ทิศทางกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้หลังการพูดคุยเพื่อสันติสุข ไทย-มาราปาตานี
มีสัญญานที่ดีต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยและกลุ่มมาราปาตานี เห็นด้วยที่พูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safty Zone และกรอบการปฏิบัติในการพูดคุยหรือ TOR แต่ยังไม่มีการลงนามเพราะเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย รายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย
นายอาบูฮาฟิส อัล ฮากิม ตัวแทนกลุ่มมาราปาตานี แถลงข่าวกับสื่อมวลชนไทยและมาเลเซีย หลังเสร็จสิ้นการพูดคุยกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย ตามนัดหมายผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย มีประเด็นเห็นชอบร่วมกันใน 4 ประเด็นคือ
1.ยอมรับข้อกำหนดการปฏิบัติ Terms of Reference หรือ TOR ฉบับที่แก้ไขล่าสุด
2.เห็นด้วยในหลักการที่จะพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safty Zone ในการพูดคุยครั้งต่อไป
3.ยอมรับข้อเสนอของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
และ 4.การประชุมของคณะทำงานเพื่อสันติสุขไทยและมาราปาตานี ยังเป็นการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ
ตัวแทนมาราปาตานียอมรับว่าผลการพูดคุยวันนี้เป็นสัญญาณที่ดีต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประชุมครั้งหน้าจะหารือถึงรายละเอียดในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งมาราปาตานี ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และภาคประชาสังคม เพื่อนนำมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจา
"เรากำลังคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย (Safty Zone)ขณะนี้มีคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เพื่อสันติภาพเป็นเพียงองค์กรเดียวที่ส่งข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เราอยากให้องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ยื่นข้อเสนอ คำแนะนำมายังโต๊ะพูดคุย เพื่อจะเสนอต่อปาร์ตี้ บี และเราต้องการความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย"
อาบู ฮาฟิส อัล ฮากิม สมาชิกกลุ่มมาราปาตานี
มารา ปาตานี เชื่อมั่นว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะเดินหน้าได้และยังดำเนินการอยู่ โดยผลการพูดคุยทางกลุ่ม BRN ก็เห็นด้วย เพราะ BRN เป็นสมาชิกมาราปาตานี เชื่อว่า BRN จะสื่อสารถึงสมาชิกในพื้นที่ได้
การพูดคุยวันนี้ ฝ่ายมารา ปาตานี มีอุสตาส สุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย พร้อมสมาชิก 12 คน แต่อุสตาสสุกรี ไม่ได้ร่วมแถลงข่าว ผู้แถลงข่าว 6 คน มาจากกลุ่ม BRN 2 คน ,BIPP 2 คน ,และ GIMP 2 คน โดยคณะผู้นำ เช่น นายอาวัง จาบัท ประธานมารา ปาตานี ไม่ได้ร่วมด้วย
ส่วนของไทยมีพลเอก อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข และคณะ ซึ่งให้สัมภาษณ์ที่ประเทศไทย ยืนยันว่ายังไม่มีการลงนาม ใน TOR
เนื่องจากทางมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก จะต้องจัดทำในรายละเอียดทั้ง จำนวนผู้พูดคุย เรื่องภาษาที่ใช้ในการพูดคุยควรเป็นภาษาไทยหรือภาษามาลายู ควรมีล่ามหรือไม่ และค่าใช้จ่ายอย่างไร โคณะพูดคุยฝ่ายไทยได้นำข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการยุติเหตุความรุนแรงในพื้นที่ก่อนที่จะมีการพูดคุย
" การพูดคุยในครั้งนี้เป็นไปตามการสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เกิดความสงบในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการพูดคุยขั้นตอนตามปกติเป็นระยะสร้างความไว้วางใจ โดยความไว้วางใจไม่ได้หมายถึงเฉพาะ กลุ่มปาตี้เอแต่เป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ".พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข
พลเอก อักษรา เปิดเผยด้วยว่า คณะพูดคุยยังได้นำหนังสือของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ กลุ่มผู้เห็นต่างหรือปาร์ตี้บี ซึ่งทางปาร์ตี้บีจะนำรับไปพิจารณา และจะตอบกลับมาเป็นเอกสาร เพื่อเป็นข้อพิจารณาในการพูดคุยครั้งต่อไป ซึ่งยังไม่ทราบว่าเมื่อใดเพราะทางมาเลเซียจะเป็นผู้กำหนด ผ่านทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
พลเอกอักษรา เปิดเผยด้วยว่า ทางไทยได้สอบถามกลุ่มผู้เห็นต่างว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือฝ่ายใด ทางกลุ่มผู้เห็นต่างได้ยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ใช่ผู้กระทำ และจะร่วมมือกับฝ่ายไทยในการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ตรงกับคำถามของสมาชิกมาราปาตานี ที่ตอบเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าวที่ถามถึงเหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้ ว่าพวกเขาได้ตอบคณะพูดคุยของไทยไปแล้ว รวมทั้งข้อตกลงวันนี้ไม่มีการลงนามเพราะยังไม่ใช่การประชุมอย่างเป็นทางการ
ผลการพูดคุยระหว่างไทยกับมารา ปาตานี วันนี้ถือว่าเป็นความคืบหน้าในช่วง 1 ปี หลังกลุ่มมาราปาตานี เปิดตัวเป็นองค์กรร่มพูดคุยกับรัฐไทย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 แม้ข้อเสนอสำคัญยังไม่มีการพูดคุยทั้งเรื่องการยอมรับชื่อ มารา ปาตานี เป็น ปาร์ตี้บี ในคณะพูดคุย /วาระแห่งชาติ และการคุ้มครองทางกฏมายหรือ Imminity
โดยเรื่องชื่อปาร์ตี้ บี ในการพูดคุยนั้น นั้นฝ่ายไทย ได้เรียกว่า ผู้คิดต่างจากรัฐ แต่มารา ปาตานี ก็มีสิทธิ์จะเรียกชื่อกลุ่มว่าอย่างไรก็ได้ แต่ในโต๊ะพูดคุยทางไทยขอสงวนสิทธิ์ว่า ปาร์ตี้ เอ คือ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย และ ปาร์ตี้บีคือ กลุ่มผู้คิดต่างจากรัฐ
#ข่าว3มิติ