ในวันที่หัวใจร้องไห้..เพราะความรู้สึกมากกว่าคำว่าเสียใจ
สุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์นักวิจัย
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
เช้าวันนี้คงเป็นเหมือนเช้าทุกวันที่ฉันต้องทำงานในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง แต่ใกล้เสียงระเบิดและเสียงปืน ณ มอ. ปัตตานี ดินแดนสุดปลายด้ามขวานของประเทศไทย และฉันก็ยังรู้สึกมีความสุขดี ยังคงใช้ชีวิตปกติ กินน้ำชา อาหารเช้าที่ร้านบังหนูด เสวนากับเพื่อนร่วมงาน เฮฮาตามประสาเรา หลังจากมาถึงที่ทำงานเปิดคอมเช็คข่าวสารในสังคม ในพื้นที่ และก็พบว่าสายวันนี้ได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้น ซึ่งหากมองแล้วมันก็เป็นความรุนแรงดังเช่นเคยเกิดมาเสมอ แต่มองให้ดีมันไม่เหมือนเดิม เพราะระเบิดลูกนี้มันรุนแรงมากในความรู้สึกของฉัน เพราะมันเป็นการระเบิดที่เกิดขึ้นหน้าโรงเรียน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงเวลา 08.25 น. บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แน่นอนในช่วงเวลานั้นยังมีบางคนไปส่งบุตรหลาน ซึ่งในเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บประมาณ 9 คน และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นคุณพ่อและลูกสาว เด็กน้อยวัยไร้เดียงสา
คำนำหน้าของผู้เสียชีวิตที่ระบุในข่าวว่าเป็น "เด็กหญิง" และภาพเด็กน้อยผู้นี้ที่ฉันได้เห็น (ทางไลน์กลุ่มในพื้นที่) มันทำให้ฉันน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว มันเศร้าลึกจับใจ มันรู้สึกคับข้องหมองใจอย่างบอกไม่ถูกพยายามกลั้นอารมรณ์ไว้ ตั้งสติ และทบทวนว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?? จุดที่ต้องเจอเหตุการณ์ความรุนแรงที่มุ่งทำร้ายพลเรือน และเป้าหมายที่อ่อนแอที่สุดอย่างเด็ก แล้วฉันคิดต่อไปว่า หน้าโรงเรียนคือสถานที่ก่อเหตุที่ถูกต้องแล้วใช่ไหม?? ยิ่งคิดก็ยิ่งมีคำถามตามมามากมาย
จริงๆ แล้วช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ฉันเริ่มรู้สึกมีความหวังที่จะใช้ชีวิตในพื้นที่นี้อย่างมีความสุขมากขึ้น เพราะเมื่อ วันที่ 2 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการสานต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ สภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI) ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งหลังการพบกันได้มีข่าวปรากฎออกมาว่า ทั้งสองฝ่ายยอมรับ TOR ร่วมกัน และตกลงกันในหลักการที่จะพูดคุยในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจะดี ที่นี่จะมีโอกาสปลอดภัยมากขึ้นแต่ตอนนี้ก็ยังไม่ใช่
แต่ความหวังฉันก็ยังไม่สิ้น ยังไงก็จะขอยืนหยัดกับข้อเรียกร้องที่จะทำให้พื้นที่นี้ปลอดภัย ซึ่งจะต้องไม่ใช่ พื้นที่ที่ให้เรารู้สึกปลอดภัยทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมของผู้คนในที่นั้นๆ ให้เอื้อต่อการสร้างความปลอดภัยและความสบายใจในการดำเนินชีวิต และการแสดงความคิดเห็นด้วย
นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่อยากจะสะท้อน สำหรับผู้กระทำการในครั้งนี้คือ คุณได้ทำผิดหลักที่เชื่อมโยงกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ด้วย เพราะการบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้น ใช้เพื่อปกป้องคนหรือปกป้องสถานที่ ได้แก่
1.คนที่ได้รับการคุ้มครอง (People with special protection)
• บุคลากรทางการแพทย์
• บุคลาการทางศาสนา
• นักข่าว พลเรือน
• เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ไม่ควรรับการคัดเลือกและไม่ควรมีส่วนร่วมในการสู้รบ เช่น ไม่ควรมีทหารเด็กเกิดขึ้น
• คนสูงอายุ คนชรา คนป่วย และคนพิการ
• การปกป้องที่เฉพาะเจาะจง, สุขภาพและความต้องการความช่วยเหลือของผู้หญิง เช่น ต่อการกระทำความรุนแรงทางเพศ
2. พื้นที่ได้รับการคุ้มครอง (Protected Space)
• โรงพยาบาล / พื้นที่ทางการแพทย์
• พื้นที่ทางศาสนา
• ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
• โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ห้ามละเมิดโดยเด็ดขาด
• พื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่สาธารณะที่มีกลุ่มเป้าอ่อนใช้ชีวิตร่วมกัน อาทิ ตลาด กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องโดยปริยาย
สุดท้ายแม้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอาจจะไม่สามารถทำอะไรผู้ก่อเหตุได้ แต่มวลชน หรือคนที่จะสนับสนุนการกระทำที่ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะทุกคนมีหัวใจ