบการณ์ก็อยากทำร้านเป็นของตัวเองบ้าง เริ่มเก็บทุนได้ก็ลงมาเปิดร้านเมื่อปีกว่าๆ นี่เอง” แบมะย้อนที่มาของร้านให้ฟัง
เขาเกิดและโตอยู่ในชุมชน ทำให้รู้ว่าทองคำเป็นเครื่องประดับยอดนิยมของคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขามั่นใจว่าอาชีพนี้ไม่มีวันอดตาย
“ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาล บางช่วงก็เงียบ บางช่วงก็ขายได้ แต่โดยรวมๆ มันพอยังไปได้ วันหนึ่งๆ ขายได้สักสองสามบาทก็พออยู่ได้แล้ว ร้านของผมไม่ใช่ร้านใหญ่ ทำเล็กๆ ไว้เลี้ยงครอบครัว” เขาบอก
ทองคำที่ร้านมาดีนะห์ทั้งหมดสั่งมาจากร้านทองในอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื่องจากเป็นกิจการเล็กๆ จึงไม่ต้องสั่งตรงมาจากเยาวราช แต่ผ่าน ‘เถ้าแก่’ ในหาดใหญ่มาอีกทอด
แบมะเล่าถึงเรื่องระบบจำนำที่กำลังเป็นคำถามอยู่ในวงการค้าทองของสังคมมุสลิมชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้บางร้านก็ทำระบบจำนำขึ้นมา โดยมีโต๊ะครูเป็นที่ปรึกษา และเรียกระบบนี้ว่า “การรับฝาก” ซึ่งไม่มีเรื่องดอกเบี้ย
“คนมุสลิมเองก็สบายใจ ซึ่งเมื่อก่อนร้านคนจีนเปิดระบบจำนำแบบสากลขึ้น ซึ่งผิดต่อหลักชารีอะห์ตรงที่มีดอกเบี้ย ด้วยความจำเป็นทำให้คนมุสลิมจำนวนมากต้องยอมใช้บริการ แต่ขณะนี้เมื่อเกิดร้านทองของคนมุสลิมขึ้นมาและเปิดระบบนี้ขึ้นมารองรับความต้องการ จึงทำให้ไปใช้บริการกันมากขึ้น แต่ร้านของผมไม่ได้เปิดรับฝาก เพราะไม่มีความพร้อม”
เขาบอกอีกว่า การต่อสู้ทางธุรกิจค้าทองคำคนมุสลิมมักสู้คนจีนไม่ได้อยู่แล้ว หากแต่ทำให้ร้านทองคำของคนมุสลิมถูกต้องตามหลักการศาสนา และได้รับการเผยแพร่ออกไปให้พี่น้องมุสลิมได้รับรู้ ย่อมส่งผลดีมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
ในขณะที่ธุรกิจร้านทองในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังแข่งขันกันเข้มข้นขึ้นทุกวัน มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก ‘เอเย่นต์’ ค้าทองคำรายหนึ่งจากเยาวราชที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ระบุว่าตลอดเกือบ 20 ปีที่ยังสามารถค้าขายทองคำในจังหวัดชายแดนใต้ได้นั้น เพราะที่นี่เป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่เกี่ยวพันกับศาสนา ยอดขายทองต่อวันพุ่งสูงกว่าหาดใหญ่และเมืองสงขลารวมกันเสียอีก
“ร้านทองของคนจีนกว่าที่เขาจะอยู่รอดมาได้ ต้องสู้มานาน บางคนทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ เขาสั่งสมประสบการณ์มามากมาย สิบกว่าปีก่อนขึ้นไป อาจไม่ยากเท่าทุกวันนี้ เพราะตอนนั้นราคาทองคำยังนิ่ง คนจะรู้ว่าเงินในมือจะต่อยอดขยับขยายต่อไปได้อย่างไร แต่ทุกวันนี้ต้องวางแผนการเงินกับแบบรายวัน เพราะราคาทองคำปรับเปลี่ยนทุกวัน แต่คนจีนก็ยังได้เปรียบอยู่ดี เพราะเขาสะสมทุนมานาน” เขาให้ความเห็นในฐานะนายหน้าทองคำที่มีเจ้าของกิจการทั้งคนมุสลิมและคนจีนเป็นลูกค้า
เขายังกล่าวว่า มีข้อแตกต่างมากมายระหว่างผู้ค้าสองกลุ่ม ประการแรกคือเรื่องทุน ที่คนจีนสั่งสมมานาน แต่คนมุสลิมไม่มีทุนสะสม ใช้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือใช้สมบัติที่เก็บออมไว้มาลงทุน พอเกิดวิกฤตราคาทองคำก็รับมือได้ยาก เพราะไม่มีเงินสำรอง ประการที่สองคือการวางแผนทางการค้า ที่คนมุสลิมยังมีข้อด้อยมากกว่า
“ร้านทองมุสลิมยังต้องดิ้นรนอีกมาก กว่าจะอยู่รอดได้” เขาสรุปทิ้งท้าย
ส่วนในมุมของคนจีนเจ้าของร้านทอง อย่าง ‘ชัยวัฒน์ ภูวรัตนกุล’ เจ้าของร้านบุ่นจิ้น ในตัวเมืองยะลาบอกว่า “เราถือว่าเป็นความพิเศษที่เราอยู่ตรงนี้ เมื่อเทียบกับร้านทองที่ไม่ได้อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ลูกค้าก็จะสู้ที่นี่ไม่ได้”
ความพิเศษที่คนชื้อสายจีนวัยเลยกลางคนอย่างชัยวัฒน์บอก คือสังคมที่มีคนมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่...
เขาบอกว่านับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ตระกูลของเขาลงหลักปักฐานที่ตัวเมืองยะลา และยึดอาชีพค้าขายทองเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตและสร้างหลักความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ครอบครัว
“50-60 ปีก่อน ช่างทองต้องแบกเครื่องมือไปทำให้ถึงหมู่บ้าน มีลายให้เลือก ไปแกะ ไปขัดลายกันถึงบ้านเลย เพราะให้เขาเดินทางมาซื้อทองถึงตัวเมืองมันยากลำบาก ที่นี่มีแต่ป่าเขา เดินทางยาก” ชัยวัฒน์ฉายภาพจุดเริ่มต้นของอาชีพค้าขายทองให้ฟัง ซึ่งสมัยก่อนเมื่อคนมุสลิมหาเงินได้ มักไม่ไปธนาคาร เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ และกลัวพูดกับเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่รู้เรื่อง เลยมาซื้อทองเก็บไว้
“เมื่อก่อนคนค้าขายทองต้องพูดภาษามลายูให้เป็น ถ้าพูดไม่ได้ ไม่ต้องมาขายทองเลย เพราะช่วงหน้าเทศกาลคนมุสลิมเข้ามาซื้อเยอะ แต่ตอนนี้คนมุสลิมแทบทั้งหมดพูดภาษาไทยได้ แต่ลองสังเกตได้ หากร้านไหนพูดมลายูกับลูกค้ามุสลิม จะมีลูกค้าเข้าไปอุดหนุนค่อนข้างเยอะ และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าแก่ทั้งสิ้น นั่นเพราะเขายึดถือกับอัตตลักษณ์ของตนเอง ค้าขายกับเขาต้องพูดภาษาเขาได้ และพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ต้องอยู่ เป็นเรื่องปกติ”
