ไฟใต้พุ่ง - ไฟฝันมอด
อีกห่วงโซ่ความรุนแรงชายแดนใต้ ถึงเวลาเยียวยาคนทำงาน
---
ฐิตินบ โกมลนิมิ
12 ปีความรุนแรงยืดเยื้อในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี แม้จะมี "กระบวนการสันติภาพ" ให้เห็นความหวังรำไร แต่ไม่รู้ว่าความขัดแย้งและรุนแรงจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เวลาเนิ่นนานกว่าจะจับทางถูกว่าหัวใจความขัดแย้งมาจากรากเหง้าใด แน่นอน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกมิติยิ่งไม่แจ่มชัดมากกว่า
คนทำงานเยียวยาในพื้นที่ความรุนแรงแห่งนี้ มาจากคนสองกลุ่มหลัก คือ (1) คนเคยเป็นเหยื่อความรุนแรงก้าวข้ามความเจ็บปวด (ได้บ้างไม่ได้บ้าง) ลุกขึ้นมาช่วยเหลือเพื่อนร่วมชะตากรรม และ (2) คนที่ไม่ใช่เหยื่อแต่ประกอบสร้างทีมงานเยียวยาจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการ
ระบบสนับสนุนจากภาครัฐก็ค่อยๆ พัฒนาระบบเข้ามาสนับสนุนแบบตั้งรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปในห้วงเวลาที่ผ่านมา
มิพักต้องเอ่ยถึงความรู้เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ถูกพัฒนาตามหลังวิชาการจัดการความขัดแย้ง และต้องอาศัยหลายวิชาชีพเข้ามาผสมผสานบูรณาการกัน จะว่าไปแล้วในพื้นที่ จชต.เพิ่งอยู่ระหว่างตั้งหลักเชิงระบบและความรู้
ขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงนำไปแล้วกว่า 17,000 ครั้ง คนตายมากกว่า 6,500 คน คนบาดเจ็บ พิการ เด็กกำพร้า วิกฤตแม่หม้ายเกินกว่าจะกล่าวถึง จึงไม่แปลกที่คนทำงานเยียวยาในพื้นที่ความรุนแรงในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา "หมดแรง หมดไฟ" (Bern out) และกลายเป็นคนป่วย เป็นผู้ได้รับผลกระทบมือสอง ซึมซับความเจ็บปวด บาดแผล ได้รับรู้และถูกตอกย้ำทัศนคติและอคติ ความไม่เป็นธรรมระหว่างทางของการทำงาน ป่วย เครียด เป็นโรคซึมเศร้า บางคนมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย และบางคนสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง อยากจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐเป็นยิ่งกว่าแนวร่วมของขบวนการ สรุปอาการคือ "ไม่ไหวแล้ว"
นี่เป็นที่มาของการรวมตัว "ดรีมทีม" - สหวิชาชีพ: จิตแพทย์ นักกิจกรรมบำบัด นักการละคร นักการศึกษาผู้เขี่ยวชาญการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ นักสื่อสาร อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ภายใต้โครงการที่เรียกว่า "เสริมสร้างภูมิคุ้นกันใจ" เพื่อออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการเยียวยา "คนเยียวยาคนทำงานภาคประชาสังคมชายแดนใต้" ให้ดูแลสุขภาพกาย ใจ จิตวิญญาณของตนเองพร้อมกับการดูแลผู้อื่นและชุมชนได้
กระบวนการสันติภาพยังอีกยาวไกลและความรุนแรงก็ไม่มีจุดสิ้นสุด การดูแลคนทำงานเพื่อให้ทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ กลายเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสังคม. การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง ถือเป็นการเติมชีวิตชีวาคนทำงานในห้วงเวลาสำคัญนี้