1.
เสียงกระหน่ำค้อนจากช่องโต๊ะแคบๆ สีหม่น ยังคงดังอยู่อย่างสม่ำเสมอ กลิ่นฉุนบางเบาของน้ำมันเบนซินอวลไปทั่วห้อง มันเป็นละอองกลิ่นของเปลวไฟที่ถูกปรับให้เล็กเรียว ไปพร้อมๆ กับจังหวะของการสูบลมจากปลายเท้าอย่างช้าๆ แต่ทว่าคงที่ ดวงเพลิงสีน้ำเงินนั้นร้อนแรงจนสามารถหลอมละลายแท่งโลหะเงินให้ไหลวนอยู่ในเบ้าที่ทำจากลำไม้ไผ่ ก่อนจะบรรจงเทลงในแบบที่ได้เตรียมเอาไว้
เสียงกระหน่ำค้อนยังเป็นจังหวะ โลหะเงินชิ้นบางกำลังถูกขึ้นรูป สีของมันหม่นไปเพราะกรำไฟที่ร้อนแรง ช่างทองหนุ่มยังคงกระหน่ำค้อนต่อไป เขากำลังตีกรวยสำหรับฝังหัวแหวน ก่อนจะจับตะไบเล็กพิเศษลงซ้ำอีกครั้งเพื่อทำเป็นเขี้ยวจับหัวพลอย บรรจงตบแต่งมันครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่เร่งร้อน ไม่มีใครล่วงรู้ว่าในใจของช่างแหวนหนุ่มคิดอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังรีดหยดเหงื่อปลุกปั้นขึ้นมา
หรือบางทีเขาอาจภาคภูมิใจอยู่เงียบๆ เพราะสิ่งที่เค้นตีออกมาคือเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเช่นเดียวกัน
2.
พบเห็นกันบ่อยว่า บนเรียวนิ้วของชายมลายูมุสลิมมักปรากฏแหวนเกาะเกี่ยวเอาไว้อยู่เสมอ เม็ดพลอยนั้นทอประกายแวววาว ตัดกับลวดลายแปลกตาบนตัวเรือนสีเงินบนนิ้วนางข้างซ้าย มันกลมกลืนเข้ากันอย่างเหมาะเจาะกับเสื้อเชิ้ตลายบาติกทรงสากลนิยมและหมวกซอเก๊าะหรือแม้กระทั่งชุดโต๊บยาวของผู้นำศาสนา
ไม่มีใครรู้ว่าประเพณีนิยมของชาวมลายูมุสลิมในการสวมใส่แหวนเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่สิ่งที่เรียกว่า ‘จีจิง’ ในภาษามลายูมักสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้กับผู้พบเห็นอยู่เสมอ
“ไม่ต้องถามกันให้ยืดยาว ถ้าเห็นใครสวมแหวนแบบนี้ ‘แกแจ๊ะนายู’ (พูดภาษามลายู) กันได้เลย ต้องเป็นคนมลายู3จังหวัดแน่ๆ” หนุ่มใหญ่บางคนยืนยันความเชื่อในเอกลักษณ์เรื่องนี้
บางทีเพียงแหวนวงเล็กๆ อาจเป็นเครื่องอธิบายความสัมพันธ์บางอย่าง ที่หลายคนไม่เคยครุ่นคิดกับมัน
หากจะพูดถึงกันแค่ตัวแหวน นักประพันธ์หลายคนยังเลือกที่จะใช้มันเป็นสัญลักษณ์ ให้เป็นเครื่องยืนยันพันธะสัญญา เป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศ ‘อำนาจ’ ทั้งด้านบวกด้านลบที่ผลักดันออกมาตัวมนุษย์เองจน เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ต้องรจนามหากาพย์ ‘เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์’ ที่พรรณนาถึง ‘แหวนเอกธำมรงค์’ อันทรงพลังต่อผู้ที่สวมใส่ให้โอนอ่อนไปตามอิทธิพลของมัน จนกระทั่งต้องแสวงหาวิธีทำลายในท้ายที่สุด
มีหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าคนไทยพบชาวมลายูสวมแหวนผ่านวรรณคดีเรื่อง ‘อิเหนา’ มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ราชสำนักได้รู้จักเรื่องราวนี้ผ่านหญิงเชลยปัตตานีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นข้าหลวงรับใช้พระราชธิดาทั้งสองของพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ คือ เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ นิทานของนางเชลยที่เล่าถวายต่อเจ้าหญิงทั้ง 2นั้น มาจากนิทานพื้นถิ่นที่แพร่หลายที่สุดในเกาะชวา ซึ่งอาจจะแอบอิงกับพงศาวดารชวาเรื่อง ‘อิเหนา ปันหยี กรัต ปาตี’ (Panji Inu Kartapati) มาแต่ครั้งสมัยพุทธศตวรรษที่ 16
แม้เนิ่นนาน แต่กระนั้นภาพ ‘แหวน’ของชาวมลายูยังแจ่มชัดอยู่บทละคร ‘อิเหนา’ ตอน ‘ศึกกระหมังกุหนิง’ ความว่า
ภูษายกพื้นดำอำไพ สอดใส่ฉลององค์ทรงวันเสาร์
เจียรบาดคาดรัดหน่วงเนา ปั้นเหน่งเพชรเพริศเพราพรรณราย
ตาบทิศทับทรวงห่วงห้อย สวมสร้อยสังวาลประสานสาย
ทองกรแก้วกิ่งพริ้มพราย ธำมรงค์เรืองรายพลอยเพชร
ทรงชฎามาลัยดอกไม้ทิด กรรเจียกจอนจำรัสตรัสเตร็จ
เหน็บพระแสงกั้นหยั่นกัลเม็ด แล้วเสด็จขึ้นเฝ้าพระบิดา
แม้เนื้อเรื่องจะถูกขัดเกลาให้มีจินตนาการชวาในกลิ่นอายแบบไทยๆ แต่มันก็ช่วยให้ภาพของความเป็นชนชาวมลายูกลับกระจ่างชัด เป็นไปได้ว่าจินตนาการของผู้แต่งอาจคุ้นเคยดีกับชาวมลายูซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ในกรมท่าขวาในฐานะล่ามสื่อสารให้กับพ่อค้าชาวโปรตุเกสและวิลันดา เนื่องจากภาษามลายูเป็นภาษากลางของการค้าขายในขณะนั้น ลางทีชาวมลายูเหล่านั้นอาจสวมแหวนติดตัวอยู่เสมอ และนั่นอาจเป็นเครื่องหมายประการหนึ่งที่ชายมลายูใช้แหวนเป็นเครื่องบ่งบอกตัวตนบางอย่างของคนจากชาติพันธุ์มลายูสืบเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
3.
ว่ากันว่าแร่รัตนชาติ เช่น เพชร นิล จินดา มุสลิมทั้งหลายนั้นถือว่าเป็นขุมทรัพย์อันอุดมที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้ จากสินแร่อันเรียงรายตามสายแร่ใต้ผืนพิภพ ผ่านสภาพแรงกดดันภายใต้ผืนโลกนานชั่วกัปกัลป์ บีบอัดจนผลึกแก้วใสนั้นแข็งแกร่งดั่งหิน กระทั่งมนุษย์ค้นพบและนำมาเจียระไนหลายรูปทรงไว้ประดับประดาร่างกาย
แม้อาจจะมีข้อวิจารณ์ได้ว่า มนุษย์นั่นต่างหากที่ให้ค่ากับหินสีเหล่านั้น แต่บ้างก็ว่าหินสีเหล่านี้ต่างมีคุณค่าโดยตัวของมันเอง ทั้งยังเป็นศาสตร์ที่ต้องศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น ความหมายของ ‘แหวน’ นั้นจึงสัมพันธ์กับสิ่งที่ถูกคัดสรรมาทำเป็นหัวแหวนด้วย ทำให้อัญมณีกลายมาเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันกับแหวนอย่างแน่นแฟ้น
ผศ.อับดุลเลาะ อับรู ก็เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าขายอัญมณีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ตัวอาจารย์เองจะเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อิสลาม ในสังกัดของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีก็ตาม แต่โดยสายเลือดของบุตรพ่อค้าพลอยทำให้เขาออกความเห็นว่า “ศาสตร์ของพลอยก็คือเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่ง”
ผศ.อับดุลเลาะ กล่าวว่า ‘พลอย’ นั้นเป็นทรัพย์อันมีค่าที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้มาให้แก่มวลมนุษย์ แต่ในทางศาสนา พี่น้องมุสลิมทั้งมวลต้องตระหนักให้ดีว่า หากใช้มันเพื่อการโอ้อวดกันนั้นย่อมถือว่าเป็น ‘บาป’
เขาอธิบายต่อว่า พลอยจากประเทศพม่าโดยเฉพาะ ‘ทับทิม’ ถือว่าเป็นรัตนชาติชั้นดี รองลงมาก็เป็นอัญมณีจากใน ‘แอฟริกา’ แน่นอนล่ะว่ามันเป็นสินค้าที่มีราคาหลากหลาย ให้คนคัดเลือกไปตั้งแต่ราคาไม่กี่พันบาทจนราคาแตะเลขแปดหลัก
“เรื่องธรรมดาที่มนุษย์จะยอมขุดคุ้ยเดินเพื่อแสวงหาสิ่งที่มีอยู่เพียงเดียวในโลก”
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องของวัตถุที่นำมาทำเป็นหัวแหวนว่าหินสีอย่าง ‘อาร์เกต’ นั้นหลายคนเชื่อว่ามีสรรพคุณทางคงกระพัน ยิงฟันไม่เข้า นอกจากนี้ยังมีกระดูกสัตว์ เช่น กระดูกปลาพะยูน, หัวกระโลกหน้าผากนกกาฮัง ซึ่งมีสรรพคุณแตกต่างกันไป
บุตรพ่อค้าพลอยกล่าวต่อว่า ทัศนะแบบนี้ทำให้มองหัวแหวนว่าเป็น ‘ยา’ อีกด้วย ความหมายในที่นี่ก็คือ สีสันที่ทอประกายออกมานั้น อาจสอดคล้องกับจิตวิทยาสี ที่ส่งอิทธิพลต่อจิตใจทั้งผู้ที่สวมใส่และผู้พบเห็น ให้มองแล้ว สบายใจ ผ่อนคลายความรุ่มร้อนของจิตใจลง
ส่วนอัญมณี ‘มรกต’ นั้นเขาบอกว่ามีสรรพคุณที่ทำให้อารมณ์นั้นเย็นลง ลดความรุ่มร้อนของจิตใจ มันจึงเหมาะแก่ผู้ชาย ที่มีอุปนิสัยที่ฮึกเหิม ห้าวหาญเป็นพื้นฐาน ขณะที่ ‘ทับทิม’ มีสรรพคุณไปทาง เร่าร้อน ทรงพลัง จึงเหมาะกับผู้หญิงที่มีความอ่อนหวานนุ่มนวลอยู่เป็นพื้นฐาน
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนรุ่นเก่าก่อน ที่รู้จักนำเอาอัญมณีมากระตุ้น เพราะล่วงรู้ถึงความลับของธรรมชาติว่า ‘สี’ นั้นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อย่างไร
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อิสลามที่มีสายเลือดพ่อค้าพลอยอธิบายต่อว่า ตามประวัติที่รู้มา สุลต่านจากตะวันออกกลางมักนิยมสวมแหวนที่นิ้วชี้เพื่อบ่งบอกถึงการเป็นผู้ทรงอำนาจของแผ่นดินและองค์สุลต่านมักสวมใส่ ‘เทอร์คอยส์’ หรือ ‘ไพร์โรส’ เพราะเชื่อว่า คนอย่างกษัตริย์ นั้นมีคนที่ไม่พอใจอยู่มาก คนที่โกรธแค้นเมื่อได้ยลพลอยสีฟ้าบนปลายนิ้วแล้วจะแปลงอารมณ์ที่รุ่มร้อนให้เยือกเย็นลงและเปี่ยมไปด้วยพลังของความเมตตา
เขาเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่อว่า จากความเชื่อเรื่องนี้ทำให้ในอดีตคนมลายูจึงสวมใส่ ‘เทอร์คอยส์’ เยอะมาก
เขาย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ทั้งยังขัดต่อหลัก ‘อากีดะฮ์’ หรือหลักศรัทธาในศาสนาที่มนุษย์ไม่ควรจะลุ่มหลงไปกับมัน
“แท้ที่จริงแล้วมนุษย์นั้น อยากจะใส่อะไรก็ได้ ที่ทำให้ตัวเองดูสวย”
แม้จะคร่ำหวอดในวงการการพลอยมาตั้งแต่ครั้งรุ่นพ่อ กระทั่งมีพี่น้องร่วมสายเลือดบางคนเลือกที่จะเป็นช่างแหวนฝีมือดี แต่ก็นั้นเขาก็แต่เขายังไม่สามารถที่จะตอบได้อย่างแจ่มชัดว่าเหตุใดชายมลายูต้อง ‘สวมแหวน’
“ผมคงตอบได้แต่ไม่ลึกซึ้ง ในทัศนะของผมคิดว่า อาจเพราะท่านศาสดาสวมแหวน”
เขากล่าวต่ออย่างเนิบช้าว่า ศาสดานบีมูฮัมหมัด สวมแหวนเงินแบบที่ไม่มีหัวพลอย แต่ตัวเรือนด้านบนจะแกะสลักเป็น ‘ตรา’ เพื่อใช้ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายประจำตัว เวลาที่ศาสดาเดินทางผ่านเมืองต่างๆ จะใช้แหวนวงนั้นต่างตราลัญจกร โดยนำมันจุ่มหมึกแล้วใช้กดประทับไว้ในสาส์น โดยเป็นอักษรที่สลักคำว่า “มูฮัมหมัด รซูล ลุลลอฮฺ”
เขาย้ำอย่างหนักแน่นว่า แม้มุสลิมทุกคนจะมีสิทธิเลือกสวมแหวนได้ตามความชอบ ตามรสนิยมก็ตาม แต่การได้ปฏิบัติตามจริยวัตรของนบี ย่อมถือว่าการกระทำนั้น “ได้บุญ” และยังย้ำว่า แม้การประพฤติตามวัตรของนบีจะได้บุญอยู่ก็จริง แต่ถ้าเมื่อไหร่เจตนาแปลงไปเป็นเพื่อ “โอ้อวด” เมื่อนั้นย่อมไม่ได้บุญ
“แพง – ถูก ได้บุญเท่ากัน เพราะศาสดานั้นสวมแหวน”
ตามธรรมเนียมการสวมแหวนของชาวตะวันตก อาจจะมองว่าการสวมแหวนด้วยนิ้วนางข้างซ้าย เนื่องจากเชื่อว่ามีเส้นเลือดที่วิ่งเข้าโดยตรงกับหัวใจ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหัวใจโดยแท้ ซึ่งเหมาะกับความหมายของการมีคู่รักและแต่งงาน
แต่ อาจารย์อับดุลเลาะ กลับแย้งด้วยทัศนะของมุสลิมว่า ไม่ว่า ‘ซ้าย’ หรือ ‘ขวา’ ในทางอิสลามล้วนแต่มีความหมายทั้งสิ้นและจะพบว่าในวิถีชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ มนุษย์นั้นสัมพันธ์กับซีกขวา เช่น การยื่นมือ การจับ การเขียน เพราะในทางศาสนาถือว่า ด้านขวามือย่อมดีกว่าและได้บุญ
แน่นอนว่า ‘ซ้าย’ นั้นมีความหมายทางลบ การสวมแหวนให้กับนิ้วซ้าย คือการให้ชีวิตใหม่ รวมถึงเป็นการขอบคุณ เพราะขวามีฐานะดีกว่าซ้าย แหวนจึงมาจัดสมดุลช่วยให้มือ ‘ซ้าย’ ที่เคยด้อยกว่าให้สมบูรณ์และเท่าเทียม
มิติเรื่อง ขวา-ซ้าย เมื่อขบคิดอย่างจริงจังจะพบว่าเป็นโลกทัศน์หลักที่แทรกซึมอยู่วิถีชีวิตของมลายูมุสลิมโดยไม่รู้ตัว อาจารย์อับดูเลาะห์บอกว่า แม้แต่การเดินออกจากบ้าน จุดเริ่มต้นก็ควรจะก้าวออกจากซ้ายก่อน แต่เมื่อเข้าบ้านก็ให้เข้าด้วยขวาเพื่อนำสิ่งที่ดีกว่าเข้าบ้าน
ดูเหมือนว่าโลหะกลมๆ ที่สวมอยู่โคนนิ้วอาจมีความหมายมากว่าการประดับประดาร่างกาย ผศ.อับดูเลาะห์ แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า ในศาสนาอิสลามนั้นแบ่งความเป็น ‘หญิง’ เป็น ‘ชาย’ ไว้อย่างชัดเจน โลหะที่ใช้ประดับประดาร่างกายนั้น สำหรับผู้ชายให้สวมใส่ได้แต่สีโลหะสีเงิน ขณะที่ทองคำนั้นมอบฉันทานุญาตให้แก่ผู้หญิงเท่านั้น
“คนมลายูมุสลิมนั้นมีรายละเอียดเยอะ จนอาจจะดูว่าจุกจิก เครื่องประดับเล็กๆ เหล่านี้มันสะท้อนวิถีชีวิต เครื่องประดับของผู้ชายตัวเรือนต้องทำด้วยเงินเท่านั้นไม่มีทองเจือปน นาคอาจจะสวมได้บ้างแต่ต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เวลาจะละหมาดก็ต้องถอด บางคนจะไม่ยอมให้มีนาคอยู่เลยเพราะถือว่ามีทองเจือปนอยู่ ด้วยความที่มีรายละเอียดจุกจิกมากขนาดนี้ หากคนนอกวัฒนธรรมที่ไม่เข้าใจก็จะมองว่าเป็นปัญหามาก ไม่แปลกที่ปัญหาภาคใต้แก้เท่าไหร่ก็ไม่จบสักที”
อย่างไรก็ดีเขาให้ข้อคิดเห็นอีกว่าแหวนคือ อารมณ์ของมนุษย์ เพราะแหวนคือ ความงาม แหวนที่มนุษย์สวมใส่คือ ‘สัญญะ’ แห่งการควบคุมไม่ให้จิตใจไถลไปไหนไกล เพราะแหวนแม้เพียงวงเล็กๆ ก็อาจตีความเป็นปริศนาธรรมไว้เตือนใจตนได้
“เป็นมนุษย์ต้องรักษาใจ อย่าหลง อย่าระเริง อย่าสำคัญผิด” นักวิชาการสายเลือดพ่อค้าพลอยเน้นย้ำ
4.
หากปรารถนาจะครอบครองแหวนมลายูสักวง จะต้องไปเสาะหามาจากไหน?
‘สายบุรี’ อาจเป็นคำตอบต้นๆ ที่หลายคนเอ่ยถึง เมืองเล็กๆ ที่เคยมีอดีตอันยาวนาน จากหัวเมืองใหญ่ในยุค 7 หัวเมืองมลายู อดีตจังหวัดในยุคมณฑลปัตตานี วันนี้ถูกลดทอนเป็นเพียงอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งที่เงียบสงบของจังหวัดปัตตานีและไม่ผิดนักถ้า ‘ตะลุบัน’ จะเป็นแหล่งผลิตแหวนที่ขึ้นชื่อที่สุดในขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าแหวนที่ผู้คนสวมใส่อยู่ใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1ใน3อาจมาจากแหล่งนี้
‘คณิต สุทธรัตน์’ หรือ ‘อับดุลฮาดี’ นักธุรกิจพลอยชาวเพชรบุรีผู้เปลี่ยนชีวิตมารับอิสลามหลังจากพบรักกับสาวเมืองสายบุรีขณะศึกษาอยู่ที่เมืองกรุง ปัจจุบันได้ปักหลักที่อำเภอสายบุรีมานานกว่า 30 ปีและเปิด ‘ร้านฮาดี’ ค้าเพชรพลอยในตลาดตะลุบันจนเป็นร้านค้าพลอยที่ใหญ่สุดของอำเภอ
‘แบดี’ เล่าว่า เขาเป็นช่างทองมาก่อนและเขาพอรู้มาบ้างนิดหน่อยว่า ‘โต๊ะแอ๊ะ’ ช่างรุ่นแรกๆ ไปดูงานมาจาก ยี่งอ จ.นราธิวาสแล้วเอามาปรับทำกันเอง จนทำให้ช่างสายบุรีเป็นที่รู้จักมากที่สุดในช่วงปี 2535-2536 ขณะที่ช่างจากยี่งอเริ่มหายากแล้วในปัจจุบัน
“ธรรมชาติของสายบุรีมันแปลก มันได้กลายเป็นศูนย์กลางของการค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปซะแล้ว เหมือนตราดมีเหมืองพลอยอยู่ก็จริง แต่ตลาดค้าขายไปอยู่ที่จันทบุรี ที่นี่ก็เช่นกัน งานช่างแม้จะมีหลายสกุล แต่ก็เอาที่นี่เป็นศูนย์กลาง”
เขามองว่างานที่ทำในสายบุรี แม้จะไม่ใช่งานอินเตอร์จิวเวอรี่ แต่ก็มีแบบและเอกลักษณ์ของตัวเอง
“มันเป็นงานจิวเวอร์รี่เหมือนแหละ แต่มันเป็นงานจิวเวอร์รี่แบบพื้นเมือง รสนิยมมันก็จะต่างกัน อย่างในกรุงเทพฯ เขาเล่น ‘เพชรลูก’ (เพชรเจียระไน) แต่ที่นี่เขาเล่น ‘เพชรซีก’ (เพชรเจียระไนแบบโบราณ) กันมากกว่า เพราะมันเข้ากับงานทองโบราณ”
ถามถึงสไตล์แบบสายบุรี ‘แบดี’ บอกว่า พูดยาก อธิบายชัดๆ แบบวิชาการลำบาก แต่งานสายบุรีมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพราะงานแหวนนั้นเป็นงานที่อิงแฟชั่น แม้จะเป็นระดับท้องถิ่นก็ตาม จะหมุนเปลี่ยนเวียนไปเรื่อย ไม่หยุดนิ่งตายตัว หากใครคนในหมู่บ้านเห็นคนนั้นคนนี้ใส่ก็อยากได้ ก็อยากได้ตามๆ กันไป
“อย่างแหวนที่เรียกว่า แหวนมอญ มีพลอยตรงกลางแล้วมีเพชรล้อมรอบ ถ้าเป็นในกรุงเทพเขาไม่เล่นกัน แต่แถวนี้นิยมกันมาก มันก็เป็นไปตามแฟชั่น ตามรสนิยมของคน”
“งานของที่นี่หลักๆ มีสองแบบ คือ เราทำสำเร็จเลยแล้วมีพ่อค้าเอาไปขายเร่ต่อในหมู่บ้าน กับอีกแบบคือ วอล์กอินเข้ามาสั่งทำโดยตรง”
แม้อายุอานามจะร่วมเลขห้าต้นๆ แต่เขายังหนุ่มแน่นแลดูอ่อนกว่าวัยร่วมสิบปี อดีตช่างทองหนุ่มที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของกิจการกล่าวต่อว่า ธุรกิจของสวยงามแบบนี้เป็นเรื่องรสนิยมล้วนๆ ไม่มีการยึดติด อย่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้คนจะชอบมรกตกับทับทิม แต่ถ้าในกรุงเทพฯ จะชอบพลอยสีแทบทุกชนิด
นักค้าพลอยผู้นี้ยังบอกอีกว่าพลอยที่ลูกค้านิยมคือ ‘มรกต’ และ ‘ทับทิม’ โดยให้เหตุผลอย่างน่าสนใจว่า
“มรกตนั้นเป็นสีเขียวเข้ากับหลักการศาสนา ส่วน ทับทิมนั้นเชื่อว่า นบีสวมใส่ ก็เชื่อว่าได้บุญทั้งสอง แต่ที่แน่ๆ อัญมณีทั้งสองชนิด มีราคาและมีความหรูหราอยู่ในตัว”
“แหวนมีความสัมพันธ์กับชาวมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้แน่นอนบางคนใส่เพราะในเชิงการแพทย์ เพื่อรักษาโรค เพื่อป้องกันจากสัตว์ร้าย เช่น ไม้โกะกะ (ไม้จากทะเล) หรือหินสีอย่างอาร์เกต”
แต่ตัวเรือนแหวนอาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างตามทัศนะทางศาสนา เขาว่า ชายในมาเลเซียนิยมใส่แหวนที่ผสมนาคกับเงินหรือแม้แต่ที่มีส่วนผสมของทอง อย่างในบรูไนอาจจะเป็นทองเลยก็ได้ ไม่มีใครถือ แต่ที่เคร่งครัดมากๆ อย่างมุสลิมชายในภาคใต้ไม่นิยมเพราะเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนา โดยที่นิยมใส่แหวนที่เป็นเงินล้วนๆ”
ส่วนวัตถุดิบนั้น ส่วนใหญ่ยังคงต้องนำเข้า อย่างเพชร ก็ต้อง จาก แอฟริกา ขายผ่านมาทางพ่อค้าชาวอินเดีย ส่วนทับทิมหรือพลอยสีก็จากพม่า ส่วนมรกตก็ของอินเดีย ส่วนเงินนั้นนำเข้าจากออสเตรเลียอยู่แล้วเป็นปกติในตลาด
อับดุลฮาดีเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าก่อนเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ สายบุรีเป็นแหล่งผลิตแหวนและเครื่องเพชรพลอยที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเดือนละกว่าล้านบาท แต่ยังให้ข้อมูลว่าหลังจากเกิดความรุนแรงรายได้ลดลงถึง 70%
“ในปี 2535 หรือ 2536 มีช่างแหวนประมาณ 500 คนแล้วขยายออกไปสู่นอกพื้นทีในช่วงเวลานั้นสามารถสร้างรายได้มหาศาล แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ลดลง 70% ช่างที่มีฝีมือเท่านั้นที่สามารถอยู่ได้ ส่วนช่างที่มีฝีมือปานกลางก็ออกไปนอกพื้นทีไปเปิดร้านในอ.สะบ้าย้อยบ้าง อ.จะนะบ้างหรือไม่ก็ออกไปทำงานที่อื่น” อับดุลฮาดีกล่าว
ปัจจุบันแหวนที่ผลิตจากสายบุรีถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซียถึง 20% ขายนอกพื้นที่ (ในประเทศ) 20% และขายในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนอีก 60% บางคนยังนำแหวนและเครื่องประดับที่ผลิตจากร้านเพื่อไปขายต่อที่เมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียในช่วงการประกอบพิธีฮัจญ์อีกด้วย
ด้าน สุรวุฒิ สุทธรัตน์ (มะสุดี) บุตรชายผู้สืบทอดร้านจิวเวอร์รี่มาจาก ‘แบดี’ ผู้เป็นพ่อ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงในวัยเพียง 29 ปี กิจการของเขาก็กำลังดำเนินไปได้สวย แม้จะเป็นพ่อค้าแต่เขาก็แสดงทัศนะอย่างคมคายว่า อัญมณีนั้นมนุษย์สร้างค่าขึ้นมาล้วนๆ ให้ความหมายมันแตกต่างกัน อย่างทับทิมถ้าที่อื่นต้องเงางาม น้ำดี แต่ที่นี่ ถ้าเจือขาวหน่อยๆ แบบที่เรียกว่า ‘กัมป่อเสี้ยง’ ที่แปลจากภาษาจีนว่า กินไม่หมด ก็หมายถึงว่า มีไว้ก็ไม่อดอยาก อุดมสมบูรณ์ คนก็เล่นกันมากกว่าที่อื่นๆ
“หินที่เราเล่นกัน คนเป็นคนให้ราคากับมัน มันแล้วแต่ความชอบ ความพึงพอใจของแต่ละคน คนที่ชอบก็จะให้ราคาไปกับมัน”
“หินบำบัดโรคบางอย่าง ควบคุมอารมณ์บางอย่าง มีสรรพคุณแบบนั้นจริงมั้ย สำหรับผมคิดว่า น่าจะจริง เพราะคนคงสังเกตเห็น หินบางอย่างอยู่ในแค่ที่บางที่ อยู่แค่ในดินบางชนิดเท่านั้น คนก็พยายามไปตามหากัน”
เขากล่าวไปเรื่อยๆ ขณะที่มือสาละวนคัดพลอยไปด้วย คนเดินพลอยสองสามคนนั่งออกันอยู่ในร้าน รอการเลือกซื้อจากเขา ทับทิมที่เขาเลือกส่วนใหญ่เป็นรูปทรงกลมรี
“ทับทิมที่มีอยู่ในพื้นที่ๆ นิยมกันอยู่ นิยมการเจียระไนแบบหลังเต่า เขาบอกว่า อาจจะเพราะค่าเจียรฯ นั้นถูก ว่าเจียรฯ เหลี่ยม (Cutting) มาก ทับทิมแบบน้ำดีๆ เมื่อเจียรฯแล้วราคาก็จะสูงขึ้นตามลำดับ”
“เรื่องพลอยกับแสง สำคัญมาก กระดาษแก้วเหลืองๆ นี่ตัวดี พาให้ตาเราเพี้ยน สังเกตดูนะครับ พ่อค้าพลอยมักห่อด้วยกระดาษสีนี้ เวลาดูให้ดูแสงธรรมชาตินะ สปอตไลท์นี่ลวงให้มันเป็นประกายขึ้นตั้ง 30-40 % เชียวนะระวังให้ดีเชียว” มะสุดีให้ความรู้ในการคัดเลือกพลอย
อาจเพราะคลุกคลีอยู่กับงานเหล่านี้มาแต่อ้อนแต่ออก ‘มะสุดี’ จึงมีทักษะในการคัดแยกพลอยเป็นพิเศษ สายตาที่คมกริบดังเหยี่ยวของเขาสามารถแยกแยะมันได้อย่างละเอียดลออ
“บอกไม่ถูกนะ มันคงเห็นมาตั้งแต่เด็ก อันไหนแท้ไม่แท้ เราดูออก งานออกจากร้านไปเรารู้ มันผ่านตาเราหมด ผมรู้ขนาดว่าแหวนไปอยู่บนมือใคร แหวนวงนี้ใครเป็นคนฝังหัว เรารู้ไปถึงแรงตีของช่างคนนั้นเลยทีเดียว”
5.