ลูกค้าของชัยวัฒน์ซึ่งเป็นคนมุสลิมมากกว่าร้อยละ 85 คือรากฐานสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของร้าน เขาบอกว่ากิจการค้าทองเป็นกิจการที่สอดรับกันกับประเพณีวัฒนธรรมของคนมุสลิม เนื่องจากทองเป็นเครื่องประดับที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลสำคัญของศาสนาอิสลามอย่างฮารีรายอ คนมุสลิมนิยมซื้อทองมอบให้คนในครอบครัว แม้ว่าผู้ชายมุสลิมจะไม่สามารถใช้เครื่องประดับทองคำเหล่านั้นได้ แต่ซื้อหาให้ภรรยาและลูกๆ สามารถทำได้
ศาสนาอิสลามมีเทศกาลใหญ่อยู่ 2 เทศกาล ซึ่งผู้คนมีการเฉลิมฉลองกันครึกครื้นและนิยมใช้เงินเพื่อซื้อเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ คือเทศกาลฮารีรายอ ภายหลังการสิ้นสุดการถือศีลอดของเดือนรอมฎอน ที่เรียกว่า “อีดิลฟิตร”
ส่วนอีกเทศกาล คือ “อีดิลอัฏฮา” ในห้วงการประกอบพิธีฮัจจ์ หรือที่เรียกกันว่า “รายอฮัจจ์” ซึ่งมีการเชือดสัตว์เพื่อแจกจ่ายเนื้อเป็นทาน ชนผู้นับถือศาสนาอิสลามก็มีการฉลองกันในเทศกาลนี้ด้วย
“ช่วงเทศกาลรายอบอกได้เลยว่าขายไม่ทัน แหวนทองและสร้อยทองจะขายได้มากเป็นพิเศษ แต่ว่าตุ้มหูจะขายได้น้อย เพราะหญิงมุสลิมคลุมฮิญาบ ซื้อไปใส่ก็มองไม่เห็น”ชัยวัฒน์ย้ำถึงวันที่สินค้าขายดิบขายดี “ช่วงเทศกาลฮารีรายอ ร้านทองในตัวเมืองยะลามีเงินสะพัด 20-30 ล้านบาท ถ้าไม่ใช่เทศกาลก็ต่างกันลิบลับ”
ชัยวัฒน์บอกว่า “มีร้านทองมุสลิมอยู่ 4 ร้านในตัวเมืองยะลา ส่วนต่างอำเภอรอบนอกร้านทองมุสลิมเริ่มผุดขึ้นมาแทนที่ร้านคนจีนมากขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะร้านคนจีนเองยังมีปัญหาเรื่องการรับจำนำมีดอกเบี้ย จึงมีคนมุสลิมพยายามทำร้านทองที่ปลอดดอกเบี้ยขึ้นมารองรับวิถีทางศาสนาของตนเองขึ้นมา”
“แต่ไม่มีทางเจ๊ง อีกร้อยปีกิจการค้าทองก็ไม่มีวันเจ๊ง เพราะยังไงเสียคนมุสลิมก็ยังนิยมร้านทองของคนจีนมากกว่า เพราะยังเป็นต้นตำรับที่พวกเขาเชื่อมั่น” เจ้าของร้านทองบุ่นจิ้นยิ้มตอบ
ส่วนคนซื้ออย่าง ‘สุริยา เบ็ญเจ๊ะมะ’ หรือ ก๊ะยา ลูกค้าที่เข้ามาซื้อทองในร้านบุ่นจิ้นบอกว่า ผู้คนที่นี่ชอบซื้อทองเพราะเป็นค่านิยมทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อทองมาเก็บไว้ บ้างก็ซื้อให้ลูกหลานโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างเช่นวันฮารีรายอ หรือ งานบุญต่างๆ เช่นช่วงงานกินเหนียว (แต่งงาน) เป็นต้น
ก๊ะยาบอกว่า เธอไม่มีความรู้เรื่องทอง อาศัยคำแนะนำจากเจ้าของร้านที่บอกมา และชอบซื้อทองที่ร้านคนจีนมากว่าร้านมุสลิม เพราะไว้เนื้อเชื่อใจร้านคนจีนมากกว่าคนมุสลิมด้วยกัน และเป็นผู้บุกเบิกการค้าทองในทุกที่
ส่วน ‘สุไรดา’ และ ‘ซีตีอามีเนาะ’ ลูกค้าอีกสองรายบอกเหมือนกันว่าเวลาซื้อจะสังเกตที่ราคาว่าร้านไหนขายถูกกว่า หรือให้ส่วนลดมากกว่า ช่วยในการตัดสินใจซื้อ
“ร้านคนจีนลดมากกว่าร้านมุสลิม และนำกลับมาขายง่ายกว่า” สุไรดาให้ความเห็น