‘ฮัมดัน มะอุเซ็ง’หรือ ‘แบดัน’ เป็นหนึ่งในช่างทองแห่งสายบุรี แม้วัยขณะนี้จะล่วงเลยถึงวัย60 ปี แต่ “แบดัน” ยังคงดูกระฉับกระเฉง เสื้อยืดโปโลสีตุ่น กางเกงสแล็คเวสปอยต์สีโทนเดียวกับเสื้อ ดึงให้เขาดูเป็นคนอ่อนกว่าวัย ประสบการณ์ในการเป็นช่างทองนั้นถูกเคี่ยวกรำมากว่าสี่ศตวรรษ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสนาม เคยแม้แต่ข้ามไปเป็นช่างทองถึงใจกลางเมืองหลวงของมาเลเซียเกือบสิบปี
‘แบดัน’ นั้นถือว่าเป็นช่างรุ่น 2 ของสายบุรี เขาเล่าว่า จากประสบการณ์ที่พอจะระลึกได้ สายบุรีมีช่างทำแหวนและงานอัญมณีอื่นๆ อยู่ 3 สายด้วยกัน 1. เป๊าะห์เจ๊ะเล๊าะห์, 2.เป๊าะห์มะห์ บางนรา และ 3.เป๊าะห์แวบือราเฮง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ช่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่คนใดก็คนหนึ่งล้วนต่างมีวิชาของทั้งสามท่านนี้ เขาเล่าต่อว่าน่าเสียดายที่ทั้งสามท่านนั้นมีแต่ลูกศิษย์ลูกหา แต่ลูกหลานท่านเองกลับไม่มีใครได้สืบต่อวิชาในการเป็นช่างแหวนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ช่างแหวนของสายบุรี อาจเป็นเพียงสายหนึ่งของคนทำงานศิลปะในอดีต เขากล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว เขาเดาว่า ช่างทำแหวนมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะมีราวสามสายด้วยกันคือ กลุ่มสายบุรี, รามัน ปูยุดและปัตตานี เขาออกตัวว่าอาจจะมีมากกว่านี้ แต่นี่คือข้อมูลที่เขาพอรู้อยู่เท่านั้น
กว่าจะมาเป็นช่างทองที่ได้รับการยอมรับในวันนี้ จนมีร้าน “ไซนัล” (Zinal) ที่เป็นกิจการของตนเองจนใช้หาเลี้ยงครอบครัวมาได้จนทุกวันนี้นั้น “แบดัน” บอกว่าเขาต้องผ่านอะไรมามากต่อมา ผ่านการฝึกฝนและอดทน แน่นอนว่าเขาเตาะแตะเคาะแผ่นเงินแผ่นทอง เหยียบแป้นลมเล่นไฟมาตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 22 เต็ม
“ใจมันรักงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่ชั้นประถมนะเคยปั้นดินเป็นรูปคนได้เหมือนเลย อาจารย์ที่โรงเรียนชอบมาก พาไปส่งประกวดเคยได้รางวัลนะ มารู้ตอนหลังพอเราเรียนศาสนามากขึ้นก็เลยรู้ว่าบาป“
นั่นอาจเป็นแววที่ฉายบ่งว่าเขาอาจเป็นช่างฝีมือที่ดีได้ในอนาคต ในวันที่เขาเลยวัยหนุ่มแตกพาน อยากมีอาชีพการงานที่มั่นคง เขาเลือกที่จะเป็นช่างทอง ทุนทางศิลปะที่เขาชื่นชอบทำให้ฝีมือของเขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
“เราเริ่มสังเกตครูที่ทำนะ นั่งมองดูไปเรื่อยๆ แล้วลองกลับมาทำเองแล้วก็ทำได้ ขึ้นรูปตีเป็นแหวนเงิน อาจารย์มาถามว่าใครสอน เราบอกว่าไม่มีใครสอน แกแปลกใจแต่ก็สอนเราเพิ่มเติม จนทำอย่างอื่นได้อีกเยอะแยะ”
แม้ว่าระยะหลังๆ ‘แบดัน’ อาจจะทำแหวนน้อยลง แต่เขาก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “แหวน” เป็นงานพื้นฐานที่มั่นคงของการเป็นช่างทอง ในยุคปลายของอาชีพ ‘แบดัน’ จึงเน้นรับงานยากๆ ลายวิจิตรบรรจงโดยเฉพาะงานประเภท จี้หรือล็อกเกต ที่สุภาพสตรีชื่นชอบ ซึ่งเขาบอกว่างานประณีตศิลป์เหล่านี้มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง
“งานไหนที่ใครทำไม่ได้เราก็อยากลองนะ ยิ่งยากยิ่งอยากทำลายแปลกๆ ก็อยากจะลองดู”
เวลาที่ ‘แบดัน’ เลือกทำงานจึงเป็นเวลาค่ำที่อากาศเย็น ยิ่งดึกสงัด ยิ่งมีสมาธิ ความคิดสร้างสรรค์พรั่งพรู
“ยิ่งดึกยิ่งดี เริ่มจากร่างแบบในกระดาษก่อน บางทีก็ร่างไว้ในใจ พอเริ่มลงมือทำงาน มันเพลิดเพลิน ยิ่งดึก ลายยิ่งออกมาเรื่อยๆ มันเป็นงานที่สนุกมาก”
จากอดีตช่างแหวนหนุ่มแห่งสายบุรี จนกลายมาเป็นช่างอาวุโสในวันนี้ หากถามว่าช่างรุ่นใหม่ต่างกับช่างรุ่นเก่าอย่างไร ‘แบดัน’ ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่าช่างฝีมือรุ่นๆ ใหม่ๆ ซึ่งเป็นคนหนุ่มมีฝีมือและคิดรูปแบบได้สวยงามสร้างสรรค์ตามสมัยนิยม มีปัญหาเพียงอย่างเดียวคือการวางพลอยหัวแหวนจะไม่ค่อยติดทนนาน เขาบอกว่า ช่างรุ่นใหม่อาจจะยังประณีตไม่พอ ซึ่งเขาเผยเคล็ดลับออกมาว่า
“งานมันต้องประณีตขึ้นไปอีก ก่อนจะวางพลอยต้องเซาะร่องเล็กพิเศษในกรวยเสียก่อนแล้วค่อยๆ วางหัวพลอย ทำแบบนี้หัวแหวนจะติดทน เป็นสิบๆ ปีก็ไม่หลุด”
6.
งานฝีมือที่เสกสรรไว้บนชิ้นงานเล็กๆ บางทีอาจเป็นบทพิสูจน์หลายอย่าง บนวันเวลาของช่างแหวนหนุ่ม
คนหนุ่มรุ่นแล้วรุ่นเล่า แวะเวียนเข้ามายังเส้นทางนี้ แม้จะผ่านยุคที่เฟื่องฟูที่สุดขีดของธุรกิจแหวน จนนำพาเขามาสู่ยุคทรงตัวเพื่อให้ผ่านพ้นห้วงยามของบรรยากาศความรุนแรง ทางเลือกสำหรับบางคนอาจมีไม่มากนัก บางคนเลิกล้มความตั้งใจเดิมและผละมันไปเสีย แต่สำหรับบางคนวันนี้ยังคงเลือกเป็นช่างแหวน
มายูฮัน เจ๊ะเลาะห์ ช่างแหวนหนุ่มแห่งสายบุรี เขาคือหนึ่งในภาพตัวแทนของการผ่านการเคี่ยวกรำในวัยหนุ่ม เขาเล่าว่า กว่าจะมาเป็นช่างต้องสั่งสมประสบการณ์พอสมควร ตัวเขานั้นเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยช่างทุกคนต้องฝึกเป็นระดับๆ ไป ช่างมือใหม่จะเริ่มจากการตีเงินก่อน เพื่อให้รู้จักโลหะพื้นฐานของการทำงานเครื่องประดับ ถัดมาจะเริ่มทำงานนาค ที่มีส่วนผมของทองเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อชำนาญแล้วก็ขยับขึ้นเป็น ‘ทอง’ ต่อไป
“ฝึกใหม่ๆ ต้องหัดตีเลส (กำไลข้อมือ) เสียก่อน ตีให้ชำนาญ จากนั้นก็เริ่มหัดตีกรวยแหวนๆ ทำไปเรื่อยๆ จนชำนาญ ขยับจากเงินไปนาค แล้วก็ขยับไปที่ทองในขั้นสุดท้าย ส่วนจะมีฝีมือแค่ไหนก็แล้วแต่คน”
‘มายูฮัน’ บอกว่าใครๆ ก็ต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้ นอกจากนี้ยังต้องฝึกใช้เครื่องมือให้ชำนาญ ฝึกเหยียบลม เลี้ยงไฟให้ชำนาญ
“ต้องหัดเลี้ยงไฟให้คล่อง มันเป็นงานที่ต้องรู้จักจังหวะ รู้จักใช้ความร้อน ลนให้อ่อน ตีให้อยู่มือ ช่างที่ดีต้องตีกรวยฝังหัวพลอยให้แน่น ตีตัวเรือนทองได้ ฉลุงานให้สวยงาม แต่ถ้าแกะลายต้องส่งอีกร้านนะครับ ลวดลายเราทำได้แต่เป็นงานฉลุ”
เขาว่าใครชอบแบบไหนนั้นแล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน ‘มายูฮัน’ ย้ำว่า แหวนของสายบุรีนั้นมีเอกลักษณ์ เขาบอกไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเห็นสวมบนนิ้วของใคร เขาตอบได้ว่ามาจากไหน ใช่หรือไม่ใช่ แหวนจากสายบุรีและยืนยันว่างานของเขาไม่ใช่ ‘ของโหล’
“เรามั่นใจว่างานของเราดี งานแหวนที่อื่นทำกันวันเดียว เรางงทำกันได้ไง ที่นี่เราตีกันเป็นอาทิตย์ กว่าที่จะเข้าร่องเข้ารอย”
“มันเหมือนมีลายเซ็นติดไป งานที่นี่จะละเอียด กรวยที่ฝังหัวพลอยจะแน่น ดูไม่ยาก เราทำมาเอง ผ่านตามามาก เรารู้นะครับ” เขากล่าวด้วยแววตาภาคภูมิ
7.
ตะไบเล็กพิเศษ ยังคงบรรจงแต่งผิวงานโลหะอย่างไม่ลดละ เสียงเคาะเงินยังคงดังเป็นจังหวะต่อเนื่อง กลิ่นบางๆ ของน้ำมันเบนซินยังอวลอยู่ทั่วห้อง วันนี้ยังคงเหมือนกับทุกวัน ข้างหน้าร้านแหวนลูกค้ายังแวะเวียนมาไม่ขาดสาย เสียงคนเดินพลอยต่อรองเพื่อทำราคากับทับทิมเม็ดงามรอบใหม่ งานยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีใครล่วงรู้ว่าในใจของช่างแหวนหนุ่มคิดอะไร
ขณะที่คนเดินทางบางคนนั่งจมตัวเองอยู่ในร้านน้ำชาเนิ่นนาน พลางลูบคลำนิ้วนางข้างซ้ายของตัวเองเบาๆ บางทีเขาอาจรู้คำตอบแล้วว่าควรจัดการอย่างไรกับนิ้วนางโล่งๆ ของตนเอง.